[review] รีวิว Squid Game: เล่นลุ้นตาย (2021 TV series Netflix) บทวิเคราะห์เกมของเด็กกับความหมายเชิงคติชนวิทยา


[review] รีวิว Squid Game: เล่นลุ้นตาย (2021 TV series Netflix) บทวิเคราะห์เกมของเด็กกับความหมายเชิงคติชนวิทยา

#เกริ่นนำ
ซีรี่ส์ไอเดียกระฉูดเกมท้าตายจากเกาหลีใต้ที่ฉายใน Netflix ได้สร้างปรากฏการณ์เอาไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกม a e i o u โดยตุ๊กตาหุ่นผู้หญิงได้ขึ้นแท่นเป็นตุ๊กตาสยองขวัญในโลกภาพยนตร์ไปแล้ว แถมตัวของเกมหรือการละเล่นนี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นกัน มีการผลิตเป็นวิดีโอเกมให้เล่นกันด้วย ยังไม่นับรวมกับการนำอนุภาคบางในแต่ละเกมหรือรูปลักษณ์ของตัวละครบางอย่างมาสร้างสรรค์คลิปวีดีโอที่โพสต์ลงใน Social Media ไม่ว่าจะเป็นทาง youtube Facebook หรือ TikTok อย่างมากมายหลายรูปแบบอีกด้วย และไหนจะจากการที่ผู้ชมทั้งโลกเข้าไปดูซีรีย์เรื่องนี้จนทำให้ระบบ Streaming ของ Netflix ถึงกับมีปัญหาเรื่องระบบไปเลย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเรื่องนั้นบางคนอาจจะชอบหรือไม่ชอบ บางคนอาจจะว่าสนุกหรือไม่สนุก มีความสมเหตุสมผลหรือไม่มีก็ตาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์ Squid Game คือซีรีส์แนวเล่นเกมท้าตาย ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ประสบความสำเร็จในระดับที่ว่าทำให้ไปดึงซีรีส์ที่มีลักษณะแบบเดียวกันที่จบไปนานแล้วอย่าง Alice in borderland ของญี่ปุ่นกลับมาได้รับความนิยมใน netflix อีกครั้งเลยทีเดียว

#ดูคลิปรีวิว Squid Game ได้ที่นี่
https://youtu.be/tRAV6x30B_U

#เค้าโครงเรื่อง
Squid Game เล่นลุ้นตาย ว่าด้วยมีกลุ่มคนหรือองค์กรปริศนาได้สร้างเกมขึ้นมา ให้คนที่มีปัญหาด้านการเงินและปัญหาชีวิตได้เข้ามาเล่น โดยการชักชวนให้เล่นเกมง่าย ๆ อย่างเกมปากระดาหากชนะก็ได้รับเงินรางวัลไปเลย เมื่อใครติดใจก็สามารถเข้าไปเล่นเกมต่อได้ โดยให้ติดต่อไปตามนามบัตรปริศนา จากนั้นก็จะมีคนนำรถตู้มารับ ทำให้สลบ แล้วส่งไปยังเกาะเกาะหนึ่ง

ผู้คนทุกคนที่เข้ามาเล่นเกม จะได้รับหมายเลขประจำตัว แล้วใช้หมายเลขนี้เรียกแทนชื่อตลอดการเล่นเกม เกมที่เล่นก็จะเป็นเกมง่าย ๆ เป็นเกมแบบเด็ก กติกาไม่ซับซ้อน เล่นแบบคนเดียวบ้าง เล่นแบบจับคู่บ้าง เล่นแบบเป็นกลุ่มบ้าง ใครแพ้ หรือทีมไหนแพ้ก็ต้องเสียชีวิตไป เงินรางวัลนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนของคนเล่นเกม ซึ่งตั้งเงินรางวัลไว้สูงสุดถึง 45,000 ล้านวอน จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็เหมือนกับจำนวนคนที่ตายไป ผู้ที่ชนะที่เหลือรอดเพียงคนเดียวนั้นจะได้รับเงินไปทั้งหมด

ระหว่างเล่นก็จะมีผู้ควบคุมกฎใส่ชุดสีแดงสวมหน้ากาก  และเจ้าหน้าที่คอยดูแลการเล่นเกม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็มีการแบ่งตำแหน่งและแบ่งหน้าที่ ตามสัญลักษณ์ที่อยู่ในหน้ากาก โดยไล่ตั้งแต่คนสั่งการ คนคอยควบคุมกติกา แล้วคนคอยเก็บศพไปเผาทิ้ง

ระหว่างที่เข้าร่วมการเล่นเกมจะไม่สามารถติดต่อกับใครได้ ทุกคนจะต้องจับกลุ่มกันเอง ดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจจะมีการแอบฆ่ากันเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากใครดูก็ต้องรู้ทันทีว่าคนที่ชนะคือใคร เอาชนะได้อย่างไร

ส่วนเนื้อเรื่องจะเป็นยังไง เกมที่เล่นมีอะไรบ้าง ใครจะรอดใครจะตายใครจะชนะ ก็ขอให้ไปติดตามรับชมได้ทาง Netflix เลยครับ

#ความรู้สึกหลังดู
หากถามว่าชอบอะไรที่สุดในซีรีส์ ก็ต้องตอบว่าชอบการจัดองค์ประกอบศิลป์มากที่สุด การใช้สีที่ตัดกัน การใช้แสง การจัดฉาก ทุกอย่างดูสวยงาม ให้อารมณ์แบบเด็ก ๆ อารมณ์สนามเด็กเล่น

รองลงมาคือเรื่องที่อยู่นอกเกมส์ ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว วิถีชีวิตตัวละครเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนการเตรียมเกมส์ หลังจากจบเกมแล้วต้องทำอะไรต่อ ซึ่งสิ่งนี้เรามักไม่ได้เห็นจากหนังหรือซีรีส์ทำนองนี้เรื่องไหนเลย

ชอบการแสดงสันดานดิบและด้านมืดของมนุษย์ หรือแม้แต่ตอนจบที่เน้นดราม่า หรือแม้แต่เหตุผลที่แต่ละคนเข้ามาเล่นเกม ซึ่งในประเด็นนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แล้วก็เหมือนกับหลาย ๆ เรื่องนั่นแหละ ที่ทุกความจำเป็นนั้นพามาเล่น และยอมเล่นแม้จะรู้ว่าอันตรายถึงชีวิต

และท้ายที่สุดก็คือเกม แม้ว่าเขาจะใช้เกมสร้างบรรยากาศแบบเด็ก ๆ การออกแบบพื้นที่หรือสนามในการเล่นเกมแบบสนามเด็กเล่น แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว หลายเกมที่เด็กเล่นในโลกแห่งความเป็นจริงแม้จะเป็นเกมเด็ก เล่นในสนามด็กเล่น ก็ล้วนแต่มีความรุนแรง แถมยังมีกติกาที่เข้าใจง่ายมาก แบบว่า "ใครแพ้แล้วตาย"

ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของเรา เราก็อยากจะชนะเกมที่เราเล่นมาก ๆ และบ่อยครั้งที่เราก็ "โกง" หรือใช้เล่ห์เหลี่ยมบางอย่างที่ไม่ถูกกติกานักเหมือนกันทั้งสิ้น

ส่วนเกมที่เขานำมาใช้ในซีรีส์ก็เป็นเกมพื้นบ้านของเกาหลีนั่นแหละ เขานำประเด็นนี้มาใช้ได้ค่อนข้างดี แต่เสียดายที่ว่าเกมแต่ละเกมรวมถึงวิธีการของเกมนั้นไม่ค่อยดี ไม่คุ้ยลุ้นสักเท่าไหร่ หากนำเกมไปเทียบกับหนังหลายเรื่องทำนองเดียวกัน เกมส์ใน Squid Game ก็ด้อยกว่าหลายเรื่องเลยด้วยซ้ำ

ส่วนในด้านการแสดงนั้นทุกคนรับหน้าที่ และถ่ายทอดบทบาทของตัวละครได้ดี ไม่ว่าจะเป็นลีจองแจ ที่รับบทเป็นซองกีฮัน เขาเล่นได้ดีมาก แสดงออกมาได้ทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึกในใจของตัวละครไม่ว่าจะเป็นด้านขาว ด้านมืดหรือเทา ถือเป็นศูนย์กลางของเรื่องได้ดีมาก ส่วนตัวละครอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง เล่นได้ตามมาตรฐานของเกาหลีอย่างดี แต่ตัวละครพิเศษ ที่แสดงโดยกงยู ผู้มีฉายาว่าสามีแห่งชาติเกาหลี ออกมาเพียงแค่ไม่กี่คำ แต่เชื่อเถอะว่าเรียกเสียงกรี๊ดของสาว ๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ถือว่าเป็นตัวขโมยซีนแบบสุด ๆ ของเรื่องเลย

#SquidGameกับความหมายเชิงคติชนวิทยา
อย่างไรก็ตามก็ต้องขอชื่นชมว่าทีมสร้างเขาสามารถนำเกมหรือการละเล่นพื้นบ้านของเกาหลีนำมาสร้างสรรค์ให้มีความโหดและความน่าสนใจได้พอสมควร ซึ่งในที่นี้ ก็ต้องขอชื่นชมว่านี่คือการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือต้นทุนทางคติชนวิทยาเกาหลีมาถ่ายทอด สู่สายตาชาวโลกได้ ซึ่งบอกตามตรงว่าบางเกมนั้นผมก็ไม่รู้จัก อย่างเช่นเกมแกะน้ำตาลเป็นต้น ดังนั้นในที่นี้จึงขออธิบายถึงคติชนวิทยาเกี่ยวกับการละเล่นของเด็กเอาไว้ที่นี้สักเล็กน้อยครับ

การละเล่นของเด็กหรือเกมของเด็กนั้นถือว่าเป็นเครื่องหย่อนอารมณ์ เป็นกีฬาสำหรับเด็กวัยต่าง ๆ ช่วยเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกาย ช่วยในด้านความคิดและอารมณ์เป็นเครื่องส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านพละกำลัง ความแม่นยำ สายตา ความว่องไว ฝึกความคิด ฝึกความมีน้ำใจนักกีฬา หรือแม้แต่ฝึกการยอมรับที่เกี่ยวข้องกับโชคชะตา เพื่อเป็นการสอนว่า บางสิ่งบางอย่างเราก็ไม่สามารถควบคุมได้นั่นเองเป็นต้น และการละเล่นหรือเกมของเด็กแต่ละวัยแต่ละเพศนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งในที่นี้ขอจำแนก ระบุประเภทและความหมายสำคัญ ของเกมที่อยู่ใน Squid  Game ดังนี้

เกมที่ 1 คือเกม a e i o u เล่นเกมที่ต้องใช้เพลงประกอบในการเล่น ซึ่งเป็นเพลงสั้นๆง่ายๆ ซึ่งในหนังจะให้ตัวตุ๊กตาท่อง a e i o u จากนั้นทุกคนก็จะวิ่งเข้าหาตัวตุ๊กตา และถ้าจบคำพูดตัวสุดท้ายคือตัว U ซึ่งตุ๊กตาจะหันมา หากใครยังขยับคนนั้นต้องตาย เกมนี้ฝึกทักษะทางด้านร่างกาย การทรงตัว และการช่างสังเกต ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับการเล่นมอญซ่อนผ้า หรือปิดตาวิ่งไล่จับของเรานั่นแหละ

เกมที่ 2 คือเกมแกะน้ำตาลให้ได้ตามรูปที่กำหนด เกมนี้จะเกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะความแม่นยำ ความอดทน ฝึกให้คนเล่นเป็นคนใจเย็น ของที่ใช้ประกอบการเล่นก็คือน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุสังเคราะห์ที่มีอยู่ในทุกครัวเรือน เป็นการประยุกต์ของที่มีมาใช้เป็นของเล่นนั่นเอง ใคร ๆก็สามารถทำเล่นเองได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องง้อของเล่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาในการผลิตของเล่นพื้นบ้านอีกด้วย

เกมที่ 3 เกมชักกะเย่อ เป็นเกมที่เน้นทักษะในด้านการออกกำลังกาย การวางแผน การทำงานเป็นทีม เน้นการเล่นที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะ ซึ่งในซีรีส์ทำให้เราเห็นว่า แม้ว่าในทีมชักกะเย่อนั้นจะมีคนที่มีกำลังน้อยกว่า ก็สามารถเอาชนะทีมที่มีกำลังมากกว่าได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการวางแผน รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอีกด้วย

เกมที่ 4 เกมกันบู เกมลูกแก้ว 10 ลูก ในซีรีย์ได้กำหนดไว้ว่า ให้จับคู่ มีลูกแก้วคนละ 10 ลูก จะคิดเกมอะไรก็ได้ให้กินลูกแก้วกัน หากใครเสียลูกแก้วหมดทั้ง 10 ลูก ก็จะเป็นฝ่ายแพ้ เกมนี้เป็นเกมประเภทการฝึกเชาว์ปัญญา ฝึกการนับการคำนวณ การทาย การวัดจ้า การยอมรับเรื่องดวง แถมยังอธิบายเรื่องจิตวิทยาด้วย

เกมที่ 5 เกมสะพานกระจก เกมนี้จะให้แต่ละคนเดินไปบนสะพานกระจก โดยเป็นการเสี่ยงทาย ด้วยการก้าวไปยืนบนกระจกแต่ละแผ่น เกมนี้หากเล่นเป็นคนแรกก็จะเกี่ยวข้องกับทักษะในการช่างสังเกตความแตกต่างของกระจก ส่วนคนที่เล่นตามมาก็ต้องจำให้ได้ว่าคนแรกเดินไปบนกระจกอะไรบ้าง ซึ่งหากมีการเลือกกระจกที่ผิด เมื่อหยียบกระจกก็จะแตกแล้วตกลงมาเสียชีวิต จะหาใครเลือกกระจกนิรภัย จะสามารถเดินต่อไปได้ อีกทั้งยังสร้างความตื่นความตื่นเต้นด้วยการกำหนดเวลาอีกด้วย

เกมที่ 6 เกมปลาหมึก ถือว่าเป็นเกมไฮไลท์สำคัญของเรื่องที่ยกมาใช้เป็นชื่อเรื่อง เป็นเกมประเภทไล่จับ รู้จักการวางแผน เมื่อเราเป็นฝ่ายรุกจะต้องเดินอย่างไรถึงจะไปจุดหมายให้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นฝ่ายรับก็จะต้องรู้ว่าควรจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ผู้รู้เข้ามาในจุดหรือแดนที่กำหนด นอกจากจะเสริมสร้างด้านการคิดสร้างสรรค์ การวางแผนแล้ว ยังช่วยในเรื่องการสร้างสมรรถภาพทางร่างกายอีกด้วย และเกมนี้จะเป็นเกมที่เล่นอยู่ในหมู่ของเพศชายเป็นหลัก จึงเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้ความรุนแรง บ่อยครั้งที่มีเลือดตกยางออก มีความเสี่ยงอันตราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ความกล้าหาญและทักษะของเด็ก ๆ ซึ่งถ้าหากใครเป็นฝ่ายชนะก็จะได้รับความชื่นชมและมีความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก ส่วนคนแพ้ก็จะรู้สึกถึงความอับอาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกมจบแล้วความรู้สึกนั้นก็จะจบไปภายในไม่ช้า สามารถปรับอารมณ์แล้วเล่นกันใหม่ได้ คนชนะครั้งแรกก็อาจจะเป็นคนแพ้ครั้งต่อมา ดังนั้นความชนะหรือความแพ้จึงไม่คงทนถาวรอยู่ในภายในใจ อย่างไรก็ตามก็ยังมีกฎกติกาและกรอบของเกมโดยการวาดรูปบนพื้นดินให้เป็นรูปปลาหมึก ผู้เล่นจะต้องเล่นอยู่ในกรอบในจุดที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งเป็นการสอนว่า แม้จะเป็นเพียงการละเล่นแบบเด็ก ๆ ก็ต้องอยู่ในกรอบในกฎระเบียบที่วางเอาไว้ ซึ่งก็เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักกฎระเบียบนั่นเอง

หากวิเคราะห์ในแง่ของกฎกติกาที่เกิดขึ้นในแต่ละเกมนั้น ก็บอกได้ว่าทุกเกมล้วนแต่มีกฎกติกากำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น มีการเลือกฝั่งผู้เล่น มีการเลือกคนมาเข้าทีม เลือกผู้จะเล่นก่อนเล่นหลัง มีการเสี่ยงเลือกวิธีหรือรูปแบบที่เล่น นอกจากนี้ยังพูดถึงกติกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นที่ เรื่องของเวลา เรื่องสิ่งของ เรื่องจำนวน ซึ่งกติกาต่าง ๆ ที่ปรากฏในซีรีส์นั้นก็ล้วนแต่สะท้อนถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความคิด วิถีชีวิต หรือแม้แต่สะท้อนถึงสันดานดิบของความเป็นมนุษย์เอาไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อเราดูเกมในซีรีส์ Squid Game มันจึงสะท้อนสังคมและผู้คนของชาวเกาหลีออกมาพร้อมกันอีกด้วย

นอกจากเกมทั้ง 6 ที่เราเห็นใน Squid Game เรายังได้เห็นการสร้างสรรค์หรือการเลือกพื้นที่ในการเล่นเกม ซึ่งแฝงไว้ด้วยจินตนาการ และการกระตุ้นหรือปลุกเร้าในการเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่นเกมชักกะเย่อซึ่งไปเล่นบนพื้นที่สูง ซึ่งหากใครแพ้จะต้องถูกดึงจนตกลงมาเสียชีวิต ในความหมายเชิงพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นการสะท้อนถึงจินตนาการในวัยเด็ก ที่เราสมมติว่าพื้นที่ในการเล่นต่าง ๆ นั้นคืออะไร มีหน้าตาในจินตนาการอย่างไร เช่นเราเดินบนแผ่นไม้ เราก็จะจินตนาการว่าถ้าเราเดินพลาดก็จะตกลงไปในก้นเหว หรือการเราขึ้นไปอยู่บนเนินดินที่สูงเราก็จินตนาการว่านั่นคือเกาะถ้าหากเราตกลงมาก็จะถูกจระเข้ไล่กินเป็นต้น

ซึ่งในวัยเด็กเราสามารถจินตนาการพื้นที่ของความเป็นอันตรายได้โดยที่ผู้เล่นทุกคนรับรู้ร่วมกันโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นที่อันตรายจริง ๆ หรือมีสัตว์ที่มีความดุร้ายตัวเป็น ๆ เลยด้วยซ้ำ

ส่วนเกมปลาหมึก ก็จะถูกกำหนดพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ของใครของมัน เราจะต้องรักษาพื้นที่ของเราให้ได้ และจะไม่ยอมให้ใครบุกรุกเข้ามาอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

ประโยชน์ของการละเล่นของเด็กหรือเกมของเด็กนั้นมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ประโยชน์ทางด้านอารมณ์ของเด็ก ประโยชน์ทางด้านสติปัญญา ประโยชน์ต่อการเข้าสังคม การปลูกฝังจริยธรรมและรักษาบรรทัดฐานทางสังคม และประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลของเด็ก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมในด้านภาษาศาสตร์และการสื่อสาร การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การเคารพกฎกติกาทางสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และรวมถึงการพัฒนาทางด้านบุคลิกภาพอีกด้วย

#บทสรุป
ย้อนกลับมาที่ Squid Game ซึ่งเสียดายที่ว่าเกมแต่ละเกมนั้น แม้จะใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของเกาหลีออกมาได้ค่อนข้างดี แต่ก็ไม่ได้ลุ้นอะไรมากและไม่ค่อยความตื่นเต้นอะไรมากนัก และน้ำหนักความโหดของเกมนั้นก็เรียงไม่ค่อยดี ไม่ได้เรียงจากเบาไปหนัก เกมแรก ๆ สนุกกว่าเกมให้ท้ายด้วยซ้ำ หากเทียบกับ 13 เกมสยองของไทยแล้ว บอกได้เลยว่าสู้ไม่ได้ หรือแม้แต่เกมใน Alice in borderland ก็ยังสู้เขาไม่ได้เลย ดูไปดูมาก็รู้สึกว่าเกมเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งของซีรีย์เรื่อง Squid Game เท่านั้น หาได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องไม่

อย่างไรก็ตาม Squid Game ก็ยังคงแสดงถึงหัวใจสำคัญที่สุดของหนังแนวเล่นเกมเอาชีวิตรอดไว้ครบถ้วน ตามแบบที่หนังหรือซีรีส์รุ่นพี่ที่เคยสร้างเอาไว้เช่น The Hunger Game เกมล่าเกม,  As The Gods Will เกมเทวดาฆ่าไม่เลี้ยง,  Battle Royal เกมนรกโรงเรียนพันธุ์โหด, Saw เกมตัดต่อตาย, 13 เกมสยอง, Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ เป็นต้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้น การจัดระเบียบสังคม การปรับเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของคน การทำให้คนเห็นทั้งด้านดีและด้านมืดของมนุษย์ ทำให้เห็นว่าทุกคนบนโลกนั้นล้วนแต่มีสีเทาในตัวเอง รวมถึงการให้โอกาสคนในการกลับตัวกลับใจไว้ด้วย

7/10
@Vatin San Santi

เอกสารประกอบการเขียน 
บุปผา บุญทิพย์. (2547). คติชาวบ้าน. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคําแหง. 
สุภัทารา บุญปัญญโรจน์. (2558). คติชนสำหรับเด็ก. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคําแหง.


#SquidGame2021
#SquidGameNetflix
#เกมลุ้นตาย
#คติชนวิทยาเกี่ยวกับการเล่นของเด็ก

หมายเลขบันทึก: 692682เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2021 06:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2021 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท