มหากาพย์เสาไฟฟ้ากินรีประติมากรรมนวัตกรรมไทย ตอนที่ 3


มหากาพย์เสาไฟฟ้ากินรีประติมากรรมนวัตกรรมไทย ตอนที่ 3

16 กรกฎาคม 2564 

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ความคุ้มค่าสมประโยชน์มิใช่เรื่องราคาอย่างเดียว เสียดายเงินงบประมาณการพัฒนาที่สูญเสียไป

 

(1) หลักการพิจารณาโครงการ​ต้อง [2] (1.1) มีความสำคัญ​ (1.2) มีความจำเป็น​ (1.3) มีความเร่งด่วน​ (1.4) จุด​คุ้มทุน​โครงการ​เมื่อเทียบกับภาระต้นทุนในการบำรุงดูแลรักษา (1.5) มีระยะ​เวลา​อายุการใช้งานโครงการกี่ปี เป็นต้น 

(2) ปกติผู้บริหารท้องถิ่นต้องเรียงลำดับความสำคัญจำเป็นของโครงการ การให้ความสำคัญเสาไฟกินรีมากกว่าถนน สาธารณูปโภคอื่นจึงแปลก เพราะเป็นผลประโยชน์ตนเองพวกพ้องผู้รับเหมาฯ ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประชาชนตามที่หาได้เสียงไว้ การเรียงลำดับความสำคัญของแผนพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน มิให้ใครติเตียนว่าลำเอียงไม่ถูกต้องฯ 

(3) เสาไฟต้องปักในพื้นที่ที่เหมาะสมเช่น ย่านชุมชน แต่ไปปักในที่ไม่มีคนอยู่สัญจรฯ มีเจตนาใช้เงินงบประมาณให้หมดไป ไม่เหมาะสมคุ้มค่าประโยชน์ มีประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ขาดการบำรุงดูแลรักษาหวงแหนโครงการ ฉะนั้น โครงการติดตั้งไม่นานก็จะชำรุด เพราะไม่มีใครมาช่วยเหลียวแล เป็นต้น

(4) เสาไฟมีราคาสูงเกิน มีการปักเสาไฟที่มีความถี่มากกว่าการติดตั้งปกติถึงเท่าตัว ทำให้เปลืองงบมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เพื่อเหตุใด เป็นการใช้งบประมาณที่ขาดประโยชน์ สิ้นเปลือง โดยไม่มีเหตุผล เพราะค่าเสาไฟฟ้า 1 ต้นราคาเกือบแสนบาทที่เกินจำเป็นไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนนี้ สามารถนำไปสร้างบ้านผู้พิการผู้ยากไร้ในชนบทได้

(5) เหตุใดต้องมีประติมากรรมสัญลักษณ์เป็นรูปกินรี เพราะไม่ได้อยู่บนถนนอักษะ ถนนราชดำเนินหรือถนนอุทยาน หรือ ย่านแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตา เสาไฟที่วิจิตรพิสดารมีประโยชน์ใด ในเมื่อถนนหน้าบ้านยังแย่ มีสภาพไม่ดี ยังเป็นถนนดินถนนป่ารกฯ ในการรับรู้ของคนทั่วไปเห็นว่าถนนจะสำคัญและจำเป็นมากกว่าเสาไฟ การอ้างวิสัยทัศน์ผู้นำ อ้างตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อ้างนโยบายการท่องเที่ยว อ้างความเหมาะสมประหยัดคุ้มค่า อ้างโซล่าเซลล์พลังงานสะอาด ฯลฯ คงอ้างไม่ได้ ปลูกต้นไม้เพิ่มออกซิเจน ลดโลกร้อนยังดีกว่า นวัตกรรมที่แพงไม่เหมาะสมเช่นนี้

(6) ต้นทุนค่าติดตั้งแผงโซล่าเซลล์พร้อมแบตเตอรี่ในพื้นที่ที่การไฟฟ้าเข้าถึง ไม่คุ้มค่า ปกติเสาไฟโซล่าเซลล์ที่อื่นนั้น เป็นจุดที่การไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือเข้าไม่ได้ฯ การลากสายไปใหม่ไม่คุ้มทุน แต่เสาไฟกินรีเหล่านี้ไปติดตั้งบริเวณที่มีไฟฟ้าเข้าถึงอยู่ชัดเจน ปกติค่าใช้จ่ายเพียงแค่นำกิ่งไฟไปยึดกับเสาไฟการไฟฟ้าก็ใช้ได้ ไม่กี่พันบาท ตามที่ สตง.ได้แนะนำไว้แล้ว [3]

(7) ข้ออ้าง อบต.ว่าทำโครงการตามจำนวนของแผนพัฒนา 5 ปี [4] นั้น ไม่ถูกต้องเพราะตามแผน 5 ปีที่ผ่านประชาคมนั้น จะมีเพียงความต้องการ ไม่ได้ลงรายละเอียดโครงการไว้ ในเรื่องจำนวน เป้าหมาย/งบประมาณเพราะประชาชนยังไม่ทราบได้ว่า อบต.มีงบใช้ได้ทั้งหมดเท่าใด ที่สำคัญงบนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกทำเฉพาะโครงการเดียว อบต.สามารถทำหลายโครงการได้ เนื่องจากแผน 5 ปี ของแต่ละ อบต./เทศบาลนั้นมีโครงการมากมายหลายโครงการ แต่จะต้องนำโครงการเร่งด่วนหรือจำเป็นมาดำเนินการก่อนโดยดึงมาบรรจุเข้าแผนพัฒนาประจำปีงบประมาณนั้นๆ และต้องให้โครงการไม่เกินจำนวนวงเงินงบประมาณที่จะดำเนินการได้ในปีนั้น

(8) เปรียบเทียบดูความคุ้มค่าฯ กรณีเสาไฟฟ้าไทยกับสิงคโปร์ [5] ไทยใช้งบ 642 ล้านบาท ได้ความสว่างและความภาคภูมิใจในศิลปะแบบไทย แต่สิงคโปร์ใช้งบ 172 ล้านบาท ได้ความสว่าง และกล้องวงจรปิด เซ็นเซอร์วัดจำนวนคนเดินผ่าน (Motion Sensor) วัดค่าความชื้น วัดค่ามลพิษ วัดมลภาวะทางเสียง วัดอุณหภูมิ ฯลฯ แบบ real-time เทคโนโลยีดิจิทัล สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

แผนพัฒนาท้องถิ่นและการคลังท้องถิ่นยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ

 

(1) นายก อบต.ราชาเทวะแถลงข่าวว่า อบต.เก็บภาษีจากโรงงาน ผู้ประกอบการได้มากถึงปีละ 400 ล้านบาท และมีงบประมาณที่สามารถนำมาจัดทำโครงการพัฒนาท้องถิ่นได้ถึงปีละ 200 ล้านบาท ที่ต้องใช้งบให้หมดไปในแต่ละปี มีข้อสังเกตว่า เมื่อ อบต.เก็บภาษีได้มากขนาดนี้ อบต.น่าจะนำงบประมาณส่วนนี้ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่านี้ การนำงบพัฒนาไปใช้ไม่ถูกจุดที่จำเป็น จึงเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ด้วยจำนวนงบประมาณมิใช่น้อยที่มิได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ใดแก่ประชาชน เพราะเงินงบประมาณที่มีมากเกินนั้น ยังมีกิจกรรมอื่นให้จัดทำได้อีกเยอะ และทำได้อีกหลายวิธี 

(2) สำหรับ อปท.ชนบทบ้านนอก อบต.บ้านนอกต่างจังหวัดที่มีงบน้อย จะไม่มีงบประมาณเช่นนี้ ต้องรองบจากส่วนกลาง แต่ที่นี่กลับสุรุ่ยสุร่าย บ้านนอกจะหวังพึ่งเงินก้อนใหญ่จากงบอุดหนุนเฉพาะกิจจากส่วนกลาง ผ่านกรม สถ. ซึ่งปัจจุบันให้ อปท.เสนอโครงการได้ตรงจากสำนักงบประมาณ ทำให้ อปท.ได้งบพัฒนามากกว่าการใช้งบของท้องถิ่นเอง อปท.หลายแห่งพลาดของบอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการนี้ไป แม้เป็นนโยบายรัฐ มีเงินทอนเห็นๆ [6] เพราะมีนายหน้ามาแนะนำโครงการแล้ว อีกทั้งอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ด้วยราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่แพง ถึงแม้จะเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจก็ตาม หาก อปท.ใดอ้างว่าไม่รู้จะของบนี้ไปทำอะไร ก็ควรเอางบนี้ไปลงในพื้นที่อื่นพัฒนาอย่างอื่นยังดีกว่า ข้ออ้างว่าใช้งบไม่หมดจึงดูไม่สมดุลกับงบประมาณมากมายที่ส่งกลับคืนคลังได้

(3) เอาเสาไฟกินรีไปปักถนนที่ไม่ดีอ้างว่า โครงการคุ้มค่า มีอยู่ในแผนพัฒนา โครงการได้ผ่านการประชาคมถูกต้องตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่คณะกรรมการฯ อนุมัติ และชาวบ้านพอใจแล้ว แต่ไม่อ้างผลประโยชน์ส่วนตนทับซ้อนที่ได้กันยกทีม นายกฯ ลืมไปว่าตนเองเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนา อบต. [7] ที่เห็นชอบแผนนั้น การอ้างเสียงประชาคมหมู่บ้านพึงระวัง เช่น การทำประชาคมที่เป็นโครงการของพวกพ้อง ชาวบ้านที่ต้องการจริงไม่ได้โครงการ ชาวบ้านจึงด่า เพราะใครพวกเยอะก็เป็นคนรับงานเป็นพวกเดียวกัน หางานให้กันทำหางบมาแบ่งกัน โกงกันเป็นระบบ ตามน้ำ เรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” [8] (Policy Corruption) “ทุจริตที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียฯ” [9] (COI : Conflict  of Interest) ครั้นพอไม่มีที่ปักเสาไฟ ก็เอาไปปักตามป่าเขา ป่าช้า ถนนรกๆ ที่คนไม่สัญจรฯ อ้างว่าประชาคมอยากได้ ท้องที่จะได้พัฒนาฯ ซึ่งฟังไม่ขึ้น ให้สังเกตว่า ประชาคมมีชาวบ้านมาถึง 30% [10] หรือไม่ เหตุที่ชาวบ้านไม่มาก็เพราะเขาเสียเวลาเปล่า โครงการที่เขาเสนอไม่เคยได้จึงไม่มาดีกว่า

(4) มีคำยกย่องชมเชยจากอีกฝ่าย กรณีนายก อบต.ราชาเทวะยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถือว่า อปท.มีอำนาจอิสระในการบริหารจัดการ “บริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ” [11] ในบ้านของตนเอง หาก อบต.ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบแบบแผนราชการ และกฎหมายแล้ว บุคคลภายนอกไม่อาจมาโต้แย้งทักท้วงได้ แต่นายกฯ ลืมไปว่า คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องครบตามกระบวนขั้นตอน แต่ได้ผู้รับงานเจ้าเดียวตลอด แถมราคาแพงผิดปกติ อันเป็นที่มาของการตรวจสอบจับพิรุธข้อสงสัยเรื่องการทุจริต การฮั้ว การเอื้อประโยชน์ ฯลฯ 

 

มิติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

(1) เรื่องการทุจริต ทั้งกรณีฮั้วสมยอมในการเสนอราคา การเอื้อประโยชน์ต่างๆ นี้รัฐต้องเอาผิดให้ถึงที่สุด ที่จริงอาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า อบต. อบจ.มีโครงการเลอะเทอะเช่นนี้กันทั่วประเทศ ถึงเวลาแล้วที่สมควรสอบสวนลงโทษเป็นเยี่ยงอย่างให้เห็น

(2) ผู้บริหารท้องถิ่นบางคน และ เจ้าหน้าที่งบประมาณหลายคน มักพูดกันเสมอว่า เราท้องถิ่นเหมือนกัน ทำอะไรก็ต้องให้เป็นไปทำนองเดียวกัน เหมือนกัน พยายามจะสร้างขนบใหม่ในรูปแบบท้องถิ่น ทำเหมือนๆ กัน เห็นใครทำอะไรก่อน เอามาทำบ้าง (ลอกๆ แบบโครงการกันมา) แบบของมึง งบเท่ากัน มึงรอดกูก็รอด แต่ว่านี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง “One size fits all” [12] แต่อย่างใด

(3) หรือว่าเป็นวิธีการหาเงินที่ง่าย “ถอนทุนคืน” ของฝ่ายการเมืองที่นั่งแช่อำนาจมาช้านาน แถมยังเป็นความผิดกฎหมายที่ง่ายด้วย เหนื่อยแทนฝ่ายข้าราชการประจำที่ต้องมาคอยแก้ คอยเป็นด่านหน้าในการชี้แจง สตง. แต่ไม่สามารถดึงนายกฯ ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้

(4) คนส่วนใหญ่รู้ว่านักการเมืองรวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นมักมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน อุปถัมภ์กัน การรับเงินทอนในแต่ละโครงการอาจสูงถึงร้อยละ 20-50% ต่อโครงการถือเป็นเรื่องปกติ จึงทำให้รัฐไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สักทีมาทุกยุคทุกรัฐบาล

(5) การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นถือเป็นเรื่องดี ทำให้ท้องถิ่นเจริญพัฒนาขึ้น แต่น่าเสียดายที่ผู้บริหารท้องถิ่น 7,850 แห่ง [13] (รวม กทม. เมืองพัทยา อบจ. เทศบาล อบต.) จากข้อมูลพบการทุจริตฯ มาก สาเหตุประการสำคัญหนึ่ง เพราะมีการซื้อเสียง ข้าราชการที่ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่สนับสนุนการทุจริตได้ ต้องย้อนไปดูว่า โครงสร้างการบริหารงานภายใน อปท.เป็นอย่างไร เพราะตามหลักการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นนั้น ยึดหลักการให้อำนาจมากแก่นายก อปท.  เช่น ตามข่าว อบต.ราชาเทวะ ไม่มีปลัด มีแต่รองปลัด (หญิง) 2 คน และมีคำสั่งให้ ผอ.กองคลังรักษาราชการแทนปลัด อบต. และ รักษาราชการแทน ผอ.กองช่างด้วย ที่อาจมีความผิดในกรณีความมีส่วนได้เสียฯ และผิดกฎหมายตามประกาศ ก.จังหวัด ตามหนังสือซักซ้อมของกรม สถ. เกี่ยวกับการรักษาราชการแทนฯ เป็นต้น

(6) การตรวจสอบควบคุมภายในของ อปท. แม้จะดี มีมาตรฐานเพียงใดก็หามีผลไม่ เพราะเจ้าหน้าที่คนใดที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นแกะดำทันที (เป็นคนส่วนน้อย คนไม่ดี คนฝ่ายค้านฯ) ประกอบกับการมีระดับผู้บริหารองค์กรที่ขาดวิสัยทัศน์ ชอบทำอะไรตามกระแสไทยแลนด์ ไฟลามทุ่งฯ และทำตามกันด้วยธรรมเนียมแบบผิดๆ มักถูกสอบสวน ถูกปลด ถูกจำคุกกันมาก

(7) ครั้นมีเรื่องทุจริตฯ ผู้ถูกกล่าวหาต่างพากันวิ่งเต้นเข้าหาเจ้านาย หาบ้านใหญ่ หา ส.ส. ส.ว. ใครมีนายฝั่งรัฐบาลก็แค่คืนเงินบางส่วนแล้วปิดเรื่องจบ วินัยข้าราชการก็เพียงตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ใครที่ไม่มีนายในระนาบคนของรัฐบาลก็รับโทษหนัก เป็นต้น

(8) ความจริงที่นี่คือระบบราชการท้องถิ่นไทย มักไม่นำความจริงมาพูดกัน (Inconvenient Truth) เหมือนดังเช่น คดีทุจริตสนามฟุตซอล เจ้าหน้าที่ข้าราชการครู (ผอ.รร.) จังหวัดหนึ่งโดนวินัยถูกไล่ออกราชการถึง 63 ราย [14] แถมถูกฟ้องคดีอาญาอีก แล้วจะไปร้องขอความเป็นธรรมจากใคร ไม่ใช่การถวายฎีกาในหลวง

(9) ในขณะที่ชาติต้องกู้เงินมาเพื่อประคับประคองระบบเศรษฐกิจชาติจากสารพัดวิกฤติ ฉะนั้น การใช้งบประมาณของส่วนราชการต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติและปากท้องของประชาชน โดยลดความฟุ่มเฟือยลง แต่กลับของบ อนุมัติงบประมาณมาใช้จ่ายได้อย่างง่ายๆ มาละลาย เท่ากับเป็นการสร้างหนี้สาธารณะทางอ้อมให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อีกฝ่ายจึงยุหนุนให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะข้าราชการท้องถิ่น เพราะ ข้าราชการของชาติเป็นคนรับใช้ (ข้า) ของแผ่นดินหาใช่ผู้สมัครในทางการเมืองไม่ ต้องสำเหนียกให้มากกว่านักการเมืองที่หวังถอนทุน การไม่ไตร่ตรองตามระเบียบราชการจึงสมควรแล้วที่จะถูกตรวจสอบและลงโทษ อย่าให้นักการเมืองใช้ช่องทางราชการมาทุจริตได้ โดยการสนับสนุนให้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง.เข้าตรวจสอบ แต่ลืมไปว่า ต้องดูว่า ต้องไปแก้ไขที่ระบบ จึงเข้าทาง ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง.ได้ผลงานไปเต็มๆ 

(10) นักการเมือง อบต.เป็นหัวคะแนนในระดับท้องถิ่นให้ ส.ส.ทั้งสิ้น หากมีการยุบ อบต.ก็เท่ากับยุบคะแนนเสียง ส.ส.คงคัดค้านการยุบ อบต. หรือการควบรวม อบต.เป็นเทศบาล หรือการยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลแน่ เพราะมีผลได้ผลเสียที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น จำนวนสมาชิกสภา อบต.ที่ลดลง หรือ เขตเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป และผลกระทบต่อตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ เมื่อเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เป็นต้น

(11) ปีนี้ อปท.หลายแห่งเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า กว่าจะเก็บภาษีได้ ชนชั้นกลางแทนที่จะเอาเงินนี้ไปหมุนกลับลงสู่ชาวบ้านรากหญ้า กลับต้องหมุนไปสู่มือขององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ น่าจะเป็นกันแทบทุกจังหวัด

(12) ดูวงเงินงบประมาณและวิธีจัดซื้อจัดจ้าง จะรู้ว่าใครเกี่ยวข้อง มีอำนาจอนุมัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ (พัสดุฯ) คนนั้นคือ ตัวปัญหา ที่แท้จริง แผนพัฒนา ประชาคม ไม่ต้องไปอ้าง แค่ใช้อ้างอิงตอนเสนอโครงการเท่านั้น 

(13) ข้อสังเกตในการตรวจสอบ หน่วยงานทุกองค์กร มีการกินผลประโยชน์หมดทุกองค์กร แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจสอบได้หรือไม่ หรือมีข้อร้องเรียนกันหรือไม่ ส่วนใหญ่ กรณีที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่ว่าฝ่ายตรวจสอบออกมาตรวจเอง แต่ผลประโยชน์ไม่ลงตัวกัน พวกเดียวกันจึงแจ้งร้องเรียนกันเอง และสิ่งหนึ่งอยากจะฝากไปถึงบุคคลที่บอกว่ายุบเถอะองค์กรนี้ นั้นแสดงว่า มีคนมองความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นเรื่องล้อเล่น เพราะหากทุกวันนี้ เราไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนแทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลหรือรู้จักสิทธิของตนเองด้วยซ้ำ องค์กรนี้จึงดีแล้ว เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และกระจายงบประมาณการพัฒนาให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง เพียงแต่สิ่งที่ทำองค์กรเสียหายนั้น เป็นเรื่องของ “ปัจเจกบุคคล” คือ บุคคลที่เห็นแก่ตัวเข้าไปบริหารต่างหาก ฉะนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกองค์กร เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง

(14) อยากรู้ต่อไปว่า​ หากผลของการตรวจสอบสอบสวนฯ ของ ป.ป.ช. แล้วเสร็จจะเป็นเช่นไร จะมีจุดจบที่ต่างจากกรณีอื่นที่เป็นการกระทำ(ข้อเท็จจริง)​อย่างเดียวกัน​ จะมีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นต่อผู้มีอำนาจ ต่อองค์กร ต่อสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร ​เช่น การนิ่งเฉย ฉุนออกทีวี ปล่อยให้ผ่านไป ลืมไปแล้ว ปล่อยเป็นอย่างเดิมซ้ำๆ อีก ฯลฯ เพราะหากผู้บังคับบัญชาปล่อยให้โกง มันก็คือการโกงนั่นเอง [15]

 

ความเห็นส่วนใหญ่ผู้เขียนได้รวบรวมประมวลมาจากข่าวและความเห็นในกลุ่ม/เพจเฟซบุ๊ก เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์ในอีกมุมหนึ่ง

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 16 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/262030

[2]ดู หลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการฯ, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2559, http://plan.snru.ac.th/wp-content/uploads/2016/11/06-หลักเกณฑ์และพิจารณาโครงการ.pdf  

(1) เป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน แต่ต้องไม่ใช่งานประจำที่ดำเนินการต่อเนื่องตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน (2) เป็นโครงการที่สำคัญและจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) เป็นโครงการที่มีประโยชน์ เหมาะสม คุ้มค่า และส่งผลกระทบต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (4) เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานที่กำหนด และมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด (5) มีความเชื่อมโยงสอดคล้องแผนแม่บทด้านการศึกษาระยะ 15 ปี เป็นกรอบหลักทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายควบคู่กับแผนกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล (6) มีการบูรณาการภารกิจและงบประมาณใน 3 มิติ โดยมิติยุทธศาสตร์ (Agenda) และมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จะต้องบูรณาการร่วมกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมิติพื้นที่ (Area) (7) ให้มีการบูรณาการภารกิจและงบประมาณของหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกันหรือระหว่างกระทรวงเพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัดและมีความคุ้มค่า (8) หากมีการดำเนินการที่สอดคล้องกรอบแผนบูรณาการฯ แต่เสนอของบประมาณในมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) ให้ระบุเนื้องานในแผนบูรณาการ

[3]หนังสือซักซ้อมแนวทางการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม ดู

หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด่วนที่สุด ที่ มท 0810.4/ว 1347 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เรื่อง ซักซ้อมการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ/การก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.4/ว 2744 ลงวันที่ 4 กันยายน 2561 เรื่อง โครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.4/ว 1347 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เรื่อง ซักซ้อมการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ/การก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0017/5237 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง การตรวจสอบโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/template/tempNews/2021/7/62239_1.pdf

[4]“แผนพัฒนาท้องถิ่น” หมายถึง แผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดวิสัยทัศน์ประเด็นยุทธศาสตร์เป้าประสงค์ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และกลยุทธ์โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาหมู่บ้านหรือแผนชุมชน อันมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดแผนงานโครงการพัฒนา ที่จัดทำขึ้นสำหรับปีงบประมาณแต่ละปีซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้า และให้หมายความรวมถึงการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแผนพัฒนาท้องถิ่น 

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่นในปัจจุบันซึ่งเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่นที่มีกำหนดระยะเวลาสี่ปี (พ.ศ.2561 – 2564) ให้เป็นแผนพัฒนาท้องถิ่นที่มีกำหนดระยะเวลาห้าปี (พ.ศ.2561 – 2565) เพื่อให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด ตลอดจนสามารถบูรณาการแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมและงบประมาณในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ดำเนินการตามแนวทาง/ขั้นตอนการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561 – 2565) 

ดู หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.3/ว 2931 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการทบทวนแผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561, http://www.dla.go.th/work/refer2/reference17.pdf  & http://www.lp-pao.go.th/Plan/images/book/Plan_Law_3.pdf  

[5]ชาวเน็ตโพสต์เปรียบเทียบ เสากินรี กับ เสาไฟฟ้าสิงคโปร์ ราคาและประโยชน์ใช้สอยต่างกัน, จากเฟซบุ๊ก Pathom Indarodom, 10 มิถุนายน 2564, https://www.bugaboo.tv/news/561456

[6]คู่มือโกงงบประมาณท้องถิ่น ฉบับเงินทอน โดยศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม, บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม, 25 มิถุนายน 2564, https://waymagazine.org/kowit-puang-ngam-interview/

สรุปการทุจริต 6 รูปแบบ (1) ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงการทำผิดระเบียบ (2) ใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การสอบเลื่อนชั้น สอบแต่งตั้งฯ (3) การฮั้วกันระหว่างพื้นที่กับองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบ เช่น การที่ท้องถิ่นมีหน้าที่เก็บภาษีฯ เรียก “การไม่เปิดเผยฐานทางการเงินให้ชัดเจน” (4) ช่องว่างและโครงสร้างของท้องถิ่นที่ไม่กำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง (5) การใช้อิทธิพลของผู้นำ เนื่องจากการไม่กำหนดวาระ นำมาสู่การสะสมอำนาจอิทธิพล (6) การตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึงและครอบคลุม เช่น ของ สตง. ป.ป.ท. ซึ่งเป็นกลไกในส่วนกลาง โดยไม่มีกลไกในพื้นที่ที่เป็นแขนขา คนตรวจสอบได้ดีที่สุดคือประชาชน 

[7]ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561, ข้อ 8, อ้างแล้ว

[8] “การทุจริตเชิงนโยบาย” (Policy Corruption) เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผ่านการสร้างความชอบธรรมอย่างเป็นระบบขึ้นมาเพื่อการคอร์รัปชั่น แต่ในต่างประเทศจะถือว่าเป็นการ “ทุจริตอย่างเป็นระบบ” (Systemic Corruption) 

ดู “ทุจริตเชิงนโยบาย” ปัญหาที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน นักการเมือง,โครงการวิจัยเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย: มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดย อุดม รัฐอมฤต และคณะ (2559), ใน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), research café, DOCUMENTARY, 26 กรกฎาคม 2562, https://researchcafe.org/policy-corruption/

[9]ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest : COI)คือ สถานการณ์หรือการกระทำของบุคคล (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองข้าราชการ พนักงานบริษัท ผู้บริหาร) มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจหรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนาหรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าจะเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใดพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ(ประโยชน์ของส่วนรวม)แต่กลับตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง (ความหมาย : สำนักงาน ก.พ.)

การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนร่วมหรือเรียกสั้นๆ ว่าผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เกิดขึ้นได้กับบุคลากรในภาครัฐและภาคเอกชน ผลประโยชน์ทับซ้อนยังไม่ถือเป็นการคอร์รัปชันซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดแล้วจริง แต่เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน

ดู บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … (ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560), เสนอต่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดย ธิปไตร แสละวงศ์ และ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, พฤศจิกายน 2560, https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2018/01/conflict-of-interest-law-1.pdf 

[10]ประชาคม หรือ “Civil Society” หมายถึง “การที่ประชาชนหรือหมู่ชนที่เข้ามารวมกันเพื่อพูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในรูปของกลุ่ม หรือเครือข่าย ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายที่แก้ปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงหรือพัฒนาประเด็นนั้นๆ ร่วมกัน”

เป็น การรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนด้วยตนเอง เป็นเวทีของการพูดคุย แลกเปลี่ยนถกแถลง (ไม่ใช้โต้เถียง) เกี่ยวกับข้อมูล เช่น การแก้ไขปัญหาในชุมชน การวางแผนพัฒนาชุมชน การกำหนดข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีวัตถุประสงค์หรือสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นการรวมตัวกันตามสถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น มี 2 ลักษณะ คือ (1) อย่างเป็นทางการ โดยการจัดเวทีหรือการจัดประชุม (2) อย่างไม่เป็นทางการ เช่นการสนทนากลุ่มเล็กในศาลาวัด การพบปะพูดคุยอาจเป็นครั้งคราว
ดู การจัดเวทีประชาคม, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), http://www.rdpb.go.th/rdpb/upload/document/วพร2/การจัดเวทีประชาคม.docx#:~:text=ประชาคม%20คือ%20การรวมตัว,เป็นการรวมตัวกันตาม 

[11]มาตรา 250 วรรคหนึ่ง "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1038&filename=index 

[12]“One Size Fits All” หมายถึง การนำสิ่งที่องค์กรอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จมาใช้ในองค์กรของตน แต่ทว่า ในโลกแห่งการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ไม่มีนโยบายการทำงานใดที่จะ “เหมาะสมกับองค์กรทุกรูปแบบ” นโยบายด้านทรัพยากรบุคลนั้น จะเป็นต้องถูกปรับให้เข้ากับปรัชญา และ ยุทธศาสตร์ขององค์กรนั้น ๆ ก่อน จึงจะสามารถสานต่อไปสู่ความสำเร็จได้

ดู โลกแห่ง HR ไม่มีคำว่า “One Size Fits All”, โดย นากามูระ (Jack) จาก Asian Identity, บล็อก HR EGG ในเอเชีย, 13 สิงหาคม 2562, https://asian-identity.com/hr-egg-th/eggblog/there-is-no-one-size-fits-all-in-hr

[13]ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563 รวบรวมโดย : กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 2 กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/abt/ 

[14]ครูโคราชขอความเป็นธรรม คดีทุจริตสนามฟุตซอล, Thai PBS, 17 มิถุนายน 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/305291 

ครู จ.นครราชสีมา ผู้ต้องหาคดีทุจริตสนามฟุตซอล นำหลักฐานใหม่มายื่นต่อสำนักงานอัยการสุดสุด ขอคืนความเป็นธรรมให้ครู 63 คน ไม่ให้ถูกลงโทษแบบเหมาเข่ง หลังจากอัยการสูงสุด มีมติเห็นควรสั่งฟ้องนายวิรัช รัตนเศรษฐ พร้อมพวก

[15]ผู้บังคับบัญชาปล่อยให้โกงคือการโกง โดยนายประสาท พงษ์ศิวาภัย ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, กองทุน ปปช. สมาคมสื่อช่อสะอาด, 4 กรกฎาคม 2564, https://youtu.be/Yg4yUrrkYFI

& ส.อบต.ราชาเทวะ ร้อง "ดีเอสไอ" ตรวจสอบเสาไฟกินรี ข้องใจฮั้วประมูลหรือไม่, ไทยรัฐออนไลน์, 13 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/crime/2139327 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท