ท้องถิ่นกับระเบียบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ย้อนแย้ง


ท้องถิ่นกับระเบียบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ย้อนแย้ง

5 พฤศจิกายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

อปท.มีอำนาจและหน้าที่จัดระบบการบริการสาธารณะในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ชัดเจนว่าหน้าที่และอำนาจ หรือ “ภารกิจ” ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบัญญัติรองรับไว้ในกฎหมายคือ (1) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 250 วรรคสอง[2] (2) ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. มาตรา 45 (9) [3] แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 50 (9)[4] แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496  มาตรา 67 (4)[5] แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และ รวมถึง มาตรา 62 (14)[6] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 89 (3)[7] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และ (3) รองรับด้วย พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542[8] ให้ อปท.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ แยกเป็น (1) เทศบาล เมืองพัทยา และ อบต.ตาม มาตรา 16 (29)[9] “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” และ (2) อบจ. ตาม มาตรา 17 (22)[10] “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย…”

มีข้อสังเกตว่า ในมิติของ “ภารกิจ” หรือ “หน้าที่และอำนาจ” นั้น ใน อปท. ต่างๆ บัญญัติหน้าที่ “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ไว้แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น อบจ. เทศบาล และเมืองพัทยา ไม่มีถ้อยคำว่า “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ไว้ในบทบัญญัติว่าด้วย “หน้าที่ของเทศบาล และ “อำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตเมืองพัทยา” ไว้แต่อย่างใด แต่ใช้ฐานอำนาจว่า “หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล หรือ อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 18 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 4[11]ซึ่งได้มีการอุดช่องว่าง เพื่อป้องกันความสับสนไว้ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542[12] มาตรา 16สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ กฎหมายจัดตั้ง อปท.แต่ละประเภทมีการประกาศใช้บังคับมาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น กฎหมายจัดตั้งเทศบาล ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ทำให้ไม่ได้มีการปริวรรต หรือแก้ไขถ้อยคำในตัวกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ได้ตราขึ้นมาในภายหลัง รวมทั้งรัฐธรรมนูญด้วย 

 

ด่านแรกในการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยและภัยพิบัติ

ในภารกิจหน้าที่การช่วยเหลือประชาชนของ อปท. ในระยะหลังที่ผ่านมา นั้น อปท.ความรับผิดชอบมากขึ้น ด้วยสาเหตุเพราะ อปท.เป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นด่านแรกที่ต้องประสบภัย เมื่อมีสาธารณภัย หรือภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่จึงถือเป็นหน้าที่โดยตรงในลำดับแรกของ อปท.ที่ต้องช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ด้วยความสำคัญตรงนี้ จึงเป็นที่มาของระเบียบกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560[13] ซึ่งเป็น “อนุบัญญัติ” หรือ “กฎหมายลำดับรอง” ที่ มท.ได้ตราขึ้นใหม่ เพราะ หลักเกณฑ์เดิมที่ อปท.ใช้มานาน คือ “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. พ.ศ.2543” [14] ที่ประกาศตามระเบียบ มท. ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 นั้นไม่สามารถใช้บังคับต่อไปได้ เนื่องจากขาดฐานอำนาจรองรับ

 

ด้วยภารกิจที่ได้รับมอบหมายใน “การช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย” ตามนิยมความหมายของ “สาธารณภัย” แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550[15] ที่บัญญัติใหม่ โดยยกเลิกกฎหมายเก่าเอามารวมไว้ด้วยกัน คือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2522 และกฎหมายป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 มาไว้ที่เดียวกัน จึงมีประเด็นว่า ในรอบที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคใดในทางปฏิบัติหรือไม่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน และเบิกจ่ายงบประมาณในขั้นตอนสุดท้าย มีความย้อนแย้งในการช่วยเหลือ “ผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน” ของประชาชนในท้องถิ่นใดบ้าง หรือไม่ 

 

รายจ่ายงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่ในอิทธิพลของ “ลมมรสุม” [16] และขนาบด้วยพายุหมุนเขตร้อน คือพายุไต้ฝุ่นจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และพายุไซโคลนจากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่ประสบภาวะฝนฟ้าอากาศในรอบปีซ้ำๆ กัน เช่นจากหน้าฝน (น้ำท่วม) ต่อไปก็เข้าหน้าแล้งหน้าหนาว ต่อไปก็เข้าหน้าร้อนสุดๆ ในเดือนห้า (ช่วงเดือนเมษายน) เกิดภาวะขาดน้ำเพื่อการเกษตร เป็นวัฏจักรเช่นนี้ในทุกๆ ปีมาตลอด

          สาธารณภัยนั้นมิใช่มีเฉพาะ “ฝนท่วมฝนแล้ง” หากแต่ยังมีสาธารณภัยอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภัยหนาว วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาดพืช สัตว์ โรคระบาดคน และอาจรวมถึงอุบัติภัยต่างๆ หรือภัยอื่นใดที่มีมาเป็นสาธารณะด้วยทั้งหมด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550[17] บัญญัติว่า “สาธารณภัย”หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ที่อาจมี “สาธารณภัย” หรือ “ภัยพิบัติ” ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภัยโรคโควิด ภัยโรคระบาดสัตว์ลัมปี สกิน เป็นต้น

ขอยกกรณีสภาพอากาศฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนประสบภัยที่เกิดจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ปรากฏภาพข่าวว่าทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายจังหวัดจากสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว

นี่ถือเป็นภารกิจสำคัญของ อปท.ที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ตามภารกิจที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี “รายจ่าย” ที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตาม มาตรา 6 และมาตรา 74 (9) [18] แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 77 และมาตรา 67 (9) [19] แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 5 และมาตรา 85 (10) [20] แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และ รวมถึง มาตรา 6 และมาตรา 91 (10) [21] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 5 และมาตรา 118 (11) [22] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 

 

เบื้องหลังการช่วยเหลือประชาชนที่ขมขื่นของ อปท.

ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภารกิจด้านการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประชาชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยึดถือและปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถตลอดมา แต่ภายใต้การปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งในสถานการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้ เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญด้วยความไม่สมบูรณ์แบบของแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีทั้งความซ้ำซ้อน ความไม่ชัดเจนของระเบียบกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานผู้กำกับดูแลได้พยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

(1) ปัจจุบันปัญหาต่างๆ สืบเนื่องตามมาอันเป็นผลจาก “การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด” หรือ การแก้ปัญหาเก่าเพื่อให้เกิดปัญหาใหม่ ด้วยระเบียบกฎหมายของประเทศไทยที่ท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติมักถูกร่างและออกกฎหมายและระเบียบโดยส่วนกลาง ซึ่งไม่รู้ถึงบริบทปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน เป็นการออกกฎหมายโดยอาศัยปัญหา “ภาพรวม” ของประเทศ เป็นระเบียบหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกกำหนดมาโดยส่วนกลาง ในบางพื้นที่อาจไม่สามารถปฏิบัติได้ ตามคำกล่าวที่ว่า “คนออกกฎหมายไม่ได้ใช้ คนใช้กฎหมายไม่ได้ออก”

(2) ระเบียบกฎหมายไทยมีมากเกินไป มีการกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน ข้อจำกัดมากเกินไป กลายเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือประชาชน เพราะการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบสาธารณภัยต้องมีความคล่องตัว ที่ต้องยืดหยุ่นปรับได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม นอกจากนั้น “การตัดสินใจ” ให้ความช่วยเหลือต้องเป็นไปด้วยความฉับไวรวดเร็ว ในความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันนั้น  ระเบียบกฎหมายกำหนดข้อห้ามการปฏิบัติได้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม หรือการป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ และการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือเสียผลประโยชน์เกินสมควร แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านทรัพย์สิน ร่างกาย รวมถึงเยียวยาจิตใจของประชาชนที่บอบช้ำด้วย ให้ชาวบ้านรู้สึกปลาบปลื้มชุ่มชื่นใจจากความช่วยเหลือของหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม อปท.เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงถูกตรวจสอบภายใต้หลักกฎหมายมหาชนว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” ทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือประชาชนในบางครั้งได้ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดือดร้อนที่ไปช่วยเหลือประชาชนหรือไปกระทำการที่มิใช่อำนาจหน้าที่ของ อปท. นอกจากจะไม่ได้รับความดีความชอบแล้ว เจ้าหน้าที่ยังต้องรับโทษทั้งทางอาญา ทางวินัย และทางละเมิดอีก

(3) ระเบียบ มท.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ได้กำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือประชาชน เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย หรือการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือการป้องกันและระงับโรคติดต่อ หรือการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยโดยให้เสนอต่อ “คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” [23] ให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งในระดับอำเภอหรือจังหวัด ที่มีโครงสร้างของกรรมการส่วนใหญ่มาจากราชการส่วนกลาง ที่มีสายงานบังคับบัญชา ประธานเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร นอกจากจะเพิ่มขั้นตอน สร้างภาระแล้ว ยังทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้มีการคานอำนาจหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นประสบการณ์ตามเจตนารมณ์ของการกำหนดให้มีคณะกรรมการตามกฎหมายขึ้น เพราะอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือได้

(4) ปัญหาที่สำคัญมากคือ “ขอบเขตที่กว้างขวางในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ อปท.” โดยหนังสือสั่งการต่างๆ ที่ออกโดยหน่วยกำกับดูแล มักใช้คำว่า “ให้ อปท. พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่” ที่ผ่านมาในการปฏิบัติงานของท้องถิ่นก็ผูกติดกับคำว่า “อำนาจหน้าที่” ที่ครอบจักรวาล ทำให้เกิดการตีความและสร้างความสับสนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า อะไรคือ อำนาจหน้าที่ของ อปท.บ้าง เพราะกฎหมายจัดตั้ง อปท.ก็บัญญัติอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นบางอย่างไว้อย่างกว้าง และบางหน้าที่ก็ซ้ำซ้อนกับภารกิจส่วนราชการส่วนภูมิภาคอื่น เช่น พัฒนาสังคมฯ พัฒนาชุมชน เกษตรฯ ปศุสัตว์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ทำให้ไม่แน่ใจว่า มีสิ่งใดบ้างที่ อปท.ทำได้หมด และไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ในหลายเรื่องที่ อปท.ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่หน่วยงานตรวจสอบเห็นความว่า “ไม่ใช่ภารกิจของ อปท.” ทำให้ต้องถูกเรียกเงินคืนคลัง จากประสบการณ์เหล่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ อปท.เกิดความเกรงกลัวว่า หากดำเนินการในเรื่องใดที่มีความแปลกใหม่จากที่เคยดำเนินการมาจะอยู่ในความหมายอำนาจหน้าที่ของ อปท. หรือไม่ และอาจต้องรับผิดชอบในวงเงินที่ถูกเรียกเงินคืน สุดท้ายผู้รับเคราะห์จากความไม่ชัดเจนของกฎหมายนี้กลับกลายเป็นประชาชนในพื้นที่ 

(5) มีแนวคิดในการจำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ กรณีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีลักษณะเป็น “การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน” เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้องทั้งอาญา-แพ่ง-วินัย-ละเมิด ด้วยข้อจำกัดในสถานการณ์เร่งด่วนที่บีบบังคับให้ต้องรีบด่วนตัดสินใจดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน ซึ่งเมื่อเทียบจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ในบางสถานการณ์ก็เช่นเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ อปท.ได้ปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง ต้องกลับไปทบทวนที่ผู้ออกระเบียบกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ อปท.ที่สั่งการโดยสุจริต สมควรได้รับการคุ้มครองหรือเหลียวแลจากกฎหมายตามที่เหมาะสมและสมควร อย่างน้อยก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติด้วยใจสุจริตอย่างอุตสาหะแข็งขันในการบริการประชาชน มิใช่ยึดโยงอยู่กับระเบียบฯ มากมายที่ตีกรอบการปฏิบัติงานอย่างแข็งกระด้างเช่นปัจจุบัน

(6) ปัญหาการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อเยียวยากรณีเกิดสาธารณภัยฉุกเฉินของ อปท. “ที่ซ้ำซ้อน” ก็คือ ด้วยความรวดเร็วทำให้ต่างฝ่ายต่างก็ให้ความช่วยเหลือ จึงเกิดการช่วยเหลือที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบรวมทั้งภาคเอกชนด้วย[24] ด้วยความล่าช้าของราชการส่วนกลาง ในการลงระบบของหน่วยงานต่างๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ อปท.ไม่อาจรอจากส่วนกลางทำให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที นอกจากนี้ แม้ว่าหน่วยงานอื่นจะให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อนเสียหายอยู่ ไม่สามารถดำรงชีพได้ตามปกติ ตามขีดศักยภาพของแต่ละครอบครัวแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน หากจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ระเบียบกฎหมาย “ต้องให้อิสระแก่ อปท. ในการตัดสินใจ” พิจารณาช่วยเหลือได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ต้องลดขั้นตอนของคณะกรรมการที่มาจากภาครัฐให้น้อยลง และเพิ่มบทบาทแก่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงซึ่งก็คือ “ประชาชน” ให้เข้าเป็นผู้ร่วมตรวจสอบ เพื่อให้การช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการ และทันท่วงที เป็นการสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความรักสามัคคีและสร้างสังคมหรือชุมชนให้เข้มแข็งทางอ้อมอีกด้วย 

(7) ท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบที่มากขึ้น รัฐต้องให้ความไว้ใจประชาชน และฝึกให้ประชาชนได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในชุมชนของตน ด้วยการเพิ่มบทบาทผ่านโรงเรียนประชาธิปไตยในชุมชน ซึ่งก็คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพราะที่ผ่านมา ประชาชนบางพื้นที่ได้พิสูจน์ศักยภาพของตนผ่านการจัดบริการสาธารณะด้วยตนเองของ ภาคประชาคม ประชาสังคม ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครภายในชุมชนที่ทำงานด้วยใจ ไม่มีเงินเดือน เช่น กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนสัจจะ กองทุนวันละบาท ฯลฯ ที่จัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชนด้วยการออมวันละหนึ่งบาท ลองพิจารณาดูว่า จะคุ้มค่าแค่ไหน หากรัฐได้พัฒนาความเข้มแข็งและขยายรากฐานกลุ่มประชาชนเหล่านี้ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด

 

            การฉายภาพท้องถิ่นในหลายๆ บริบท ในมิติมุมมองที่หลากหลาย เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สร้างสรรค์ ไม่ดักดาน ดึงดัน ดื้อดึง หัวแข็ง แช่แข็ง แลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ความคิดเห็นกัน ยอมรับในความเห็นต่าง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เป็นโรงเรียนแห่งประชาธิปไตยได้ ไฉนเลยบ้านเมืองเราคงไม่ต่ำตมเป็นแน่

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Watcharapron Maneenuch, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 5 พฤศจิกายน 2564, https://siamrath.co.th/n/294941   

[2]มาตรา 250 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตามกฎหมายบัญญัติ

การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะใดที่ สมควรให้เป็นหน้าที่ และอำนาจโดยเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการใดให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสี่ และกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องบัญญัติเกี่ยวกับกลไกและขั้นตอนในการกระจายหน้าที่ และอำนาจ ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่ เกี่ยวหน้าที่และอำนาจดังกล่าวของส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะใดที่เป็นหน้าที่ และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถ้าร่วมดำเนินกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ หรือการมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าที่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมหรือมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการก็ได้

รัฐดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตนเองโดยจัดระบบภาษีหรือจัดระบบภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้อย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ ยังไม่ยังไม่อาจดำเนินการได้ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพลางก่อน

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารและจัดทำบริการสาธารณะการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบและต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการท้องถิ่นด้วย  

[3]พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 รวมแก้ไขถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 62 ก วันที่ 31 ตุลาคม 2540 หน้า 1, (ฉบับที่ 5 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 130), ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(อัพเดต), http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CD16/%CD16-20-9999-update.pdf 

มาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้

(9) จัดจัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  

[4]พรบ.เทศบาล พ.ศ.2496 รวมแก้ไขถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562, ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(อัพเดต), http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%B705/%B705-20-9999-update.pdf 

มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้

(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล

[5]พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 รวมแก้ไขถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562, ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(อัพเดต), http://web.krisdika.go.th/lawHeadContent.jsp?fromPage=lawHeadContent&formatFile=htm&hID=0  

มาตรา 67 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้

(4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

[6]พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 รวมแก้ไขถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 120 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 หน้า 21,  (ฉบับรวมอัพเดต), http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C342/%C342-20-9999-update.pdf & ฉบับที่ 3, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0120.PDF 

มาตรา 62 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตเมืองพัทยาในเรื่องดังต่อไปนี้

(14) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา  

[7]พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 รวมแก้ไขถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 115 ฉบับพิเศษ วันที่ 31 สิงหาคม 2528 หน้า 1, ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(อัพเดต),

http://web.krisdika.go.th/lawHeadContent.jsp?fromPage=lawHeadContent&formatFile=htm&hID=0  

มาตรา 89 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(3) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  

[8]พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แก้ไขถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 114 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 หน้า 48, ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(อัพเดต), http://web.krisdika.go.th/lawHeadContent.jsp?fromPage=lawHeadContent&formatFile=htm&hID=0 

http://www.dla.go.th/work/planlocal/กฏหมาย%20ระเบียบ/พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่%20อปท.%20พ.ศ.2542%20pdf.pdf

[9]มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้

(29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

[10]มาตรา 17 ภายใต้บังคับมาตรา 16 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้

(29) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

[11]พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%BB46/%BB46-20-2550-a0001.htm 

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่หมายความรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง แต่ไม่หมายความรวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด ผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น และผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร

มาตรา 18 ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นรองผู้อำนวยการจังหวัด มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดมอบหมาย

มาตรา 20 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัครให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการท้องถิ่น รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตนและมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย

[12]มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้

(1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

(2) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ

(3) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ

(4) การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น ๆ

(5) การสาธารณูปการ

(6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ

(7) การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน

(8) การส่งเสริมการท่องเที่ยว

(9) การจัดการศึกษา

(10) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส

(11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

(13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

(14) การส่งเสริมกีฬา

(15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

(16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น

(17) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

(18) การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย

(19) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล

(20) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน

(21) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์

(22) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์

(23) การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ

(24) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(25) การผังเมือง

(26) การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร

(27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ

(28) การควบคุมอาคาร

(29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(30) การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

(31) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

[13]ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 รวมแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง หน้า 3 วันที่ 29 กันยายน 2560, ฉบับที่ 2 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 17 ง หน้า 1 วันที่ 17 มกราคม 2562, https://thapo.go.th/files/com_networknews/2019-07_dfc90f22190fe82.pdf  

[14]หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. พ.ศ.2543 (ยกเลิก), http://www.wiangphangkham.go.th/images/pulldown_1471667497/principlebudget43_local_.pdf  

[15]พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 52 ก วันที่ 7 กันยายน 2550 หน้า 1-23, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%BB46/%BB46-20-2550-a0001.pdf   

[16]เป็นการหมุนเวียนส่วนหนึ่งของลมที่พัดตามฤดูกาล คือลมประจำฤดู เป็นลมแน่ทิศและสม่ำเสมอ คำว่า “มรสุม” หรือ monsoon มาจากคำว่า mausim ในภาษาอาหรับ แปลว่า ฤดูกาล (season) สาเหตุใหญ่ๆ เกิดจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดิน และพื้นน้ำในฤดูหนาวอุณหภูมิของพื้นดินเย็นกว่า อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงกว่า และลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศเหนือทวีปซึ่งเย็นกว่าไหลไปแทนที่ ทำให้เกิดเป็นลมพัดออกจากทวีป พอถึงฤดูร้อนอุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปร้อนกว่าน้ำในมหาสมุทร เป็นเหตุให้เกิดลมพัดในทิศทางตรงข้าม ลมมรสุมที่มีกำลังแรงจัดที่สุดได้แก่ ลมมรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย

ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ : กรมอุตุนิยมวิทยา  

[17]พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550, อ้างแล้ว

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“สาธารณภัย”หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์โรคระบาดสัตว์โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติมีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย  

[18]มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ประกาศและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 74 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(9) รายจ่ายอื่นใดที่จำเป็นต้องจ่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามข้อผูกพัน หรือรายจ่ายตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้  

[19]มาตรา 67 เทศบาลอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้

(9) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

มาตรา 77ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือระเบียบข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้  

[20]มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 85 องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(10) รายจ่ายอื่นใดที่จำเป็นต้องจ่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามข้อผูกพัน หรือรายจ่ายตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้  

[21]มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 91 เมืองพัทยาอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้

(10) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือข้อบัญญัติกำหนด 

[22]มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 118 กรุงเทพมหานครอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(11) รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายหรือระเบียบของกรุงเทพมหานครกำหนดไว้

[23]มีข้อสังเกตตามข้อ 6 (เสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อน) และ ข้อ 8 (คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.4/ว 1341 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

 

[24]มีผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่น่าสนใจ ในกรณีภาคเอกชนที่ประสงค์จะแจกจ่ายเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชน ขอให้แจ้งประสานงานจังหวัดและ อปท.ก่อนทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ที่จะได้รับแจกจ่ายเครื่องกันหนาว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และสามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และ นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอกระทรวงการคลัง แก้เกณฑ์ ภัยหนาวจาก อุณหภูมิ ต่ำกว่า 8 เป็น ต่ำกว่า 15 ติดต่อเกิน 3 วัน ตามข้อเท็จจริงข้อ 3.5.2 แก้ไขนิยาม “อากาศหนาวจัดผิดปกติ” เป็น “อากาศหนาวผิดปกติ” ขอให้กระทรวงการคลังปรับปรุงนิยาม “ภัยพิบัติ” ตามข้อ 5 แห่งระเบียบ กค. 

ตาม หนังสือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ด่วนที่สุด ที่ ผผ 1002/2997 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เรื่อง แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 

ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2514 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เรื่อง การแจกจ่ายเครื่องกันหนาวกรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/11/26386_1_1635760896937.pdf?time=1635765132530

& สิ่งที่ส่งมาด้วย  (15 หน้า), http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/11/26386_2_1635760896953.pdf?time=1635765132530

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท