ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๙๘. PMAC 2021 : 2. พิธีเปิด, Armchair Conversation และ PL 0



นี่คือรายการในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔    เริ่มเวลา ๑๙.๐๐ น. เวลาไทย เป็นพิธีเปิด ตามด้วย Armchair Conversation (๑)    จบเวลา ๒๐.๓๐ น.    เป็นช่วงเวลาที่ประเทืองปัญญายิ่ง

หัวใจของการประชุม PMAC 2021 คือ เราจะใช้สถานการณ์การระบาดของโควิด ๑๙ นี้ เพื่อขับเคลื่อนโลกไปสู่สภาพที่เท่าเทียมมากขึ้น และผู้คนมีสุขภาวะดียิ่งขึ้น ได้อย่างไร    

ขยายความให้กว้างขึ้นได้ว่า  As we observe, COVID-19 drastically changes the way we live and work, and it will also change political and economic order, regionally and globally. The pandemic poses challenges and questions on many fronts. It challenges government and health system responses, preparedness, and capacities all over the world. How have historical political economic changes culminated to produce this pandemic?   

โควิดจะเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีการทำงาน ระเบียบโลกด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ    โดยท้าทายและตั้งคำถามต่อสารพัดแนวโน้มโลก    เกิดการท้าทายต่อวิธีตอบสนองของรัฐบาล และของระบบสุขภาพไปทั่วโลก    ทั้งด้านการตอบสนอง  ด้านการเตรียมพร้อม  และการสร้างขีดความสามารถ    การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง ได้หล่อหลอมให้เกิดการระบาดใหญ่นี้อย่างไร      

๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓ องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด ๑๙ เป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemics)    โลกเผชิญการแพร่ข้อมูลผิดๆ    มีคนเป็น super-spreader   เกิดการเมืองแบบไม่เคารพความรู้เชิงวิทยาศาสตร์   เกิดเชื้อโควิด ๑๙ สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ง่ายขึ้น        

 Armchair Conversation  และ Plenary 0  ช่วยกันตอบคำถามนี้ในภาพใหญ่     เป็นการโหมโรงหรือวางฐานความคิด    เพื่อจะลงรายละเอียดในตอนต่อๆไป  

Armchair Conversation   

สรุปได้ว่า โลกเราพลาดหลายด้าน    สถานการณ์ดควิด ๑๙ จึงบานมาเรื่อยๆ จนอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีคนติดเชื้อแล้วกว่า ๑๐๐ ล้าน  ตายกว่า ๒ ล้าน   

รอบแรก วิทยากร ๖ ท่านพูดเพียงคนละ ๓ นาที   

Richard Horton, Editor-in-Chief, Lancet ให้ความเห็นจากมุมของการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนขาด (disruption)     ชี้ให้เห็น ๗ แง่มุมคือ  (๑) สังคมและโลกเปราะบางกว่าที่คิด  (๒) เราอยู่ในยุค disruption ทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา ต้องมีการพิจารณาพัฒนาระบบใหม่   (๓) ความมั่นคงปลอดภัย ต้องตีความใหม่ จัดระบบใหม่ทั้งระดับบุคคล และระดับโลก  (๔) ความท้าทายเชิงชีวภาพ ต้องจัดการร่วมกับปัจจัยทางสังคม  (๕) ความเชื่อมโยงถึงกันหมด (inter-connectedness) มีสารพัดมิติ รวมทั้งมิติข้ามรุ่นของคน (inter-generational)   (๖) ระเบียบโลกที่มีอยู่ล้มเหลว  (๗) มนุษย์เรามีประวัติศาสตร์ร่วมกัน   ในเรื่องสุขภาพ เราต้องคิดถึงสุขภาพของดาวเคราะห์โลก (planetary health)  

Tom Frieden  อดีต ผอ. US CDC   ให้ความเห็น ๓ ด้าน  ด้านละ ๓ ข้อคือ    ด้านที่เป็นจุดแข็งที่สะท้อนออกมา  (๑) ผลิตวัคซีนได้เร็ว  ใช้เวลาเพียง ๑๑ เดือน  (๒) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์  (๓) ความตระหนักว่าเราเชื่อมต่อถึงกันหมด (connected)   

ด้านที่เป็นจุดอ่อน  (๑) ด้านที่เป็นกลไกกำกับดูแล (governance)  ถูกการเมืองทำลาย  (๒) วิทยาศาสตร์และการสาธารณสุข ถูกเขี่ยออกไปนอกศูนย์กลางการตัดสินใจ  (๓) ความเสมอภาค (equity) ลดลง

ด้านที่ต้องดำเนินการในอนาคต  (๑) ยกระดับสมรรถนะ  โดยเฉพาะในประเทศยากจน   (๒) ยกระดับสถาปัตยกรรม (architecture) ของการสาธารณสุขโลก   (๓) ยกระดับการสาธารณสุขมูลฐาน  ท่านยกตัวอย่างประเทศไทย  

   ฯพณฯ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข    เสนอ ๔ ปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือโควิด   (๑) ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง  (๒) ระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง  รวมทั้งระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า  (๓) ดำเนินการทั่วทั้งสังคม โดยมาตรการ เว้นระยะห่าง  ล้างมือ  และสวมหน้ากากอนามัย  (๔) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วย    ในช่วงตอบคำถาม ท่านมอบให้ นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำหน้าที่แทน    ท่านทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยยึดหลัก “ไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนไม่ปลอดภัย”      

Dr. Magaret Chan อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก    บอกว่าประเด็นที่ตั้งใจมาพูด  Richard Horton และ Tom Frieden พูดไปเกือบหมดแล้ว     ตนจึงขอด้นกลอนสด    ว่าปัจจัยที่จะช่วยให้เอาชนะโควิดได้คือ ภาวะผู้นำกับความร่วมมือ    ที่ผ่านมาโลกการเมืองล้มเหลวด้านความร่วมมือ    แต่โลกวิทยาศาสตร์ร่วมมือกันดีมาก    ทำให้พัฒนาวัคซีนได้เร็ว    ขั้นต่อไปคือต้องกระจายวัคซีนให้ดี    โลกต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและร่วมมือกัน     ใช้โควิด ๑๙ เป็นตัวปลุกให้ตื่น

Seth Berkley  CEO of Gavi    กล่าวว่าการพัฒนาวัคซีนประสบผลสำเร็จมหัศจรรย์    แต่ก็เผชิญภาวะชาตินิยมในการเข้าถึงวัคซีน   ซึ่ง Gavi และองค์การอนามัยโลกมีโครงการ Covax เป็นเครื่องมือช่วยให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีนได้    ท่าเน้นประโยคทองว่า We are only safe, if all are safe.   

Jayati Ghosh  ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสสาชูเส็ทส์ แอมเฮิร์ส     เรียกร้องให้พิจารณาใช้วิธีการ compulsory licensing เพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน    รวมทั้งควรเน้นความร่วมมือระหว่างระบบุขภาพภาคสาธารณะ และระบบสุขภาพภาคธุรกิจ    และขอให้เอาใจใส่เรื่องความมั่นคงทางอาหารด้วย

 ในช่วงตอบคำถาม คุณหมอศุภกิจบอกว่า ในประเทศไทย แรงงานต่างด้าวก็ได้รับการคุ้มครองสุขภาพด้วย     ในช่วงนี้มีการย้ำเรื่องระบบสุขภาพที่แข็งแรง    ที่ผมนึกในใจว่า ระบบสุขภาพไทยแข็งแรงกว่าระบบสุขภาพของสหรัฐอเมริกา   พิสูจน์โดยการระบาดของโควิด    ขยายความได้ว่า ระบบสุขภาพของเมริกันเดินผิดทาง    ไม่ได้สนใจการคุ้มครองสุขภาพแก่พลเมือง    แต่เน้นให้เป็นระบบธุรกิจ     รวมทั้งระบบสุขภาพมูลฐาน (primary health care) ก็ไม่มี    ไทยเราต้องเอาข้อเรียนรู้นี้มาใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย    อย่ายอมให้มีใครมาจูงให้ไปตามก้นอเมริกา   

มีการพูดกันเรื่อง สิทธิทางปัญญาเรื่องวัคซีน   ที่ Seth Berkley บอกว่า เรื่องสิทธิทางปัญญาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องวัคซีนภาพรวม    ที่ Jayati เถียงว่า ที่จริงเงินลงทุนพัฒนาวัคซีนเกือบทั้งหมดเป็นเงินภาครัฐหรือภาคสาธารณะ    จึงไม่ควรให้ธุรกิจเอกชนเอาไปครอบครอง

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พูดกันคือ ความไว้วางใจ (trust) ที่ตอนโควิดระบาด    ความไว้วางใจต่อกันไมดี    ต้องหาทางฟื้นฟู    เพราะมันช่วยให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ (solidarity)   

สรุปได้ว่า ที่ผ่านมาโลกดำเนินการผิดพลาด ก่อความเสียหายทั้งต่อสุขภาพ และต่อเศรษฐกิจ    แต่เราก็ได้สัญญาณเตือนให้ปรับตัว

Plenary 0  : Politics, Political Economy, and History : Major Trends Shaping Covid-19 Pandemics

เป็นการนำเสนอโดยนักวิชาการและนักปฏิบัติการทาง Global Health policy (2) 

Sanjoy Bhattacharya ศาสตราจารย์ด้าน History of Medicine ที่มหาวิทยาลัย ยอร์ก ในอังกฤษ    เสนอผลการวิจัยว่า ระบบสุขภาพที่ใช้ในโลกยุคปัจจุบัน เกิดจากโลกตะวันตก    ทำเป็นนโยบายให้เอาไปใช้ทั่วโลก    ประเทศยากจนมองว่า เป็นวิธีคิดที่ไม่เข้าใจบริบทในแต่ละประเทศหรือพื้นที่    นอกจากนั้น ยังไม่ไว้ใจประเทศต้นตำรับของระบบด้วย  

Ronald Labonte  ศาสตราจารย์ด้าน Contemporary Globalization and Health Equity   บอกว่าความยากจนในโลกลดลง    แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น     สุขภาพของคนในภาพรวมก็ดีขึ้น    แต่เปราะบางมากขึ้น  

Dr Mariângela Batista Galvão Simão, Assistant Director-General, Access to Medicines and Health Products, WHO    เล่าเรื่อง WHO แก้ปัญหา vaccine nationalism โดยใช้ Covax

สรุปได้ว่า ปัญหาโควิด ๑๙ เกิดจากการสั่งสมของปัจจัยที่ซับซ้อนหลากหลาย เชิงการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ มาเป็นพันปี    เป็นการวางฐานความคิดภาพใหญ่ กว้างขวาง และเชื่อมโยงสู่ประวัติศาสตร์ไกลโพ้น  

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689130เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท