อัคคี เป็นบาลี ส่วน อัคนี เป็นสันสกฤต ในภาษาไทยนิยมใช้ทั้งสองคำ โดยทั้งบาลี สันสกฤต และไทย ต่างก็แปลว่า ไฟ เหมือนกัน แต่ความหมายเดิมตามรากศัพท์ของคำนี้ น่าสนใจพอที่จะเป็นนิทานได้หนึ่งเรื่อง
อัคคี เขียนตามบาลีแท้ๆ คือ อคฺคิ มาจากรากศัพท์ว่า อคฺค แปลว่า ถึง (ส่วนสระอิ เป็นปัจจัย)
อคฺคิ แปลว่า ยังของบูชาในมนุษย์โลกนี้ให้ถึงแก่เทพเจ้า ..ทำนองนี้
วจนัตถะ โลกานํ ปูชนียํ เทวานํ อคฺเคตีติ อคฺคิ ธรรมชาติใดยังสิ่งของที่ควรบูชาของชาวโลกให้ถึงแก่เหล่าเทพเจ้า ดังนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อัคคี (ยังของบูชาให้ถึงแก่เทพเจ้า)
อธิบายได้ว่า พวกมนุษย์ที่เชื่อถือว่ามีเทพเจ้า และเทพเจ้าเหล่านั้นสามารถให้คุณให้โทษต่อพวกเขาได้ ก็เลยคิดที่จะเซ่น บวงสรวง หรือบูชาต่อเทพเจ้าเหล่านั้น แต่ก็ไม่รู้จะติดต่ออย่างไร ก็ไปเห็นว่า ไฟ มีปรกติลอยขึ้นสุ่เบื้องบน จินตนาการว่า ไฟ นี้แหละ สามารถนำสิ่งของบูชาไปยังเทพเจ้าเบื้องบนได้ และตั้งชื่อเทพเจ้าแห่งไฟ นี้ว่า อัคคี หรืออัคนี นั่นคือ เอาของที่จะบูชาเทพเจ้าเบื้องบนใส่ไปในไฟ พรางก็อธิษฐานให้เทพอัคคีนำไปถวายเทพเจ้าที่ตนเองปรารถนาหรือมุ่งหวัง
เห็นได้ว่า เทพเจ้าแห่งไฟนี้ ก็คล้ายๆ บุรุษไปรษณีย์ นั่นเอง (5 5 5)
ข้อสังเกต ก็แปลกดีนะ ทั่วโลก นิยมโยนของเข้าไปในกองไฟเพื่อบูชาเทพเบื้องบนหรือเพื่อส่งไปให้แก่คนตาย ซึ่งปัจจุบันนี้ แม้ว่าโลกจะพัฒนาการไปเพียงใด วิธีการทำนองนี้ก็ยังคงมีอยู่ทั่วโลก...