ชีวิตที่พอเพียง 4056. องค์สามแห่งสมารมณ์


 

สมารมณ์ในที่นี้แปลมาจาก empathy   ซึ่งอาจแปลว่าร่วมรู้สึก หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา   เป็นทักษะสำคัญอบ่างหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่ดี   ที่เรียกว่าทักษะทางอารมณ์และสังคม (socio-emotional skills)    ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น    ในลักษณะของความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ    ที่น่าจะเป็น จาคะ หรือการให้ อย่างหนึ่ง   

บทความเรื่อง The Focused Leader เขียนโดย Daniel Goleman เสนอมุมมองขยายความเรื่อง empathy อย่างน่าสนใจ    โดยเฉพาะเรื่อง the empathy triad อันได้แก่ (1) cognitive empathy ความสามารถเข้าใจมุมมองของผู้อื่น (2) emotional empathy  ความสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น  (3) empathic concern ความสามารถรับรู้ว่าผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือจากตนอย่างไร   

คำอธิบาย ช่วยให้เราได้ตระหนักว่า “ความรู้สึก” เชื่อมโยงกับ “ความคิด”  

Cognitive empathy พัฒนาขึ้นได้จากการฝึกเป็นนักตั้งคำถาม  “ทำไมเขาคิดอย่างนั้น”  “ทำไมเขาทำอย่างนั้น”   ทำให้เกิดความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น    คนเราต้องไม่เพียงรู้สึก แต่ต้องคิดเกี่ยวกับความรู้สึก หาเหตุผลเกี่ยวกับความรู้สึก   ทักษะด้านสมารมณ์ก็จะละเอียดอ่อนหรือลึกซึ้งยิ่งขึ้น    

Emotional empathy ช่วยให้ “อ่าน” เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นออก   เข้าใจอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังคำพูดและพฤติกรรมของคน และกลุ่ม   เป็นกระบวนการทางสมองที่เกิดขึ้นในสมองส่วนทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด    อันได้แก่ amygdala, hypothalamus, hippocampus, และ orbito-frontal cortex    เป็นกลไกสมองส่วน “คิดเร็ว” หรือ “คิดโดยไม่ต้องคิด”   ช่วยให้เราถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ของผู้อื่น    นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์บอกว่า ในขณะนั้นรูปแบบของการสื่อประสาทในสมองของทั้งสองคนนั้นจะเหมือนกัน    เพราะเกิดความรู้สึกเดียวกัน    เราต้องฝึกโฟกัสการรับรู้อารมณ์ภายในของตนเอง และรับรู้สัญญาณจากภายนอกไปพร้อมๆ กัน    นี่คือปฏิสัมพันธ์ “จากใจถึงใจ” (from heart to heart) 

โปรดสังเกตว่า emotional empathy เป็นทักษะทางสมองที่ยากและซับซ้อน    เพราะต้องพุ่งความสนใจที่ ๒ จุดพร้อมๆ กัน    ต้องฝึกจึงจะทำได้คล่อง    วิธีง่ายๆ คือ ให้มองตาของคู่สนทนา      

 Empathic concern   ต่อยอดจาก emotional empathy คือไม่เพียงรับรู้ความรู้สึกของคนอื่น   ยังรับรู้ความต้องการความช่วยเหลือด้วย   วงจรสมองส่วนนี้เป็นธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ต้องเลี้ยงดูลูกจนโต   เป็นสมองที่ช่วยให้พ่อแม่เอาใจใส่ดูแลความต้องการของลูก   

Empathic concern ต้องพอดีหรือมีดุลยภาพ   หากมากไปก็ไม่ดี เพราะเท่ากับเอาความทุกข์ของเขามาทำให้เราทุกข์ด้วย    ต้องฝึกรับรู้แต่ไม่เอามาเป็นทุกข์    โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพช่วยเหลือผู้อื่น เช่นหมอ พยาบาล    ต้องฝึกให้ empathic concern มีลักษณะ head to heart    เข้าใจความต้องการความช่วยเหลือ และให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เอามาเป็นความทุกข์ของเรา            

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692638เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2021 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2021 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท