ปัญหาที่ย้อนแย้งกันระหว่างท้องที่กับท้องถิ่น


ปัญหาที่ย้อนแย้งกันระหว่างท้องที่กับท้องถิ่น

22 ตุลาคม 2564 

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ความย้อนแย้งในหลายมิติ

เป็นประเด็นความย้อนแย้งระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่น ในที่นี้คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”(อปท.) ที่ผูกติดกันมานานมาก ในบริบทของผู้กำกับดูแล คือ กระทรวงมหาดไทย จังหวัด และอำเภอ ซึ่งต่อมาในส่วนกลางมิใช่เพียงกรมการปกครอง (ปค.) เท่านั้น แต่ยังหมายถึง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่เข้ามากำกับดูแล อปท.โดยตรง ปัญหาการแยกไม่ออกระหว่าง “ท้องที่และท้องถิ่น” มีมานานมาก จนคนทั่วๆ ไป ที่ไม่เข้าใจหลักการปกครองท้องถิ่น และบริบทของท้องถิ่นจะเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน โดยมีการแยกแยะคำเรียก เพื่อป้องกันความสับสนว่า หากกล่าวถึงคำว่า “ท้องถิ่น” ให้หมายถึง อปท.ทั้ง 5 รูปแบบ[2] แต่หากหากกล่าวถึงคำว่า “ท้องที่” ให้หมายถึง “หมู่บ้านและตำบล” รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่บางพื้นที่ยังคงมีกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ อยู่ด้วย[3] เป็นคำที่มาจาก พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 นั่นเอง

ในมิติของความย้อนแย้งสะสมมานานหลายปี หากจะนับคร่าวๆ ขอนับย้อนหลังถึงเพียงปี 2546[4]ที่จริงความสับสนนี้ย้อนแย้งได้นานหลายปี อาทิเช่น สมัยก่อนมี “สุขาภิบาล” ปี 2495[5] และ “สภาตำบล” ปี 2537 และก่อนหน้านั้น ที่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการด้วย ในบทบัญญัติ พ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2509 มาตรา 4[6]ได้นิยามความหมาย เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นรวมถึง กำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ด้วย กล่าวคือ เหมือนกับข้าราชการพนักงานส่วนบุคลากรท้องถิ่นข้าราชการด้วย ซึ่งในแบบฟอร์มราชการหลายๆ อย่างก็สร้างความสับสนทำให้ “ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น” ถูกด้อยค่า เช่น ไม่สามารถลงนามรับรองบุคคลได้ในแบบฟอร์มที่ระบุว่าผู้รับรองต้องเป็น “ข้าราชการ” เป็นต้น[7] หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งความหมายของคำว่า “ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น” ไม่ได้มีความหมายตรงตรงว่าเป็น “ข้าราชการ” เหมือนดังเช่นข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนโดยทั่วไป เรื่องนี้ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา[8] ฉบับก่อนๆ ก็มิได้ให้ความหมายนิยามว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็น “ข้าราชการ” เหมือนข้าราชการทั่วไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะผูกโยงมาถึงเรื่อง “สิทธิ” ของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นอันพึงมีพึงได้ตามระบบราชการ เช่น สิทธิการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์[9] สิทธิการเทียบโอนย้ายตำแหน่งไปข้าราชการประเภทอื่น เป็นต้น

 

ต้นเหตุแห่งปัญหาระหว่างท้องที่กับท้องถิ่น

ย้อนดูที่มาประเด็นแห่งปัญหาคือ ประกาศ มท.ยกฐานะเทศบาลเมือง เทศบาลนคร ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่นที่ได้รับการยกฐานะ หรือ ประเด็นว่า การพ้นจากตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน เมื่อมีการยกฐานะท้องถิ่นเป็นเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 

มาตรา 12[10] (แก้ไขโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546) บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 การเปลี่ยนชื่อเทศบาลหรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย

ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลตามความในวรรคหนึ่งสิ้นสุดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป”

กล่าวคือ มีการนำ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 มาตรา 12 มาตรา 48 บังคับใช้ ทำให้ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ถูกยกเลิกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 3 วรรค 2[11] แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2552 ได้บัญญัติว่า “การยุบเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะกระทำมิได้”

          ในประเด็นข้างต้น ยังมีส่งต่อมาถึง กรณี “คณะกรรมการหมู่บ้าน” (กม.)[12] กับ “คณะกรรมการชุมชนของเทศบาล”[13] แม้ว่ากฤษฎีกาได้วินิจฉัยข้อหารือเมื่อหลายปีก่อนว่า “ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และ หมู่บ้านจะต้องยุบเลิกไปหรือไม่ อย่างไร” เมื่อมีการยกฐานะเป็น “เทศบาลเมือง”(ทม.) และ “เทศบาลนคร”(ทน.) ตามความเห็นกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 693/2558 (เมษายน 2558)[14] วินิจฉัยสรุปว่า “บทบัญญัติตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เทศบาลฯ จึงไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 3 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ แต่อย่างใด กฎหมายทั้งสองฉบับยังคงใช้บังคับคู่เคียงกันได้ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 4 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เทศบาลฯ เท่านั้น ที่ไม่อาจใช้บังคับต่อไปได้” 

เมื่อ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 กับ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ที่แก้ไขใหม่ไม่ขัดแย้งกัน หากตำแหน่งว่างลงไม่สามารถเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครได้ โดยไม่นำ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่มาบังคับใช้ พ.ร.บ.เทศบาลใช้คำว่า “หมดไป” จึงไม่ใช่ยุบเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ แต่เรื่องนี้ยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียง “การตีความและความเห็นที่ยังไม่มีข้อยุติ” ได้มีการเปิดประเด็นเรื่องนี้มาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2546 เห็นว่า เป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกันระหว่าง “ท้องถิ่นกับท้องที่” ที่ซ้ำซ้อนกับภารกิจในการกระจายอำนาจ โดยต่างฝ่ายต่างมีกรอบความคิดที่ต่างกัน บ้างก็ว่าท้องถิ่น เขี่ย “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” พ้น “เขตเทศบาล” ด้วยจำนวนบุคลากรที่มีมากถึง 2.9 แสนคน ทำให้ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ออกมาเคลื่อนไหวเป็น “ปมร้อนท้องถิ่น”[15]กดดันกระทรวงมหาดไทยในปี 2562 ขอให้แก้ไขกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่สำหรับกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ที่ถูกยุบเลิกไปในเขตเทศบาลเมือง เทศบาลนครให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง เนื่องจากมีการนำ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 มาตรา 12 มาตรา 48 บังคับใช้ ทำให้มีหลายพื้นที่ถูกยกเลิกตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ไป ในขณะที่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 มาตรา 3 วรรค 2 แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2552 ระบุว่า การยุบเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะกระทำมิได้ จึงเป็นประเด็นข้อขัดแย้งในการ “ประชาพิจารณ์เพื่อยกฐานะเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร” รวมทั้งการยกฐานะ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) เป็นเทศบาลด้วย ส่งผลให้ อบต.ในเขตเมืองใหญ่และในเขตปริมณฑลหลายแห่งไม่ยอมยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาล

จากความเห็นกฤษฎีกาดังกล่าว เมื่อราวปี 2552 กรมการปกครองมีปัญหาทางปฏิบัติว่า การกระทำของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอท้องที่ที่ได้มีการรื้อฟื้นให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่แทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในเขตเทศบาลเมืองที่พ้นหนึ่งปีไปแล้วว่า เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่กรมการปกครองมีการแต่งตั้ง ผู้ใหญ่บ้านฯ กลับคืนในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลฯ ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่ได้เกษียณอายุไป หรือหมดวาระไปแล้ว (แต่เดิมผู้ใหญ่บ้านมีวาระ 5 ปี) ในช่วงที่มีการตรา พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 12 พ.ศ.2552 ซึ่งมีปรากฏอยู่ในท้องที่หลายๆ จังหวัด เช่น ท้องที่อำเภอเกาะสมุย[16]เป็นต้น กรม สถ. จึงได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2557 แม้จะล่าช้าไป เพราะมีการดำเนินการเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านไปก่อนหน้าแล้ว ประเด็นปัญหามีว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ เสียหายคือใคร บุคคลใด หรือคณะบุคคลใด หรือหน่วยงานของรัฐหน่วยใดเพราะ หากมีผู้มีส่วนได้เสียร้องเรียน อาจฟ้องศาลปกครองได้

 

คณะกรรมการชุมชนเทศบาลกับคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ 

บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “มาตรา 78[17] รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน”  พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม “มาตรา 16[18] ให้เทศบาล ...มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้ ...(15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ...(16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น …”  แล้วคำว่า “ซ้ำซ้อน” มิได้เป็นถ้อยคำที่มีอยู่โดยตรงในบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดโดยตรง แต่อาจขัดแย้งในเชิงโครงสร้างภารกิจอำนาจหน้าที่ตามหลักการกระจายอำนาจในการปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อสังเกตและปมประเด็นปัญหา

(1) อะไรคือความ “ซ้ำซ้อน” “ซ้ำกันอย่างไร” “ซ้ำกันในภารกิจใด” ที่จริงคงไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน เพราะต่างคนก็ต่างบริบทกัน ยึดถือกฎหมายกันคนละฉบับ แยกกันไม่ออกระหว่าง “ภูมิภาค” กับ “ท้องถิ่น” ที่รัฐพาให้ประชาชนสับสนในรูปแบบการปกครองเสียเอง อย่างนี้จะไปโทษใคร แนวคิดของรัฐแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” แบบอำนาจนิยมยังคงมีอิทธิพลครอบงำอย่างมากในสังคมไทย จะต้องแก้ไขจุดนี้ก่อนหรือไม่ อย่างไร

(2) การแก้กฎหมายคืนตำแหน่งให้มีกำนันผู้ใหญ่บ้านใน เขต กทม. จะสามารถกระทำได้เพียงใด หรือว่าเป็นเพียงกระแสกดดัน มท.จากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เท่านั้น เพราะอยู่ที่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ทั้งนี้ต้อง “รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” ตามกฎหมายที่ตราโดยมาตรา 77[19]แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย ต้องมาดูว่าบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในชุมชนเมือง ยังมีอยู่หรือไม่ แล้วปฏิบัติได้หรือไม่ ส่วนคณะกรรมการชุมชนมีเจตนารมณ์ให้คนในชุมชนเมืองได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แต่ส่วนกลางยังอยากให้เสมือนเป็นผู้ใหญ่บ้าน ยังมอบภารกิจจากส่วนกลางผ่านหน่วยงานภูมิภาคให้คณะกรรมการชุมชนทำงานเป็นผู้ใหญ่บ้านทั้งที่อำนาจหน้าที่ไม่มีด้านการปกครองแล้ว มีแต่ด้านการพัฒนา

(3) ระเบียบ มท. ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ.2564[20] ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัวเป็นกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลตำบลฯ ที่มีผู้ใหญ่บ้าน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

(4) กรณีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กับคณะกรรมการชุมชนของเทศบาลดังกล่าว กฤษฎีกาเคยวินิจฉัยข้อหารือเมื่อหลายปีก่อนว่า กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่และกฎหมายเทศบาลไม่ขัดแย้งกัน

(5) ในเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร เมื่อยกฐานะแล้วครบปี ห้ามเลือกผู้ปกครองท้องที่และให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นหน้าที่ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ. เทศบาล แต่หากยังมีผู้ใหญ่บ้านอยู่ ในเมื่อไม่มี “คณะกรรมการหมู่บ้าน” (กม.) ท้องถิ่นก็มีอำนาจออกระเบียบให้ เทศบาลตั้ง “กรรมการชุมชน” แทน

(6) ปัญหาคือ เฉพาะเขตพื้นที่ ทม.และ ทน. แต่เขตพื้นที่ ทต.ยังคงเหมือนเดิม อาจมีปัญหา กรณี ทต.ที่เทศบาลตำบลได้แบ่งจัดตั้งชุมชนไว้แล้วตามหมู่บ้าน หากหมู่บ้านใดมีหลายชุมชนจะยุ่งยากสับสนในการจัดการบริหารงานชุมชนมาก เพราะ เทศบาลจะไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการชุมชนได้ เป็นต้น

(7) นี่คือสรุปประเด็นปัญหา คณะกรรมการชุมชนเทศบาลที่มีผู้ใหญ่บ้าน ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ตามระเบียบข้อ 32[21] แห่งระเบียบ มท.ดังกล่าว เจตนารมณ์ไม่ให้มีซ้ำซ้อนกับ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” (กม.) 

 

ที่สาธยายถึงความย้อนแย้งข้างต้นมิได้มีเจตนาจะด้อยค่า หรือเปิดปมขัดแย้งใดๆ แต่หวังชี้ให้เห็นปัญหาของการบริหารราชการแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ชักเข้าชักออกตามกระแสแรงกดดัน แทนที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ในที่นี้เห็นว่า “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ไม่ว่าจะกระจายอำนาจในระดับใด อย่างไร เป็นคำตอบสุดท้าย


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 22 ตุลาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/290997 

[2]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 รูปแบบ เรียงลำดับตามความเก่าแก่ ได้แก่ (1) เทศบาล (2) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) (3) กรุงเทพมหานคร (กทม.) (4) เมืองพัทยา (5) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

[3]ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในเขตกรุงเทพมหานคร, ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2547, https://multi.dopa.go.th/svhad/laws/cate4/view12

[4]ดู 120 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ.2440-2560) : พัฒนาการ และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของรัฐไทย(120 Years of Thai Local Administration (2440-2560 B.E.): Evolution and Historical Conditions of Thai State) : Thai JO by T Mala, 2017, ไททัศน์ มาลา (Titus Mala), มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ใน ThaiJO, วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2560), https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/79287/pdf_15/

[5]มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 4 เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสุขาภิบาลตามพระราชบัญญัตินี้

ให้สุขาภิบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล

"มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการสุขาภิบาลประกอบด้วย

(1) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแห่งท้องที่ที่สุขาภิบาลนั้นตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

(2) ปลัดอำเภอแห่งอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่สุขาภิบาลนั้นตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งขึ้นจำนวนหนึ่งคน

(3) กำนันแห่งตำบลซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของตำบลนั้นอยู่ในเขตสุขาภิบาล

(4) ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งราษฎรในเขตสุขาภิบาลนั้นเลือกตั้งขึ้นเก้าคน

การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน (4) ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม"

* มาตรา 7 พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ.2495 แก้ไข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 

ดู พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ.2495, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2495 หน้า 1261, http://envilaw.onep.go.th/content.aspx?u=./docs%5Claw%5Claw_3686.html

[6]มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

“เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า สมาชิกสภาจังหวัด ข้าราชการส่วนจังหวัด ลูกจ้างประจำขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลนายกเทศมนตรี เทศมนตรี พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำของเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล สมาชิกสภาเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา พนักงานเมืองพัทยา ลูกจ้างประจำของ เมืองพัทยา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา กรรมการสุขาภิบาล พนักงานสุขาภิบาล ลูกจ้างประจำของสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลกรรมการสภาตำบล ที่ปรึกษาสภาตำบล เลขานุการ สภาตำบล หรือเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างประจำอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล หรือ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการตำบล กรรมการหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ตำบลและหมู่บ้านตาม กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และหมายความรวมถึงผู้ได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ดู พ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2509 แก้ไขถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2528 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2560, https://www.nmt.or.th/law/detail/4 & https://www.nmt.or.th/law/download/?id=4&file=files/com_law/2017-10/20171005_wvlnxxex.pdf&name=พระราชบัญญัติเครื่องแบบเจ้าหน้

[7]เช่น แบบรับรองสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจชันสัญญาบัตร ใช้คำว่าผู้รับรองได้แก่ ข้าราชการประจำการ มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจเอก ร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก ขึ้นไป ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการพลเรือนประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานขึ้นไป ประเภทวิชาการระดับชำนาญการขึ้นไป ประเภทอำนวยการหรือประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไป

ดู แบบหนังสือรับรอง ผนวก ช. สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร, https://nine100.com/wp-content/uploads/2018/05/หนังสือรับรองและแบบบันทึกข้อมูล-สำหรับผู.pdf 

[8]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 250 วรรคห้า (วรรคท้าย) บัญญัติตอนท้ายว่า

“กฎหมายตามวรรคหนึ่ง และกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย” 

[9]ความเหลื่อมล้ำในระบบราชการพลเรือนและท้องถิ่นในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เมื่อ 6 ตุลาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งฯ พ.ศ.2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ตารางการกำหนดตำแหน่งข้าราชการประเภทต่างๆ ที่มีสิทธิทำเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชฯได้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีความเหลื่อมล้ำ (ตอกย้ำว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นข้าราชการชั้นสอง) กันอย่างมาก ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ประเภทอำนวยการระดับต้น ของข้าราชการพลเรือน เริ่มต้นให้ขอ ท.ช. และเลื่อนได้ถึง ป.ม. โดย ป.ม.จะขอได้เมื่อได้รับเงินขั้นสูงของระดับชำนาญการพิเศษและได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ แต่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งตำแหน่งอำนวยการระดับกลางเทียบได้กับตำแหน่งอำนวยการระดับต้นของพลเรือน กลับต้องได้รับเงินเดือนขั้นสูง(ของแท่งอำนวยการ) และได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ จึงมีสิทธิขอ ป.ม.ในปีที่เกษียณอายุราชการ

อีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งบริหารระดับต้นของข้าราชการพลเรือน สามารถเริ่มต้นขอ ป.ม. เมื่อได้รับ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ และเลื่อนชั้นตราได้ถึง ม.ว.ม. แต่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งบริหารระดับกลาง (ซึ่งเทียบได้กับบริหารระดับต้นของพลเรือน) กลับให้เริ่มต้นขอ ท.ช.และไปจบที่ ป.ม. โดยการจะขอ ป.ม.ได้ต้องได้รับเงินเดือนขั้นสูง (แท่งบริหารระดับกลาง) และได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ และให้ขอได้ในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

ดู ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2564, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 245 ง วันที่ 6 ตุลาคม 2564 หน้า 1-10, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/245/T_0001.PDF  

[10]มาตรา 12 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 และมาตรา 12 การเปลี่ยนชื่อเทศบาลหรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย

ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาล

ตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป

* ความเดิมมาตรา 12 แก้ไขโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2543 ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546

ดู พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 รวมแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%B705/%B705-20-9999-update.pdf   

[11]มาตรา 3 บรรดาพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อน บทใดข้อความขัดกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกกฎหมายบทนั้นตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ไป

การยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะกระทำมิได้

* มาตรา 3 วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2552

ดู พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 แก้ไขถึง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2552 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102/2557 เรื่อง การแก้ ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557, https://multi.dopa.go.th/pab/assets/modules/info_organ/uploads/51c54a77081b81ba6604aa61b1e0966b57f47e1ab3d8d3145733444685974345.pdf 

[12]มาตรา 28 ตรี ในหมู่บ้านหนึ่งให้ มีคณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน ผู้ นำหรือผู้ แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และกรรมการหมู่บ้านผู้ ทรงคุณวุฒิซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากผู้ ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสิบคน

คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ

ให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน

ผู้นำหรือผู แทนกลุ่มหรือองค์กรใดจะมีสิทธิเป็นกรรมการหมู่บ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

วิธีการเลือกและการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการปฏิบัติหน้าที่ การประชุม และการวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะกรรมการหมู่บ้านให้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้กระทรวงมหาดไทยจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

* มาตรา 28 ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551

ดู พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 แก้ไขถึง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2552 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102/2557 เรื่อง การแก้ ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557, อ้างแล้ว

[13]ข้อ 6 ในชุมชนหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการชุมชน ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากการเลือกโดยประชาชนในชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน

จำนวนกรรมการที่มาจากการเลือกโดยประชาชนตามวรรคหนึ่งในแต่ละชุมชนให้เป็นไปตามที่เทศบาลประกาศกำหนด โดยให้คำนึงถึงจำนวนครัวเรือนในชุมชนเป็นสำคัญ หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกกรรมการชุมชน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ 

ข้อ 12 กรรมการชุมชนมีกำหนดวาระการปฏิบัติหน้าที่คราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกกรรมการชุมชนตามข้อ 6 

ดู ระเบียบ มท. ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ.2564, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 45 ง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 หน้า 1-7, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/045/T_0001.PDF   

[14]ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 693/2558 เมษายน 2558, http://web.krisdika.go.th/data/news/news11702.pdf 

[15]“กำนัน-ผญบ.” เฮ “บิ๊กป๊อก” สั่งแก้กฎหมายคืนเก้าอี้ในเทศบาล, มติชนออนไลน์, 1 กันยายน 2562, 07:47 น., https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1650933  & ปมร้อนท้องถิ่น เขี่ย “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” พ้น “เขตเทศบาล”, มติชนออนไลน์, 4 สิงหาคม 2562, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1610640  

[16]อำเภอเกาะสมุย เป็นราชการส่วนภูมิภาค เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 7 ตำบล 39 หมู่บ้าน เป็นองค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นทั้งอำเภอ เทศบาลเมืองเกาะสมุย ในปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครเกาะสมุย ทำให้ฐานะของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมดฐานะลงไป ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2552 

ดู อดีตกำนันผู้ใหญ่บ้านบนเกาะสมุยมีเฮ​ ส่อเค้ามีโอกาสปลดล็อกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สยามรัฐออนไลน์, 3 ตุลาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/106916  

[17]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 78 “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน”

[18]พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 แก้ไขถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549, https://www.phuketcity.go.th/files/com_networknews/2020-08_ca81b6320a9500d.pdf 

มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้

(1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

(2) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ

(3) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ

(4) การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ 

(5) การสาธารณูปการ 

(6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ

(7) การพาณิชย์และการส่งเสริมการลงทุน

(8) การส่งเสริมการท่องเที่ยว

(9) การจัดการศึกษา 

(10) การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรีคนชรา และผู้ด้อยโอกาส

(11) การบำรุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

(13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

(14) การส่งเสริมกีฬา 

(15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิ เสรีภาพของประชาชน 

(16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น

(17) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

(18) การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย

(19) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล 

(20) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน

(21) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์

(22) การจัดให้มีและควบคมการฆ่าสัตว์

(23) การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ

(24) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(25) การผังเมือง

(26) การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร

(27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ 

(28) การควบคุมอาคาร

(29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(30) การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

(31) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

[19]พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 72 ก วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 หน้า 1, http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=834692&ext=pdf 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง & พ.ร.บ.การเสนอกฎหมายและสัมฤทธิผลของการร่างกฎหมาย พ.ศ.2563

[20]ดู ระเบียบ มท. ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ.2564, อ้างแล้ว

[21]ข้อ 32 ให้คณะกรรมการชุมชนที่มีอยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดวาระไว้ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

ให้บรรดาระเบียบ ประกาศ หรือหนังสือสั่งการที่เกี่ยวกับคณะกรรมการชุมชนดังกล่าวที่ยังใช้บังคับในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

ดู ระเบียบ มท. ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ.2564,อ้างแล้ว 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท