สะท้อน clubhouse caring doctor โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์


สะท้อน clubhouse caring doctor โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์

ศ. สุรศักดิ์ ส่งข้อเขียนข้างล่างมาให้    ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงนำมาเผยแพร่  

ระหว่างที่ผมวิ่งออกกำลังกายเช้านี้อยู่ ๆ ความคิดที่อยากเขียนสะท้อนการพูดคุยกลุ่มที่มาร่วมพูดคุยกันเมื่อคืนตามคำเชิญของ อ เบียร์ เพื่อหาคนร่วมทำโครงการ positive health disruptor ที่ อ เบียร์เข้าร่วมกับทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ   หลายครั้งแล้วที่ผมมักมีความคิดผุดขึ้นระหว่างวิ่ง จริง ๆ แล้วควรมีสติกับการวิ่ง แต่เนื่องจาก ผมเป็นพวกชอบทำ multitasking ดังนั้นจะทำสติผ่าน multitasking ก็ไม่เห็นเป็นไร

ก่อนเริ่มกิจกรรมพูดคุยเมื่อคืน ผมมีอาการบ้านหมุนอีกแล้ว ร่างกายคงเตือนผมว่าอย่าไปหมกมุ่นกับเรื่องที่ทำมากเกินไป ผ่อนคลายบ้าง ผมเลยกินยา dimen ไปก่อนการพูดคุย พอถึงเวลาทุ่มนึงผมก็เข้าไปใน zoom ที่ อ เบียร์ส่ง link มาให้ ไหนบอกว่า clubhouse ตอนแรกผมก็นึกว่า clubhouse ใน IOS ของผม android ผมก็เข้าไม่ได้ซิ ผมไม่ชอบ IOS เพราะ iโทสับออกแบบมาค่อนข้างเอาเปรียบลูกค้า (อันนี้เป็น dilemma อันนึงที่คนใช้ IOS อาจโต้เถียงกับผมได้) ผมเยิ่นเย้อออกนอกเรื่องอีกแล้ว

ก่อนที่คนอื่น ๆ จะเข้ามาผมเห็นสีหน้า อ เบียร์มีความกังวลจึงถามไปว่ามีอะไรหรือเปล่า อ เบียร์บอกว่าเพิ่งได้รับสายบอกว่าน้องประสบอุบัติเหตุแต่ไม่เป็นอะไรมาก ผมบอกให้ อ เบียร์แจ้งเลื่อนพูดคุยไปก่อน แต่ อ เบียร์บอกไม่เป็นไร ผมชื่นชมความมุ่งมั่นของ อ เบียร์ที่มีต่องานจริง ๆ หลังเสร็จพูดคุยก็พบว่าน้อง อ เบียร์ไม่เป็นอะไรมากกลับถึงบ้านเรียบร้อยแล้ว เริ่มต้นการพูดคุย อ เบียร์เล่าที่มาที่ไปของการพูดคุยว่ามาจากโครงการ doctor in challenge ที่ อ เบียร์ไปเข้าร่วมโครงการ positive health disruptor ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ระหว่างที่ อ เบียร์เล่านั้นผมง่วงมาก   แอร์เย็น ๆ ที่เป่าลงมาด้านหลังหัวผมทำให้ง่วงมากขึ้นนอกเหนือจากฤทธิ์ยาแก้เวียนหัว

พอ อ เบียร์เล่าจบก็มีคนทยอยเข้าร่วมมาเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับรู้ที่มาที่ไปของโครงการไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว จากนั้น อ เบียร์ให้ อ ที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน อ จูน เริ่มด้วยการบอกถึงความเหนื่อยล้าจากการที่สิ่งที่ตนเองจัดกิจกรรมให้กับ นศพ ไม่ประสบดังใจ เนื่องจาก มีการเลื่อนกิจกรรมดังกล่าวมาจากตารางจริงและมาจัดตอนช่วงใกล้สอบ NL 1 ของ นศ ปี 3 ซึ่งภายหลัง อ จูนได้เล่าเพิ่มเติมถึงการที่มี นศ คนหนึ่งในกิจกรรมนั้นได้มีโอกาสมาจับคู่แลกเปลี่ยนกับ อ จูนในกิจกรรมนั้น นศ คนนั้นถาม อ จูนว่าทำไม อ ถึงจัดกิจกรรมในช่วงที่ควรให้ นศ เตรียม อ หนังสือสอบ NL อ จูนนิ่งอึ้งไปพักนึง ผมนี้นึกในใจว่าหากเป็นผม ๆ คงพูดออกไปด้วยเสียงสั่นเครือ (โมโหปนเสียใจ) ว่าผมรู้สึกเสียใจนะที่เราพูดแบบนี้ จากนั้น อ จูนก็พูดคุยกับ นศ ต่อด้วยอาการสงบ บอกถึงที่มาที่ไปทำไมถึงต้องมาจัดตอนนี้ ฟัง อ จูนเล่าภาพลอยมาในหัวผมเลย โอ้ มันเป็นฉากหนึ่งในหนังหรือ series ที่น่าประทับใจมาก นศ คนนั้นอาจได้หรือไม่ได้อะไรไปจากกิจกรรมนั้น แต่ที่แน่ ๆ นศ คนนั้นได้เรียนรู้ถึงความเป็นคน ๆ หนึ่งของ อ จูนที่ไม่ต่างจาก นศ คนนั้น อ จูนมีความอ่อนโยน รับฟัง นศ สิ่งที่ อ จูน ต้องการจะส่งต่อสิ่งที่ อ จูน ทำให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป สิ่งที่ อ จูนทำวันนั้นเป็นการส่งต่อในรูปแบบหนึ่ง ผมฟัง อ จูนเล่าเรื่องนี้ความคิดผมก็โลดแล่นไปนึกถึงวันแรกที่ผมได้ฟังเรื่องเล่าของ อ จูน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวดอนเมืองที่กลุ่ม transformative learning จัดเพื่อให้ อ จากสถาบันต่าง ๆ ได้มาเล่าเรื่องดี ๆ ที่ตนเองทำ ในวันนั้น อ จูนเล่าเรื่องที่ อ ทำกับ นศ โดยอาศัยกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาอย่างไรผมจำไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมจำได้ถึงปัจจุบันคือเรื่องเล่าที่มาที่ไปที่ อ จูนทำเรื่องนี้มาจากการที่ อ จูนทำให้คุณพ่อคุณแม่ ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้วแต่ประทับใจมาก หลังคุยเมื่อคืนก็เห็น FB อ จูน เขียนว่าเมื่อกลางวันเมื่อวาน อ จูนได้จัดกิจกรรมโดยได้เชิญคุณพ่อคุณแม่มาร่วมสังเกตด้วย น่าประทับใจมาก โอ้ หากผมเขียนถึง อ จูน มากกว่า อ คนอื่น ๆ ที่ผมจะเขียนต่อไปอย่าน้อยใจนะครับ

ต่อไปนี้จะไม่ได้เขียนตามลำดับคนพูดแล้ว เพราะ ผมจำไม่ได้ อ ต่าย เล่าว่าชอบโครงการที่ อ เบียร์ทำ และเห็นว่ามีโอกาสสำเร็จสูง เนื่องจาก กิจกรรมเหล่านี้ (จิตตปัญญา ผมไม่อยากใช้คำนี้เลย เพราะ มีคนหลายคนไม่ชอบ) กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น สังเกตหลังจาก อ ต่ายจบจิตตปัญญาศึกษามา 10 ปี มีช่วงหลังนี้ที่ได้รับเชิญไปเป็นกระบวนกรจัดกิจกรรมให้กับหลายกลุ่มหลายเรื่อง เนื่องจาก ผู้คนในปัจจุบันโหยหา (อันนี้ผมเขียนเว่อร์เองเข้าไว้) การพูดคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ถึงแม้เมื่อคืน อ ต่ายจะเสียงแหบแต่การพูดมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม ผมเจอ อ ต่ายครั้งแรกตอนที่ผมไปเยี่ยมชมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มแพทย์ของ รพศ ขอนแก่นที่ได้รับทุนจาก สสส เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นก็เห็นความมีชีวิตชีวาของ อ ต่าย ซึ่งหากดูเผิน ๆ จะคิดว่าคนอะไรดูเว่อร์วังอลังการ แต่แฝงไว้ด้วยความตั้งใจที่ดี มาเจอ อ ต่ายอีกครั้งตอนกลุ่ม transformative learning ไปร่วมแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ของ รพศ ขอนแก่น ผมอุทานกับตัวเองในใจว่า เฮ้ย อ ต่ายนี่ upskill ไปมากมีการไปทำงานร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากวิชาชีพสุขภาพ    มาเมื่อคืน อ ต่ายก้าวไปอีกขั้นนึงความมีชีวิตชีวายังคงอยู่ แต่เพิ่มเติมคือความสุขุมนุ่มลึกมากขึ้น เอ หรือเพราะจะเป็นเพราะเสียงแหบเลยพูดไม่ได้มาก นี่ขนาดพูดไม่ได้มากแล้วนะ

พี่อั้นของผมฟังทีไรประทับใจทุกที แต่ไม่วายชอบมาแกล้งผม verbal abuse ผมด้วยการบอกว่าผมรุ่นเดียวกับพี่อั้น ผมเทียบรุ่นพี่อั้นไม่ได้หรอกครับ ผมยังต้องเรียนรู้จากพี่อั้นอีกเยอะ ถึงพี่อั้นเกษียณแล้ว (คนอะไรเกษียณแล้วยังดูไม่แก่ พี่อย่าลืมเลี้ยงหนมผมที่ตลาดเซฟวันเวลาผมไปโคราชด้วยนะครับ) พี่อั้นยังเดินทางโคราชกรุงเทพอยู่เป็นประจำเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำกับ อ มหิดลที่สอน นศพ โคราช พี่อั้นพูดถึงประเด็นน่าสนใจ ผมอาจจำคำพูดจริง ๆ ไม่ได้ หรือผมอาจแปลงสารตามที่ผมอยากแปลงว่า การที่เราเปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยระหว่างคนต่างวัยโดยเฉพาะนักศึกษาจะทำให้เกิดการเปิดใจและรับฟังซึ่งกันและกันเกิดการขยับขับเคลื่อนมุมมองของกันและกัน โหโคตรเท่ห์เลยพี่เรา

คุณร่มจากมะขามป้อม ตอนแรกพอได้ยินว่ามาจากมะขามป้อม อคติในใจผมก็เริ่มก่อกำเนิดขึ้น   ผมไม่ชอบมะขามป้อมเพราะผมไม่ชอบเล่นละครชอบแต่ดู อย่าน้อยใจผมนะ แต่พอฟังที่คุณร่มพูดแล้วโอ้โหผมอยากตบกะโหลกผมเลย คุณร่มพูดหลายประเด็น แต่ประเด็นที่ผมชอบคือเรื่อง (ผมตึงคอเลยแวะไปนอกนพักแป๊บนึงและเพื่อรื้อความทรงจำว่าเรื่องอะไรนะที่ผมชอบ) กิจกรรมจิตตปัญญาที่เราจัดถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้เข้าร่วม และการพูดคุยกันระหว่างคนต่างวัยเป็นการที่คนวัยเก๋าได้เรียนรู้โลกปัจจุบันที่ตนเองไม่เคยประสบก่อนแต่สำหรับคนวัยหนุ่มสาวโลกใบนี้เป็นโลกปัจจุบันที่เขาและเธอได้พบเห็นมาตั้งแต่เกิด    ที่ผมชอบเพราะผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเวลาเราจัดกิจกรรมอะไรก็ตามให้กับ นศ ไม่ใช่แค่จิตตปัญญา บ่อยครั้งที่เราบังคับเขาและเธอเพียงแค่ว่าเราจัดกิจกรรมในรายวิชาในหลักสูตร แต่จริง ๆ แล้ว นศ อาจไม่อยากร่วมกิจกรรมเหล่านั้นเลยแต่ก็ต้องเข้า ผมเลยขอแทรกประเด็นกิจกรรมจิตตปัญญาตรงนี้เลยนะกันครับ ตอนแรกว่าจะเขียนไว้ตอนหลัง อ่านแล้วอย่าโกรธกันนะ ผมเห็นว่าทำไมเราต้องมีกิจกรรมมากมายเพื่อให้ นศ ได้เรียนรู้เรื่องที่เราอยากให้เรียนรู้ แค่การพูดคุยรับฟังกันแบบที่ อ จูน ทำกับ นศ คนนั้น แบบที่ อ ต่ายเล่าให้ฟังไม่ได้หรือ อันนี้ผมขอมโนล้วน ๆ เลยว่าจริง ๆ แล้วพวกเราทุกคนต่างก็มีความกลัวเป็นของตนเอง อาจารย์ที่สอนหนังสือด้วยการบรรยายก็มีความกลัวว่า นศ จะได้ความรู้ไม่ครบ   อาจารย์ที่ชอบกินหัวเด็กก็กลัวว่า นศ จะไม่ได้ดิบได้ดี   และเนื่องจาก อ เหล่านั้นอาจไม่เคยพบประสบการณ์ให้เด็กได้ดิบได้ดีวิธีอื่น ๆ มาก่อนจึงใช้วิธีที่ตนเองคุ้นชิน   ขอออกนอกเรื่องนิดนึงก่อนลืมว่าทำไมเราถึงต้องไปคาดหวังให้เด็กได้ดิบได้ดี ความคาดหวังที่เรามีต่อคนอื่นจะส่งผลต่อคนเหล่านั้นโดยเฉพาะเมื่อเขาและเธอเหล่านั้นให้ความเคารพเราซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อตัวเด็ก  นอกเรื่องไปอีกขั้น   ความคาดหวังกับคนอื่นอาจไม่สร้างความกดดันเท่ากับความคาดหวังต่อตัวเอง (โหคิดไปได้ยังงัยเนี่ย)   และกลุ่มเราที่ใช้กิจกรรมจิตตปัญญานั้นก็เพราะเราเชื่อมั่น (ผมไม่อยากใช้คำว่ายึดมั่น เพราะ ผมเชื่อว่าต่อไปพวกเราก็จะก้าวผ่านไปได้) และเราก็กลัวว่าหากไม่มีกิจกรรมอาจตัวเปล่าเล่าเปลือยเกินไป   แต่ตรงนี้ผมอยากท้าทายว่าต่อไปในอนาคตเราคงจัดกิจกรรมโดยไม่ต้องเตรียมกิจกรรมย่อยมากมายอะไรให้ผู้เข้าร่วมได้ทำ แค่ไปนั่งคุยรับฟังกันไปมาก็พอ (ถึงขั้นกระบี่อยู่ที่ใจ) อีกเรื่องที่ผมชอบที่บอกไปเกี่ยวกับการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัยนั้น คุณร่มแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ควรที่คนวัยสูงกว่าจะหวังให้คนวัยน้อยกว่าได้เรียนรู้จากเขาและเธอ จริง ๆ แล้วคนวัยสูงกว่าควรเปิดใจเรียนรู้จากคนวัยต่ำกว่าด้วย

อ นกบอกว่าไม่รู้ว่า อ เบียร์จะทำเรื่องอะไรแต่พอเห็น อ เบียร์ชวนก็เข้าร่วมด้วยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผมพบ อ นกครั้งแรกตอนไปช่วยกันทำเกี่ยวกับหนังสือวิจัยแพทยศาสตรศึกษา อ นก เป็นคนที่มีความตั้งใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ทำ เห็นได้จากกิจกรรม save ผอ ที่ผ่านมา อ นก เป็นแบบอย่างของคนที่ so real คิดอย่างไรพูดอย่างนั้นแต่ก็รับฟังคนอื่นด้วย

อ เปา เป็นใครมาจากไหนผมไม่เคยคิด อ้อ ไม่ใช่ ผมไม่รู้ แต่เปิดประเด็นน่าสนใจมาก เวลาคนเราทำอะไรดี ๆ แต่ไม่มีช่องทางให้แลกเปลี่ยนพูดคุยเล่าเรื่องราวนั้น ทำให้ผมอยากฟังเลยว่า อ เปาทำอะไร แต่เมื่อคืนผมแค่พูดว่าหากไม่มีใครคุยด้วยก็คุยกับตนเอง อ เปาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนสิ่งที่ผมพูดกับตนเองอันนี้ออกมา แต่ที่ผมลืมพูดไปก็คือ อ เปาอาจหาคนใกล้ ๆ ตัว (กัลยาณมิตร) บอกเขาหรือเธอว่ามีเรื่องอยากเล่า อีกมุมมองหนึ่งเรื่องทำความดี ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของพี่สุรจิต สุนทรธรรมเกี่ยวกับเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ว่ามันเป็นเรื่องจริง   พี่สุรจิตอธิบายว่าพอเราทำเรื่องดี ๆ มันก็เกิดเรื่องดี ๆ ขึ้นแล้ว (เป็น output) ไม่ต้องไปคาดหวังถึง outcome และ impact หากมันเกิดได้ก็ดี   สำหรับทำเรื่องชั่ว ๆ พอทำปุ๊บก็เกิดเรื่องชั่วขึ้นมาทันทีเช่นกัน สำหรับการทำความดีพอทำแล้วเรารู้สึกดีแค่นั้นก็เป็นสุขแล้วมิใช่หรือ

ผมตกหล่นใครหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมขี้เกียจเขียนต่อแล้ว หิวข้าว สิ่งที่สรุปกันเมื่อคืนก็คือ นอกจากเราจะทำโครงการนี้เพื่อแพทย์ใหม่ ๆ แล้ว เรายังได้ทำเพื่อทีมงานอาจารย์ที่มาร่วมกันทำโครงการนี้ด้วย   เมื่อคืน 2 ชั่วโมงถือว่าคุ้มค่ามากได้เยียวยาและรับการเยียวยา อันนี้ผมได้เรียนรู้จาก อ นิวที่จัดกิจกรรมให้ นศ ปี 2 ที่ มธ เวลาที่เราให้แก่คนอื่นเราก็เป็นคนรับไปด้วยพร้อมกัน

ขอบคุณครับ.

หมายเลขบันทึก: 689754เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2021 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2021 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท