ชีวิตที่พอเพียง 3857. คิดต่าง



บทความ How to Think for Yourself น่าอ่านมาก   บอกว่างานริเริ่มสิ่งใหม่ ต้องการคนที่คิดต่างจากคนทั่วๆ ไป    และการคิดต่างนั้น ฝึกได้    มีทฤษฎีหรือหลักการให้ใช้ฝึกฝนตนเอง    คนชอบคิดต่างอย่างผม ที่ชอบฝึกมาตลอดชีวิต ได้บทความจากลูกสาว    อ่านแล้วชุ่มชื่นที่ได้ความรู้ และชื่นใจที่ลูกสาวก็ฝักใฝ่เรื่องทำนองเดียวกัน (แต่เพื่องานคนละแบบ)

หลักการอย่างที่หนึ่งคือ คนเราส่วนใหญ่คิดตามรูปแบบที่มีอยู่ (conventional thinkers)    แต่มีคนกลุ่มหนึ่งคิดอิสระ (independent thinkers)    โดยที่คุณลักษณะนี้ในบางคนติดตัวมาแต่กำเนิด    แต่คนที่ไม่มีติดตัวก็พัฒนาได้โดยการเลี้ยงดูและการศึกษา    คำแนะนำคือ อย่าไปเที่ยวตีตราใคร ว่าเขาคิดแบบ conventional เพราะไม่มีใครชอบที่มีคนตีตราเขาเช่นนั้น แต่ให้หมั่นสังเกตคนที่คิดแบบอิสระ ว่าเขามีหลักการและวิธีการอย่างไร    รวมทั้งเก็บเป็นข้อมูลไว้ว่า ยามต้องการความเห็นต่าง จะไปขอจากใคร       

คำแนะนำในการฝึกตนให้คิดอิสระคือ (๑) อย่าสนใจว่าคนส่วนใหญ่เขาคิดอย่างไร    เราคิดอย่างนี้เป็นเรื่องของเรา     ไม่ต้องกังวลว่าจะคิดเหมือนหรือต่างจากคนอื่น    เรื่องนี้หลอกหลอนหรือทรมานมาตลอดชีวิตช่วงแรกราวๆ ๕๐ ปีแรกของผม     เพราะในสังคมไทย ใครคิดแปลกๆ นอกลู่นอกทางที่คนอื่นๆ คิด    จะถูกล้อเลียน  โห่ฮา  และไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในโรงเรียน    ผมเก็บงำความรู้สึกนี้มาตลอดจนเริ่มกล้าเถียงบ้างตอนท้ายๆ ของการเรียนแพทย์    จนเพื่อนๆ บอกว่า “สมกับชื่อวิจารณ์”    แต่ผมก็จะแสดงออกในที่จำกัด คือในกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น   

เอามาเล่าเพื่อจะบอกว่า สังคมเยาวชนไทยสมัยหกสิบปีก่อน    ไม่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดอิสระ    ยุคนี้เป็นอย่างไรผมไม่รู้  

วิธีฝึกฝนการคิดอิสระอย่างที่ (๒) คือให้เข้ากลุ่มคนที่คิดอิสระ    นี่คือหลักธรรมะ สัปปุริสูปสังเสวะ (คบคนดี) หรือ รู้จักเลือกคบคน (ปุคคลปโรปรัญญุตา)   แต่ปรับนิดหน่อย ว่าไม่ใช่แค่คบคนดี  ต้องคบคนคิดอิสระ เพื่อให้ตัวเราได้บ่มเพาะความคิดแบบนั้น จากสภาพแวดล้อม    

เคล็ดลับตรงนี้คือ ไม่จำเป็นว่า คนแวดล้อมเราทั้งหมดต้องเป็นคนคิดอิสระ    เพราะจะทำไม่ได้    คนคิดอิสระเป็นชนส่วนน้อยในสังคม    เรามีกัลยาณมิตรแบบนี้สองสามคนก็พียงพอ         

 วิธีฝึกฝนการคิดอิสระอย่างที่ (๓) ให้พบปะพูดคุยกับคนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายมากๆ    เพื่อลดอิทธิพลของ คนแวดล้อมที่คิดตามรูปแบบ    ซึ่งวิธีง่ายที่สุดคือ ไปเที่ยวต่างประเทศ     ซึ่งเราต้องรู้วิธีใช้ประโยชน์ในการพบคนแปลกหน้า เพื่อเรียนรู้วิธีคิดต่าง   ไม่ใช่แค่ไปเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินหรือพักผ่อนหย่อนใจ        

นี่คือการฝึกความคิดอิสระผ่านการขยายพื้นที่ในชีวิต    อีกแนวทางหนึ่ง ทำโดยขยายเวลา     ให้ได้เรียนรู้จากกาละแห่งอดีต   ซึ่งก็คืออ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์   

อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนผู้น้อง ที่ขยายการคิดอิสระของตนผ่านการดูหนัง (ในขณะที่ผมทำผ่านการอ่าน)    ทำให้คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นคนมีความคิดอิสระสูงมาก    

  วิธีฝึกฝนการคิดอิสระอย่างที่ (๔) คือฝึกให้ตนเองเป็นคนขี้ฉงน หรือขี้สงสัย (skepticism)    ซึ่งก็ตรงตามกาลามสูตร ที่สอนให้ไม่เชื่อง่าย     และตามหลักการศึกษาสมัยใหม่ คือฝึกให้ตั้งคำถาม    และฝึกหาคำตอบหลายๆ แบบ    รวมทั้งฝึกคิดหลายๆ แบบสู่คำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียวหรือหลายคำตอบ    จะเห็นว่า การศึกษาที่มีคุณภาพสูง จะฝึกเด็กให้เป็นคนคิดอิสระ 

เมื่อได้รับข่าว หรือข้อมูลใด แวบแรกในใจต้องเป็นว่า จริงหรือ?    ตามด้วยการค้นหาหลักฐาน ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหลักฐาน     

 วิธีฝึกฝนการคิดอิสระอย่างที่ (๕)   ให้เค้นหาความคิดอิระจากฝูงชนที่คิดตามรูปแบบ หรือประเพณีนิยม นั้นเอง    โดยทำความเข้าใจว่า    การคิดตามประเพณีนิยมมีรูปแบบ (pattern) อย่างไร    ส่วนไหนที่มันขัดกับความเป็นจริงในปัจจุบัน    ในกรณีเช่นนี้ เราต้องฝึก แยกตัวออกมาเป็น “ผู้ดู” มองดูเรื่องราวของผู้คนหรือสังคม    ต่อภาพเล็กๆ ให้เป็นภาพใหญ่ หรือ pattern ของพฤติกรรมหรือเรื่องราว ที่สะท้อนความคิดของฝูงชนนั้น    หาทางเถียงว่า หากคิดต่างทำต่าง ณ จุดใด จะเกิดคุณประโยชน์ต่อชุมชนหรือสังคมนั้นอย่างมากมาย   

ผมตีความว่า เป็นวิธีทำความเข้าใจ “ความจริง” ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    เราจะค้นพบจุดอ่อนของความคิดที่อยู่เบื้องหลัง    นำไปสู่การคิดใหม่ ทำใหม่    วิธีการนี้เป็นแนวทางของการวิจัยสังคม เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ในสังคม    และเสนอแนะระบบหรือแนวทางใหม่ๆ  

วิธีฝึกฝนการคิดอิสระอย่างที่ (๖) หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อความคิดอิสระ    โดยออกกำลัง ๓ ท่าคือ (ก) ตั้งคำถามต่อ “ความจริง” (truth)  (ข) ต่อต้านการถูกบอกหรือสั่งให้คิดแบบใดแบบหนึ่ง  (ค) ความใคร่รู้ (curiosity)  หรือขี้สงสัย   หรือตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง        

ผมเล่าบ่อยๆ ว่า เจ้า ข้อ (ข) นี่ติดตัวผมมาแต่กำเนิด    และก่อความเดือดร้อนให้แม่และตัวผมเองมาก    แม่หวาดวิตกว่า ลูกคนนี้โตขึ้นจะเสียคน    ส่วนผมโดนตีแทบทุกวัน  

ข้อ (ก) น่าสนใจมาก    เขาบอกว่า ต้องอย่าเพียงตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริง    ต้องตั้งคำถามต่อ “ระดับของความจริง” ด้วย

“กล้ามเนื้อความคิดอิสระ” ทั้งสามนี้ เชื่อมโยงกัน ส่งเสริมกัน และทดแทนกันได้ในบางกรณี    เขาแนะนำว่า แทนที่จะทำสิ่งที่ชอบ  ให้เปลี่ยนเป็น ทำสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๖๓      


      

หมายเลขบันทึก: 687966เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท