ราชินีแห่ง "ศาสตร์" ทั้งปวง?


เพิ่งได้ยินเคลมที่ว่า "ความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้รับการยกย่องให้เป็น Queen of Science" เลยลองไปค้นดูและได้ความรู้เพิ่มขึ้นดังนี้

(๑) คนที่พูดวลีนี้คือ ออกุสต์ กองต์ (๑๗๙๘ - ๑๘๕๗) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส [Indeed, he argued that sociology was to be the “queen science” that would stand at the top of a hierarchy of all sciences—an outrageous prediction but one that gathered a considerable amount of attention in his early writings. Comte’s abrasive personality was, eventually, to be his undoing; by the time the last installment of Course of Positive Philosophy was published, he was a forgotten intellect.]

(๒) "คณิตศาสตร์เป็นราชินีแห่งวิทยาศาสตร์" (Mathematics is the queen of the sciences) และมีคำตามว่า "และทฤษฎีจำนวนเป็นราชินีแห่งคณิตศาสตร์" (and number theory is the queen of mathematics.) เคลมนี้ถูกกล่าวโดย คาร์ล ฟรีดิช เกาส์ (Carl Friedrich Gauss) นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ๑๗๗๗ - ๑๘๕๕ ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือเรื่อง ฟังก์ชั่นที่แสดงการแจกแจงปกติ (Gaussian function)

เนื่องจากทั้งคู่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน คือช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙ เป็นไปได้ว่า ทั้งกองต์และเกาส์ น่าจะได้อ่านโควต์ของกันและกัน เลยออกแถลงการณ์มาขัดกันเช่นนี้ ทำไมเป็นเช่นนั้นให้ดูเรื่องญาณวิทยาในข้อถัดไป

(๓) "เศรษฐศาสตร์เป็นราชินีแห่งสังคมศาสตร์" วลีนี้น่าจะเป็นวลีที่ได้ยินบ่อยที่สุด อ้างกันว่าเป็นคำพูดของ พอล แซมมูเอลสัน (๑๙๑๕ - ๒๐๐๙) แต่ผมค้นไม่พบต้นฉบับที่แซมมูเอลสันพูดเอาไว้ที่ไหนเลย แต่คำอ้างนี้ก็มีอิทธิพลสูงมาก เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาเดียวในสังคมศาสตร์ที่มีโอกาสได้รับรางวัลโนเบล ส่วนใหญ่รางวัลโนเบลจะมอบให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อย่าง ฟิสิกส์ เคมี และการแพทย์ ส่วนสาขาที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์จะมีสาขาวรรณกรรม และงานด้านสันติภาพ

รางวัลโนเบลนั้นบริหารจัดการโดย ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (รับผิดชอบสาขาฟิสิกส์และเคมี) สมัชชาโนเบลแห่งสถาบันแคโรลินสกา (รับผิดชอบสาขาสรีรศาสตร์และแพทย์ศาสตร์) บัณฑิตยสภาแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (รับผิดชอบสาขาวรรณกรรม) คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ (รับผิดชอบสาขาสันติภาพ) และธนาคารกลางสวีเดน (รับผิดชอบสาขาเศรษฐศาสตร์) มีการก่อตั้งคณะกรรมการโนเบลที่รับผิดชอบการประกาศและมอบรางวัลนี้ขึ้นในปี ๑๘๙๖ อีกห้าปีต่อมาก็มีการประกาศพิธีการมอบรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๐๑ ส่วนสาขาเศรษฐศาสตร์จะมีการพิจารณามอบรางวัลในอีก ๖๗ ปีให้หลังจากการมอบรางวัลครั้งแรกในปี ๑๙๖๘

เรื่องที่ควรพิจารณาคือในทางญาณวิทยา เศรษฐศาสตร์ถูกจัดให้อยู่กึ่งกลางระหว่างศาสตร์ที่ใช้เหตุและผลเชิงอุปนัยและนิรนัยแบบแข็งแกร่ง (strong causal models: CM) แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กับอีกฝ่ายที่เป็นศาสตร์ที่ใช้วิธีการตีความ (interpretive models: IM) หรือถือว่ามีการใช้เหตุและผลเชิงอุปนัยและนิรนัยแบบอ่อนอย่างศาสตร์สาขาสังคมศาสตร์อื่น ๆ หรือถ้ามองจากด้านมานุษยวิทยาก็ต้องถือว่า IM มีการพิจารณาลักษณะแบบมานุษยวิทยาอย่างเข้มข้น ("thick" theory of human action) ในขณะที่เศรษฐศาสตร์แม้จะมีการอนุมานเหตุและผลเชิงอุปนัยและนิรนัยแบบวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีผสมผสานลักษณะแบบมานุษยวิทยาแบบอ่อน ๆ ลงไปเพิ่มเติมด้วย ("thin" theory of human action) ดูงานเขียนที่ผมพูดถึงญาณวิทยาทั้งสามแบบได้จากที่นี่: A comparative study of three major explanatory models based on philosophy of science

กล่าวให้ถึงที่สุด รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ "รางวัลโนเบล" แต่เป็นรางวัล "ธนาคารกลางสวีเดน" ในฐานะการระลึกถึงต่ออัลเฟรด โนเบล ไอเดียเบื้องหลังการมอบรางวัลนี้ก็เพื่อ "สร้างภาพลักษณ์" ให้เศรษฐศาสตร์มองดูเป็นวิทยาศาสตร์ คำวิจารณ์แบบนี้ ฟรีดิช ออกัสต์ ฟอน ฮาเย็ค (๑๘๙๙ - ๑๙๙๒) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี ๑๙๗๔ ก็กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะผู้ได้รับรางวัลไว้เองว่า การสร้างรางวัลแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะสร้างภาพต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์มีฐานะเทียบได้กฎทางวิทยาศาสตร์แบบ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา จะว่าไปความเชื่อที่ว่าสังคมศาสตร์มีฐานะแบบเดียวกับวิทยาศาสตร์ก็เคยมีปัญหาในสหภาพโซเวียตมาก่อน เขายกความเห็นของอัลเฟรต มาร์แชล ขึ้นมาว่า ทุกศาสตร์และทุกเคลมในสังคมศาสตร์ควรถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น “Students of social science, must fear popular approval: Evil is with them when all men speak well of them”.

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศในเขตยุโรปเหนือจะใช้เครื่องมือเชิงมาตรฐานและวัฒนธรรมแบบนี้ในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ นักภูมิรัฐศาสตร์หลายคนก็มองว่ารางวัลโนเบล (โดยเฉพาะรางวัลสันติภาพ) เป็นสัญลักษณ์และการสร้างบรรทัดฐานชี้นำล่วงหน้าทางการเมือง ถือเป็นการใช้อำนาจอ่อน (soft power) ประเทศในยุโรปเหนือประกอบไปด้วย สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก บางครั้งจะมีสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมด้วย ประเทศเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในวาระเรื่องการเจรจาสันติภาพสำหรับความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ เรื่องที่ต้องสังเกตคือทั้งสวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ไม่เคยตกเป็นประเทศใต้ปกครองของมหาอำนาจใดเลยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทั้งคู่ดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเหนียวแน่นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ นอกจากนี้ภาพในอีกด้านทั้งคู่ยังดำเนินนโยบายสร้างกำลังทหารและกองทัพเพื่อรับประกันอธิปไตยของตน รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธในประเทศทำให้ไม่ต้องไปพึ่งพาอาวุธจากประเทศอื่น แต่กลับเป็นประเทศส่งออกเสียเอง

เอาเข้าจริงเขตสหภาพยุโรปไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่แบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันไป เช่นกลุ่มละตินยุโรป (ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี) กลุ่มโปรแตสแตนท์ (เยอรมนี ออสเตรีย) กลุ่มยุโรปแผ่นดินต่ำ (เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม) กลุ่มยุโรปเหนือ (สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก, อาจรวมสวิตเซอร์แลนด์) กลุ่มยุโรปตะวันออก (โปแลนด์ ฮังการี เชคโกสโลวะเกีย โรมาเนีย ฯลฯ) กลุ่มแองโกลแซกซัน (อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์) ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 687530เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2020 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2020 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท