จะดองเค็มเลือกตั้ง อบต.ไปอีกสักกี่น้ำ


จะดองเค็มเลือกตั้ง อบต.ไปอีกสักกี่น้ำ

3 กันยายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 3 สนามแล้วยังจะรออะไรอีก

 

ฤาเลือกตั้ง อบต.จะเป็นข่าวลวงของรัฐบาล เมื่อก่อนคิดว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบการเมืองในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ในที่สุดก็มีการเลือกตั้งท้องถิ่นไปจนได้ และเป็นครั้งแรกที่มีผู้สมัครเปิดตัว "สวมเสื้อพรรคการเมือง" ลงสู่สนามเลือกตั้ง อบจ. 25 จังหวัด[2] อย่างเป็นทางการ การเมืองท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ในเชิงสัญลักษณ์ถือเป็น “รากฐานรากหญ้าของประชาธิปไตย” ที่เข้มแข็งอย่างหนึ่งด้วยเป็นองค์กรของคนในพื้นที่ รัฐจึงไม่มีเหตุผลใดที่ไม่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะเวลายาวนาน อ้างโน่นนี่นั่น เพราะท้องถิ่นมีประสบการณ์เลือกตั้งมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ตั้งแต่ปี 2538 – 2557[3]  

ประเทศไทยอยู่กับโควิดมา 18 เดือนเต็มๆ ไม่ขาด และผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 3 สนาม คือ (1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 (2) การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 และ (3) การเลือกตั้งเทศบาล เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 นี่เหลือการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เมืองพัทยา ที่ยังละล้าละลังอ้างว่ารอสถานการณ์ความพร้อม โดยเฉพาะโควิด คงอ้างอะไรไม่ได้อีกแล้ว ณ วินาทีนี้ พลันที่เริ่มทราบว่ามีการวางหมากล็อกวันเลือกตั้งไว้เมื่อสามเดือนก่อน (ข่าวเมื่อมิถุนายน 2564) ตอนนี้มีข่าวคืบหน้าว่าการเลือกตั้ง อบต. ในประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 มีความคืบหน้า ทำท่าจะเป็นจริงเป็นจัง แถม อาจมีการพ่วงเลือกตั้ง กทม. และ เมืองพัทยาด้วยก็เป็นได้  

 

ใจคอจะดองเค็มการเลือกตั้งนานถึง 10 ปีเชียวหรือ

 

กว่า 7 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น บางแห่งอาจไม่ได้เลือกตั้งมานานมากถึง 9-10 ปีได้ เพราะ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.และผถ.) คนเดิมถูก คสช.กำหนดให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่มีการสรรหากรณีตำแหน่งนายก อปท.ว่าง แต่ให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก แต่กรณีของ ผู้ว่าราชการ กทม. เป็นการแต่งตั้ง (ปี 2559) [4]หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียก “ลากตั้ง” 

โควิดจะไม่ใช่ข้ออ้างที่ต้องชะลอการเลือกตั้งอีกต่อไป มองว่าเป็นข้ออ้างเป็นเครื่องมือเพื่อบริหารงบประมาณโดยส่วนกลางให้ยาวๆ เสียมากกว่า เรียกว่าดึงเวลาเพื่อ “การใช้จ่าย(ผลาญ)งบประมาณ” ได้อย่างสะดวกเสียมากกว่า เพราะขาดการตรวจสอบจากท้องถิ่น โดยเฉพาะปากเสียงของ อบต. ที่มีทั่วประเทศถึง 5,300 แห่ง[5] ฉะนั้น ณ ห้วงเวลานี้ ในความรู้สึกของคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ต้อง “เลือกตั้ง อบต.” เท่านั้น ไม่เพียงแต่การเลือกตั้ง อบต. ยังอาจมีการเลือกตั้ง กทม และหรือ เมืองพัทยาได้ เพราะ ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่อย่างใด แถมก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องโควิดเลย เมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ยังเลือกตั้ง ส.ส. ได้ทันที ไม่ต้องรออะไร แม้กระแสข่าวว่ารัฐบาลจะไม่ยุบสภาก่อนเดือนตุลาคม 2565[6] เพราะติดสถานการณ์โควิด หรือรัฐบาลกลัวจะเสียเปรียบ แต่เชื่อว่าจะยุบสภาก่อนครบเทอม ครั้นเลือกตั้งจะรอโควิดก็ไม่ได้ สรุปข้ออ้างต่างๆ นานาในการ “ดองเค็มการเลือกตั้งท้องถิ่น อปท.” ไม่ยอมเลือกตั้ง “อบต. กทม. และหรือ เมืองพัทยา” 

 

ฝ่ายอำนาจรัฐเกรงกลัวการสูญเสียอำนาจ 

 

การดองการเลือกตั้ง การลากยาวการเลือกตั้งเป็นความเลวร้ายของ “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) [7] ที่เกรงกลัวการสูญเสียอำนาจ (หวงอำนาจตำแหน่งฯ) กลัวกระทบการเมือง กลัวสังคมล้อตำหนิ กลัวคนรุ่นใหม่คนหัวใหม่หัวก้าวหน้า กลัวเสียศรัทธา ทั้งๆ ที่ความเชื่อมั่นศรัทธาหายไปมาก (หมด)แล้ว มัวแต่เล่นเกม “ขบวนการสมคบคิด” (Conspiracy Theory) [8]ข่าวการจ้องสร้างแก้เฟกนิวส์ข่าวปลอมข่าวเท็จ (Fake News & False News & False Context) [9] การแจกเงินสื่อ[10] มุมกลับเปรียบเสมือนการปิดปากสื่อวิธีหนึ่ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจรากหญ้าและเศรษฐกิจประเทศรายได้ดิ่งเหวที่ลึกมาก ต้องยอมรับความจริงว่า เพียงแค่คิดจะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า SME ที่ล้มหายไปให้ฟื้น หรือเพื่อทำให้เหวมันตื้นขึ้นบ้างก็ยังดี แต่สถานการณ์เศรษฐกิจกลับซ้ำเติม เพราะแม้รัฐจะมีเม็ดเงินกู้มากมาย เงินกู้สี่แสนล้านต้องกระจายให้ถึงรากหญ้า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบจากโควิด การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรม เป็นสิ่งจำเป็น อยู่ในวิสัยที่ทำได้[11] แต่รัฐกลับไม่มีเวลาคิด ไม่ทำ หรือทำไม่ถูกจุด ฯลฯ ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตไปอีก หากจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มันเสียหายตรงไหน น่าจะดีเสียอีก ที่เป็นการผ่อนคลาย “การเก็บกด” ของคนรากหญ้าและคนชั้นกลาง คนบ้านนอก ชนบท รวมทั้งคนเมืองอย่าง “กทม. และ เมืองพัทยา” วัฒนธรรม “โครงการสำเร็จรูปแคปซูล” [12] ที่ส่วนกลางเตรียมไว้และหยิบยื่นให้ ไม่ได้เป็นโครงการของคนรากหญ้าที่ชาวบ้านไม่ได้คิด เป็น “วัฏจักรอุบาทว์” เวียนวนโดยคนมีอำนาจ โดย “รัฐราชการ” (Bureaucratic Polity) [13] ต้องเลิก และรีบจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เหลือค้างอยู่โดยเร็ว ตามสัญญาประชาคมที่บอกว่า “ขอสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน...”

 

ประเมินสถานการณ์ความน่าเชื่อในการเลือกตั้ง อบต.

 

มีประเด็นคำถามข้อสงสัยว่า การเลือกตั้ง อบต.[14] รวม กทม. และเมืองพัทยาด้วย มันจะเป็นจริงเพียงใด หรือไม่ (1) ในเมื่อสถานการณ์โควิดย่ำแย่ ชุกชุมขนาดนี้ ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการเลือกตั้งจะสูงมาก เพราะต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมฯ โควิดด้วย จะทำได้หรือไม่ เพียงใดน่าคิด (2) โควิดชุกมีการติดเชื้อเพิ่ม คนป่วยเพิ่ม คนตายเพิ่ม จนเป็นยอดสถิติสูงสุดของโลก ที่ยังไม่มีแววว่าโควิดจะหมดไปได้ภายในสิ้นปี 2565 เพราะโควิดจะอยู่อีกยาวจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) [15] นั่นแหละสถานการณ์โควิดจึงจะคลี่คลาย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเวลาใด ตราบใดที่มีการบริหารจัดการวัคซีนที่ยังไม่ลงตัว ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการเลือกตั้งจะสูงมาก จะทำได้หรือไม่ อย่างไร น่าคิด (3) ยิ่งหากมีการเลือกตั้ง กทม. คือ เลือก ผู้ว่า กทม.และ ส.ก. (สมาชิกสภา กทม.) และ ส.ข.(สมาชิกสภา เขต กทม.) ด้วย ก็เป็นไปได้ เพราะเป็นล็อตสุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ใจคอจะดองเค็มเลือกตั้งกันเกิน 10 ปีเชียวหรือ (4) ประเด็นนี้น่าจะเริ่มมาจากกรณีตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่ว่าง ซึ่ง สถ.มท.วินิจฉัยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีต้อง “ลากตั้ง” สมาชิกสภาเมืองพัทยาในจำนวนที่ขาดไป[16] แทนที่จะใช้วิธีการเลือกตั้ง แต่กลับไปใช้วิธีการลากตั้ง (5) ข่าวห้วงเวลาการเลือกตั้ง อบต. ซึ่งแกนนำคนท้องถิ่นเคยให้ข่าวแสดงความเห็นไว้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564[17] ว่า กกต.เตรียมจัดเลือกตั้ง อบต.ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ มีความเป็นไปได้ สรุปคาดการณ์การเลือกตั้ง อบต.แนวโน้มปลายปี 2564 กระทรวงมหาดไทยอาจเสนอ ครม.ภายในเดือนกันยายน 2564 นายก อบต/ส.อบต.หยุดปฏิบัติหน้าที่ต้นเดือนตุลาคม 2564 รับสมัครเลือกตั้งฯ กลางเดือนตุลาคม 2564 เลือกตั้งประมาณวันที่ 21 หรือ 28 พฤศจิกายน 2564[18] (6) ประกอบกับวิกฤตทางการเมืองช่วงสถานการณ์ขาลงของรัฐบาล ที่จะต้องรีบตัดสินใจทำอะไรสักอย่างกับ อปท. ในช่วงนี้ท่ามกลางวิกฤตในหลายๆ วิกฤต อาทิเช่น วิกฤตโควิด วิกฤตวัคซีน วิกฤติศรัทธา วิกฤตรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อหวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้ (7) นอกจากนี้ รัฐบาลยังเจอพรรคเล็กฝ่ายค้านเสนอมหาดไทยยื่นปรับปรุง พ.ร.บ.กทม.ให้เลิกแช่แข็ง ส.ข.[19]แม้ว่าการเลือกตั้ง ส.ข. ทุก 4 ปี การยุบเลิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย[20]แต่ภาพรวม ไม่เห็นด้วยกับการยุบ ส.ข. แต่เห็นด้วยที่จะลดจำนวนลง โดยสมาชิกจะมีพื้นที่หาเสียงกว้างขึ้น (8) การทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเห็นโทนโท่ รัฐยังทำอะไรไม่ได้ การทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อนมีทั่วไปเป็นปกติก็ทำอะไรไม่ได้ การล็อกการเลือกตั้ง อปท.ไว้จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะประวิงเวลา ลากยาว ดองเค็ม กฎหมายเลือกตั้งก็มีแล้ว ก็แค่สมน้ำหน้า พวกชอบแก้ไขระเบียบ ต่างๆ แล้วกั๊กเอาไว้เพื่อแสวงประโยชน์จากการจัดอบรม เป็นวรรคเป็นเวร ที่ไม่มีประโยชน์อันใด เช่น การอบรมการเลือกตั้งท้องถิ่น ข่าวว่าจัดอบรมมาทีละหลายๆ รอบ มาตั้งแต่ปี 2560 มันนานเกิน ขึ้นสนิม เปลืองงบประมาณ ฯลฯ ไม่เข้าท่าเลย การอบรมเมื่อก่อนๆ มักเป็นการชี้ช่องโหว่ให้คน อปท. หลบเลี่ยงระเบียบกฎหมาย หรือ เอาไว้ต่อสู้แก้ตัวกับฝ่ายตรวจสอบ สตง. ป.ป.ช. จะว่าไปมันเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปเลย การสร้างนิสัยช่องโหว่ นั่นแหละ การร่วมกันคอรัปชั่น แบ่งกันแสวงประโยชน์ทั้งวิทยากร คน จังหวัด อำเภอ มท. คนหลงยุค มาผสมผเสกัน แต่เวลานี้การอบรมมันหมดน้ำยา สิ้นมนต์ขลังแล้ว

 

ทำไมคนท้องถิ่นชอบอยู่นิ่งๆ

 

คนท้องถิ่นมีหลายประเภททั้งพวกไม่มีกล้าพูด พวกคอยจ้องทะเลาะหาเรื่องกัน หรือพวกอยู่เฉยๆ เป็นสมุนรับใช้ดีกว่า เช่น อปท.ขนาดใหญ่ หรือที่อยู่ใกล้ กทม. ปริมณฑล เขตเมืองใหญ่ คนพวกนี้มักหยุดวิพากษ์ ใดๆ อย่างสนิท เพราะรักษาเก้าอี้ตนเองไว้ให้มั่น เพราะมันผลประโยชน์ทับซ้อนมหาศาล เช่น เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง โรงจำนำ บารมีจากการให้อนุญาตสิ่งก่อสร้าง อ. 1 ใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ด้านสาธารณสุข) อีกทั้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เดิมคือ ภรด.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน) ที่มีบารมีมากล้นด้วยวงเงินเป็นหลักหมื่นหลักแสนหลักล้าน ใครว่าไม่เป็นความจริง ไม่เชื่อลองไปตรวจสอบ แล้วอาจไปเจอเหตุผลลึกๆ ที่ อบต.เขตเมืองใหญ่ ปริมณฑล ที่ไม่ยอมยกฐานะ[21] เป็น “เทศบาลเมือง” หรือ “เทศบาลนคร” ก็ได้

 

สุดท้ายอย่าลืมว่ากฎหมายท้องถิ่นหลัก สองฉบับที่สำคัญคือ (1) ร่างประมวลกฎหมาย อปท. และ (2) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการท้องถิ่น ยังไม่ไปถึงไหน นี่ก็ 4 ปีลากยาวจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถือว่านานเกิน เกินพอๆ กับการปฏิรูปตำรวจที่อุตส่าห์บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว[22] ก็ยังไม่ทำ แล้วยังจะ “ดองเค็ม” ท้องถิ่นอีกเหรอ เอวังกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนะ

 

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 3 กันยายน 2564, 

[2]เลือกตั้งท้องถิ่น : ปรากฏการณ์ใหม่-ข้อมูล-สถิติน่าสนใจในศึกเลือกตั้ง อบจ. 63 : สำนักข่าว BBC, 6 ธันวาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/thailand-55186329    

[3]ช่วงยุคทองของท้องถิ่นไทยคือช่วงหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ.2545 ที่การเลือกตั้งมาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 (ใช้บังคับ 18 ตุลาคม 2545 แต่จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแประเภทใดและเมื่อใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา) และ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 (ใช้บังคับ 17 เมษายน 2562) ซึ่งก่อนหน้านั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง  

[4]กทม.เลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2556 แต่ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ถูกปลดปี 2559 แต่งตั้ง พล ต. อ. อัศวิน ขวัญเมือง แทนปี 2559   

[5]ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง (2) เทศบาล 2,472 แห่ง คือ เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง (3) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง (4) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง

ที่มา : ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563 รวบรวมโดย : กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 2, กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/abt/summarize.jsp   

[6]“สุดารัตน์” เปิดตำราการเมือง อ่านเกมอำนาจ “3 ป.” : กรุงเทพธุรกิจ, 29 มิถุนายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945949  

[7]อำนาจนิยม (Authoritarianism)เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ตามปกติมักตรงข้ามกับปัจเจกนิยมและอิสรนิยม ในทางการเมือง รัฐบาลอำนาจเป็นรัฐบาลซึ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมืองกระจุกตัวอยู่กับนักการเมืองกลุ่มเล็ก, วิกิพีเดีย  

[8]ขบวนการสมคบคิด หรือ ทฤษฎีสมคบคิด หรือ ลัทธิการกบฏ (conspiracy theory) คือ เรื่องเล่า บทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่นๆ เพื่อให้ประโยชน์/ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลักษณะของทฤษฎีสมคบคิด, วิกิพีเดีย 

[9]ข่าวลวง หรือ Fake newsเดิมมีการให้นิยามไว้หลากหลายความหมาย แต่จากคณะกรรมาธิการยุโรป และในบริบทการเมืองของสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปได้ว่า “ข่าวลวง” หมายถึงข่าวที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ จากรายงานของ LSE Media Policy Project ที่ทำขึ้นโดย Tambini ในปี 2017 สามารถจำแนกประเภทของ Fake News ได้ 6 กลุ่ม ตามลักษณะการนำเสนอเนื้อหาหรือคอนเทนต์

ดู Fake News รู้ทันข่าวลวง ปัญหาบนโลกออนไลน์, โดยวรรณวจี สุจริตธรรม, National Science Museum: NSM, อพวช, กองวิชาการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563, https://www.nsm.or.th/other-service/666-online-science/knowledge-inventory/sci-article/sci-article-information-technology-museum/4242-fake-news.html

& ข่าวลวง : ปัญหาและความท้าทาย (Fake News : Problems And Challenges), โดยเฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล และ ธัญญนนทณัฐ ด่านไพบูลย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, 7 ธันวาคม 2561, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NBTC_Journal/article/download/146058/115541/ 

[10]ครม.ไฟเขียว 105 ล้านรณรงค์เอาชนะโควิด 'ก้าวไกล' ซัดทุ่มงบจ้างคนดังเชียร์รัฐบาลสะท้อนรัฐบาลเปราะบาง, ข่าวประชาไท, 30 สิงหาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2021/08/94735  

[11]ครม.อนุมัติ 2.9 พันล้าน ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 1,766 โครงการ ใน 10 จว., ข่าวมติชน, 30 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2913089  & อดีตรมว.คลัง เตือนระฆังยกสุดท้ายเศรษฐกิจไม่เกินกลางปีหน้า วิกฤตหนักกว่า 'ต้มยำกุ้ง' ชี้ โดมิโนเอสเอ็มอีล้มกระทบภาษี, สยามรัฐออนไลน์, 1 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/276556 

[12]“โครงการสำเร็จรูปแคปซูล” ในที่นี้หมายถึงโครงการที่ออกแบบจัดทำโครงการสำเร็จมาแล้วจากส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของ “โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” เปรียบคล้ายกับการทำงาน “โครงการสำเร็จรูป” (Turnkey Project) ซึ่งถูกกำหนดออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งมอบโครงการ รวมทั้งการกำหนด TOR การล็อกสเปคไว้เรียบร้อย พร้อมจัดทำโครงการได้เลย โดยผู้รับจ้าง (ผู้ขาย,ซัพพลายเออร์,ผู้จัดหา) จะเป็นผู้รับผิดชอบในทุกๆ อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อส่งมอบโครงการ เป็นต้น มิได้หมายถึง “Project Capsule” ที่เป็นโครงการอวกาศแต่อย่างใด

[13]รัฐราชการ หรือ อมาตยาธิปไตย หรือ อำมาตยาธิปไตย หรือ ระบบข้าราชการประจำ (bureaucracy; bureaucratic polity) เป็นการปกครองซึ่งมีขุนนางหรือข้าราชการเป็นใหญ่ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คนไทยบางกลุ่มแปลความหมายของคำนี้ผิดไปจากความหมายโดยตรงว่า เป็นการปกครองที่อำมาตย์มีอำนาจในการบริหารประเทศ, วิกิพีเดีย  

[14]ปูพื้นฐานก่อนเลือกตั้ง “อบต.”, ไทยโพสต์, 18 มิถุนายน 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/106736     

[15]Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ เกิดได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) ภูมิคุ้มกันที่เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากคนเราเกิดติดเชื้อ (เช่น เชื้อหวัด ไข้หวัดใหญ่) เข้าร่างกาย แล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นขึ้นมาได้เอง เมื่อรับเชื้อครั้งใหม่ภูมิคุ้มกันก็จะทำลายเชื้อ ทำให้ไม่เป็นโรคนั้นๆ ได้ (2) ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน 

เว็บไซต์ประจำโครงการให้ความรู้เรื่องวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่า ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอ จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ไม่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ก็ตาม

ดู กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข dmh.go.th, 8 กรกฎาคม 2564, 

& ไวรัสโคโรนา : “ภูมิคุ้มกันหมู่” คืออะไร เหตุใดนักวิทยาศาสตร์พากันคัดค้าน ไม่ให้ใช้ต้านโควิด-19, สำนักข่าว BBC, 16 มีนาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/51911994   

[16]การที่สภาเมืองพัทยาจะต้องหมดสภาพไปโดยปริยายนั้นเพราะมีสมาชิกสภาลาออกไป 4 คน โดยไม่แจ้งสาเหตุ ถือเป็นเอกสิทธิ์และเหตุผลส่วนตัวสามารถกระทำได้ เหตุนี้ทำให้สมาชิกที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่ครบกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดจึงถือว่าต้องหมดสภาพไปโดยปริยาย

ตามประกาศ คสช.มีข้อยกเว้นที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่โดยเฉพาะคำสั่งที่ 1/2557 และคำสั่งที่ 85/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ประกอบข้อ 2 แห่งข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาเป็นการชั่วคราว พ.ศ.2559 ที่ให้แต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาตามข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาเมืองพัทยา และผู้บริหารเมืองพัทยาเป็นการชั่วคราว

กรณีสมาชิกสภาเมืองพัทยาลาออก ทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ มีการเสนอความเห็นว่า อาจจะแต่งสมาชิกสภาใหม่ไปทำหน้าที่ทดแทนตามประกาศ คสช. หรือจะเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาเช่นเดียวกับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ดำเนินการไปทั่วประเทศแล้ว

ดู ทางออกสภาเมืองพัทยา สรรหาหรือเลือกตั้งใหม่, ข่าวมติชนออนไลน์, 16 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2886443

& “อธิบดี สถ.” ชี้ “ผู้ว่าฯชล” ต้องตั้งกรรมการ สรรหาสมาชิกสภาเมืองพัทยาใหม่ภายใน 15 วัน, ข่าวมติชนออนไลน์, 17 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2889504   

[17]“ป.พิพัฒน์” แย้ม กกต.เตรียมจัดเลือกตั้ง อบต.ปลาย พ.ย.นี้ สอดรับนายกฯ, กรุงเทพธุรกิจ, 18 มิถุนายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/944148    

[18]ดู กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 3/2564 วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น., คลังข่าวมหาดไทย, http://newskm.moi.go.th/

& “มท.-กกต.”ถกเตรียม“เลือกตั้ง อบต.”คาดหย่อนบัตรช้าสุด 28 พ.ย.64, ฐานเศรษฐกิจ, 31 สิงหาคม 2564, 16.30 น, https://www.thansettakij.com/politics/494079?   

& กกต. ถกมหาดไทย เตรียมเสนอครม.จัดเลือกตั้งท้องถิ่น คาดหย่อนบัตร 28 พ.ย.นี้, ไทยโพสต์, 31 สิงหาคม 2564, 19:32 น., https://www.thaipost.net/main/detail/115185

& กกต.ถก มท. ชงเลือกตั้งท้องถิ่นทุกรูปแบบเสนอครม.เคาะ 7 ก.ย.นี้, สยามรัฐออนไลน์, 31 สิงหาคม 2564, 21:52 น., https://siamrath.co.th/n/276528

[19]“ไทยสร้างไทย”บุก มหาดไทย ยื่นปรับปรุง พรบ.กทม.เลิกแช่แข็งส.ข., ไทยโพสต์, 2 กรกฎาคม 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/108381    

[20]ดู สภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) โดยโชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2560, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=39909

& เข้าใจการบริหารราชการของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะฝันถึงการเลือกตั้ง : ELECT, ข่าวอีเล็ค in vote we trust, โดย Surachai Kraipet, 25 กุมภาพันธ์ 2564, https://elect.in.th/bkk-admin/

[21]ปัญหาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นหลักด้วยกันกล่าวคือ ประการแรก ปัญหาที่เกิดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอปท.ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น การขาดความร่วมมือของ อปท.ที่มีอาณาเขตติดต่อกันในการตรวจแนวเขตการปกครอง ประการที่สอง ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล เช่น การแสดงให้เห็นถึงความต้องการของนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่าประชาชน อันเป็นความต้องการของผู้นำที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย มากกว่าที่จะมาจากพลังของการประชาคมหมู่บ้านหรือการประชาคมตำบลที่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเนื้อหาสาระของการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่ชัดเจนในการสื่อสารเรื่องข้อกำหนดในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงฐานะ ประการที่สาม ปัญหาอันเกิดจากราชการส่วนภูมิภาค เช่น แนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจนในการหารือกับ อปท. และประการสุดท้าย คือปัญหาทางการเมืองในกระบวนการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีความพยายามนา ประเด็นการเปลี่ยนแปลงฐานะไปแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เช่น ความไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลทำให้เกิดการวิ่งเต้นทางการเมือง

ในส่วนของผลกระทบภายหลังเป็นเทศบาลตำบลนั้นลักษณะเด่นคือ เรื่องของการกำกับดูแลเทศบาลตำบลถูกกำกับดูแลจากเดิมที่เป็นอำนาจของนายอำเภอโดยตรง ก็อยู่ในกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งนายอำเภอเป็นเพียงผู้ช่วยกำกับดูแลเทศบาลที่มีในเขตอำเภอ นอกจากนี้เทศบาลจะมีความใกล้ชิดกลับส่วนกลาง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเด็นทางการคลังก็เป็นปัญหาที่ต้องรองบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นหลักและยังไม่เป็นไปตามการประมาณการ ทำให้ประสบปัญหาในการบริหารงานเป็นอย่างมากนอกจากนี้ในประเด็นเรื่องผลกระทบในมิติด้านการเมืองนั้นมีแนวโน้มที่จะแข่งขันทางการเมืองที่ใช้เงินในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น มีการรวมกลุ่มทางการเมืองมากขึ้น

ดู กระบวนการและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลในจังหวัดขอนแก่น โดยสุนทรชัย ชอบยศ, วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2554, http://libdcms.nida.ac.th/thesis6/2554/b176602.pdf  

[22]ดู การปฏิรูปตำรวจมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้

ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม

(4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท