ชีวิตที่พอเพียง 3842. สมมติฐาน


  

ระหว่างอ่านหนังสือ Facilitating Evaluation : Principles in Practice (2018) เขียนโดย Michael Quinn Patton  เพื่อเขียนบันทึกชุด Developmental Evaluation   สะดุดใจที่หน้า ๒๒๙ – ๒๓๑ หัวข้อ Surfacing Assumptions  เขียนโดย Hallie Preskill    ที่เมื่ออ่านแล้วผมจึงตระหนักว่า คนเราอยู่กับสมมติฐานหรือข้อสมมติ มากกว่าอยู่กับความจริง

กล่าวใหม่ว่า คนเราพอใจที่จะอยู่กับมายาคติ    มากกว่าพอใจอยู่กับความจริง    เพราะการค้นหาความจริงมันยุ่งยากสำหรับชีวิต

สรุปอย่างนี้อาจจะผิด  

สมมติฐานหมายถึงสิ่งที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นความจริง ใหรือมั่นใจว่าจะเกิด โดยไม่มีข้อพิสูจน์    เน้นคำว่า “โดยไม่มีข้อพิสูจน์”  นะครับ    

ในการคิด ตัดสินใจ หรือกระทำการใดๆ มนุษย์เราต้องกำหนดสมมติฐานขึ้นใช้เป็นฐาน    ที่เราต้องศึกษาเล่าเรียน ก็เพื่อทำให้สมมติฐานของเราอยู่บนฐานความเป็นจริงให้มากที่สุด    รวมทั้งเป็นความจริงในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง ซึ่งจะทำให้ผิดพลาดน้อย  หรือไม่รุนแรง    

สมมติฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา  เป็นเรื่องไม่ซับซ้อนนัก     หรือไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย     ปล่อยๆ ไปได้    อย่างเวลาคุยกับลูกๆ     ในหลายกรณีผมจับได้ทันทีว่าสมมติฐานของลูกกับของผมไม่ตรงกัน    จึงตัดสินใจต่างกัน    แต่เป็นเรื่องไม่คอขาดบาดตาย    จึงปล่อยๆ ไป  ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งให้เสียบรรยากาศ   

ยิ่งกับภรรยา  หลังแต่งงานได้สามเดือน ผมก็ตระหนักว่า     เธอกับผมมีสมมติฐานในเรื่องต่างๆ ไม่ตรงกันมากมาย    ที่ไม่จำเป็นต้องทำให้ตรงกันก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข    หากมันก่อความขัดแย้ง เราก็สามารถแก้ได้ด้วยความรัก    รักกันมากจนมีลูกตั้ง ๔ คน     สมัยนี้หากขัดแย้งกัน ก็แก้ได้ด้วยอารมณ์ขัน

ในชีวิตส่วนตัว รู้เท่าทันสมมติฐานได้ เราก็สบายใจ    มีชีวิตที่ดีได้โดยไม่โดนสมมติฐาน หรือสิ่งที่เป็นกึ่งจริงกึ่งลวง ครอบงำ           

มนุษย์เราจำเป็นต้องสร้างสมมติฐานขึ้นมาใช้เป็นฐานคิด ฐานปฏิบัติ    หากเป็นงานสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะ เราต้องระมัดระวังในการใช้สมมติฐาน    คือต้องหาข้อมูลหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ มายืนยันว่าสมมติฐานนั้นคือความจริง    และเป็นความจริงที่อยู่บนฐานของคุณธรรม ความดี ความงาม     

กลายเป็นการกระทำบนฐานความจริง ความดี ความงาม    ใครมีวัตรปฏิบัติในชีวิต ในสภาพนี้ได้ก็จะมีชีวิตที่ดี   เป็นที่เชื่อถือ    เป็นชีวิตอุดม

แต่เราก็มี ๒ อุปสรรคใหญ่ในชีวิตกันทุกคน ในการดำรงชีวิตอุดม     

อุปสรรคแรกคือ การระบาดใหญ่ของมายาคติในสังคม    ดูเสมือนว่า ยิ่งอารยะธรรมมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้า     โรคระบาดของมายาคติความหลอกลวงในสังคมก็ยิ่งรุนแรง     ดังที่เราเห็นๆ อยู่จากโซเชี่ยลมีเดีย  การโฆษณา  และจากการเมือง

แต่นั่นยังเป็นอุปสรรคที่เป็นรอง     เพราะอุปสรรคที่สองอยู่ภายในตัวเราเอง     และยึดครองพื้นที่อย่างแน่นหนาขจัดยาก    สิ่งนั้นคือกิเลสตัณหา  ที่เข้าครอบครองจิตใจ  ทำให้สมมติฐานบิดเบี้ยว    จากฤทธิ์ของ โลภะ โทสะ โมหะ และ โกธะ    หากเราไม่หมั่นชำระจิตใจด้วยการตั้งจิตมั่นและใคร่ครวญ        มารร้ายทั้งสี่จะกินลึกเข้าไปในสมองชั้นในของเรา     และกำกับการคิดอย่างเร็วที่เป็นฐานของพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน     ทำให้ชีวิตของเราตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของมารร้ายโดยไม่รู้ตัว  และในหลายกรณี อย่างหลงว่าดี

ชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ต้องจัดการสมมติฐานส่วนตน และส่วนรวม    ให้สมมติฐาน (assumption) เข้าใกล้หรือซ้อนทับกับความเป็นจริง (fact)  และความดี ความงาม ให้มากที่สุด

นี่คือมิติหนึ่ง ของชีวิตแห่งการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๖๓    


      

หมายเลขบันทึก: 687546เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2020 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2020 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท