ชีวิตที่พอเพียง 4005. งานกับตัวตน


 

               หนังสือ Born for This : How to Find the Work You Were Meant to Do (2016) เขียนโดย Chris Guillebeau    บอกเราว่าคนจำนวนมากโชคไม่ดีที่ค้นไม่พบตัวตน    เมื่อได้งานก็ไม่ใช่งานที่ชอบ   ซึ่งก็มีวิธีเผชิญได้สองแบบ    แบบแรกทนทำไปอย่างแกนๆ เพราะไม่มีทางเลือก  แบบที่สองทำงานนั้นเพื่อเลี้ยงชีพอย่างสมถะ และหาความสุขความพึงพอใจจากเรื่องอื่น   แต่หนังสือเล่มนี้แนะแนวทางที่สาม 

 เขาให้ชื่อแนวทางที่สามว่า Joy – Money – Flow model   คือได้ทั้งความสุขความพึงพอใจ  ได้เงิน (ที่เพียงพอ)   และได้ชีวิตที่ลื่นไหล    ดูรูปโมเดลนี้ได้ที่ (๑)    สภาพที่ต้องการคือ พื้นที่ซ้อนทับระหว่างสามวงกลม    ที่ชีวิตการงานได้ทั้งความพึงพอใจ เงิน  และชีวิตที่ลื่นไหล   

จะมีชีวิตอยู่ในโมเดลนี้ได้ต้องไม่รอโอกาส    ต้องสร้างโอกาสให้แก่ตนเอง    โดยใช้อาวุธ ๓ ชิ้น คือ กระบวนทัศน์  ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติการ   หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยอาวุธทั้งสามนี้ มีรายละเอียดมากในเชิงวิธีคิด   วิธีกำหนดวิธีการ (ยุทธศาสตร์)    และวิธีปฏิบัติ   

คำแนะนำที่สำคัญคือเส้นทางสู่งานตาม Joy – Money – Flow model  เป็นการสั่งสม    ต้องใช้เวลา และต้องมานะอดทน   

ชีวิตจริงของคนเราไม่ได้ราบรื่น    จึงต้องเอาชนะความกลัว  กล้าเข้าสู่สภาพที่มีความเสี่ยง โดยมีแผนสองไว้รองรับ    รวมทั้งมีข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

ต้องรู้จักตัวเอง  รู้ทักษะที่ตนมี และรู้จุดอ่อน    รู้ความต้องการต่อทักษะนั้น    และรู้วิธีนำเสนอตัวเองอย่างเหมาะสม    โดยเฉพาะการนำเสนอไอเดียดีๆ   

เขาแนะนำให้ไม่เพียงทำงานประจำ    ให้มีงานที่สองอยู่ด้วย    เป็นงานที่สร้างขึ้นเอง ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวเราเอง ตามที่เราถนัดและรัก    รวมทั้งคิดแสวงหาลู่ทางมีรายได้จากงานนั้น    เชาเน้นว่า คนเรามีความรักและหลงใหลงานหลายอย่างไปพร้อมๆ กันได้    รวมทั้งสามารถเปลี่ยนงานก็ได้          

หนังสือเล่มนี้มองโลกแบบตะวันตก    ที่มองโลกเชิงวัตถุนิยมมากไปหน่อย    มองจากกระบวนทัศน์ตะวันออก    ยังต้องมีอาวุธอีกสองชิ้น    คือความสมถะหรือความพอใจ ไม่ทะยานอยากมากเกินพอดี   กับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นและแก่สังคม    เป็นหนังสือที่น่าจะเหมาะต่อคนยุคนี้    แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปกว่า ๕๐ ปีของชีวิตการงานของผม   อุดมการณ์หลายด้านของผมไม่ตรงกับในหนังสือเล่มนี้    แต่ที่ตรงกันย่างยิ่งคือ ไม่ว่าทำอะไร ผมได้เรียนรู้ในมิติที่ลึกเสมอ    เพราะผมเอาประสบการณ์มาทบทวนใคร่ครวญกับทฤษฎีในหนังสือ    และหาทางทำความเข้าใจว่าทำไมงานบางอย่างจึงไม่ค่อยสำเร็จ    แต่งานบางอย่างก็สำเร็จอย่างน่าตกใจ    เพราะเรารู้ตัวว่าเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น   

ข้อเรียนรู้สำคัญคือ ตัวตนของเราไม่ได้แยกออกจากมิตรสหาย และเครือข่ายสังคมของเรา    คิดแยกออกมาเฉพาะเรื่องงานไม่ได้            

บันทึกนี้ และบันทึกที่จะลงใน blog ThaiKM ในวันศุกร์ทุกศุกร์ต่อจากนี้ไปอีกหลายเดือน    จะเป็นบันทึกจากการฝึกเขียนจาก critical reflection จากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    ใช้เฉพาะหัวข้อ และ keywords ในหนังสือ เป็นตัวกระตุ้น   ไม่ได้อ่านสาระในหนังสือโดยละเอียด   เพราะมีหนังสือให้อ่านจำนวนมาก    

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้จากเยอรมนี  

วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ค. ๖๔        

 

หมายเลขบันทึก: 691613เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2021 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2021 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท