ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๐๔. PMAC 2021 : 8. ใคร่ครวญสะท้อนคิด



 การประชุม PMAC 2021 เป็นโฉมใหม่ของการประชุม คือจัดแบบ ออนไลน์    ภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การระบาดของโควิด    ที่ทำให้การเดินทางมาประชุมที่กรุงเทพอย่างทุกๆ ปี ทำไม่ได้    นี่เป็นครั้งที่ ๒ ที่ PMAC เผชิญสถานการณ์วิกฤติ    ครั้งแรกปี ๒๕๕๗  PMAC 2014 (เรื่อง Transformative Learning for Health Equity)    ต้องย้ายไปจัดที่พัทยากะทันหัน    เพราะมีการชุมนุมประท้วงโดย กปปส. ที่สี่แยกราชประสงค์ และที่สี่แยกปทุมวัน     

PMAC 2021 ปรับตัวกะทันหัน ๒ เรื่อง    เรื่องแรกคือหัวข้อประชุม เดิมวางแผนไว้ว่าจะพูดกันเรื่องแนวโน้มใหญ่ด้านสุขภาพในอนาคต   พอโควิดระบาดต้นปีที่แล้วก็เปลี่ยนเป็นเรื่องโควิด   การปรับตัวเรื่องที่สองก็คือเปลี่ยนวิธีประชุม จาก onsite เป็น online   

การปรับตัวนี้กระทันหันมาก   แต่ภาคีร่วมมือทั้งหลายร่วมมือกันดีมาก    ทำให้การประชุมให้ผลออกมาดีในด้านสาระ    แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย    แต่การประชุมแบบออนไลน์มีข้อจำกัดหลายด้าน    คนเข้าร่วมจึงไม่มากนัก    มีการพูดกันว่าเป็นอาการ webinar fatigue    

สำหรับผม ได้เปิดกะโหลกว่า เหตุการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด ๑๙ มีต้นเหตุมาเป็นพันปี หรืออย่างน้อยก็ ๕๐๐ ปี    เมื่อมนุษย์ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม    ทำให้มีการทำลายสมดุลสิ่งแวดล้อมของดาวเคราะห์โลก    เปิดช่องให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่ากระโดดมาติดมนุษย์ง่ายขึ้น    เมื่อเชื้อ SARS-CoV-2 กระโดดเข้าสู่คน    สภาพที่มนุษย์เดินทางติดต่อถึงกันทั่วโลกก็เอื้อความสะดวกให้เชื้อไวรัสนี้ระบาดเป็นการระบาดใหญ่ (pandemics)

เมื่อประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดของโลก หลงเลือกคนผิดเป็นประธานาธิบดี   ที่นำเอาความเกลียดชังเข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง    ทั้งการเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ    ใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นอาวุธ    ส่งผลทั้งต่อระบบการต่อสู่โรคระบาด โควิด ๑๙ ของประเทศตนเอง และของทั้งโลก    และในประเทศตนเองยังมีอาการเกลียดชังคนเอเชียอยู่ในปัจจุบัน   

การระบาดใหญ่ของ โควิด ๑๙ ครั้งนี้ จึงมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยด้านการเมืองด้วย    คือความโง่เขลาทางการเมืองในประเทศมหาอำนาจช่วยกระพือให้โควิดแพร่กระจายง่ายขึ้น  

โควิดจึงช่วยปลุกเราว่า การเมืองในประเทศมหาอำนาจมีผลกระทบกว้างกว่าที่คิด    และประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ใช่ระบอบที่ดีไม่มีที่ติ    การที่มหาอำนาจพยายามยัดเยียดให้ประเทศอื่นปกครองโดยประชาธิปไตยตามแบบของตนจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องชอบธรรม  

โควิด ช่วยให้เราตื่นตัวตั้งคำถามว่าระบบการเมืองระหว่างประเทศในชื่อสหประชาชาติ (United Nations) ที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น    ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่    เพราะดูจะเป็นกลไกรักษาผลประโยชน์ของประเทศร่ำรวยและมีอำนาจมากกว่า ในขณะที่ปัญหาใหญ่ๆ (อย่างกรณีการระบาดใหญ่ของโควิด ๑๙) นั้น    ประเทศยากจน และหลุ่มคนด้อยโอกาสถูกกระทบมากกว่า    และมีผลกระทบกลับมาที่ทั้งระบบ   ทำให้แก้ปัญหาใหญ่ของทั้งโลกได้ยากขึ้น

โลกเราเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าที่คิด    ซึ่งหมายความว่า มีผลกระทบสู่กันได้มาก    ระบบที่สร้างขึ้นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้บางกลุ่มบางประเทศนั้น    ในที่สุดผลร้ายที่เกิดขึ้น ก็วนกลับมาทำร้ายกลุ่มคนหรือประเทศที่ผลักดันระบบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนด้วย  

สิ่งที่ผมไม่เคยนึกว่าจะเกิดขึ้นในโลก คือการระบาดของกระบวนทัศน์ต่อต้านวิทยาศาสตร์    ที่นำโดยอดีตประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอันดับ ๑    ที่สร้างการเคลื่อนไหวนี้ขึ้นเพื่ออำนาจทางการเมืองของตน    ที่ผมแปลกใจก็คือ เมื่อพฤติกรรมนี้พิสูจน์แล้วว่า ก่อหายนะให้แก่ประเทศตนเองและแก่โลก   ก็ยังมีคนงมงายอยู่กับความเชื่อผิดๆ นี้      

 มนุษย์เรามีทั้งปัญญา และความงมงาย  ไม่ว่าในสังคมใด

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๖๔  ปรับปรุง ๒๖ ก.พ. ๖๔  ที่ห้องรับรองลูกค้า  บริษัทโตโยต้าเอกนิมิต เมืองทองธานี


หมายเลขบันทึก: 689268เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2021 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2021 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท