๙๑๒. คุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าที่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑


คุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าที่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อชีวิตพ้นผ่านจากวัยเรียน ก็จะย่างเข้าสู่วัยของการทำงาน ในการทำงานเป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ควบคุมงานของตัวเราเอง ไล่จากหัวหน้างานในสายงานของเราเอง ไปจนถึงผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และชั้นสูง ที่เป็นผู้ควบคุมงาน และแนะนำเพื่อมิให้งานที่เราได้ปฏิบัติอยู่นั้นเกิดความเสียหาย

สำหรับหัวหน้าที่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ช่วง ๒๐ ปีแรกนี้ ควรมีคุณสมบัติดังนี้

๑. การเป็นโค้ชที่ดี…การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องแก้ไขปัญหาการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และในขณะที่เกิดปัญหานั้น ผู้จัดการปัญหาที่ดีจะใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสอนให้เรารู้จักวิธีการแก้ไขปัญหา ณ ขณะนั้น โดยจะแนะนำลูกทีมให้ทราบและเข้าใจ แบ่งปันข้อมูลให้ทราบในเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับการนำไปแก้ไขปัญหา เพราะจะทำให้ทีมได้รับประสบการณ์อันทรงคุณค่าและเกิดการเติบโตขึ้น

๒. ต้องลดความจู้จี้ขี้บ่น และให้อำนาจกับทีมงานอย่างเต็มที่…หัวหน้าที่ดีนั้นจะต้องให้อิสระในการทำงานแก่ลูกน้อง หรือทีมงาน โดยสามารถที่จะคิดวางแผนในการทำงาน และติดตามงานได้อย่างมีสมเหตุและผล เพราะในความเป็นมนุษย์ ไม่มีลูกน้องคนไหนหรอกที่จะชอบหัวหน้าที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบติดตามถามถึงเรื่องงานอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่หายไปเข้าห้องน้ำก็คงไม่มีใครอยากจะให้ถามว่า “หายไปไหนมา” เพราะแสดงถึงความกำกับ ควบคุมมากจนเกินขอบเขต เรียกว่า “มากเกินไป”

๓. คอยสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการทำงานอยู่เสมอ…ถึงแม้ว่าหัวหน้าบางคนจะต้องดูแลลูกน้องมากมายก็ตาม แต่ก็ไม่ควรที่จะเอนเอียงไปสนิทสนมกับลูกน้องคนใดคนหนึ่งมากเกินไป หรือเชื่อในสิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งพูดทุกอย่าง ที่สำคัญคือ ต้องไม่เป็นผู้นำในการแบ่งพรรคแบ่งพวกเสียเอง หรือแม้ว่าบรรยากาศจะคุกรุ่นมากเพียงใด หัวหน้าที่ดีก็ต้องเปลี่ยนบรรยากาศให้ลูกน้องมีกำลังใจในการทำงานให้ได้ เรียกว่า “รู้จักการสร้างภาวะทางอารมณ์ของทีมให้ได้ และให้เป็น”

๔. ช่วยทำให้ทุกคนในทีมงานมีผลงานที่ยอดเยี่ยมได้…ในทุก ๆ หน่วยงานจะมีทั้งคนเก่งและไม่เก่งในการทำงาน แต่หัวหน้าที่ดีจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีบทบาท และสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมได้อย่างเท่าเทียมกันได้ และไม่มีความรู้สึกถึงการแข่งขันกัน เพราะนั่นคือ คุณสมบัติของหัวหน้าที่ดี เพราะการทำให้ลูกน้องในทีมงานรู้สึกมีความเท่าเทียมกัน เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ย่อมทำให้งานมีประสิทธิภาพได้มากกว่า

๕. มีส่วนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ และการเลือกเส้นทางในอนาคตของลูกน้อง…คนทำงานในทีมงานทุกคนย่อมมีเส้นทางเดินเป็นของตนเอง เพราะบางคนก็พร้อมที่จะเดินทางออกไปสู่เส้นทางที่ดีกว่าเดิมได้ในอนาคต ซึ่งหัวหน้าที่ดีก็ต้องส่งเสริม และสนับสนุนพวกเขาได้อย่างเต็มที่ เมื่อเข้าใจว่าเส้นทางที่ลูกน้องของตนเองจะเดินไปในอนาคตนั้น ดีกว่า และสร้างความสุขให้กับชีวิตของเขาได้มากกว่าที่ทำในปัจจุบัน

๖. เป็นผู้ที่สื่อสารที่ดี และมักแบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ลูกน้องอยู่เสมอ…ซึ่งไม่เพียงแต่การพูด หรือการสั่งงานเท่านั้น แต่หัวหน้าที่ดีจะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นในเชิงลบที่ลูกน้องมีให้กับหัวหน้า หรือเรื่องของการรับฟังปัญหาของลูกน้องในการทำงาน และนอกจากฟังแล้ว ผู้นำที่ดียังต้องนำเสนอเรื่องดี ๆ และสิ่งดี ๆ ให้กับลูกต้องของตนเองอยู่เสมอ

๗. มีการวางแผนการทำงานอย่างชัดเจน และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล…การทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และวางแผนในการทำงานมาอย่างชัดเจน คือ สิ่งที่บ่งบอกว่าหัวหน้าคนนั้น เป็นคนที่มีความสามารถและพร้อมที่จะนำพาทีมงานของตนเองไปสู่จุดหมาย และบรรลุผลสำเร็จอยู่เสมอ

๘. ต้องมีทักษะการทำงานในเชิง “เทคนิค” ด้วย…หากหัวหน้างานนั้นไม่สามารถทำงานในเชิงเทคนิคได้ ที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เห็นผลเลย เพราะในทุก ๆ เรื่องของการทำงาน ย่อมต้องมีปัญหาเกิดขึ้น และปัญหาทางเทคนิคก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นผู้นำจะต้องรับมือ และสามารถแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคให้ได้ และให้เป็นด้วย

๙. มีการสื่อสารและการประสานงานที่ดีกับทุกฝ่าย และทุกคนในองค์กร…การทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ นั้น จำเป็นจะต้องมีการติดต่อประสานงานกันระหว่างฝ่าย งานกันอยู่แล้ว และหัวหน้างานที่ดีก็ย่อมต้องสามารถที่จะประสานงานกับทุกฝ่ายในองค์กรได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีติดขัด หรือไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ระหว่างแต่ละฝ่าย จนทำลูกน้องเกิดการอึดอัดและยากต่อการทำงาน

๑๐. มีการตัดสินใจอย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว…การตัดสินใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำ เพราะไม่ว่าทีมงานหรือลูกน้องเจอปัญหาในการทำงาน ที่ต้องใช้การตัดสินใจแบบเร่งด่วน หัวหน้าก็ต้องช่วยตัดสินใจแทนได้ และที่สำคัญต้องมีความกล้าตัดสินใจแบบเด็ดเดี่ยว โดยยอมรับผลที่อาจเป็นข้อผิดพลาดตามมาด้วย และควรคิดให้รอบคอบว่าหากเกิดข้อผิดพลาดแล้ว หัวหน้าจะตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดอย่างไรนั้นเตรียมรับไว้ด้วย

๑๑. มีมุมมองที่มีต่องานที่ทำนั้นอย่างไร เช่น ความรักงานที่ทำ ความชอบงานที่ทำ…ต้องถามตนเองว่าตนเองรักงานที่ทำนั้นหรือไม่เพียงใด เพราะหากมีความรักงานที่ตนเองทำแล้วจะทำให้ผลของการทำงานนั้น ออกมาดีมากกว่าคนที่ไม่รักงานที่ตนเองทำ

๑๒. ฝึกเป็นคนที่มองโลกแบบบวก โดยเฉพาะฝึกคิดบวกเสมอ ๆ… เพราะการคิดบวกทำให้ตนเองเกิดความคิดที่เป็นมิตรต่อทีมงาน และไม่คิดอคติต่อผู้อื่น เนื่องจากโลกของการทำงานจะมีทางสองทางอยู่เสมอ…หากฝึกคิดบวกเสมอ จะทำให้จิตใจของเราเองมีความคิดดีต่อตนเองและผู้อื่น และจะทำให้การทำงานไม่เกิดทุกข์ เพราะใจจะมีแต่ความสุขต่อการทำงานในหน้าที่ที่ตนเองได้รับผิดชอบ

๑๓. เป็นคนที่ยอมรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน…รู้จักยอมรับ เปิดใจที่จะเรียนรู้ และอยู่ให้ได้กับการคิดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในยุคของการเปลี่ยนแปลงมากมายบนโลก Social เพราะปัจจุบันมนุษย์ได้รับความรู้มากมายที่ได้นำมาใช้ต่อการทำงานขององค์กร แต่ละคนจะมาจากหลายที่ หลายประสบการณ์ ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หัวหน้างานจะต้องเป็นผู้ที่รับฟังและนำข้อมูลนั้น ๆ มาประมวลผลและตัดสินใจ

๑๔. ต้องกำกับ ติดตามงานของลูกน้องอยู่เสมอ…มิใช่ปล่อยให้ทีมงานทำงานไปวัน ๆ ไม่สนใจว่าลูกน้องทำงานไปถึงไหนแล้ว มีคุณภาพหรือไม่ เมื่องานเสร็จแล้วค่อยติดตาม ซึ่งศิลปะของการติดตามงานหัวหน้างานก็ต้องมี ติดตามบ่อยลูกน้องก็จะหาว่าจู้จี้จุกจิก หากไม่ติดตามลูกน้องก็จะหาว่าไม่สนใจ หากจะมีเทคนิคในการติดตาม คือ ติดตามแบบสอบถามถึง เพื่อหาความช่วยเหลือ เพื่อจะทำให้บรรยากาศในการติดตามงานนั้นดูดีขึ้น ผ่อนคลายจากความตึงเครียดขึ้น ด้วยการถามถึงว่า มีปัญหาอะไรในการทำงานหรือไม่ ซึ่งจะทำให้หัวหน้างานทราบถึงปัญหาว่าลูกน้องทำงานติดขัดในการทำงานตรงไหนบ้าง ลูกน้องอาจจะมองไม่เห็นถึงปัญหา แต่หัวหน้างานอาจใช้ประสบการณ์ในการทำงานที่เคยทำนั้น บอกเพื่อหาทางช่วยเหลือกันได้

๑๕. การให้คำชมเชยต่อความสำเร็จในการทำงาน…เป็นการยกย่องชมเชยในการทำงานที่ทีมประสบผลสำเร็จด้วยการขอบคุณทีมงานที่ได้ช่วยเหลือ ขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทต่อการทำงาน การยอมรับนั้นอาจทำได้ด้วยการใช้คำพูด หรืออาจกระทำได้ด้วยการเลี้ยงกาแฟให้กับทีมงาน การรับประทานข้าวร่วมกัน ซึ่งการฉลองความสำเร็จในการทำงานนั้นอาจทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับตนเองที่จะทำ

            การเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องมีทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ ศาสตร์และศิลป์ ถึงจะเป็นหัวหน้างานในยุคใหม่นี้ได้…ซึ่งระยะเวลาร่วม ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ใช้วิธีข้างต้นทำงานในฐาะหัวหน้างาน หรือผู้อำนวยการกองเสมอมา รวมถึงการพัฒนาตนเองให้ได้รับความรู้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้รู้เท่าทันกับโลกปัจจุบัน และนำมาปรับใช้กับการปรับตนเอง ประยุกต์ใช้กับทีมงานเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

***********************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 692074เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2021 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2021 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท