เส้นทางการคลังท้องถิ่นไม่กระจายอำนาจแต่รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง


เส้นทางการคลังท้องถิ่นไม่กระจายอำนาจแต่รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

23 กันยายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

ข่าวการเลือกตั้ง อบต.ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 คน อปท.หลายคนละความสนใจอย่างอื่นๆ ไปเกือบหมด เพราะใจจดใจจ่ออยู่กับการเลือกตั้ง อบต. ถึง 5,300 แห่ง ในคราวเดียวกันทั่วประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เป็นการจัดเลือกตั้ง “New Normal” ที่ต้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันฯ โควิด มันช่างเป็นงานที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ท่ามกลางใหญ่นี้มีข่าวอื่นที่พยายามมาบดบังข่าวนี้ลงมากมาย ในวิถีของคนท้องถิ่นมันมีประเด็นปัญหาให้วิพากษ์ว่ากล่าวกันไม่รู้จบสิ้น ยิ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) นี้มีมากมายจริงๆ เปรียบปัญหาท้องถิ่น เป็นแบบ snow ball effect[2] คือปัญหามักสะสมขึ้นที่ละน้อยๆ จนมากมายเหมือนดินพอกหางหมู หลายปัญหายากที่จะแก้ให้หมดสิ้นไป และ 90% มักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเป็นคราวๆ ที่ไม่เป็นผลดีเลย เพราะรังแต่จะสะสมพอกพูนปัญหามารวมกันให้มากยิ่งขึ้น

 

การบริหารการคลังเพื่อป้องกันการทุจริต

 

ข่าวคลังกู้เพิ่ม 7.2 หมื่นล้านเยียวยาคนจนรอบใหม่[3] ทำเอาหลายคนต้องหาเหตุผลส่วนตัวมารองรับ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อปลอบใจตนเองที่จะอยู่ต่อไปได้อย่างแข็งแรงอดทนใน “สภาพ” วิกฤตเศรษฐกิจเยี่ยงนี้ ห่วงใยโครงการลง(ไม่)ถึงรากหญ้า ประโยชน์ลงไม่ถึงชาวบ้าน เงินไปไม่ถึงรากหญ้า รากแห้งตาย ราคาสินค้าเกษตร ราคาตกต่ำ มีต้นทุนสูง ระบบนายทุนเจ๊ง ธุรกิจรถยนต์เจ๊ง ธุรกิจบริการเจ๊ง รายได้แบบเดิมๆ เจ๊ง หมอนวดขาดทุน การท่องเที่ยว รถทัวร์เจ๊ง เครื่องบินเจ๊ง ที่มีรายได้เพียงบางอาชีพที่ทำได้ เช่น ขายออนไลน์ หรือที่พออยู่ได้ คือธุรกิจจำเป็นพื้นฐาน ในสินค้าจำเป็นปัจจัย 4 ยิ่งท้องถิ่นมีปัญหามีจุดอ่อน การคลัง การเงิน การงบประมาณ[4] เช่น เม็ดเงินงบรายได้ 35% ตามกฎหมายกระจายอำนาจ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายบริหารงานบุคคล 40% ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ที่หมกเม็ดเป็นระเบิดเวลารอประทุ ยิ่งคิดยิ่งห่วง 

ในกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สำคัญมากหายไปนานนับแต่การรับฟังความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2560 ไล่เลี่ยกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ร่วม 4 ปีแล้ว คือ “กฎหมายเจ็ดชั่วโคตรสกัดทุจริต” [5] เป็นกฎหมายเกี่ยวกับ “Conflict of interest” หรือ การขัดการแห่งผลประโยชน์[6] คือ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.…” ในภาพรวมปัจจุบันแม้มีกฎหมายหลักอยู่ 4 ฉบับแล้วอาจยังไม่เพียงพอ คือ กฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินปี 2561 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตปี 2561 และ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังปี 2561 (เป็นกฎหมายห้ามรัฐทำประชานิยม) [7]

ในรายงานการวิจัยศึกษาที่ผ่านมามักมีข้อเสนอว่า ควรมีการแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้ จ่ายงบประมาณของ อปท. เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้ ประชาชนสามารถรับรู้ถึงการบริหารงบประมาณนั้นๆ เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของท้องถิ่นที่พูดกันมานานมาก คือเรื่องการคลัง การงบประมาณของท้องถิ่น หรือ “เส้นทางงบประมาณท้องถิ่น” ที่มีการกระบวน การวิธีงบประมาณเฉพาะต่างหากจากส่วนกลาง จะเรียกว่าอิสระทางการคลังก็ไม่ได้ เพราะอำนาจในการตราระเบียบกฎหมายที่จะใช้บังคับยังคงอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่นหรือ อปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) หาได้มีอำนาจไม่ ในทางเดินของเงินงบประมาณท้องถิ่นจึงมีลักษณะพิเศษ ต่างหาก ในภาพรวมมีข้อเสนอเมื่อสิบปีก่อนในงานวิจัย TDRI (2550) [8] สรุป (1) ให้มี “ธรรมนูญการคลัง” (fiscal constitution) (2) มีกรอบวินัยทางการคลังในด้านต่างๆ (3) จัดตั้งสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา (Parliamentary Budget Office: PBO) ขึ้นเป็นหน่วยวิเคราะห์งบประมาณและการคลังของ รัฐสภาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และ (4) แก้กฎหมายการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดให้พรรค การเมือง ต้องแจ้งต้นทุนทางการคลังของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งต่อ ประชาชน อย่างน้อย 30 วันก่อนวันลงคะแนน

 

ประเด็นยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาท้องถิ่น

 

ปัญหาทางเดินของงบประมาณท้องถิ่นตามระบบงบประมาณใหม่ของชาติ (ส่วนกลาง) มีเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่นในครั้งนี้จะต่างกันที่ อปท.ไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของเองได้ เพราะ อปท.ต้องทำแผนงานการใช้จ่ายงบประมาณการพัฒนาในรูป “กลุ่ม อปท.จังหวัด” หรือ “จังหวัด” อปท.หยิบยุทธศาสตร์มาใช้ เรียกว่า  “ประเด็นยุทธศาสตร์” [9] ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ตามหลักการวางแผนแบบแผนเดียว (One Plan) การขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ (ฉก.) [10] สำนักงบประมาณก็จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่ (ศาลากลาง) จังหวัดก่อน

จากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา เช่น การเลือกตั้งเทศบาลช่วงต้นปี 2564 พบว่ามีการสะพัดหมุนเวียนของเงินว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าในระดับหนึ่ง[11] จึงคาดหมายได้ว่า ผู้สมัครเลือกตั้งเมื่อได้รับเลือกเข้ามาอาจมีการเรียกทุนคืน ทั้งความชอบด้วยระเบียบ กฎหมายหรือไม่ก็ตาม บางแห่งอาจไม่สนใจใส่ใจและไม่เกรงกลัวใดๆ เป็นที่น่าห่วงในวิถีของ “ฝ่ายประจำ” หรือ ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของฝ่ายการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ฉะนั้น ในมิตินี้ศัพท์การเมืองไทยคำว่า “งูเห่า”[12] ก็มีได้ในบริบทของท้องถิ่น หากมองว่า ที่ใดมีการเมืองที่นั่นต้องมีการแบ่งพวกกัน มีการแย่งชิงสมาชิกฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพวก เพราะท้องถิ่นมีการเลือกตั้ง ท้องถิ่นจึงเป็น “การเมือง”

 

อำนาจนายก อปท.เข้มแข็งแบบยืดหยุ่น

 

มองว่าอำนาจที่กระจายให้แก่ อปท.ไม่ใช่อำนาจอธิปไตย แต่เป็นเรื่อง “อำนาจการตัดสินใจ” [13] ในการดำเนินภารกิจ  ซึ่งปัจจุบันมหาดไทย และกระทรวงต่างๆ มักหวงอำนาจเอาไว้ แถมยังสร้างเงื่อนไข กลไกมากมายในตลอดเวลาช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ มาในหลายรูปแบบ ที่ฮิตสุดก็คือ ในรูปแฝง “นโยบาย ดำริ บัญชาฯ” รวมทั้ง การตรวจราชการ นโยบายจังหวัด ระเบียบ หนังสือสั่งการ ฯลฯ จิปาถะ มากมายนับไม่ถ้วน จึงทำให้ อปท.มีความเป็นอิสระที่ลดน้อยถอยลง การกระจายอำนาจในมิตินี้จึงเป็นเพียง “วาทกรรม”

ยิ่งการออกระเบียบกฎหมายประเมิน อปท. (LPA/ITA)[14] นัยยะคือ ตัวนายก อปท. ทำให้ นายก อปท.เป็น “ศูนย์กลางรับคำสั่งจากภูมิภาค” สั่งใช้ คน เครื่องมือ เงิน กฎหมาย ของ อปท. อย่างเสรีสบายใจ มีทั้งสั่งให้ทำตามกฎหมาย เลี่ยง (บาลี) หรือละเว้นกฎหมายก็อาจทำได้ บางแห่งอาจเข้มบางแห่งก็หย่อนยาน อปท.บางแห่งไม่น่าจะเป็น องค์กรที่เข้มแข็งได้ เพราะ “เข้มแข็งแบบยืดหยุ่น” ที่ไม่เป็นตาม “สภาพจริง” ปกปิด ตกแต่งข้อมูล สร้างภาพสร้างอีเว้นต์ เอาหน้าผักชี ฯ หากยืดหยุ่นประโยชน์สุขเพื่อประชาชนคงไม่ว่ากัน แต่ “การยืดหยุ่นแบบสร้างฐานอำนาจให้ราชการส่วนภูมิภาค” มันสวนทางกับหลักการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง 

ในพื้นที่ที่จังหวัดใด มีสถาบันการศึกษาที่สอนสายสังคมศาสตร์ เน้น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทในจังหวัดนั้น (สาขามหาวิทยาลัยรามคำแหง มักเปิดสอนเน้นปริญญาโท) อาจได้เปรียบ อาจปรับตัวได้ดี เพราะมีนักวิชาการผู้รู้คอยถ่ายทอดสั่งสอน และวิจัยผลงานวิชาการ พฤติกรรมการยอมรับอำนาจนิยม ยอมรับระบบนายไพร่ เจ้ายศ เจ้าอย่าง เจ้าขุนมูลนาย ต้องหลีกเลี่ยงไม่เอามาเป็นวัฒนธรรมของ อปท. ตัวอย่างจังหวัดเข้มแข็ง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา พะเยา พิษณุโลก

 

ไม่กระจายอำนาจแต่รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

 

ข่าวข้าราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โกงเงินช่วยโควิดคนพิการถึง 13 ล้านบาท[15] ลองคิดย้อนว่าหากมีการถ่ายโอนภารกิจดูแลคนพิการนี้ให้แก่ท้องถิ่น (อปท.) จะมีการทุจริตกันหรือไม่ ในความเห็นของคน อปท. เห็นว่า หากถ่ายโอนภารกิจนี้ให้แก่ อปท.คงยากแก่การทุจริต เพราะคนท้องถิ่นเห็นกันทุกวัน ไปประชุมหมู่บ้าน ไปร่วมงานในชุมชน มีเครือข่ายหมู่บ้านชุมชน อสม.ไม่มีทางเลยที่จะโกงคนพิการได้ลง อาจมีปัญหาการปฏิบัติบ้าง เช่น การย้ายที่อยู่ เปลี่ยนบัญชีธนาคาร ตายแล้วไม่แจ้ง แต่ก่อนอาจมีการทุจริต ทำบัญชีเวียน หรือเบิกซ้ำซ้อน ที่ผ่านมากรณีเงินผู้สูงอายุเข้าบัญชีจ่ายไม่ตรงแค่วันเดียวก็ถูกตามถึงสำนักงาน (อบต.)แล้ว ภารกิจดังกล่าวจึงเป็นภารกิจ (การทำงาน)ที่ซ้ำซ้อน เปลืองงบเปลืองบุคลากร

ส่วนกลางมักยึดอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (รวบอำนาจ)ไว้ เช่น การแต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ที่สามารถสั่งการ อยู่เบื้องหลัง การเอื้อประโยชน์ ในการใช้เงินโครงการ ในการควบคุมการเลือกตั้ง มีการใช้อำนาจแฝงอื่นๆ มากมาย เป็น “เผด็จการซ่อนรูป” ที่มีมานานแล้ว ระบบราชการ จึงเป็น เครื่องมือบังคับ ขับเคลื่อน ของอำนาจรวมศูนย์เป็นอย่างดี บรรดาแหล่งผลประโยชน์เงินซ่อน เช่น งบในกองทุนพลังงาน เงินตอบแทนลอตเตอรี่ สนามม้า สนามมวย สนามไก่ชน ฯลฯ นี่ยังมีช่องว่างในธุรกิจประกอบการ “สีเทาสีดำ” [16] ที่มีผลประโยชน์นอกระบบ (ส่วย) อีกต่างหาก โดยเฉพาะกิจการที่ต้องรับใบอนุญาต หรือต้องห้ามตามกฎหมายต่างๆ เป็นต้น ข้อสังเกตว่าปัจจุบันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง ทุกหน่วยงาน เพราะยังไม่มีการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น

ในต่างประเทศ อเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ข้าราชการท้องถิ่น คือกลไกภารกิจอย่างหนึ่ง[17] เป็นกลไกระดับกว้าง ข้ามชาติด้วย เช่น การเจรจาการค้า ค้าเครื่องจักรกล ค้าขายข้ามชาติ การขับเคลื่อน ระบบเศรษฐกิจการทำ MOU แลกเปลี่ยนนวัตกรรมกับท้องถิ่นอื่นข้ามประเทศ เป็นต้น ข้าราชการท้องถิ่นต่างประเทศจึงไม่รอแต่เงินเดือน สวัสดิการ บำนาญ คนภาคเอกชนเขาต่างหาก ที่รอเงินเดือน สวัสดิการ บำนาญ เป็นระบบราชการ กึ่งราชการ ที่ทำงานเป็นจ๊อบๆ ไม่แช่เย็น แบบราชการไทย เช่น งานจ้างเหมาช่วง (Sub contract/Out source)

 

อปท.ไม่เข้มแข็งชุมชนไม่รู้สึกดูแล หวงแหนฯ เพราะขาดการมีส่วนร่วม

 

การแปรงบ การสั่งการจากส่วนกลางมาพร้อมแบบสำเร็จ เช่น สนามฟุตซอล เสาไฟส่องสว่างโซล่าเซลล์ และที่กำลังจะลามกลุ่มสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และโครงการแปลกๆ อะไรอีกมากที่เป็นของล็อกสเปก ล็อกรายการมาแต่ต้นทาง โดยมีข้าราชการระดับบนรู้เห็นเป็นใจรับใช้จึงเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติ ข่าวประเด็น “ศูนย์นวดเพื่อสุขภาพร้าง” [18] ของเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในภาคใต้ว่า ใช้งบก่อสร้างถึง 16 ล้านสร้างเสร็จมา 5-6 ปี กลับถูกทิ้งร้าง วัสดุอุปกรณ์มีค่าหายเกลี้ยง แสดงให้เห็นถึงการเสนอ หากโครงการใดที่มิได้มาจากความต้องการจำเป็นของคนในท้องถิ่นมักเป็นเช่นนี้หมด เพราะ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในโครงการ (Participation) มาแต่ต้น เห็นว่า งบพัฒนากลุ่มจังหวัด 90% ไม่ได้มาจากชุมชน การถ่ายโอนจึงมีปัญหา เพราะเป็นโครงการที่หยิบยื่น อปท.ไทยจึงไม่เข้มแข็ง เหมือนญี่ปุ่น ยุโรป ที่ อปท.เข้มแข็งแน่นมาจากข้างในแล้ว 

 

ชุมชน และอปท.เข้มแข็งเป็นที่ปรารถนาและเป้าหมายของการปกครองท้องถิ่น แต่ อปท.ไทยยังเอื้อมไม่ถึง ฝ่ายอำนาจที่กลัวว่าการกระจายอำนาจจะเป็น “การกระจายการทุจริตคอร์รัปชัน” ขอให้เลิกคิดเสีย


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 1 ตุลาคม 2564,

[2]หรือมาจาก “สโนว์บอลแห่งความคิด” คือ “Snowball effect” นี้ มักก่อผลบานปลายแบบที่อาจคิดไม่ถึง วิธีในการป้องกันก็คือ “การตัดไฟแต่ต้นลม” ที่ ดร. Richard Carlson แนะนำไว้ในหนังสือชื่อ “Don’t Sweat the Small Stuff and It’s All Small Stuff” (1998) Snowball method เปรียบเช่น เริ่มมาจากการที่เราปั้นบอลหิมะมาลูกหนึ่ง ถ้าเราค่อยๆ ปล่อยมันกลิ้งลงเนินไปเรื่อยๆบอลมันก็จะใหญ่ขึ้นจากหิมะที่มาเกาะบอลฉันใดหนี้เราก็ฉันนั้น

[3]เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 10% เป็น 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีช่องแล้วรัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงินตามจำนวนดังกล่าวทั้งหมด แต่การกู้เงินจะเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินสำหรับใช้ในปีงบประมาณ 2565 อีก 3.5 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (กันยายน 2564) สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.96% แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด เพิ่มเติม ที่ยังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการกู้เงินในส่วนนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยหลุดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการขยายกรอบเพดานเพิ่มขึ้น

ดู จากผู้นำรัฐประหารสู่นายกฯ พลเรือน 7 ปีของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการ ยึด-ผ่อน-รวบ อำนาจ, ข่าว BBC, 21 พฤษภาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-57196551 & คลังกู้เพิ่ม7.2หมื่นล./เยียวยาคนจนรอบใหม่, สยามรัฐออนไลน์, 14 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/280183 & คลัง แจงปรับเพดานหนี้สาธารณะ 70% กู้ได้อีก 1.2 ล้านล้าน ยันจะกู้ตามความจำเป็นเท่านั้น, ข่าวสดออนไลน์, 21 กันยายน 2564, https://www.khaosod.co.th/economics/news_6633193 & โฆษกรบ. อ้าง "ทีดีอาร์ไอ- ธปท." เห็นด้วยขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70 % ย้ำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้, สยามรัฐออนไลน์, 23 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/283236 

[4]การคลังท้องถิ่น: สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข โดยสุพัฒน์จิตร ลาดบัวขาว, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563): 189-214, https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polscicmujournal/article/download/157525/165720/  

[5]มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์) ได้เสนอ และต่อมาในปี 2560 (ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560) ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และรับฟังความคิดเห็นประชาชน (ประชาพิจารณ์) ถึงวันที่ 22  พฤษภาคม 2560 

ดู “กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร” สกัดทุจริต, โพสต์ทูเดย์, 2 สิงหาคม 2560, https://www.posttoday.com/social/think/506711

& ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม : TDRI, บทวิเคราะห์ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... (ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2560), https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2018/01/conflict-of-interest-law-1.pdf

& ป.ป.ช. ประกาศ “มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” สกัดเชื่อมโยงสู่ปัญหาการทุจริตของประเทศ, 23 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/283054 

[6]Conflict of interest (COI) นั้น นานาชาติโดยมติของสหประชาชาติถือว่าเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนึ่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) หรือ UNCAC 2003 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ชัดเจน ไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 ปัจจุบันมีบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 184-187 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม) เป็นศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า ผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่างๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก

[7]พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 คลอดแล้ว มีทั้งสิ้น 6 หมวด 87 มาตรา ชี้ชัดห้ามทำประชานิยม พร้อมผุดคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ บังคับใช้ 20 เมษายน 2561 

ดู กฎหมายห้ามประชานิยมประกาศแล้ว, ไทยโพสต์, 19 เมษายน 2561, https://www.thaipost.net/main/detail/7442 

& ห้ามทำประชานิยมกฎหมายการเงินฯคุมครม.จัดงบก่อหนี้ต้องแจงสาธารณะ, ไทยโพสต์, 20 เมษายน 2561, https://www.thaipost.net/main/detail/7459 

[8]วิกฤติการณ์ประชาธิปไตย ประชานิยม และทางออกที่เป็นประชาธิปไตย โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในดุลอำนาจในการเมืองการปกครองไทย : สถาบันพระปกเกล้า, 2550, https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_612.pdf 

[9]ยุทธศาสตร์การพัฒนา (Development Strategy) หรือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา หมายถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่กำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาในอนาคต โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด อำเภอ 

ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

เช่น กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนา กลุ่มจังหวัดฯ พ.ศ.2561-2565 เพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์ 3 ประเด็นยุทธศาสตร์

เช่น การกำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์(Positioning) ของ อปท. กำหนดการพัฒนาที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ของ อปท. ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา จำนวน 5 ยุทธศาสตร์ และ 23 กลยุทธ์

[10]คือ การเสนอขอเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ (ฉก.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงจากจากสำนักงบประมาณ

ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.8/ว 3462 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เรื่อง แนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบเงินดุดหนุนเฉพาะกิจของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/11/24475_1_1604920881213.pdf

[11]หมายถึงการเลือกตั้ง อปท. สองครั้งก่อนหน้านี้ คือ (1) การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 และ (2) การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564

[12]คำว่างูเก่ามาจากคำพังเพยไทยว่า “ชาวนากับงูเก่า”

[13]อำนาจตัดสินใจ (Decision Making) อยู่ที่ “ผู้นำท้องถิ่น” ที่มีการมอบกระจายอำนาจในมิติของการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ

[14]ประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Local Performance Asseseement : LPA) ปี 2564 รวม 5 ด้าน คือ (1) ด้านการบริหารจัดการบริหารจัดการ (2) ด้านการบริหารงานบุคคลและกิจการสภา (3) ด้านการบริหารงานการเงินและการคลัง (4) ด้านการบริการสาธารณะ (5) ด้านธรรมาภิบาล

และ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Integrity and Transparency Assessment : ITA) หรือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ เครื่องมือหนึ่ง โดยเป็นเครื่องมือในเชิงบวก ที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่ามุ่งจับผิด

[15]พม. แจ้งจับนักพัฒนา ซี 6 โกงเงินคนพิการ 13 ล้าน จ่อเช็กเส้นทางเงิน, ไทยรัฐออนไลน์, 20 กันยายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/2198553

[16]คำว่าธุรกิจสีเทาสีดำ คือธุรกิจที่มีเงินใต้โต๊ะ ส่วย ในทุกรูปแบบ ทั้งโดยเสน่หา โดยชอบ โดยสมัครใจ โดยผิดกฎหมาย บริจาคฯลฯ

[17]หมายถึง การปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศ ถือเป็นกลไกภารกิจอย่างหนึ่งของรัฐ

[18]ผอ.ท่องเที่ยวยะลา “ไม่รู้-ไม่เกี่ยว” ศูนย์นวดร้างเบตง - ลั่นพร้อมฟื้นฟู รอ ป.ป.ช.ไฟเขียว, สำนักข่าวอิศรา, 17 กันยายน 2564, https://www.isranews.org/article/south-news/special-talk/102568-massagebetongtr.html?  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท