ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๖๕. ชีวิตที่สงบงาม 


 

หนังสือ A Guide to the Good Life : An Ancient Art of Stoic Joy (2009)    เขียนโดย William B. Irvine  ศาสตราจารย์สาขาปรัชญา แห่ง Wright State University  รัฐ Ohio  สหรัฐอเมริกา    นำเราสู่ปรัชญากรีกโบราณ ที่เรียกว่า Stoic Philosophy    ที่ให้คุณค่าแก่ความดีงาม (virtue)  และความสงบ (tranquility) ในจิตใจ และในพฤติกรรม   ปรัชญานี้เกิดหลังศาสนาพุทธประมาณสามร้อยปี    แต่มีส่วนพ้องกันมาก           

 เขานิยามความดีงามอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน   ว่าหมายถึงการที่เราไม่คิดและปฏิบัติเพื่อความสุขความพอใจของตนเองเท่านั้น    ต้องเผื่อแผ่แก่คนรอบข้างด้วย   

ส่วนความสงบ เขาตีความว่า มีความสามารถกำกับให้อารมณ์บวกครอบครองจิตใจและพฤติกรรม    โดยเขาแนะนำว่า ต้องฝึกเผชิญความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่เขาเรียกว่า voluntary discomfort    เพื่อสร้างความคุ้นเคย และความเข้มแข็งของจิตใจและร่างกายต่อความไม่สะดวกต่างๆ    เมื่อต้องเผชิญเข้าจริงๆ ก็จะทนได้    การถือศีลแปดในวันพระน่าจะเข้าข่ายนี้   

ผมตีความต่อว่า ที่จริงในชีวิตประจำวันของคนเราก็ต้องเผชิญความยากลำบาก ไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว    หากเรารู้จักใช้ความรู้สึกตอนนั้นเพื่อฝึกความอดทน    เราก็ได้ฝึกอยู่ทุกวัน   สามารถมีจิตใจที่สงบสันติในท่ามกลางความวุ่นวายได้   

ซึ่งก็ตรงกับในหนังสือ ที่บอกว่า ตามปรัชญา stoic คนเราต้องหลีกเลี่ยงไม่พยายามหาความสุขจากสิ่งที่ตนควบคุมไม่ได้    ซึ่งในประสบการณ์ของผม   สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้และส่งผลด้านลบต่อความสุขของเรานั้น    หากคิดให้ลึกมองให้รอบ จะเห็นคุณค่าในการเผชิญสิ่งนั้นด้วย   เช่นตอนนี้หากมองผิวเผิน ชีวิตของผมยากลำบากมากในการดูแลภรรยาที่เป็นโรคสมองเสื่อม    แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง สภาพนี้สอนผมในเรื่องชีวิตคู่ การเป็นคนมีน้ำใจ  เรื่องของสมองและระบบประสาท   รวมทั้งฝึกความอดทน   เป็นต้น   

ชีวิตที่สงบงาม จึงต้องเป็นชีวิตที่มีปัญญามองเห็นรอบด้านของสรรพสิ่งด้วย    จึงจะสามารถเอาตัวและใจเข้าไปอยู่กับด้านบวก (โดยรู้เท่าทันด้านลบ)   เพื่อดำรงจิตที่สงบ และอยู่กับความดีงามได้   

ในทางพุทธ ชีวิตที่สงบงามคือชีวิตที่จิตว่าง    ปลอดจากตัวกูของกู หรือกิเลสตัณหา     แต่ในปรัชญา stoic ไปไม่ถึงสุดทางเช่นนั้น    เขาเพียงบอกว่า จงอย่าแสวงหาความสุขจากการยกย่องโดยผู้อื่น    เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์หรือไม่สมหวัง    จงเป็นสุขจากการกระทำของตนเอง อย่าไปขึ้นกับคนอื่น   

เขาแนะนำว่า อย่ายึดติดทรัพย์สมบัติ หรือสิ่งบำเรอความพอใจ   จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่   นี่ก็เป็นฉบับเบื้องต้นของการปลอดกิเลส “ของกู”    และแนะนำว่า การเรียนรู้ปรัชญา stoic ต้องค่อยๆ ฝึก   โดยที่การมีสติอยู่กับการดำรงชีวิตด้านบวก    ให้จิตวิทยาด้านบวกครอบครองจิตใจ    ก็จะเข้าสู่ชีวิตที่สงบงาม             

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๔ 

   

 

หมายเลขบันทึก: 692811เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2021 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2021 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความทุกข์นี้สอนเราได้ดีจริงเลย สาธุ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท