ธนาคารความดี จุดเริ่มระบบเครดิตสังคม (Social Credit System : SCS)


ธนาคารความดี จุดเริ่มระบบเครดิตสังคม (Social Credit System : SCS) 

จุดเริ่มระบบเครดิตสังคม (Social Credit System : SCS) 
       สภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนได้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาทางด้านสังคมควบคู่ไปกับทางด้านเศรษฐกิจ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการกำกับดูแลให้เป็นสังคมที่โปร่งใส มีการทำธุรกิจที่เป็นธรรม ป้องกันการฉ้อฉลและการรับสินบน จัดระเบียบสังคม ปรับพฤติกรรมประชาชนในประเทศ เพิ่มความมีระเบียบวินัย อาทิ การไม่ส่งเสียงดัง การเข้าแถวไม่แซงคิว การรักษาความสะอาด และมารยาททางสังคม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ และผลักดันประเทศไปสู่ระดับสากลนั้น การจะการใช้วิธีอบรมและปลูกฝังอุปนิสัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชากรชาวจีนซึ่งมีมากกว่าพันล้านนั้นไม่สามารถทำได้ในระยะเวลารวดเร็ว เครื่องมือที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ คือ ระบบเครดิตทางสังคม “The Social Credit System (SCS)” เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ และใช้ข้อมูลเครดิตของบุคคลในการสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกลไกการสร้างแรงจูงใจโดยการให้รางวัลและการลงโทษ เพื่อยกระดับเครดิตโดยรวมของสังคมให้ดีขึ้น ระบบเครดิตทางสังคม (The Social Credit System) ประกาศใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2557 ยึดหลักการ 4 ประการ คือ 1) ความซื่อสัตย์ในการบริหารงานของรัฐบาล (Honesty in government affairs) 2) ความซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจ (Commercial integrity) 3) ความซื่อสัตย์ของสังคม (Societal integrity) และ 4) ความน่าเชื่อถือของตุลาการ (Judicial credibility) แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ในระยะแรกของโครงการ (ปี 2557 – 2563) ได้กำหนดพื้นที่ทดลองกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ 12 เมือง เพื่อนำประเด็นปัญหาอุปสรรคที่พบในพื้นที่ทดลองไปปรับปรุง และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงข้อมูล Big Data เพื่อแบ่งปันข้อมูลเครดิตเป็นการสาธารณะ กระบวนการรายงาน และตรวจสอบข้อมูลเครดิต ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2560 : 1) ซึ่งรัฐบาลจีนได้ออกร่างแผนสำหรับการสร้างระบบเครดิตสังคม หรือ Social Credit System (SCS) ในปี 2557 (2014) กำหนดให้ภายในปี 2563 (2020) ระบบเครดิตทางสังคมจะเปลี่ยนชีวิตของทุกคนโดยพื้นฐานชองพลเมืองจีน. โดยพลเมืองจีนแต่ละคนจะได้รับคะแนนที่จากพฤติกรรมความซื่อสัตย์ คะแนนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิต เช่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์พิเศษในเช่าแฟลต หรือซื้อตั๋วเครื่องบินหรือได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและบริการของรัฐ (Daithí Mac Síthigh and Mathias Siems, 2019 : p. 1)

     การสร้างความไว้วางใจในระบบนี้ พลเมืองจีนจะต้องเข้าร่วมในระบบที่จัดอันดับพฤติกรรมและทัศนคติทางสังคม ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแม้จะมีสัญญาณว่าระบบนี้จะถูกนำไปใช้เป็นวงกว้างทั่วประเทศ แต่ดูเหมือนว่าชาวจีนจำนวนมากจะสนับสนุนแนวคิดนี้ ในหลายประเทศ "ความน่าเชื่อถือทางการเงิน" (Financial creditworthiness) อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือการทำธุรกิจประเภทอื่น ๆ แต่ระบบ Social Credit ที่รัฐบาลจีนเสนอให้ใช้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2563 (2020) นั้น จะมีผลต่อประชาชนมากกว่านั้น โดยจะจัดอันดับบุคคลตามเกณฑ์ชี้วัดที่ทางการเรียกว่า "ความน่าไว้วางใจ" (trustworthiness) ระบบนี้ยังครอบคลุมไปถึงบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ด้วย ประเด็นสำคัญของระบบนี้คือ รัฐบาลมุ่งเป้าที่จะประเมินระดับความน่าไว้วางใจทางสังคมจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ตั้งแต่สินค้าที่ประชาชนซื้อ ไปจนถึงพฤติกรรมทางสังคมหรือแม้แต่ทางการเมือง หากประชาชนละเมิด "ความไว้วางใจ" เช่น การสูบบุหรี่ในพื้นที่ต้องห้าม หรือชำระภาษีล่าช้า บุคคลเหล่านี้จะถูกตัดคะแนน ในทางกลับกัน ประชาชนจะได้คะแนนเพิ่มหากทำความดี เช่น การทำงานเพื่อการกุศล ในทางปฏิบัติ ระบบคะแนนนี้จะอยู่ในรูปของ"บัญชีดำ" สำหรับผู้มีคะแนนเป็นลบ และ "บัญชีแดง" สำหรับผู้มีคะแนนเป็นบวก ระบบนี้เริ่มใช้ในเมืองหรงเฉิง มณฑลชานตง ทางภาคตะวันออกของจีนแล้ว โดยประชาชนจะได้รับคะแนน 1,000 คะแนน ซึ่งสามารถเพิ่มหรือลดได้ตามกิจกรรมที่ทำ เช่น จะถูกตัดคะแนนหากได้ใบสั่งเพราะทำผิดกฎจราจร หรือจะได้คะแนนเพิ่มหากให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ด้อยโอกาส เมื่อปีที่แล้ว ศาลประชาชนสูงสุด (Supreme People's Court) ของจีน ระบุว่า มีพลเมืองราว 6.15 ล้านคน ถูกห้ามไม่ให้โดยสารเครื่องบินจากการกระทำผิดทางสังคม ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขามีประวัติการก่อปัญหาในการเดินทางด้วยเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังอาจมาจากการที่พวกเขากระทำผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการก่อการร้าย, ใช้ตั๋วที่หมดอายุ หรือสูบบุหรี่ในสถานที่ต้องห้าม (บีบีซีนิวส์, 2561 : ออนไลน์)

           การจัดคะแนนความน่าเชื่อถือผู้บริโภคนี่เป็นโครงการของภาคเอกชนที่เริ่มใช้แล้ว โดยทางการให้ใบอนุญาต 8 บริษัทในการประเมินคะแนนความน่าไว้วางใจและคุณสมบัติอื่น ๆ หนึ่งในบริษัทเหล่านี้ คือ Sesame Credit ธุรกิจในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ซึ่งมีระบบสำหรับสมาชิกที่สมัครใจ โดยผู้ใช้ระบบนี้จะได้แต้มเพิ่มหากซื้อสินค้าสำหรับครอบครัว เช่น ผ้าอ้อมเด็ก หรือชวนเพื่อนมาเป็นสมาชิก แต่หากซื้อสินค้าบางประเภทเช่น วิดีโอเกม ก็อาจถูกตัดแต้มได้ หากลูกค้ามีคะแนนสะสมสูงก็จะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น หากใช้บริหารหาคู่ Baihe.com โปรไฟล์ของบุคคลนั้นก็จะปรากฏให้ผู้ใช้งานคนอื่นได้เห็นมากขึ้น หากลูกค้ามีคะแนนมากพอก็อาจสามารถเช่ารถโดยไม่ต้องวางเงินมัดจำ หรือใช้บริการเช็คอินวีไอพีที่ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งได้ (บีบีซีนิวส์, 2561 : ออนไลน์)

    ระบบเครดิตทางสังคม “The Social Credit System (SCS)” ถูกจับตาว่าเป็นระบบเครื่องมือในการริดรอนเสรีภาพประชาชน รวมทั้งเพิ่มการควบคุมทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะต่อบรรดาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาล โดยใช้เทคโนโลยีและระเบียบข้อบังคับเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมพลเมือง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์นั้น เว็บไซต์บางแห่งไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดจีน และยังมีเว็บไซต์โซเชียลมีเดียหลายเว็บไซต์ถูกบล็อก (เช่น Twitter และ Facebook) ทำให้ชาวจีนจึงต้องพึ่งพาผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งของจีน ซึ่งหมายความว่าโดยหลักการแล้วรัฐบาลจีนอาจสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องได้ (Daithí Mac Síthigh and Mathias Siems. 2019 : p. 12)

แนวทางดำเนินการระบบเครดิตสังคมในประเทศไทย

       การเสริมความเข้มแข็งในระดับชุมชนให้สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างพื้นที่และกิจกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมในชุมชน โดยสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐาน (ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสาธารณะ การเป็นอยู่อย่างพอเพียง การกระทำอย่างรับผิดชอบ ความเป็นธรรมทางสังคม) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษากลไกใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ อาทิ ระบบเครดิตสังคม (Social credit) (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2563 : 404) นอกจากนี้ผลการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ประเด็นการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม แผนย่อยที่ 1 การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และเสริมสร้างจิตสาธารณะและการเป็นพลเมืองที่ดี มีแนวคิดว่าถ้านําระบบเครดิตสังคม (Social Credit) มาใช้ จะประสบผลสําเร็จแน่นอน ซึ่งระบบเครดิตสังคมเป็นระบบความน่าเชื่อถือทางสังคมที่ใช้เครื่องมือในการสร้างมาตรฐานให้กับประชาชนให้มีระเบียบวินัย มีมารยาททางสังคมมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม ช้วยยกระดับธุรกิจให้เกิดความโปร่งใส ควรใช้สื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีของคนในสังคม ในการผลิตสื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ ทางออนไลน์ หรือสื่อภาพยนตร์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ สอดแทรกวัฒนธรรมที่ดี สอดแทรกการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเข้าไปในสื่อเหล่านั้นด้วย (สํานักการประชุม สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา. 2563 :  3-4) 

     สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง น่าจะเป็นสถาบันแรกๆ ในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนงานวิจัยเรื่องเครดิตสังคม ตัวอย่างเช่น งานวิจัยชุดการพัฒนาแนวทางการใช้ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต จำนวน 8 เรื่อง โดยขอยกตัวอย่างงานวิจัยกลุ่มที่ 1 เรื่อง การพัฒนาแนวทางการใช้ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ผู้วิจัย  คณะนักศึกษาการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 8 กลุ่มที่ 1 ปีที่จัดทำเอกสารวิจัย 2564 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) ศึกษาลักษณะพฤติกรรมที่แสดงคุณลักษณะนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ๒) เพื่อสร้างแนวทางการใช้ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในการเสริมสร้างคุณลักษณะนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมที่แสดงคุณลักษณะนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม พบว่า คุณลักษณะทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะการคิด ด้านความมีวินัย ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ด้านอยู่อย่างพอเพียง และด้านจิตสาธารณะ ทุกด้านมีความสำคัญทั้งหมด เพราะคุณลักษณะทั้ง ๕ ด้าน ส่งผลต่อการพัฒนาตนเองและสังคม ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุข และแนวการใช้ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในเสริมสร้างคุณลักษณะของนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม พบว่า ประกอบด้วย ๕ ส่วน  ได้แก่ ๑) หลักการของระบบเครดิตสังคม ๒) องค์ประกอบของระบบเครดิตสังคม ๓) เกณฑ์การประเมินพฤติกรรมเพื่อเป็นเครดิตสังคม ๔) ผลตอบแทนจากการแสดงพฤติกรรมทางสังคมเพื่อเป็นเครดิตสังคม และ ๕) แนวปฏิบัติการใช้ระบบเครดิตสังคมในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริตระดับสถานศึกษา โดยผลการประเมินแนวทางในทางการใช้ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในการเสริมสร้างคุณลักษณะนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต ๔ ด้าน คือ ด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความเป็นประโยชน์ พบว่า มีค่าเฉลี่ยรวมทุกด้าน เท่ากับ ๔.๙๔ อยู่ในระดับมากที่สุด ข้อเสนอแนะจากการวิจัย ๑) แนวทางการใช้ระบบเครดิตสังคมในการส่งเสริมคุณลักษณะด้านจิตสาธารณะสามารถนำไปขยายผลระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบเครดิตสังคมในวงกว้าง ๒) ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลฺของบุคคลที่ได้รับเครดิต จากการใช้ระบบเครดิตสังคมให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการนำระบบเครดิตสังคมไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม และ ๓) ควรศึกษารูปแบบและทดลองใช้ระบบเครดิตสังคม เพื่อให้เกิดเป็นสังคมต้นแบบในการใช้ระบบเครดิตสังคมต่อไป

     ระบบเครดิตทางสังคมนั้น ศูนย์คุณธรรม เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศฯ ด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยการพัฒนาเครื่องมือดัชนีชี้วัด เสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ยกย่องสื่อส่งเสริมคุณธรรม และพัฒนากลไกระบบเครดิตสังคม โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2564 นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ตามมติ ครม.เห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 มอบหมายศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบนโยบายการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 4 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในทุกช่วงวัย โดยการดำเนินการตามเป้าหมายคือ 1) พัฒนาเครื่องมือดัชนีชี้วัดคุณธรรมคนไทย 5 ประการ ประกอบด้วย ความมีวินัย ความพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตอาสา และกตัญญูรู้คุณ 2) เสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมพร้อมถอดบทเรียนชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม จำนวน 200 แห่ง และ 3) กิจกรรมยกย่องสื่อส่งเสริมคุณธรรม (โครงการสื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ด ปี 2563) และ 4) พัฒนากลไกระบบเครดิตสังคม (Social Credit) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนฯ ในระดับพื้นที่และระดับบุคคลนั้น

   การดำเนินงานระบบเครดิตสังคมกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาคุณธรรมเด่น ด้านจิตอาสา โดยใช้ระบบเครดิตสังคม (Social Credit) ด้วยกิจกรรม “ชื่นชม แชร์ โชว์” และมีการจัดมอบบประกาศเกียรติคุณ การถอดบทเรียนบุคลกร/หน่วยงานที่มีการพัฒนาคุณธรรมเด่น ด้านจิตอาสา โดยใช้ระบบเครดิตสังคม (Social Credit) ด้วยกิจกรรม “ชื่นชม แชร์ โชว์” จำนวน 2 รางวัล  ผ่านกิจกรรมถอดบทเรียนการดำเนินงานองค์กรคุณธรรมต้นแบบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 จัดโดยกองบริหารการสาธารณสุข

       ระบบเครดิตทางสังคม “The Social Credit System (SCS)” ในประเทศไทย สามารถนำแนวคิดธนาคารความดีที่ใช้ในโรงเรียน สถาบันการศึกษา บริษัท และชุมชนต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ และขยายผลสู่สังคมในวงกว้างตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับธนาคารความดีที่สามารถประยุกต์ใช้เป็น The Social Credit System (SCS) เช่น

      อาทิตย์ วันวารี ได้นำเสนอบทความงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 12 (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม) ระหว่างวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2563 (บันทึกบทความเขียนเมื่อเดือนมีนาคม2563 ก่อนพบบทความของอาทิตย์ วันวารี ที่สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2564) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บทบาทของระบบเครดิตทางสังคม กรณีศึกษา ธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของระบบเครดิตทางสังคม โดยมุ่งเน้นศึกษาถึงประโยชน์ ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงปัจจัยคัญที่จะทำให้ระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงกรณีศึกษา ผ่านกรณีศึกษาธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย โดยการเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์จำนวน 20 คน รวมถึงข้อมูลจากเอกสาร ซึ่งผลการวิจัยนี้พบว่าประโยชน์ของระบบเครดิตทางสังคม คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม สนับสนุนการทำดี สร้างสังคมดีและมีระเบียบ  ส่วนปัญหาและอุปสรรคของระบบดั่งกล่าว คือ ระบบเครดิตทางสังคมเป็ระบบนแนวคิดใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จัก สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีสารสนเทศที่ยังไม่ทันสมัย การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยของข้อมูลและกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังได้ค้นพบว่าหากมีการนำระบบเครดิตทางสังคมมาใช้จริงในประเทศไทยปัจจัยหลักที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อทำให้ระบบดังกล่าวได้รับการยอมรับ คือ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย ยกระดับการศึกษาและทำความเข้าใจของคนในสังคม แก้ไขกฎหมายและบทลงโทษเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการของระบบ  รัฐต้องมีบทบาทให้มากขึ้นทั้งในส่วนของนโยบาย กลยุทธ์ และปฏิบัติการ รวมถึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา (หมายเหตุบทความนี้พบ 8 กันยายน 2564 หลังเขียนบันทึกบทความ ที่เขียนเมื่อเดือนมีนาคม 2564 แต่นำเสนอเพิ่มเพื่อความสมบูรณ์)
        กระบวนการสร้างสังคมคุณธรรมแบบมีส่วนร่วมภายใต้รูปแบบธนาคารความดี สำหรับหน่วยอบรมประชาชน โดยพระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส) (2556 : 193 - 194) ซึ่งพบว่า การจัดตั้งกลุ่มธนาคารความดีของชุมชนวัดศรีเมืองมูลตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า “หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล” มีแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารความดี 2 ประการ คือ 1) เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เป็นผู้มีคุณภาพ สามารถที่จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างสงบสุข 2) เพื่อพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนความดี โดยนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในลักษณะของคะแนนความดี ผลจากการดำเนินการธนาคารความดีสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุข มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับค่าความดีเป็นสิ่งตอบแทนแล้วสามารถนำมาแลกเป็นสิ่งของได้

     การบริหารจัดการของธนาคารความดีตำบลหัวง้มและตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยวรางคณินทร์ ศรีวงค์ (2556 : 206 - 207) พบว่าเหตุจูงใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารความดีตำบลหัวง้ม คือ 1) การมีคนในชุมชนและคณะกรรมการบริหารงานมาชักชวนให้เข้าร่วม 2) การเล็งเห็นผลประโยชน์ที่เกิดต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนและการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ส่วนเหตุจูงใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารความดีตำบลป่าหุ่ง คือ 1) การมีคนในชุมชนและคณะกรรมการบริหารงานมาชักชวนให้เข้าร่วม 2) การเล็งเห็นผลประโยชน์บางอย่างของธนาคารความดีและการแสดงความร่วมมือกับชุมชน 3) เหตุผลส่วนบุคคล ผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของธนาคารความดีตำบลหัวง้ม สามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ เกียรติบัตรเชิดชูความดี ทุนการศึกษา ตัวอย่างชีวิตเข็มทิศคนดีตำบลหัวง้ม 2) ผลตอบแทนที่เป็นนามธรรม ได้แก่ ความสุขที่สัมผัสได้ การได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ความรู้สึกภาคภูมิใจกับการทำดี การได้เป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของธนาคารความดีตำบลป่าหุ่ง แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ ทุนการศึกษา แฟ้มสะสมงาน เกียรติบัตรเชิดชูความดี เกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือ การทัศนศึกษาดูงาน 2) ผลตอบแทนที่เป็นนามธรรม ได้แก่ ความรู้สึกดี ความสุขทางใจที่ได้ทำดีและเห็นคนรอบข้างทำดี ความภาคภูมิใจกับการทำดี การได้เป็นตัวอย่างที่ดี การได้ปลูกฝังค่านิยมที่ดี

     จากที่กล่าวมาการระบบเครดิตทางสังคมในโรงเรียน สถาบันการศึกษา บริษัทและชุมชนต่าง ๆ  สามารถนำโครงการธนาคารความดีมาปรับใช้ได้ โดยแนวทางกำหนดผลตอบแทนหรือรางวัล เช่น การนำแต้มสะสมมาใช้แลก สิ่งของเครื่องใช้หรืออาหาร การมอบเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ การให้ทุนการศึกษา การทัศนศึกษาดูงาน การมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในการใช้ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยอาจนำแนวคิดเครดิตการทำความดีที่มหาวิทยาลัยเกษรศาสตร์เคยนำมาใช้ในการรับนักศึกษาเข้าเรียนมาใช้ จะช่วยให้เด็กนักเรียน ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของระบบเครดิตสังคม ฯลฯ

ตัวอย่าง การนำผลงานด้านคุณธรรม จิตอาสามาใช้ในการศึกษาต่อ จากเอกสารแนบท้ายประกาศ 2 โครงการช้างเผือก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 (TCAS รอบที่ 1) หน้า 7    

ที่มา : https://admission.ku.ac.th/admmedia/announcements/2019/11/06/TCAS1-White_Elephant-2563.pdf

คุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร
6. แบบเรียงความเกี่ยวกับความประพฤติที่แสดงถึงความมีคุณธรรมความยาวไม่เกิน 2 หน้า

7.หนังสือรับรองความประพฤติว่า เป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและเป็นแบบอย่างที่ดี จากบุคคลดังต่อไปนี้
   7.1 ผู้อำนวยการโรงเรียนและอาจารย์ประจำชั้นที่ผู้สมัครสังกัด และ
   7.2 ผู้นำชุมชน ระดับผู้ใหญ่บ้านขึ้นไป/หัวหน้าองค์กรที่ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา
8. ใบแสดงรายการประกาศเกียรติคุณ หรือรางวัลที่ได้รับด้านคุณธรรม พร้อมแนบสำเนาใบประกาศเกียรติคุณหรือหลักฐานการรับรางวัล จำนวน 2 ผลงาน ในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับเขตการศึกษา/จังหวัด ระดับอำเภอ/ระดับตำบล

ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษา สามารถสมัครขอรับทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวน ทั้งค่าเรียน ที่พัก และอื่น ๆ ภายใต้ “ทุนวิศวเกษตร ประพฤติดี มีคุณธรรม” สาขาละ 1 ทุน รวม 7 ทุน ดูรายละเอียดการให้ทุน ได้ที่ www.sup.eng.ku.ac.th

เอกสารอ้างอิง

กองบริหารการสาธารณสุขจัดกิจกรรมถอดบทเรียนการดำเนินงานองค์กรคุณธรรมต้นแบบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. ถอดบทเรียนการดำเนินงานองค์กรคุณธรรมต้นแบบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. จุลสารออนไลน์กองบริหารการสาธารณสุข. ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2564. https://phdb.moph.go.th/main/upload/web_news_files/ow2me5a3gf4kso8gs8.pdf

คณะนักศึกษาการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงาน
           คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ ๘ กลุ่มที่ ๑. (๒๕๖๔). การพัฒนาแนวทางการใช้
           ระบบเครดิตสังคมบนพื้นฐานของพื้นที่เชิงนวัตกรรมในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์
           ของนักเรียนในโครงการโรงเรียนสุจริต : กรณีศึกษาโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม. เอกสารวิจัยหลักสูตร
           จิตวิทยาความมั่นคง สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
           รุ่นที่ ๘. สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง.

บีบีซีนิวส์. (2561). Social Credit เครื่องมือควบคุมชีวิตประชาชนเต็มรูปแบบของรัฐบาลจีน? (ออนไลน์) จาก https://www.bbc.com/thai/international-45904774

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2560). รายงานพิเศษ: จีนสร้างภาพลักษณ์ใหม่ด้วยระบบเครดิตทางสังคม. รายงานเศรษฐกิจและการเงินมณฑลยูนนาน ปี 2560. (ออนไลน์) จาก https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconMakhongCanelArea/Yunnan/DocLib_YNArticle/2017--Article1_China%20Social%20Credit.pdf
 

พระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส) (2556) กระบวนการสร้างสังคมคุณธรรมแบบมีส่วนร่วม ภายใต้รูปแบบธนาคารความดี สำหรับหน่วยอบรมประชาชน. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา.  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

วรางคณินทร์ ศรีวงค์ (2556) การบริหารจัดการของธนาคารความดีตำบลหัวง้มและตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์คุณธรรม เร่งปฏิรูปประเทศ ด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม. https://news.thaipbs.or.th/content/305334

สํานักการประชุม สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2563). เอกสารสรุปผลการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563. ณ ห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา อาคารรัฐสภา
(เกียกกาย) หน้า 3-4 https://ofm.mof.go.th/th/view/attachment/file/3135313138/630714.PDF

https://phdb.moph.go.th/main/upload/web_news_files/ow2me5a3gf4kso8gs8.pdf

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 10. (ออนไลน์) จาก http://nscr.nesdb.go.th/wp-content/uploads/2021/01/11_NS_10.pdf

อาทิตย์ วันวารี. (2563).  บทบาทของระบบเครดิตทางสังคม กรณีศึกษา ธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี. บทความงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 12 (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม) ระหว่างวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.(สืบค้นพบกลังเผยแพร่บทความนี้ สืบค้นเมื่อ 7กันยายน2564)

Daithí Mac Síthigh and Mathias Siems. (2019). The Chinese social credit system: A model for other countries?. Department of Law. European University  Institute, Badia Fiesolana. I-50014 San Domenico di Fiesole (FI), Italy.

ปีที่พิมพ์เผยแพร่ มีนาคม 2564 แก้ไขเพิ่มเติม 8 กันยายน 2564

หมายเลขบันทึก: 689560เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2021 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2021 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท