๘๙๗. สัจจะ (Faithful)


สัจจะ (Faithful)

ในสมัยก่อนที่ผู้เขียนได้เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ได้ถูกสอนและให้เรียนรู้ถึงเรื่องของการพูด การกระทำที่ต้องทำจริง เรียกว่า ไม่ว่าการพูดหรือการกระทำต้องมาจากความจริงใจที่ตัวเราได้แสดงออก จะเรียกว่า ปากพูดเช่นไร นั่นคือ ออกมาจากใจที่บอกให้กระทำเช่นนั้น อาจเรียกได้ว่า เป็นคนที่มีความจริงใจต่อตนเอง และผู้อื่น...มา ณ ยุคปัจจุบัน อยากทราบว่า สิ่งที่เรียกว่า สัจจะ (ความจริง) นี้ ยังมีอยู่ในสังคมไทยอยู่หรือไม่...เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า “มันอันตรายมาก สำหรับคนยุคต่อไปในอนาคต ที่พวกคุณต้องมาบริหารบ้านเมือง”...ถ้าหากไม่สร้างให้เกิดกับคนยุคใหม่นี้แล้ว บอกเลยว่า “มันน่ากลัวมาก เพราะจะทำให้สังคมเลวร้ายได้...

การเปรียบเทียบกับคนในยุคก่อน ๆ เรื่อง สัจจะ (คำพูด) คือ คำไหน ก็ต้องคำนั้น มีการรักษาสัจจะ รักษาสัญญาที่ได้พูดไว้ให้กับผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาในการทำงาน ปัญหาสังคมไม่ค่อยมีมากเช่นทุกวันนี้...ซึ่งอาจมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น หรืออาจเกี่ยวเนื่องกับสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยี เราจึงไม่ทราบว่า มันก็มีเพียงแต่การสื่อสารไม่สามารถติดต่อให้ทราบกันก็ได้...แต่สมัยนี้มีเทคโนโลยี จึงทำให้เราทราบสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จึงดูเหมือนกับว่า สังคมปัจจุบันดูแปลก ๆ ทำให้การแสดงความจริงใจต่อกันลดน้อยลง

การมีสัจจะต่อกันนั้น หากได้รับการเรียนรู้แล้ว จากสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา สิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” การมีคำพูดด้วยความจริงใจจะเกิดไม่ได้เลย หากทุกคนไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง...อาจแสดงถึง การมีจิตสำนึกที่ต้องเข้าใจถึงความจริง ที่ตนเองต้องกระทำต่อตนเอง หรือผู้อื่นให้เป็นจริงให้ได้ ทุกเรื่องขึ้นอยู่กับการฝึก นำมาปฏิบัติให้เกิดผลจริง...สัจจะเป็นอีกหนึ่งบารมีของการมีบารมี ๑๐ ขึ้นอยู่กับมนุษย์ทั้งหลายจะเข้าใจ และนำมาปฏิบัติให้เกิดหรือไม่ กับเมื่อได้เกิดมาบนโลกใบนี้แล้ว...หมั่นฝึกให้ได้ และให้เป็น เพราะไม่เช่นนั้น สังคมที่พวกคุณอยู่อาศัยจะไม่มีความจริงใจต่อกัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าสังคมกลุ่มไหน การสร้างอัตลักษณ์ของคำว่า "สัจจะ" นั้นสำคัญมากต่อการดำรงชีพของมนุษย์

สัจจะ หมายถึง ความซื่อ ความสัตย์ หากขยายความ สามารถแยกได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ มีความจริง ความตรง และความแท้ จริง คือ การไม่เล่น ตรง ๆ ได้แก่ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรง ไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง แท้ ไม่เหลวไหล ซึ่งความหมายตรงกันข้ามกับ “อสัจ” ซึ่งหมายถึง ไม่จริง บิดพลิ้ว  ซึ่งในทางปฏิบัติ สัจจะ หมายถึง ความรับผิดชอบ จะทำสิ่งใดแล้ว ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะทำจริง ทำจนสุดความสามารถที่จะให้ได้ผลสำเร็จ การจะทำงานให้สำเร็จได้นั้น ต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน เพราะคนที่มีสัจจะ เป็นพื้นฐาน จะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเต็มความสามารถ ทำอย่างสุดกำลังที่ตนเองทำได้

ลักษณะของสัจจะ มี ๕ ประเภท ได้แก่

๑. สัจจะต่อความดี

  หมายถึง การประพฤติตนเป็นคนที่เที้ยงแท้ มั่นคงต่อความดี ไม่เบี่ยงเบน หันเหไปในทางเลวร้าย หรือชั่วช้า ไม่ว่าจะตกอยู่ในเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ใดก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น การมีสัจจะต่อความดีได้นั้น จะต้องมีความคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแข้ง และเห็นโทษของความชั่วได้อย่างชัดเจน พยายามรักษาความดีในตนไว้ ต้องละกิเลส ๔ อคติ ๔ อบายมุข ๖ และต้องปรับความเห็นของตนให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ (แนวคิดที่ถูกต้อง) ให้ได้

๒. สัจจะต่อหน้าที่

      หมายถึง การที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง โดยใครมีหน้าที่อะไรก็ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้น ๆ ให้ได้ เช่น หน้าที่ของสามี ต้องเลี้ยงครอบครัวให้ดี รักลูก รักเมีย ไม่มีการปันใจให้กับหญิงอื่น มีความจริงใจต่อภรรยาของตนเอง สำหรับภรรยาก็เช่นกัน ทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ผลาญทรัพย์สมบัติ คนเป็นลูกก็ต้องรู้หน้าที่ว่า เป็นลูกมีหน้าที่รักษาชื่อเสียง วงศ์ตระกูลให้ดี ไม่เกเรหรือเป็นอันธพาล ยามพ่อแม่แก่ชรา ก็ต้องเลี้ยงดูท่านเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ท่านได้เลี้ยงมา ใครมีหน้าที่อะไรก็ทุ่มเทไปกับหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ หากทำได้ ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงกระทำต่อหน้าที่ของตนเอง

๓. สัจจะต่อการงาน

          หมายถึง การมีสัจจะต่องาน คือ หากได้รับผิดชอบ กระทำงานใด ๆ แล้ว ก็ต้องทำงานนั้นให้จริงจัง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้น ตามที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ มิให้ขาดตกบกพร่องต่อหน้าที่

สำหรับคนที่ไม่จริงจังต่องาน จะมีอยู่ ๓ ประเภท คือ

๑. พวกที่ทำให้งานเกิดการเสียหาย

๒. พวกที่ทำงานแบบเหลาะแหละ ไม่ตั้งใจทำงาน

๓. พวกที่ทำให้งานเกิดการคั่งค้าง

หากมีคนทั้ง ๓ ประเภทข้างต้น นั่นแสดงถึง ความเสียหายของงานที่จะเกิดขึ้นได้ หรือ เรียกว่า “พวกอู้งาน”...หรือพวกที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ตนเองได้รับผิดชอบ

๔. สัจจะต่อวาจา

          หมายถึง จริงต่อวาจา นั่นคือ เป็นคำพูดของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่น สัจจะต่อวาจามีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องทำให้ได้จริงตามที่พูด

๒. ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น คือ การพูดความจริง เมื่อทำอะไรลงไป ก็ต้องพูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตนเองเสมอ

๕. สัจจะต่อบุคคล

          หมายถึง ต้องจริงต่อบุคคล หมายถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวของเรา คือ มีความจริงต่อบุคคลนั้น ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ประพฤติต่อคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นคนกลับกรอก มีความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นมีความจริงใจต่อเรา ๆ ก็ควรให้ความจริงใจกับเขาด้วย...สัจจะ ขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นกระทำออกไป อย่าหมายรวมว่า เมื่อตัวเราแสดงสัจจะต่อคนอื่นแล้ว เราจะได้ความจริงใจจากผู้อื่นกลับมา ขอเพียงให้คิดว่า เมื่อตัวเรามีความจริงใจต่อเขาไปแล้ว นั่นคือ เราได้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามแล้ว ผลจะเป็นเช่นไรจากผู้อื่น อย่าได้หวัง...แต่สิ่งที่ได้ คือ ตัวเราจะมีจิตใจที่ดีงามต่อการแสดงสัจจะต่อผู้อื่นได้ก็เท่านั้นเอง

****************************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔


หมายเลขบันทึก: 690696เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2021 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2021 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท