กู้ภัยอาสา พัฒนาโรงเรียน


ผมไม่รู้หรอกว่านิสิตให้ความสำคัญกับเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้แค่ไหน ผมได้แต่หวังว่านิสิตจะเปิดใจรับรู้และเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นบ้าง เพราะมันไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจต่อบริบทของโรงเรียนและหมู่บ้านที่นี่เท่านั้น แต่หมายถึงการกลับไปทบทวนเรื่องราวอันเป็น “ที่บ้านเกิดเมืองนอน” ของนิสิตเอง

โครงการ “กู้ภัยอาสาพัฒนาโรงเรียน” ของชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ณ โรงเรียนบ้านโนนเห็ดไค ตำบลหนองไผ่ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) แต่แทนที่ชมรมจะถอดใจยุติการจัดกิจกรรม กลับมีการปรับแต่งกิจกรรมใหม่ให้สอดรับกับกระแสหลักอันเป็นวิกฤตของสังคม

ย้อนกลับไปยังปีการศึกษา 2563 (เมษายน -พฤษภาคม 2563) ภายหลังชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์กลับมาจดทะเบียนเป็นองค์กรใหม่อีกรอบเคยเสนอขออนุมัติโครงการในทำนองเดียวกันนี้ ณ ชุมชนในเขตอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ก็จัดกิจกรรมไม่ได้ เพราะเจอมรสุมของโควิดเข้าเต็มๆ

 

 

การไม่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนั้น กระทบต่อการเรียนรู้ของสมาชิกชมรมเป็นอย่างมาก เมื่อจัดกิจกรรมอะไรไม่ได้ เส้นทางการเรียนรู้ว่าด้วยกิจกรรมนิสิตก็ถูกตัดขาดออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสารบรรณ กระบวนการจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการต่อชุมชน ไม่เว้นกระทั่งกระบวนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กรก็สะดุดลงไปด้วย ส่วนการ “สอนงานสร้างทีม” ยิ่งไม่ต้องสงสัย เพราะได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ 

ต้นเมษายน 2564 แกนนำชมรมได้เข้ามาปรึกษาเป็นการส่วนตัวกับผมเรื่องแนวทางการจัดกิจกรรม หลักๆ เป็นเรื่องนโยบายการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและจังหวัดมหาสารคามในยุคโควิด 

ซึ่งต้องยกเครดิตให้ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นคนเชื่อมประสานให้แกนนำชมรมเข้ามาพบปะพูดคุย –

 

 

ตอนที่หารือกันนั้น ผมเสนอข้อมูลชุมชนที่เป็นสถานศึกษาและหมู่บ้านในจังหวัดมหาสารคามให้นิสิตได้รับรู้ว่าแต่ละที่มีประเด็นอะไรที่พอที่จะจัด “กิจกรรมอาสาพัฒนา” เล็กๆ ได้บ้าง โดยไม่ลืมที่จะถามนิสิตว่า “มีพื้นที่ในใจบ้างแล้วหรือยัง” ซึ่งนิสิตตอบอย่างชัดเจนว่า “มีบ้างแล้ว” พร้อมอธิบายรูปแบบกิจกรรมโดยสังเขปให้ผมได้รับรู้

การพบปะพูดคุยกันในวันนั้น ผมให้นิสิตตัดสินใจเองว่าจะเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่การออกค่าย โดยแนะนำให้นิสิตประสานงานกลับไปยังชุมชน เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมและย้ำว่า “ห้ามตัดสินใจเพียงคนเดียว ให้หารือกับสมาชิก และอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย”

 

 

ผ่านพ้นไปสัก 3-4 วัน แกนนำชมรมแจ้งมติกลับมายังผมอีกครั้ง ยืนยันเรื่องสถานที่-วันเวลารูปแบบ-งบประมาณ และแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งปวงนั้นผมไม่ได้โต้แย้งใดๆ ยอมรับและเคารพการตัดสินใจของนิสิต (กิจกรรมนิสิต โดยนิสิตเพื่อนิสิต) บนฐานคิด “ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง”  ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น 

  • ซ่อมแซมสนามเด็กเล่น
  • ซ่อมแซมผนังห้องเรียน
  • อบรมเรื่องการกู้ชีพ
  • มอบอุปกรณ์สนับสนุนการศึกษา
  • สร้างลาน BBL

ในช่วงที่ยังไม่ถึงห้วงการไปออกค่าย ผมสื่อสารกับนิสิตเป็นระยะๆ ชวนให้นิสิตเกาะติดสถานการณ์ของโควิดว่าจะกระทบต่อการจัดกิจกรรมแค่ไหน เฉกเช่นกับการฝากให้คิดแผนสำรองและย้ำอีกรอบว่า “ต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงของสังคม”

 

 

ด้วยความที่ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ เป็นชมรมที่เว้นวรรคการทำกิจกรรมไปช่วงหนึ่ง จึงไม่แปลกที่มวลสมาชิกจะขาดความรู้และประสบการณ์ด้านกิจกรรม  กอปรกับการชะลอกิจกรรมและการเรียนในระบบออนไลน์ ส่งผลให้นิสิตที่เป็นแกนนำเดินทางกลับบ้านกันเกือบทั้งหมด ส่วนผู้รับผิดชอบหลักก็เดินทางไปฝึกงานที่ต่างจังหวัด ไม่ได้มอบหมายให้คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ “เดินงาน” อย่างชัดเจน ในแต่ละวันกว่าผมกับผู้รับผิดชอบหลักจะคุยกันได้ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเย็นหรือไม่ก็ตอนดึกๆ อันเป็นเวลาที่นิสิตเริ่มจะว่างจากการฝึกงาน

นี่คือหนึ่งอุปสรรคที่ผมเริ่มค้นพบ - 

อุปสรรคดังกล่าว  ผมให้คำแนะนำผ่านเฟชบุ๊ก หรือบางครั้งก็ยกสายคุยกับผู้รับผิดชอบว่าขอให้มอบหมายใครสักคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยให้เข้ามาติดต่อประสานงานเรื่องนี้แทน โดยผมอาสาช่วยเหลือในเรื่องของการจัดทำเอกสารเสนอต่อมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งผู้ที่มาสานงานต่อก็เป็นมือใหม่ไม่แพ้กัน 

 

 

ผมให้คำแนะนำไปในหลายประเด็น เป็นต้นว่า เปลี่ยนแปลงวันเวลา ยกเลิกการอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น ยกเลิกการกินนอนในค่ายแต่ให้เพิ่มกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาแทนที่ เช่น มอบสื่อการศึกษา  มอบเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับการป้องกันเรื่องโควิด รวมถึงการส่งมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับโรงพยาบาลสุทธาเวช เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่กำลังสู้รบปรบมือกับโควิด 

ทั้งปวงนั้นผมยึดมั่นหลักการเดิม คือ ฝากให้นิสิตนำประเด็นเหล่านี้กลับไปหารือกับสมาชิกและอาจารย์ที่ปรึกษา โดยรับปากว่าจะเกื้อหนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นระบบเอกสารทั่วไป หรือแม้แต่การวิ่งเต้นหาคนมาช่วย “ยืมเงินทดรองจ่าย” เพราะชมรมยืนยันว่า “ไม่มีเงินสำรองจ่าย” 

 

 

พอทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย อุปสรรคบางอย่างก็เริ่มก่อตัวขึ้นอีก จนผมต้องเริ่มขยับตามงานในแบบถึงลูกถึงคน ครั้น “เงินยืม” ออกมาก็รีบส่งต่อให้กับแกนนำเพื่อให้นำไปจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ พร้อมทั้งทำความเข้าใจในเรื่องเอกสารการเบิกจ่าย ถึงขั้นอาสาจะพาไปซื้อของ อาสาจะเอารถไปขนของให้และเพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินงาน 

เช่นเดียวกันนี้  ผมถือวิสาสะปลดล็อคการประสานงานจากนิสิตผู้รับผิดชอบคนเดิมมาเป็นคนใหม่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ผมมองว่านี่คืออีกหนึ่ง “ทางออก” ที่จะทำให้งานทั้งหมดไม่สะดุด โดยเลือกที่จะต่อสายตรงไปยังผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ผู้ประสานงานคนใหม่ได้มีโอกาสพูดคุยและนัดหมายอะไรๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ผมยืนยันว่าทั้งทั้งปวงนั้น ผมคิดและตัดสินใจบนเหตุและผลหลายประการ เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยโควิด ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยการมอบหมายและกระจายงานของนิสิต ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยความรู้ความเข้าใจของนิสิตที่มีต่อการจัดกิจกรรมกับชุมชน ข้อจำกัดเรื่องเวลาของอาจารย์ที่ปรึกษา ข้อจำกัดเรื่องการลำดับความสำคัญและการมองงานที่ไม่แจ่มชัดของนิสิต 

 

ผมยืนยันว่า ถ้าไม่ตัดสินใจเช่นนั้น บางทีกิจกรรมนี้อาจ “ไปต่อไม่ได้”  เพราะทุกอย่างกระชั้นชิดไม่ต่างจาก “ผีถึงป่าช้า” มิหนำซ้ำผมยังต้องทำหน้าที่แทนในอีกหลายเรื่อง ซึ่งนิสิตลืมกระทั่งจะปริปากสอบถามความคืบหน้าในการงาน เช่น การยืมรถไปราชการ การไม่แจ้งกำหนดการเดินทาง การส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมล่าช้า จนแทบจะจัดทำคำสั่งไปราชการไม่ทัน จึงร้องขอเจ้าหน้าที่ (รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง) มาช่วยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ช่วยลงนามในเอกสารไปราชการแทนอาจารย์ที่ปรึกษาและร่วมเดินทางไปกับนิสิต

กรณีการไหว้วานเจ้าหน้าที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงนั้น ผมแอบคิดเรื่องนี้ไว้อย่างเงียบๆ เพราะอยากให้เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งมากด้วยอารมณ์ขันและมีประสบการณ์ภาคสนามได้เข้าไปสัมผัสกับนิสิต เป็นเหมือน “กระบวนกร” ที่เข้าไปเชื่อมการเรียนรู้-ฝังตัวสังเกตและเก็บข้อมูลเรื่องระบบคิดและระบบทำงานของนิสิตอย่างเงียบๆ

 

 

ก่อนการเดินทางไปจัดกิจกรรม ผมนัดหมายนิสิตและเจ้าหน้าที่มาเจอกันก่อน เพื่อให้แนวคิดเรื่องการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชน ตรวจทานความพร้อมของงาน ชวนวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าและแนะนำเจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) อย่างเป็นทางการให้นิสิตได้รับรู้ โดยไม่ลืมที่จะย้ำให้นิสิตโทรประสานงานกับทางโรงเรียนเป็นระยะๆ  เพื่อมิให้โรงเรียนและชุมชนวิตกกังวลใดๆ กับการเดินทางของนิสิต จากนั้นจึงแยกย้ายออกเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านโนนเห็ดไค 

การนัดหมายข้างต้น เป็นกระบวนการต้นน้ำก่อน “ลงชุมชน” คล้ายปฐมนิเทศก่อนออกค่ายนั่นแหละ เป็นการปรับจูนความเข้าใจในเนื้องานร่วมกันทั้งนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับพี่เลี้ยง

ผมเดินทางไปถึงก่อนนิสิตและเจ้าหน้าที่ในราวเกือบๆ จะชั่วโมง เพราะรถตู้ที่นิสิตนั่นไปต้องตระเวนไปรับวัสดุทางการแพทย์ที่จัดซื้อไว้ตั้งแต่วันก่อน ในช่วงที่ผมเดินทางไปถึงก่อน ผมได้พบปะพูดคุย สร้างความคุ้นเคยและผ่องถ่ายข้อมูลกิจกรรมโดยสังเขปต่อชุมชนแทนนิสิต เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขลุกขลักและคลาดเคลื่อนจนเกินไป

 จะว่าไปแล้ว นั่นคืออีกกระบวนการเล็กๆ ที่ผมเข้าหนุนเสริมฆ่าเวลาแทนนิสิตและพี่เลี้ยงที่ยังเดินทางมายังไม่ถึง -

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้ผมสัมผัสได้ว่านิสิตทุกคนที่ค่ายล้วนเป็น “มือใหม่” สังเกตได้จากภาวะที่ไม่รู้และไม่มั่นใจว่าจะต้อง “รันกิจกรรม” กันอย่างไร จนผมและเจ้าหน้าที่ต้องค่อยๆ หนุนเสริมเป็นระยะๆ 

 ผมชื่นชมชุมชนแห่งนี้มาก ผมมองว่าทั้งโรงเรียนและชุมชนเป็น “หนึ่งเดียวกัน” เป็นชุมชนที่เข้มแข็งทั้งคณะครูและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นชุมชนที่เหมาะต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าครบมิติ “บวร” – บ้าน วัด โรงเรียน หรือ “ราชการ” เลยทีเดียว

ดังที่กล่าวข้างต้นว่ากิจกรรมครั้งนี้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างยกใหญ่เพื่อหลีกหลบจากการแพร่ระของโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานด้านการบำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่นั่นก็มิใช่ว่ากิจกรรมจะดูอ่อนพลังเลยแม้แต่น้อย เพราะเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้นมีหลากหลายประเด็นที่เข้าไปเติมเต็มการเรียนรู้ของนิสิตชาวค่าย 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่บ้านและนายกเทศมนตรีได้สะท้อนข้อมูลหมู่บ้านว่าก่อร่างสร้างชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2454 ปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนในราว 160 ครัวเรือน บอกเล่าประเด็น “ชื่อบ้านนามเมือง” ที่มาจากระบบนิเวศของชุมชนที่เต็มไปด้วย “ป่าโคก” และ “เห็ดไค” ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอุดมไปด้วยเห็ดที่ว่านั้น

 

 

รวมถึงการไล่เรียงชื่อสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เคยสัญจรมาจัดค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งพบว่ามีไม่น้อยกว่า 3-4 แห่ง หนึ่งในนั้นมีชมรมอาสาพัฒนาของ “มมส” ด้วยเหมือนกันและทุกครั้งที่มีค่ายอาสาพัฒนาชาวบ้านจะเข้ามาเป็น “พ่อช่าง-แม่ช่าง” โดยไม่คิดค่าแรงงานใดๆ แม้แต่บาทเดียว นั่นคืออีกหนึ่งคำตอบที่ยืนยันความเป็น “บวร” ของที่นี่ 

 ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ผ่องถ่ายความรู้ว่าด้วย “บริบทโรงเรียน” ได้อย่างครบครัน เป็นต้นว่าประวัติการก่อตั้งโรงเรียน จำนวนนักเรียน (46 คน) ครู (4 คน) ระบบการจัดการเรียนการสอนที่สัมพันธ์กับหมู่บ้าน ซึ่งนักเรียนทั้งหมดล้วนมาจากลูกหลานของบ้านโนนเห็ดไคล้วนๆ เมื่อจบ ป.6 แล้วร้อยทั้งร้อยก็เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมทั้งในเขตพื้นที่อำเภอนาดูนและวาปีปทุม

นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้ามาหานิสิตชาวค่าย ทั้งในมิติของการบรรยายและการชวนคิดชวนคุย เช่น ปัญหาการติดมือถือของเด็กและเยาวชน ทักษะสำคัญๆ ของการเรียนรู้ บทบาทหน้าที่ของนิสิตนักศึกษา สภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมือง จากนั้นจึงเดินเท้าพานิสิตไปดูสถานที่สำคัญๆ ในโรงเรียน


 

 

ผมไม่รู้หรอกว่านิสิตให้ความสำคัญกับเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้แค่ไหน ผมได้แต่หวังว่านิสิตจะเปิดใจรับรู้และเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นบ้าง เพราะมันไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจต่อบริบทของโรงเรียนและหมู่บ้านที่นี่เท่านั้น แต่หมายถึงการกลับไปทบทวนเรื่องราวอันเป็น “ที่บ้านเกิดเมืองนอน” ของนิสิตเอง ประหนึ่งการดูหนังดูละครแล้วย้อนกลับมาดูตัวเองนั่นแหละ

นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมของ “มือใหม่” ที่ “มีใจ” ต่อการเรียนรู้ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร ผ่านค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยโควิด-19 และเปิดใจพัฒนาตนเองและสังคมควบคู่กันไปอย่างไม่ย่อท้อ

ครับ – ไม่ย่อท้อต่อปัญหาในองค์กร ไม่ย่อท้อต่อระบบและกลไกอันจุกจิกหยุมหยิมของราชการ มีความอดทนอดกลั้นต่อแรงเสียดทานต่างๆ ที่ถาโถมจากภายในและภายนอก กล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ บนความเป็นเหตุและผล และที่สำคัญคือการไม่ก้มหัวให้กับโควิด 

ซึ่งต้องมาลุ้นต่อว่าในปีการศึกษา 2564 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น พวกเขาในนามชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์จะยัง “ไปต่อ” หรือ “เข้มแข็ง” ขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน

 



ความเห็น (6)

สำหรับผมการดำเนินกิจกรรมในช่วงโควิด19 ต้องคิดและจัดการหลายๆอย่าง ปรับรูปแบบกิจกรรมต่างๆให้สามารถดำเนินการไปได้ ทั้งนี้ด้วยความที่ทางการชมรมยังเป็นมือใหม่มากๆ การดำเนินการเรื่องเอกสารและติดต่อประสานงานอาจจะมีติดขัดบ้าง แต่ทางตัวแทนและกรรมการบริหารชมรมก็พร้อมจะเรียนรู้และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้การทำงานครั้งต่อไปดีขึ้นไปเรื่อยๆจากกิจกรรมนี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานด้านกิจกรรมและการติดต่อประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อนำโครงการที่จะจัดขึ้นลงไปสู่ชุมชนเป็นการนำงบประมาณและนำบุคลากร นิสิต ลงไปปฏิบัติงานและเรียนรู้ควบคู่กับการทำกิจกรรมไปด้วย

สำหรับผมแล้ว การได้ทำงานในด้านนี้ ก็ทำให้มีประสบการณ์หลายอย่างได้เรียนรู้งานที่ตัวเองไม่เคยทำ ได้เรียนรู้ความผิดพลาดในการทํางาน รู้จักการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่ๆ กลุ่มงานพี่ๆ เจ้าหน้าที่ที่คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษา ต้องขอขอบคุณมากๆครับ

สำหรับตัวหนู ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอทั้งการทำเอกสารสำคัญ เข้าสังคม เรียนรู้ในมหาลัย และเรียนรู้นอกสถานที่ ขอขอบคุณพี่ๆเจ้าหน้าที่ที่คอยสอนให้เห็นถึงปัญหาแนะนำให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาและจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแนะนำน้องๆให้เกิดประโยชน์ ขอบคุณพี่ๆเจ้าหน้าที่ที่ให้ประสบการณ์ในการทำงานค่ะ

ครับ Nattapong Butin

ยอมรับหัวใจของเรามากเลยครับ แม้จะเป็นมือใหม่แต่ก็ “เปิดใจ” เรียนรู้ในสถานการณ์ต่างๆ และมีความพยายามที่จะทำแต่ละอย่างให้สุดกำลังคิดกำลังกายของเราเอง นี่คือคุณสมบัติอันสำคัญของการเป็นนักกิจกรรม หรือ นักเรียนรู้

ฝากด้วยนะครับ ระบบการสื่อสารกันภายในองค์กร หรือแม้แต่การมอบหมายภารกิจกายในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้แต่ละคนสามารถได้รับโอกาสในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเองและร่วมลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นทีม

ส่วนการสื่อสารและทำงานกับชุมชนก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเข้าใจว่าผ่านมาจนถึงตอนนี้แล้ว เราและเพื่อนๆ น่าจะมองเห็นภาพ และเกิดองค์ความรู้ หรือแม้แต่ทักษะว่าด้วยการสื่อสารที่ว่านี้บ้างแล้วกระมังครับ

ครับ ชิตพล เสนาหนอก

การเรียนรู้จากความผิดพลาด จะทำให้เราเติบโตได้เร็วขึ้น นั่นคือความจริงของชีวิต มันคือความจริงทั้งในแง่การเรียน การทำกิจกรรมและการใช้ชีวิตนั่นเองครับ

เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้ที่จะอก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็สำคัญเอามากๆ ตรงนี้คือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่รอดอย่างมีตัวตนและคุณค่าที่เราจะนำไปใช้ในอนาคต โดยเฉพาะอนาคตที่หมายถึงโลกความจริงที่เราจบออกไปทำงาน -

ให้กำลังใจนะครับ

ครับ ศศิวิมล คำหอม

เรื่องเอกสาร ดูจะเป็นเรื่องที่ “น่าเบื่อ” มากสำหรับ “นักกิจกรรม” ยิ่งในเรื่องระบบระเบียบว่าด้วยเรื่องการเงินและพัสดุ มันจุกจิกมาก แต่ก็เชื่อว่าเราเริ่มเข้าใจ และมองเห็นภาพที่ว่านั้น เชื่อเถอะภายภาคหน้า สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเรา โดยเฉพาะเมื่อจบออกไปทำงานในองค์กร หรือหน่วยงานใดๆ สิ่งเหล่านี้ย่อมได้ใช้

หรือแม้แต่ที่บอกสอนก็คือ เอกสารเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการคืนภาษีให้กับสังคมไปในตัวนั่นแหละ

และขอบใจมากๆ ครับที่บอกว่า จะนำความรู้และประสบการณ์จากครั้งนี้ไป “สอนน้อง” เหมือน “สอนงานสร้างทีม” ในชมรม ซึ่งสำคัญมาก ขอให้ใส่ใจต่อการสอนงานนะครับ มันไม่ยากเกินกว่าที่เราจะเรียนรู้และทำได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท