ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๐๓. PMAC 2021 : 7. Synthesis


 ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔     ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. เวลาไทย    เป็นรายการสรุปภาพรวมของการประชุม  Synthesis : Summary, Conclusion, and Recommendations   โดยมี นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นหัวหน้าทีม (๑)     

ดู PowerPoint สรุป PMAC 2021 ได้ที่ ()

 โควิด ๑๙ ช่วยมาปลุกวงการสุขภาพโลกว่า  โลกเราอ่อนแอในหลายด้าน ต่อการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อระบาดใหม่    ที่จะมีมาอีกอย่างแน่นอน    รวมทั้งการระบาดของโควิด ๑๙ ครั้งนี้ ก็ยังไม่แน่ ว่าจะยุติลงได้เร็วแค่ไหน    อาจลากยาวไปหลายปีก็ได้    เพราะหากยังมีคนติดเชื้อใหม่เพิ่มมากอย่างในปัจจุบัน    โอกาสที่จะเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ก็สูง    ตอนนี้ก็มีสายพันธุ์ที่พบที่อังกฤษ  อัฟริกาใต้  และบราซิล  ที่ติดต่อง่าย  ติดแล้วอาการรุนแรง  และไม่แน่ว่าวัคซีนที่มีอยู่จะป้องกันได้  

ปัญหาสำคัญที่สุดคือความไม่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน    แก่งแย่งกัน    ซึ่งจะทำให้การป้องกันและต่อสู้การระบาดไม่ได้ผล   

แต่ต้นเหตุจริงๆ อยู่ลึกกว่านั้น    อยู่ที่โมเดลการพัฒนาในรูปแบบที่โลกตะวันตกขับเคลื่อนมา ๕๐๐ ปี  มีทำให้โลกเสียสมดุล    ที่ประชุมเขาไม่ได้สรุปตรงๆ อย่างที่ผมเขียนนะครับ    เพราะมันจะกลายเป็นเวทีกล่าวหากัน   

เอาเป็นว่า ส่วนหนึ่งของต้นเหตุ การเกิดโรคติดเชื้อระบาดใหม่เป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น    เมื่อเราเข้าใจแล้ว ก็ต้องหาทางกลับลำ ไม่ดำเนินการก่อปัญหาต่อเนื่อง    ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย    เพราะมันเป็นระบบโลกที่ซับซ้อน    และมีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงทางการเมืองภายในประเทศด้วย อย่างที่ ปธน. ทรัมป์ ทำ

ที่จริงมาตรการ SDG ขององค์การสหประชาชาติ ก็เพื่อความสมดุลของการพัฒนา     น่าเสียดายที่ ที่ผ่านมาประเทศผู้นำอันดับหนึ่งของโลก เลือกประธานธิบดีผิด    ทำให้ประเทศหมายเลขหนึ่ง กลายเป็นผู้ร้ายหมายเลขหนึ่ง    ซึ่งตอนนี้ประธานาธิบดีใหม่เตรียมกลับทาง          

โควิด ๑๙ ช่วยบอกว่า ระบบสุขภาพที่ดีเป็นอย่างไร    ข้อสรุปคือ ต้องมีการคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า    มีระบบสุขภาพมูลฐาน หรือระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง    มีระบบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เข้มแข็ง ทั้งระดับบุคคล  ระดับชุมชน และระดับประเทศ    ซึ่งรวมทั้งระบบเฝ้าระวัง ที่มี early warning system ที่เข้มแข็ง    ตามด้วยระบบ rapid response     ในการระบาดของโควิด ๑๙ ประเทศตะวันตกผิดพลาดในเรื่อง early response    ปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง ๒ เดือนจึงดำเนินการจริงจัง    ซึ่งก็สายไปเสียแล้ว   

  การระบาดใหญ่ครั้งนี้ ช่วยบอกเราว่า คนอ่อนแ เปราะบาง ยากจน ถูกกระทบมากที่สุด    ทั้งจากการติดเชื้อโควิดโดยตรง    และจากการที่ระบบดูแลสุขภาพในภาพรวมอ่อนแอลง    และจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม     การเตรียมความพร้อมที่สำคัญคือ    การทำให้คนเหล่านี้แข็งแรงขึ้น โดยการพัฒนาระบบสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ     

ที่จริงองค์การนามัยโลกได้ออก IHR – International Health Regulations (2005) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2007    เป็นกติกาที่ทุกประเทศใช้ร่วมกันในการรับมือการระบาดของโลก    การระบาดของโควิด ๑๙ ช่วยบอกว่า ต้องปรับปรุงแก้ไขกติกานี้ตรงไหนบ้าง    โดยเฉพาะส่วน early warning system  และ rapid response

การระบาดนี้ใหญ่กว่า pandemic    คือใหญ่กว่าการระบาดของโควิด หรือเชื้อโรค    เป็น “การระบาดร่วม” (syndemic) ของหลายปัจจัย    รวมทั้ง infodemic ด้วย

 ผมตีความว่า สภาพที่เราพบเห็น บอกเราว่า ระบบวิทยาศาสตร์ของโลกเข้มแข็ง    สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้ภายใน ๑๑ เดือน    แต่ระบบสังคมของโลกเราอ่อนแอ    เราขาดแคลน trust ในหลากหลายด้าน    รวมทั้ง trust ต่อวิทยาศาสตร์ และต่อวัคซีน    ยิ่งระบบการเมืองยิ่งอ่อนแอ    ประชาชนมีโอกาสหลงผิดเลือกผู้นำประเทศผิดได้  ในระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ในปัจจุบัน   ที่นักการเมืองใช้กโลบายปั่นหัวประชาชนได้    

ตอนนี้เข้าสู่ยุคใช้อาวุธวัคซีน เพื่อยุติการระบาด    โดยต้องรีบสร้างความรู้โดยเร็วว่า นอกจากช่วยลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงหากติดเชื้อแล้ว    วัคซีนช่วยลดการแพร่เชื้อได้หรือไม่    ซึ่งจะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ว่าจะฉีดวัคซีนให้แก่คนกลุ่มไหนก่อน    จึงจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมมากที่สุด           

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๖๔

Synthesis from Pattie Pattie
หมายเลขบันทึก: 689287เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2021 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท