ข่าว“ภาระงานครู”กับ“หวัง”ลมๆแล้งๆ


ถ้าสมมติฐานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาดังกล่าวเป็นจริง ระบบการผลิตครูที่ผ่านมา ทำให้บ้านเราได้ครูด้อยคุณภาพจริง สถาบันผลิตครูสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตามแนวคิดทฤษฎี จนสามารถผลิตครูยุคใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้จริงก็เถอะ ทว่าปัญหาการจัดการศึกษาของบ้านเราจะคลี่คลายได้อย่างไร ในเมื่อภาระงานที่ล้นมือจากการขาดแคลนครูที่โรงเรียนยังคงมีอยู่เช่นทุกวันนี้

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เขียนเรื่องพวกนี้ฟ้องสาธารณชนประจำ อาทิ คุณภาพครู , ภาระงานกับคุณภาพครู , จ้างครูธุรการ ลดงานครูทั้งระบบ"กับบางเรื่องที่โรงเรียน..งานนโยบาย? ฯลฯ งานครูที่มีมากมาย เน้นไปที่ทำเอกสารรายงานต่างๆ โดยเฉพาะงานนโยบาย พอมีข่าวครูท่านหนึ่งบันทึกขอลาออกจากข้าราชการด้วยเหตุผลที่ว่า จึงไม่ได้ประหลาดใจ ชื่นชมด้วยซ้ำ แม้จะเป็นการทิ้งบอมบ์ ระบายความรู้สึก ทั้งที่อาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิถีตัวเองมาก่อนแล้วก็ตาม

ไม่กี่วันถัดมาหลังจากเป็นข่าว ผู้บริหารระดับสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ท่านหนึ่ง ชี้เรื่องนี้เป็นแค่เหตุผลส่วนตัว ก็ไม่ได้แปลกใจอีกเช่นเคย เป็นปกติธรรมดาของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้วที่มักจะปกป้องฝีมือการบริหารจัดการของตนเองไว้ก่อน เมื่อครั้งที่มีเสียงบ่นถึงการเรียนการสอนออนไลน์ในระยะแรกๆก็ลักษณะเดียวกันนี้ 

แต่แล้วครูอีกท่านจากอีกโรงก็ออกมาสำทับในประเด็นเดียวกัน โดยระบุและอ้างอิงคำสั่งไว้เสร็จสรรพว่าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานของโรงเรียนพร้อมๆกันถึง ๔ กลุ่ม ได้แก่ บริหารทั่วไป วิชาการ บุคคล และงบประมาณ รวมทั้งพ่วงรักษาการผู้อำนวยการอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เนื่องจากทั้งโรงมีครูคนเดียวกับเจ้าหน้าที่ธุรการอีกคนเท่านั้น 

นี้คือสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็กในปัจจุบันที่น่ากังวลใจ เพราะแค่งานสอนเด็กในชั้นของตนเองก็หนักอึ้งแล้ว หลายๆโรงครูคนเดียวต้องสอนควบสองชั้น ไหนจะเอกสารรายงานต่างๆที่มากมาย มิหนำซ้ำงานพิเศษอื่นๆที่ไม่อาจปฏิเสธ เพราะต่างเข้าใจบริบทตนเองดี ก็โรงเรียนเรามีครูอยู่เท่านี้..

จากกรณีดังกล่าวผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. อีกท่านเปิดเผย “ปัญหาเกิดกับโรงเรียนขนาดเล็กแทบทุกแห่ง ซึ่งล้วนมีปัญหาขาดแคลนครู ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่กว่า ๑๕,๐๐๐ แห่ง ถือเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด” ฉะนั้นก่อนหน้าที่รีบออกมาแก้ตัวเป็นพัลวันว่า “เหตุผลการลาออกเป็นความเห็นส่วนตัว” คงไม่ใช่แล้ว

ที่สำคัญอีกแล้วครับท่าน..เมื่อไม่กี่วัน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะครู แนะกลไกปฏิรูประบบการผลิตครูยุคใหม่ให้มีคุณภาพ หลังพบปัญหาระบบการผลิตครูไทยในหลากมิติ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ “สถาบันผลิตครูต้องปรับบทบาทและกระบวนการผลิตรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อผลิตครูยุคใหม่ที่มีความรู้ มีทักษะ พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับจริยธรรมความเป็นครูที่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีคุณภาพ”

ถ้าสมมติฐานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาดังกล่าวเป็นจริง ระบบการผลิตครูที่ผ่านมา ทำให้บ้านเราได้ครูด้อยคุณภาพจริง สถาบันผลิตครูสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตามแนวคิดทฤษฎี จนสามารถผลิตครูยุคใหม่ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้จริงก็เถอะ ทว่าปัญหาการจัดการศึกษาของบ้านเราจะคลี่คลายได้อย่างไร ในเมื่อภาระงานที่ล้นมือจากการขาดแคลนครูที่โรงเรียนยังคงมีอยู่เช่นทุกวันนี้

พร้อมเกิดคำถามเดิมๆขึ้นมาในใจ ตลอดชีวิตครูเห็นอย่างนี้มาตลอด เอะอะอะไรก็คุณภาพครู ส่วนมากหรือแทบทุกครั้งที่เกิดปัญหาหรือถูกสังคมวิพากษ์ เพราะครูด้อยคุณภาพ..จริงหรือ? น่าสงสัยถ้าจริงและตระหนักกันมานาน รวมถึงลงมือแก้ไขพัฒนาปรับปรุงคุณภาพครูมาหลายยุคหลายสมัย ด้วยกระบวนการหรือนวัตกรรมต่างๆมากมายหลายรูปแบบ ไฉนคุณภาพครูไม่ดีขึ้นสักที?

ไม่ใช่การบริหารจัดการ ปัจจัยต่างๆดอกหรือ? โดยเฉพาะเวลาจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนจริงๆของครู พิจารณาง่ายๆ จนพุทธศักราชนี้แล้ว การขาดแคลนครู ภาระงานที่ล้นเวลาการทำงานที่ครูมีอยู่ในแต่ละวันหรือในแต่ละสัปดาห์ ปัญหาพื้นฐานที่สุดของโรงเรียนซึ่งชัดเจนมาก อีกทั้งรัฐน่าจะแก้ได้ง่ายๆเพียงการจัดสรรบุคลากรและงบประมาณให้เพียงพอยังคงมีอยู่ แถมนับวันยิ่งดูรุนแรง 

ล่าสุดคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้เชิญเลขาธิการ สพฐ. และเลขาธิการ ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา)มาชี้แจง ปรึกษา หารือ เกี่ยวกับภาระงานที่ล้นเกินความสามารถที่ครูจะปฏิบัติงานได้ดี โดยเฉพาะเวลาในการเรียนการสอน สืบเนื่องจากที่ปรากฎว่าครูต้องรับผิดชอบงานหลายตำแหน่งจำนวนมาก และมีครูบางคนตัดสินใจลาออก เพราะเหตุไม่สามารถทำการสอนได้ดีอย่างคุ้มค่ากับเงินเดือน

แต่เชื่อเถอะ! อย่าไปหวังลมๆแล้งๆ เห็นมานักต่อนัก มีเกิดมีดับ(ฮา) สุดท้ายเรื่องนี้จะเลือนหายไปในสายลม เหมือนกับอีกหลายๆเรื่องที่พวกเราคุ้นเคย

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 26 กุมภาพันธ์ 2564)

หมายเลขบันทึก: 693469เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2021 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท