ชีวิตที่พอเพียง 4087. ภาวะผู้นำแนวปรับตัว


 

               หนังสือ The Practice of Adaptive Leadership : Tools and Tactics for Changing Your Organization and the World (2009) อ่านง่าย และเขียนแนะนำภาคปฏิบัติดีมาก    มีทั้งหมด ๒๓ บทสั้นๆ   สำหรับให้ผู้อ่านใช้ฝึกฝนตนเอง    โดยแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ (๑) ความมุ่งหมายสูงส่ง และความเป็นไปได้  (๒) วินิจฉัยระบบ  (๓) ขับเคลื่อนระบบ  (๔) มองตนเองคล้ายเป็นระบบ  (๕) ใช้งานตนเอง

คำหลักในที่นี้คือ แนวปรับตัว (adaptive)   ภาวะผู้นำแนวปรับตัว (adaptive leadership)    ใช้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นพลัง   

ความมุ่งหมายสูงส่ง และความเป็นไปได้   จงมีเป้าหมายสูงส่ง (purpose) และหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์    อย่ารีบร้อนตัดสินใจดำเนินการ    ให้หาทางเลือกหลายๆ ทาง  และสนุกกับการตัดสินใจเลือก 

วินิจฉัยระบบ   นี่คือการทำความเข้าใจระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวที่กำลังเผชิญ    เช่นมิติด้านวัฒนธรรมองค์กร   การเมืองภายในองค์กร    มิติด้านพฤติกรรมของพนักงาน (๑. หลักการกับการปฏิบัติไม่ตรงกัน  ๒. ภารกิจที่ขัดกัน หรือแย่งชิงเวลาและความพยายามซึ่งกันและกัน  ๓. สมาชิกกล้าพูดสิ่งที่เป็นความจริงแต่แสลงใจคนหรือไม่  ๔. การหลบเลี่ยงงานบางอย่าง)     ส่วนนี้คล้ายๆ การเก็บข้อมูล 

ผมมีความเห็นว่า นอกจากวินิจฉัยระบบภายในองค์กรแล้ว   ต้องวินิจฉัย “ภูมิประเทศ” ภายนอกองค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต ด้วย

    ขับเคลื่อนระบบ   นี่คือส่วนปฏิบัติการ   ที่เริ่มจากการตีความข้อมูลที่เก็บได้  ตีความหลายๆ แบบ เพื่อไม่ตกหลุมการด่วนสรุป    รวมทั้งมีการปรึกษาทีมงาน    เมื่อลงมือดำเนินการก็จัดให้มีการเก็บข้อมูลเพื่อเป็น feedback loop ให้ใคร่ครวญสะท้อนคิด และปรับตัว    และต้องไม่ลืมมิติเชิงการเมือง หรือการดำเนินการอย่างมีชั้นเชิงในเรื่องปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายต้าน หรือไม่เห็นด้วย    ต้องรับฟังทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย

สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ การใช้พลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) มาร่วมขับเคลื่อน

 มองตนเองคล้ายเป็นระบบ   นี่คือการทำความเข้าใจตนเอง   เข้าใจบทบาทของตนเอง    เข้าใจตนเองจากมุมมองของคนอื่น   เพื่อทำให้เป้าหมายที่สูงส่งของตนเองแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น  สื่อสารออกไปได้อย่างมีพลังยิ่งขึ้น     

ใช้งานตนเอง    ใช้พลังของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่    ดำเนินการเพื่อเป้าหมายนั้น  กล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง  กล้าทดลองโดยไม่กลัวล้มเหลว เพื่อเรียนรู้และปรับตัว    กล้าเผยจุดอ่อนของตนเอง   และสร้างพื้นที่และเครือข่ายเพื่อการบรรลุอุดมการณ์ของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่                      

บันทึกนี้ และบันทึกที่จะลงใน blog ThaiKM ในวันศุกร์ทุกศุกร์ต่อจากนี้ไปอีกหลายเดือน    จะเป็นบันทึกจากการฝึกเขียนจาก critical reflection จากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    ใช้เฉพาะหัวข้อ และ keywords ในหนังสือ เป็นตัวกระตุ้น   ไม่ได้อ่านสาระในหนังสือโดยละเอียด   เพราะมีหนังสือให้อ่านจำนวนมาก    

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้จากเยอรมนี  

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๖๔        

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693253เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท