๘๗๑. จรรยาบรรณในวิชาชีพ


จรรยาบรรณในวิชาชีพ

"จรรยาบรรณในวิชาชีพ" ความจริงผู้เขียนก็ไม่ต้องการที่จะเขียนสักเท่าไหร่ เพราะคิดว่ามนุษย์ทุกคนคงตระหนัก และมีจิตสำนึกกันอยู่แล้ว...แต่เท่าที่สังเกตดู ไม่ใช่แล้ว ไม่เขียนก็จะไม่รู้สึก รู้ตัวกัน มิได้ตระหนักรู้ ตระหนักถึงควรหรือไม่ควร ไม่มีความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี...เหมือนปล่อยปละ ละเลยไป...ผู้เขียนมีความประสงค์ต้องการให้ทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม พึงตระหนักให้มาก ๆ กับสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปว่า สิ่งใดบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือต่อตนเองมากกว่า เพราะบางคราวไปอาศัยสิ่งที่ผู้อื่นไม่ทราบในความเป็นจริงแล้วก็หลงไปกับการกระทำของคนที่ผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ

ความหมายของจรรยาบรรณ

จรรยาบรรณ  หมายถึง   ประมวลความประพฤติ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพ การงานแต่ละอย่าง กำหนดขึ้น  เพื่อรักษา และสร้างเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็น ลายลักษณ์อักษร หรือไม่ก็ได้ (ราชบัณฑิตยสถาน. 2546 : 289)       

จรรยาบรรณ หมายถึง  จริยาวิชาชีพ หรือจรรยาวิชาชีพ หรือจริยธรรมวิชาชีพ  ซึ่งครอบคลุมในทุกเรื่อง ทุกประการ ที่เป็นข้อควรปฏิบัติ สำหรับกลุ่มวิชาชีพ (พระราชวรมุนี. 2541 : 39-40)         

จรรยาบรรณวิชาชีพ  หมายถึง มาตรฐานของคุณค่า แห่งความดีงาม ของการกระทำ หนึ่ง ๆ หรือพฤติกรรมโดยรวม ของผู้ประกอบวิชาชีพใดว ิชาชีพหนึ่ง ( มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช. 2549 : 300)         

สรุป จรรยาบรรณ เป็นข้อควรประพฤติที่ดีงาม สำหรับสมาชิก ในวิชาชีพนั้น ๆ ข้อควรประพฤตินี้  ถ้าเราฝ่าฝืนจะเกิดโทษ จรรยาบรรณวิชาชีพจึง เป็นมาตรฐาน ความประพฤติ และวิจารณญาณ ทางศีลธรรม และวิชาชีพ  ที่เป็นกฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของความประพฤติ สำหรับยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติ ของผู้ประกอบวิชาชีพหนึ่ง หลักปฏิบัติดังกล่าว อาศัยหลักธรรม ความถูกต้อง ส่วนใหญ่ กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพนั้น ๆ        

จรรยาบรรณวิชาชีพ  อาจถูกกำหนดขึ้น เป็นลายลักษณ์อักษร โดยหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน  อาทิเช่น  จรรยาบรรณแพทย์ โดยแพทยสภา  จรรยาบรรณครู โดยคุรุสภา เป็นต้น โดยเฉพาะวิชาชีพ ที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชน จะต้องมี จรรยาบรรณวิชาชีพ  เพื่อรักษามาตรฐาน การปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้น ปัจจุบัน มีการจัดทำ จรรยาบรรณวิชาชีพขึ้นมากมาย เช่น จรรยาบรรณแพทย์พยาบาล จรรยาบรรณครูอาจารย์ จรรยาบรรณวิศวกร จรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

ที่มา : https://sites.google.com/site/...

ข้อความที่นำมาข้างต้น เป็นเพียงความหมายของจรรยาบรรณ แต่ในจรรยาบรรณส่วนลึกมีความหมายมากมายว่าคืออะไร เช่น จรรยาบรรณวิชาชีพ จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อประชาชน สังคม จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนร่วมงาน จรรยาบรรณข้าราชการ จรรยาบรรณวิชาชีพครู ฯลฯ

มีเรื่องราวหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกต เพราะเกิดจากที่ผู้เขียนประสบมา ณ ปัจจุบันนี้ คือ มีข้าราชการครูได้เปิดสอนพิเศษในภาคฤดูร้อน ให้กับนักเรียนที่กำลังจะขึ้นชั้น ป.๔ และขอเก็บค่าสอนพิเศษ ๑,๕๐๐ บาท ที่บ้านของครูประจำชั้น ป.๓ ซึ่งร่วมกันเปิดสอนทั้งครูหัวหน้าสายชั้น รวม ๓ คน...ในการกล่าวอ้าง เพื่อเตรียมความพร้อม สอนเสริมอะไรก็แล้วแต่ ในมุมมองของผู้เขียนที่ทำงานด้านบุคคลมานานมาก เห็นว่าในสิ่งที่ครูทำ นั่นคือ การผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพของคุณเอง...คุณกำลังทำผิดจรรยาบรรณ หากไม่เก็บเงินก็จะไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คุณครูทั้งหลายทราบกันหรือไม่...

ทางฝ่ายผู้ปกครองส่วนมาก เขาจะไม่ทราบลึก ๆ หรอกว่า สิ่งที่คุณครูทำนั้น คือ อะไร คิดแต่เพียงว่า ต้องการให้ลูก ๆ ได้เรียน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ดีกว่าไปวิ่งเล่น...อย่าลืมว่า บางครั้งผู้ใหญ่ก็ยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ มากเกินไป ยังมีทักษะต่าง ๆ อีกมากมายที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะการเรียนรู้ปัจจุบัน คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำหรับเรื่องราวข้างต้น...ที่นำมาเขียน เพราะจะมีผลกับการคัดเลือกเด็กนักเรียนเข้าเรียนสายชั้น เพราะมีบางโรงเรียนตอนนี้มีการคัดแยกเด็ก ห้อง Smart ซึ่งเป็นห้องวิทย์ ตั้งแต่ ป.๑-๓ พอจะขึ้น ป.๔ ก็ต้องมีการคัดเลือกเด็กอีกครั้งหนึ่ง หากกรณีปกติก็จะไม่ว่าอะไร...แต่นี่เท่าที่สังเกต คุณครูมาเปิดสอนพิเศษให้กับเด็ก ๆ และมีครูหัวหน้าสายชั้นร่วมด้วย เพราะจะโยงไปที่ผลประโยชน์ในการคัดเด็ก ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าหากเด็กคนไหนได้เรียนพิเศษด้วย ก็จะคัดเข้าห้อง Smart เพราะมีผลประโยชน์ร่วม อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่เป็นจริง แต่สิ่งที่คุณครูทำ ถึงแม้จะหารายได้เพิ่มในช่วงปิดเทอม แต่ในลักษณะแบบนี้ ก็มิควรทำ เพราะท่านยังเป็นข้าราชการครูอยู่ ควรสำนึกและตระหนักในจรรยาบรรณของตนเองให้มาก ๆ มันเสี่ยงต่ออาชีพที่คุณทำ

หากเกิดการสอบสวน คือ การกระทำผิดจรรยาบรรณ เพราะยังมีอาชีพเป็นข้าราชการครูอยู่ งานสอนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก พึงควรระมัดระวังให้มาก ๆ พอ ๆ กับเรื่องชู้สาวเช่นกัน...จุดประสงค์ที่เขียน คือ ไม่ต้องการให้สิ่งเล็ก ๆ ที่คิดว่าไม่สำคัญ มันจะสำคัญมาก ๆ สำหรับการคัดเลือกเด็กที่เข้าห้อง Smart หากเด็กคนนั้นมีความเก่งจริง แต่ไม่ถูกคัดเลือกให้ได้เรียน...การวัดความรู้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการเข้าเรียนห้อง Smart  เป็นเพียง IQ หนึ่ง แต่สิ่งที่สังคมต้องการอีกตัว คือ EQ ในตัวเด็กมีความสำคัญมาก ซึ่งอาจถูกมองว่าไม่สำคัญในยุคที่ผ่านมา...แต่ความจริง EQ สำคัญมากกว่า IQ เพราะเป็นตัวแสดงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของคน และสังคมที่แข็งแรง

การเรียนรู้สมัยนี้ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และควรเน้นเรื่องทักษะชีวิตอื่น ๆ ที่มีอีกมากมายในสังคมนำมาช่วยสอนเด็กให้มีภูมิคุ้มกันกับการใช้ชีวิตในสังคมมากกว่า กับการยัดเยียดเรื่องการแข่งขันกันทางความรู้...เพราะในสังคมการทำงาน มิได้วัดกันที่คนมีความรู้มากมาย แต่เขาวัดกันที่การจะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างไรมากกว่า เพราะการเรียนรู้สามารถอ่าน ศึกษา และเปิดในตำรา หนังสือได้ ไม่ต้องมีการแข่งขันกัน เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ปัญหาของสังคม ที่คนเป็นครูในระดับล่างอาจไม่รู้ และไม่ทราบจริง...เขียนเพื่อต้องการให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะวงการการศึกษาที่ควรจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาในบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔

หมายเลขบันทึก: 689457เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2021 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2021 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท