[review] รีวิว The White Tiger (2021 Netflix) พยัคฆ์ร้ายรำพัน "รีวิว เรื่องย่อ และตีความหมายเชิงสัญลักษณ์"


[review] รีวิว The White Tiger (2021 Netflix) พยัคฆ์ร้ายรำพัน ภาพยนตร์เสียดสีสังคมและชนชั้นของอินเดียอย่างมีชั้นเชิง

...........

ดูคลิปรีวิวฉบับเต็มได้ที่นี่

ในปี 1926 แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีการผ่อนปรนเรื่องวรรณะแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังคงเข้มข้นเช่นเดิม เช่น ที่บอมเบย์ เมืองมาฮาด แม้จะมีการประกาศให้แหล่งน้ำของชุมชนนั้นสามารถใช้ได้ทุกชนชั้นวรรณะก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ชาวจัณฑาลก็ยังไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำของหมู่บ้านได้ ดังนั้น ในปี 1927 ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ผู้ที่เกิดในจัณฑาลได้รวมตัวผู้คนชาวจันฑาลร่วมหมื่นคนมุ่งหน้าไปยังเมืองมาฮาด ที่ตั้งของแหล่งน้ำคาฟดาห์ เป็นการเดินขบวนที่มีวินัยและสงบ มีเพียงเสียงตะโกนก้องว่า "เรียนรู้ รวบรวม รวมตัว" เท่านั้น

เมื่อถึงแหล่งน้ำ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ประกาศว่า "จะมีคนให้เกียรติเราก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะทำอะไรเอง ช่วยเหลือตัวของเราเอง ให้เกียรติตัวเราเอง และให้ความรู้แก่ตัวเอง" จากนั้น บาบาสาเฮบ นั่งคุกเข่าต่อหน้าแหล่งน้ำที่วรรณอื่นถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ แล้วทำการประครองน้ำจากสองมือขึ้นมาดื่ม โดยไม่สนใจกฎการห้ามชาวจัณฑาลใช้แหล่งน้ำนี้

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ประกาศถึงสิทธิมนุษยชนของชาวอินเดีย นั่นคือจุดเริ่มต้นการเรียกร้องความเท่าเทียมในอินเดียอย่างเป็นรูปธรรม

ภาพยนตร์อินเดียหลายเรื่องพูดถึงตวามไม่เท่าเทียมมาอย่างยาวนาน และหลายเรื่องก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี แม้แต่เรื่อง The White Tiger (2021) ใน Netflix ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก พร้อมกับเสียงชื่นชมอย่างล้มหลามว่าดีงามเหลือเกิน ซึ่งในความดีงามนั้นคืออะไร The White Tiger พูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมและชนชั้นออกมาในแง่มุมไหน ขอเชิญรับชมรับฟังได้เลยครับ

The White Tiger (2021) พยัคฆ์ขาวรำพัน ว่าด้วยเรื่องราวของนายพลราม ที่เกิดอยู่ในชนชั้นต้อยต่ำของอินเดีย ในวัยเด็กเขาได้รับการศึกษา เป็นคนที่ฉลาดและหัวไวที่สุดในห้อง จนครูที่สอนเขาชื่นชม แล้วบอกกับเขาว่าเขาคือเสือขาว ที่นาน ๆ ครั้งจะเกิดขึ้นมา 1 ตัว นอกจากครูที่คอยสั่งสอนเขาแล้วก็ยังมีพ่อของเขาด้วย เขามีพ่อที่เปรียบเสมือนเพื่อน แล้วเป็นครูพร้อม ๆ กัน เขาศรัทธาพ่อมาก แต่วันนี้พ่อเขาป่วยเป็นวัณโรค แม้จะเดินทางไปโรงพยาบาลที่ห่างจากเมืองเขาอยู่ถึง 2 วัน แต่โรงพยาบาลก็ไม่มีหมอ ท้ายที่สุดพ่อก็เสียชีวิต

พลรามไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ต้องมานั่งทุบถ่านขายไปวัน ๆ จนพลรามโตขึ้น วันหนึ่งมีเศรษฐีนายทุนเข้ามาในหมู่บ้านของเขา มาเก็บหนี้เก็บสินทุกคน เขาได้เห็นอโศกลูกชายายทุนคนนี้มีดีกรีนักเรียนนอกมีสง่าราศีดี ก็เกิดความคิดว่าจะหาทางไปขับรถให้นายคนนี้ให้ได้ เขาจะทำให้ครอบครัวที่เหลือของเขานั้นกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในชุมชนให้ได้ และด้วยความพยายามของพลรามจึงไปเรียนขับรถแล้ว ไปสมัครงานที่บ้านเศรษฐีคนนั้น และสามารถกลายเป็นคนขับรถของลูกชายเศรษฐีได้

แต่พลรามก็ยังไม่ได้ขับรถให้อโศกทันที เพราะอโศกนั้นมีคนขับรถเบอร์ 1 อยู่แล้ว และด้วยความพยายามเขาก็หาทางเขี่ยให้คนขับรถเบอร์ 1 พ้นทางไปจนได้ เพราะเขารู้ว่าคนขับรถคนนั้นไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู งานบ้านนายเศรษฐีคนนี้ก็ไม่ชอบคนศาสนาอื่นซะด้วย กลายเป็นว่าพลรามก็สามารถขับรถให้อโศกได้แล้ว

อโศกมีภรรยาแล้ว คือพิงค์กี้ เป็นหญิงสาวนักเรียนนอกด้วยเช่นกัน เธอเป็นหญิงสาวหัวสมัยใหม่ ไม่เชื่อถือเรื่องระบบวรรณะ เกลียดการแบ่งชนชั้น ทำตัวและมีแนวคิดแบบตะวันตก ใส่กางเกงยีนส์ไม่ใส่ส่าหรี และเธอชอบพูดให้พลรามหาทางออกของตนเอง อโศก นายหญิง และพลรามสนิทสนมกันทันที นายของเขาก็ดูเหมือนว่าจะให้การเอาใจใส่ดี

อย่างไรก็ตามครอบครัวของอโศกนั้นก็ประสบปัญหา แม้จะเป็นเศรษฐีรวยเงินแต่กิจการถ่านหินของเขานั้นก็ยังเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เขาจำเป็นจะต้องให้นักการเมืองช่วยเหลือ จึงจำเป็นต้องเดินทางไปเมืองใหญ่หานะกการเมืองสนับสนุน ผลรามจึงขับรถพาเจ้านายสองคนเดินทางไปทำภารกิจนั้น

พลรามได้เห็นเมืองใหญ่เป็นครั้งแรก เห็นตึกรามบ้านช่องใหญ่โตเป็นครั้งแรก และได้เห็นโรงแรมหรูหราเป็นครั้งแรก เขาไปส่งเจ้านายในห้อง แต่ตัวเขาเองต้องมานอนที่ชั้นใต้ดินที่จอดรถ แต่เขาก็ยังภูมิใจว่าได้รับใช้เจ้านายเต็มที่

แต่แล้วคืนหนึ่งก็มีเหตุการณ์ไม่คาดคิด พิงค์กี้นายหญิงของเขา เกิดความเมามายแล้วขับรถชนเด็กเสียชีวิต ครอบครัวของนายอโศก จึงให้พลรามเป็นจดหมายรับผิด และนั่นเองทำให้เกิดจุดแตกดับของพลรามกับเจ้านาย แล้วจุดแตกแบบนี้ทำให้พลรามหาทางออกจนสามารถสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ดีกว่าให้กับตัวเขาได้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรสามารถติดตามรับชมได้ทาง Netflix ครับ

The White Tiger มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจคือ ให้ตัวของนายพลรามเป็นคนเล่าเรื่องให้คนชมฟังโดยตรง เปิดเรื่องขึ้นมาว่าเขาได้กลายเป็นคนร่ำรวยของอินเดียแล้ว แต่เขาจะกว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เขาจึงเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปในเวลาที่แสนยากจน แล้วเมื่อเรื่องเดินทางไปถึงจุดเปลี่ยนสำคัญแต่ละครั้ง ก็ตัดสลับมาที่ตัวของพลรามใจปัจจุบัน ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าการเล่าแบบนี้ทำให้เราไม่เบื่อครับ

หนังมีความโดดเด่นอย่างมากในการใช้สัญลักษณ์ประกอบการเล่าเรื่องเช่น พลรามได้พูดถึงคนชนชั้นล่างของอินเดียที่มีอยู่อย่างมหาศาลเหมือนว่าทุกคนนั้นถูกขังใจกรงไก่ที่อยู่ในโรงเชือด ไก่ทุกตัวรู้ว่าในอนาคตจะต้องถูกเชือดแน่นอน ไก่ไม่สามารถหนีออกจากกรงได้ แต่ตัวพลรามก็ยังพยายามหาทางออกจากกรงไก่ หรือ ครั้งที่เจ้านายของพลรามได้นอนเลยโรงแรมสุดหรู แต่ตัวเขาเองต้องนอนอยู่ชั้นลานจอดรถใต้ดิน ในห้องที่อับชื้น เขาต้องกางมุ้งนอนเพื่อไม่ให้แมลงสาบจำนวนมากเข้ามาอยู่ในมุ้ง หนังได้ทำให้เห็นงานประติมากรรมมหาตมะคานธีพาผู้คนเดินข้ามฝั่งไปร่อนเกลือเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ เป็นงานประติมากรรมที่พูดถึงความเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าอินเดียจะเป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้นหาความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลย คนที่มีอำนาจมากก็มีเสียงที่มากกว่า แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็มีเงินสะสมจากนายทุนมหาศาล หรือแม้แต่นักสังคมนิยมเองที่ผู้คนต่างสรรเสริญว่าต่อสู้ช่วยเหลือผู้คนชนชั้นล่าง แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วก็แสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเองแทบทั้งนั้น

เอาเข้าจริง ๆ แล้วเรื่อง The White Tiger ก็ไม่ได้แสดงความกดขี่ทางด้านชนชั้นอย่างสุดโด่งมากนัก แม้พลรามจะถูกเอาเปรียบจากเจ้านายและครอบครัวของเจ้านายก็ตาม หรือเป็นทาสรับใช้ที่ดีดูแลเจ้านายอย่างเต็มที่ด้วยความภูมิใจ แม้จะมีการถูกกระทำย่ำยีจิตใจบ้าง ไล่ระดับไปจนถึงให้รับผิดชอบในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ แต่สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราดูแล้วรู้สึกสะเทือนใจมากกว่าเรื่องการกดขี่ก็คือ แรงกดดันที่เกิดจากครอบครัวของพลรามเอง ครอบครัวใหญ่ของเขาก็หวังเงินจากคนรามด้วยแทนทั้งสิ้น บังคับให้พลรามส่งเงินมาให้ครอบครัว และทำตามในสิ่งที่ย่าของเขาบังคับทำตั้งแต่เด็ก และเหนือสิ่งอื่นใดแล้วสิ่งที่กดขี่พลรามได้มากที่สุดก็คือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังความคิดว่าคนที่เป็นทาสรับใช้ก็ต้องภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ต้องภูมิใจในการรับใช้ และรวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องของการแต่งงาน

ดังนั้นสัญลักษณ์กรงไก่ที่พลรามได้พูดถึงเอาไว้จึงมีความหมายหลายนัยที่เราคนดูต้องตีความเอาเอง

สิ่งหนึ่งที่งดงามในหนังเรื่องนี้ก็คือ การใช้คำคมเท่ ๆ หรือคำพูดที่มีความหมายเสียดแทงใจ สอดแทรกในหนังอยู่ตลอดแทบทั้งเรื่อง ซึ่งคำคมหรือคำพูดเหล่านี้เกิดมาจากการเรียนรู้การใช้ชีวิตและการตั้งคำถามของตัวพลราม ตั้งแต่เด็กจนโตเช่น

"อย่าเป็นคนจนในโลกประชาธิปไตย"

"บริษัทจะประสบความสำเร็จได้จะต้องรู้จุดอ่อนของคู่แข่ง"

"คนรวยเกิดมากับโอกาสที่เสียไปได้"

"วรรณะในอินเดียเหลือ 2 วรรณะ วรรณะพุงป่องกับวรรณะพุงแฟบ"

"เราเกลียดเจ้านายของเราก่อนที่พวกเราจะรักเขา หรือเรารักเขาก่อนที่พวกเราจะเริ่มเกลียด"

"เมื่อเราตระหนักว่ามีอะไรงดงามในโลกใบนี้เราจะเลิกเป็นทาส"

"คนจนจะกลายเป็นคนรวยได้นั้นมีแค่ 2 วิธีคือ ก่ออาชญากรรม หรือไม่ก็เล่นการเมือง"

ซึ่งแต่ละคำพูดที่ออกมาจากปากของพลรามนั้น มันทำให้พลรามได้โตขึ้น และมันสามารถทำให้เขาหาทางออกจากกรงไก่ของเขาได้

หนังได้ทำให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของสังคมอินเดียอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นถึงความขัดแย้งของขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวอินเดีย กับระบบเสรีนิยมจากชาติตะวันตก ที่ไม่สามารถหาจุดที่มันลงรอยได้อย่างลงตัว และในขณะเดียวกันหนังก็ยังบอกกับเราอีกว่า ต่อให้เรามีความเป็นหัวสมัยใหม่มากแค่ไหน แต่หากเราไม่สามารถปรับใช้กับบริบทของสังคมและประเทศที่เราอยู่ได้ มันควรก็ต้องตายไปในที่สุด

ดังนั้น ต่อให้คนที่หัวก้าวหน้าที่สุด หัวประชาธิปไตยที่สุด หัวสังคมนิยมที่สุด ยากดี มีจน สักเพียงไหนก็ตาม ก็ยังติดอยู่ในกรงไก่ของตัวเอง รอวันถูกเชือดในแบบของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยนี้แล้วหนังก็ทำให้เห็นว่าหากผู้คนยังยึดติดอยู่กับขนบธรรมเนียมแบบเดิม ยอมรับในวรรณะของตนเองโดยไม่มีการพัฒนาตนเอง หรือพยายามเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เช่นตัวของพลรามเขารู้จักการแก้ไข เรียนรู้ พัฒนา แม้ว่าจะใช้วิธีที่ไม่ได้ขาวสะอาดบ้างนะก็ตาม ที่สุดแล้วเขาก็สามารถออกจากกรงไก่ของเขา และท้ายที่สุด จากสิ่งมีชีวิตแทบไม่มีตัวตนก็สามารถกลายเป็นเสือขาวได้เช่นกัน

เวลาที่หนังจะทำให้เราบันเทิงก็ทำได้ดีมากมันทำให้เราติดหนึบ จนทำให้เวลา 2 ชั่วโมงของหนังผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ในจังหวะที่เขาต้องการให้เราดำดิ่ง เขาก็ดึงเราจนลงลึกและอินกับหนังจนไม่สามารถดึงอารมณ์กลับมาได้เลย ยิ่งช่วงท้ายๆที่พลรามได้กระทำหลายสิ่งหลายอย่างออกไปในสิ่งที่ไม่ควร เรากลับเอาใจช่วยพลรามเฉยเลย

ในด้าน Production ก็เป็นไปตามมาตรฐานของอินเดีย ที่ผมมองแล้วมันดีมาก มีการเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำไปเรื่อย ทำให้เห็นความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของอินเดีย

ส่วนในด้านฝีมือการแสดงแล้ว คนที่รับบทเป็นคนรามนั้นเล่นได้ดีมาก มันดีจนขนาดที่ว่า ถ้าการแสดงแบบนี้อยู่ในฮอลลีวูด ก็มีหวังได้ชิงรางวัลดารานำชายออสการ์ได้เลย แม่จะดูหนังเรื่องนี้เองก็ตาม ผมเชื่อว่า มีศักยภาพมากพอ ที่สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้ เพราะดูแล้วก็ไม่มีอะไรดิยว่า Parasite ของบองจุนโฮเลยสักนิด

ส่วนสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของเรื่อง มันก็อยู่ในคำพูดของพิ้งกี้ ภรรยาสาวของอโศกนั่นแหละ ที่เธอได้พูดกับคนรามว่า "เธอมัวแต่มองหาทางออก ทั้ง ๆ ที่มีกุญแจอยู่แล้ว" หนังก็เหมือนจะบอกกับเราว่า เราถูกขังในกรงไก่ก็จริง แต่เราเองสามารถออกมาจากกรงนั้นได้ เพียงแต่เราพยายามหรือตั้งใจจะออกหรือเปล่า

กล่าวโดยสรุป The White Tiger คือภาพยนตร์อินเดียที่สะท้อนสังคม ชนชั้นของอินเดียได้อย่างลุ่มลึก จิกกัดแวดวงการเมือง นักสิทธิมนุษยชน และศาสนาของอินเดียได้อย่างเจ็บแสบ คงไม่สามารถเล่าหรือแสดงความรู้สึกอะไรไปมากกว่านี้ อยากให้ทุกท่านได้ไปเสพภาพยนตร์เและรับรู้ความงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าถ้าคุณชอบหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของชนชั้น อย่างเช่น Snowpiercer และ Parasite ของบองจุนโฮ หรือของหนังที่ตั้งคำถามสังคมอย่างเฉียบคมเช่น PK , 3 Idiots และ Sanju โดยผู้กำกับ ราจคูมาร์ ฮิรานี ผมเชื่อว่า คุณจะต้องรัก The White Tiger อย่างแน่นอน

9/10

#SuperReviewChannel

หมายเลขบันทึก: 688651เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2021 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 06:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท