ข้อสังเกตเรื่องบัตรเขย่งท้องถิ่น


ข้อสังเกตเรื่องบัตรเขย่งท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 (08.00-17.00 น.)

ค่อยๆ อ่าน ยาวนิด เพราะอาจเข้าใจยากสักนิด ผู้เขียนได้เขียนไว้เมื่อ 23 มีนาคม 2564 เผยแพร่ในกลุ่มปิดเฟซบุ๊ก

ให้อ่านบทความสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ที่ admin เขียนไว้เมื่อสองปีก่อน (2562) ด้วย กรณีเมื่อครั้งการเลือกตั้ง สส. (24 มีนาคม 2562) เรื่องบัตรเขย่ง ลองอ่าน แต่มันจะไม่เหมือนกันกับ กรณีบัตรเขย่งของท้องถิ่น แต่หลักการก็คล้ายๆ กัน คือ

บัตรเขย่ง หมายถึง “ยอดบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้งต้องมียอดที่ตรงกับยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้งไปจาก กปน.” สรุปคือ ยอดบัตรเลือกตั้งห้ามขาดหาย หรือเกินจำนวน

(1) เนื่องจากการเลือกตั้ง สส. กาลงคะแนนได้เพียงคนเดียว (เขตเลือกตั้งละ 1 คน) ดูยอดจากแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/7 (รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง) จะไม่มีบัตรเขย่งหรือตรวจสอบบัตรเขย่งได้ง่าย เพราะ “ยอดบัตรเสีย/บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดและบัตรดี (ยอดคะแนนรวมของผู้สมัครทุกคนที่ได้) จะเท่าพอดีกับยอดบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้ง” ส่วนการเลือกตั้ง สท. ที่มีเขตเลือกตั้งเขตหนึ่งมากกว่า 1 คน (สท. เขตเลือกตั้งเลือกได้ 6 คน) จะเอายอดคะแนนรวมของผู้สมัครทุกคนมารวมกันเพื่อตรวจสอบยอดจำนวนบัตรดีไม่ได้

(2) ปัญหาบัตรเขย่งในการเลือกตั้ง ส.อบจ. และ นายก อบจ. ครั้งที่ผ่านมา (20 ธันวาคม 2563) ต่างจากการเลือกตั้ง สส. (24 มีนาคม 2562) เพราะการเลือกตั้ง สส. มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และมีการลงคะแนนต่างประเทศ และแม้ว่า จะเลือก อบจ.ได้เขตละ 1 คนเหมือนกับ สส. ก็ตาม แต่เขตเลือกตั้งของนายก อบจ. จะใหญ่มากกว่า คือ ใหญ่ทั้งจังหวัด อาจทำให้ยอดรวมตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/7 รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง “มั่วได้” คือ “ยอดบัตรเลือกตั้งขาดหาย” หรือ “ยอดจำนวนบัตรเสีย/บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด และบัตรดีรวมกันไม่เท่ากับยอดผู้ที่มาแสดงตนขอรับบัตร” (คือยอดบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้ง)

(3) กรณียอดบัตรเลือกตั้งขาดหายไปไม่ตรงยอดผู้มาแสดงตนรับบัตร (ยอดจ่ายบัตรมากกว่ายอดผู้มาใช้สิทธิลงชื่อในบัญชี ส.ถ./ผ.ถ. 1/5) เนื่องจาก กปน. ให้ผู้มาแสดงตนลงชื่อในบัญชี ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 “มั่ว” สับสน ประมาทเลินเล่อ อาทิเช่น ผู้ที่มาแสดงตนรับบัตรไปไม่ได้ลงชื่อ เพราะ จนท.กปน. ลืมให้ลงชื่อ หรือไม่ลงชื่อ หรือ ลงชื่อผิดช่อง หรือ พิมพ์ลายมือชื่อทับซ้อนของคนอื่นแล้วไม่เขียนชื่อกำกับไว้ ทำให้เวลานับผู้มาแสดงตนขอรับบัตรจากบัญชี ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 ยอดนับจึงผิดไป ทำให้เหมือนว่า “มีผู้มาลงคะแนนเกินกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่จ่ายไป” (มั่วเพราะเช็คจำนวนคนมาแสดงตนจากบัญชี ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 ผิดพลาด ยอดขาดหายไป)

(4) กรณีที่บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มาแสดงตนอีกกรณี คือ “ยอดผู้ที่มาแสดงตนใช้สิทธิน้อยกว่ายอดบัตรที่ กปน.จ่ายไป” (จ่ายบัตรเกินไป) เช่น การจงใจของ กปน. แจกบัตรให้ผู้เลือกตั้งคนเดียว 2 บัตร กรณีนี้คือการทุจริตของ กปน. ซึ่งในระบบปัจจุบันที่เป็นจริงสมัยนี้ไม่มีแล้ว (ไม่มีใครกล้าทำ)

(5) กรณีที่ยอดบัตรเลือกตั้งเกินจำนวนมา เช่น กปน.ปล่อยปละให้ผู้เลือกตั้งนำบัตรปลอมมาหย่อนในหีบบัตรมากกว่า 1 บัตร (ทำให้จำนวนบัตรที่นับมีมากกว่าบัตรที่จ่ายไป ยอดนับจึงมั่วไม่ตรงกัน) กรณีนี้คือการทุจริตของ ผู้เลือกตั้ง โดย จนท.กปน.อาจรู้เห็นเป็นใจด้วย ซึ่งในระบบปัจจุบันที่เป็นจริงสมัยนี้ไม่มีแล้ว (ไม่มีใครกล้าทำ)

(6) กรณียอดบัตรเลือกตั้งขาดหายไป ยอดผู้ลงชื่อในบัญชี ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 (เท่ากับยอดบัตรที่จ่ายไป) มียอดมากกว่าบัตรเสีย/บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดและบัตรดี ซึ่งเกิดจากกรณีที่ผู้เลือกตั้งไม่ได้เอาบัตรไปหย่อนลงในหีบ แต่ลักลอบนำบัตรเลือกตั้งออกไป จะด้วยความจงใจ ความมั่ว หรือ เจตนาก็ตาม กรณีนี้ สมัยก่อนโน้นเป็นช่องทางในการ “เวียนเทียนบัตร” ได้ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(7) ส่วนกรณีที่ กปน. ได้เพิ่มชื่อใหม่แก่ผู้เลือกตั้งในวันเลือกตั้งฯ แต่ กปน.ไม่ได้รายการงานเพิ่มชื่อผู้เลือกตั้งของ "กปน. หรือ เจ้าหน้าที่อื่นฯ" เช่น ตำรวจ อส. รปภ. ที่มาปฏิบัติหน้าที่นอกหน่วยเลือกตั้งที่มีชื่อ กล่าวคือ ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง เช่น นอกเขต ส.อบจ. แต่ยังคงอยู่ในจังหวัดนั้น กรณีนี้จะเพิ่มชื่อเลือกนายก อบต. ได้ หรือ อาจจะรายงานการขอเพิ่มชื่อแล้วก็ได้ แต่เนื่องจากเขตเลือกตั้ง นายก อบจ. ใหญ่มาก ทำให้เอกสารการรายงานนี้ขาดตกบกพร่อง หรือตกหล่น หรืออื่นใด คือ กปน.หรือ จนท.อื่นขอเพิ่มชื่อผู้เลือกตั้งตาม แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/7 (คำร้องขอเพิ่มชื่อ/ถอนชื่อ) กปน. ประธาน กปน.ได้เขียนเพิ่มชื่อในแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 (บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) และ กปน. บันทึกรายงานในแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/3 (รายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง) ในกรณีเช่นนี้ หากทำตามขั้นตอนถูกต้องก็ไม่มีปัญหาใด เพราะ กปน. ไม่ต้องไปแก้ไขจำนวนยอดบัญชีผู้เลือกตั้ง แต่หาก กปน.ทำเอกสารไม่ถูก หรือไม่มีรายงานไว้เป็นหลักฐาน หากมีความผิดพลาดที่ต้องตรวจสอบยอดผู้มาใช้สิทธิ(คือยอดบัตรที่จ่ายไป) ในภายหลัง อาจตรวจสอบจากเอกสารได้ยาก เพราะ เอกสารทำไว้ไม่ครบ หรือไม่ถูกต้อง

ข้อสังเกต

(1) ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น จนท.ตำรวจ มีชื่ออยู่ ท้องที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา แต่ ถูกส่งตัวไป รปภ.การเลือกตั้งที่ อ.วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา กรณีเช่นนี้ จนท.ตำรวจจะยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/7 ที่ กปน.หน่วยเลือกตั้ง ที่ตนเองมา รปภ.ที่ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งอยู่คนละซีกจังหวัด กปน.อ.วังน้ำเขียว ก็ต้องเพิ่มชื่อผู้เลือกตั้งนายก อบจ. บัญชีเลือกตั้งตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 ให้แก่ จนท.ตำรวจคนนี้ (เลือก นายก อบจ.ได้ แต่เลือก ส.อบจ.ที่หน่วยไม่ได้) เสร็จแล้ว กปน.หน่วย อ.วังน้ำเขียวจะต้องรายงานเหตุการณ์การเพิ่มชื่อตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/3 ไว้เป็นหลักฐานด้วย ตรงจุดนี้อาจมีปัญหาในการตรวจสอบยอดผู้มาใช้สิทธิ (คือยอดบัตรที่จ่ายไป) ในภายหลัง หากการรายงานขาดตอน หรือหล่นหาย หรือ ไม่มีรายงาน ไม่ได้รายงาน จะเกิดบัตรเขย่งทันที ตรวจสอบยากมากๆ เพราะ เขตเลือกตั้ง อบจ.จะใหญ่มาก คือทั้งจังหวัด ที่มีหน่วยเลือกตั้ง เป็นร้อยๆ พันๆ หน่วย การตรวจสอบอาจยุ่งยากมาก หากมีการขอเพิ่มชื่อเลือกตั้งเช่นนี้หลายๆ ราย เช่นจังหวัดนครราชสีมาที่มีถึง 32 อำเภอ เขตเลือกตั้ง 48 เขต หน่วยเลือกตั้ง กปน. จำนวน 4,475 หน่วยเลือกตั้ง

(2) ส่วนการเลือกตั้ง สส. นั้นเขตเลือกตั้งจะเล็กกว่า เขตเลือกตั้งนายก อบจ.มาก ปัญหาเช่นนี้ในการเลือกตั้ง สส. จึงมีน้อย หรือไม่มี เพราะ เขตเลือกตั้งเล็กกว่า และมีการสื่อสารด่วนถึงหน่วยเลือกตั้งที่ กปน.หรือ จนท.อื่น (ตำรวจ อส.) ขอเพิ่มชื่อและหน่วยที่ต้องหมายเหตุว่า “ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วที่หน่วยใด” เพราะ จะใช้เป็นหลักฐานในการจัดทำบัญชีผู้เลือกตั้งที่ไม่ไปลงคะแนนและไม่แจ้งเหตุจำเป็นฯ (บัญชีเสียสิทธิเลือกตั้ง) แต่ในกรณีของการเลือกตั้ง อบจ. นั้น หากมีการเลือกทั้งนายก และ ส.อบจ. ตรงนี้ไม่มีปัญหา กปน.ทั้ง 2 หน่วยประสานแจ้งแก้ไขเพิ่มชื่อบัญชีเลือกตั้งและหมายเหตุการไปใช้สิทธิหน่วยอื่นได้โดยตรง เพราะ มีชื่อเพิ่มชื่ออยู่ในเขต ส.อบจ.เดียวกัน แต่กรณีที่มีการเลือกตั้งนายก อบต. เพียงอย่างเดียว (ได้บัตรใบเดียว) กรณีเช่นนี้ ผู้เลือกตั้งต้องไปแจ้งเหตุจำเป็นว่าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย ซึ่ง คหสต.ผู้เขียนไม่เห็นพ้องด้วย แต่พอมาดูขั้นตอนกระบวนการทางธุรการในการหมายเหตุบัญชี (ทำบัญชีผู้ไม่ไปเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุหรือบัญชีผู้เสียสิทธิ) กรณีที่อยู่ต่างเขตเลือกตั้ง ส.อบจ.กัน ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น ก็พบความยุ่งยากขั้นตอนทางธุรการ เช่น การสื่อสารติดต่อที่ห่างไกลกัน ทำให้ยุ่งยาก เช่น กรณี เขต ส.อบจ.ที่ อ.บัวใหญ่ และ อ.วังน้ำเขียวที่ห่างไกลกันมาก กว่า 200 กม. เป็นต้น

(3) กรณีเลือกตั้ง สส. เมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จนท.ที่ไปปฏิบัติงานนอกเขตเลือกตั้ง (นอกเขตที่ตนไปปฏิบัติงาน เพราะ คนละเขตกัน) จะไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ แต่ในกรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ เขตเลือกตั้งของ นายก อบจ. และ นายก กทม. จะใหญ่มาก ๆ ใหญ่กว่าเขตเลือกตั้ง สส.มาก นอกจากนี้ การเลือกตั้ง สส. ยังมีการเลือกตั้งต่างประเทศอีกด้วย แต่เลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี

(4) พึงระวังเหตุการณ์กรณีดังกล่าวข้างต้นเช่นนี้อาจมีโอกาสเกิดได้บ้างก็ได้ แต่คิดว่า หาก กปน. ทุกคนรอบคอบ ทำงานตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย คงไม่เกิดเหตุดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด เช่นกรณี เลือกนายก อบจ. ครั้งที่ผ่านมา คือในกรณีของ “การเลือกตั้งเทศบาล” อาจเกิดได้ในเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร เพราะมีหน่วยเลือกตั้งเยอะ หรือมีหลายเขตเลือกตั้ง คาดว่า ในกรณีของ จนท.ตำรวจ อส. รปภ. อสม. แต่คิดว่ามีจำนวนไม่มาก อาจมีเพียง 1-5 ราย หาก ผอ.กกต.เข้มงวดตรวจสอบการแต่งตั้ง กปน. และ จนท.รปภ. รวม อสม. ตรงจุดนี้ดีๆ อาจไม่มีปัญหา หรือ อาจจะมีบ้างเล็กน้อยที่แก้ไขได้ เพราะได้ระวังไว้ก่อนแล้ว แต่ก็อย่าชะล่าใจ อย่าประมาท

ด้วยความห่วงใยจริงๆ

อ้างอิง :

[1] ตัวอย่างประกาศ กกต. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.อบจ.นครราชสีมา 2563, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/076/T_0084.PDF 

[2] แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/7 คำร้องขอเพิ่มชื่อ/ถอนชื่อ

แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 1/5 บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/3 รายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง

แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/7 รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง
แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/7 (น) รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (กรณีนับคะแนนเลือกตั้งใหม่)
แบบ ส.ถ./ผ.ถ. 5/8 ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง

ข้อ 149 วรรคสอง "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ โดยไม่ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่หน่วยเลือกตั้งที่ตนปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง"

ข้อ 150 เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรเลือกตั้งแล้ว ให้ไปยังคูหาลงคะแนนเพื่อทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่จะพึงมีในแต่ละเขตเลือกตั้ง และนำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองต่อหน้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

ข้อ 165 วรรคสอง "ในกรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ได้แก่ บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดและบัตรเสีย ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบ ถ้าจำนวนบัตรเลือกตั้งยังไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก ให้รายงานพร้อมเหตุผลของการนับคะแนนเลือกตั้งที่ไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามลำดับ พื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น และนำส่งหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย"

ดู 

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 137 ก วันที่ 17 ธันวาคม 2562 หน้า 1-74, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20191224111455.pdf 

& ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 9 ก วันที่ 30 มกราคม 2563 หน้า 17-18, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/009/T_0017.PDF 

[3] พึงระวังบัตรเขย่งอาจได้ลงคะแนนใหม่ ตามระเบียบข้อ 1ุ65 วรรคสอง
#แนวทางรายงานข้อเท็จจริงกรณีปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรง กับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียง
หนังสือ กกต. ที่ ลต 0012/ว 550 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2564 เรื่อง แนวทางการรายงานข้อเท็จจริงกรณีปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน

[4] ควันหลงการเลือกตั้งว่าด้วยบัตรเขย่ง, ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 5 เมษายน 2562, 
https://www.gotoknow.org/posts/660937 

หมายเลขบันทึก: 689735เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2021 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2021 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท