ชีวิตที่พอเพียง 3823. สมุดบันทึกเส้นทางการเรียนรู้



บนชั้นสองของบ้าน มีเอกสารกองอยู่มากมาย เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ ผมหยิบ สมุดบันทึก เส้นทางการเรียนรู้เล่มเล็ก ที่แจกโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (ดูรูป)    พลิกดูพบลายมือตนเองเริ่มเขียนบันทึกเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๒    กว่า ๒๓ ปีมาแล้ว    สมัยยังทำงานที่ สกว.  

สมุดบันทึกเล่มเล็กนี้มีคำคมเกี่ยวกับการศึกษาอยู่ที่ด้านล่างของกระดาษหน้าขวา     ผมขอคัดลอกมาลงไว้ดังต่อไปนี้

ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ   ผลการศึกษาอบรมในวันนี้ จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า

พระราชดำรัส  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช


การศึกษาในที่นี้ ข้าพเจ้าไม่หมายความ เฉพาะการเรียนในโรงเรียน หรือการเรียนหนังสือเท่านั้น  แต่หมายความไปถึงการฝึกฝนอบรมให้เด็กๆ รู้จักคิดด้วยปัญญาอันมีเร้นเป็นพลังอำนาจทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ในตน   ให้เกิดเป็นความเจริญคลี่คลาย  มีนิสัยไปในทางดีงาม

พระยาอนุมานราชธน


การศึกษาในปัจจุบัน ทั้งโลกก็ว่าได้   มันมีแต่เพียงสองอย่าง   คือรู้หนังสือกับอาชีพ   แล้วก็ขะมักเขม้นกันอย่างดีที่สุด เร็วที่สุด ก้าวหน้าที่สุด    มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าสองอย่างนั้น    มันก็ยังขาดการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่นั่นเอง   ดังนั้น อาตมาจึงเรียกการศึกษาชนิดนี้ว่า   เป็นการศึกษาที่เป็นเหมือนกับหมาหางด้วน

พุทธทาสภิกขุ  


การศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการให้    การฝึกให้รู้จักให้จะสอนเด็กให้เกิดมีความสุขจากการให้  และก่อให้เกิดเมตตาธรรม

พระธรรมปิฎก (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ประยุทธ ปยุตฺโต)


การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง  ต้องเดินหน้าด้วยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง   ที่เราเรียกว่า การพัฒนาชนบท

เสน่ห์ จามริก


การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์   เพราะสมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล   สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้

ประเวศ วะสี


วิกฤติที่สำคัญที่สุดของระบบการศึกษาไทย   คือความทุกข์ของผู้เรียน   เนื่องจากเนื้อหาที่เรียนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของเด็ก   เด็กจำใจต้องเรียนรู้สิ่งที่เป็นเรื่องไกลตัว

รุ่ง แก้วแดง


แท้ที่จริง  การจัดการศึกษาที่ควรจะเป็นนั้น   น่าจะอยู่ที่การมองหาพรสวรรค์ในเด็ก    มากกว่าการมองหาเด็กที่มีพรสวรรค์

อุทัย ดุลยเกษม


ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น  ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะว่า คนที่อยู่ในระดับตัดสินใจของไทย  ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทย   คือมีความรู้ แต่ไม่มีความคิด

อมเรศ ศิลาอ่อน


การศึกษาที่ไม่ทำให้คนมีศีลธรรมนั้นไม่ใช่การศึกษา   ... แผนการศึกษาของโลกสมัยนี้ไม่มีการทำให้เด็กเด็กรู้ว่าเกิดมาทำไม    เมื่อคนเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมมันก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะไม่ได้อะไรอันเป็นสิ่งสูงสุด

พุทธทาสภิกขุ

  

การจะทำให้การศึกษาสนองตอบต่อชีวิตของผู้เรียนได้นั้น   จำเป็นที่ต้องคืนการศึกษาแก่ประชาชน   รัฐควรจะลดบทบาทของตนในการจัดและควบคุมการศึกษาลงไปกว่านี้ให้มาก

นิธิ เอียวศรีวงศ์


การปรับตัวของแต่ละคนและของทางสังคม มีหัวใจอยู่ที่การเรียนรู้ของคน    จึงต้องสร้างให้เกิดความรักที่จะเรียนรู้   เพื่อจะนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้

สิปปนนท์ เกตุทัต


ก่อนที่เราจะเรียนรู้อะไร  เราจะต้องสนใจใคร่รู้ในสิ่งนั้นเสียก่อน    การเรียนรู้ก็คือการเล่นกับแนวคิด และสิ่งที่เป็นวัตถุ    การมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่อยากรู้จึงมีความสำคัญ

ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ทุกช่วงเวลาของชีวิตนั้นมนุษย์เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ   แต่หากแต่เป็นการเรียนรู้ตามยถากรรม    การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ได้มีส่วนจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนให้เจริญไพบูลย์ตามความคาดหวัง

สุมน อมรวิวัฒน์

ถ้าเราจะจัดการศึกษาเพื่อให้เป็นหลักฐานในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงามและสร้างสังคมที่ดีงาม   ควรเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น และการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของเด็ก

พิภพ ธงชัย

การให้การศึกษาต่อคนของเราเพื่อก้าวไปในอนาคต ไม่เพียงแต่เราคนไทยจะต้องรวบรวมวิทยาการใหม่ๆ เท่านั้น    เราจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจภูมิปัญญาสั่งสมของเราเองในฐานะที่เรามีปัญญา มีรกรากพื้นเพทางวัฒนธรรม อันได้สั่งสมสืบสานกันมาช้านาน

เอกวิทย์ ณ ถลาง

เรารู้ว่าเขาเก่งหรือไม่จากคำตอบของเขา   แต่เรารู้ว่าเขาฉลาดหลักแหลมหรือไม่จากคำถามของเขา

สุภาษิตฝรั่งเศส

ความรู้คือสิ่งที่ตายไปแล้ว   แต่โรงเรียนมีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่   โรงเรียนควรจะช่วยพัฒนาเยาวชนแต่ละคนให้มีคุณภาพและความสามารถ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

การศึกษาควรจะช่วยให้นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้พร้อมๆ กับที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม   และสิ่งที่จะช่วยได้มากในเรื่องนี้ก็คือการฝึกให้เขาปกครองตนเอง

เอ. เอส. นีล

ส่วนสำคัญที่สุดของการสอน คือสอนในสิ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้

ไซมอน วีล

ข้าพเจ้ามิเคยยอมให้โรงเรียนเข้ามาขัดขวางการศึกษาของข้าพเจ้าได้เลย

มาร์ค ทเวน

เด็กที่ไม่สามารถจินตนาการ  ไม่เพียงแต่ไม่สามารถเรียนรู้ได้เท่านั้น  แต่ยังเป็นคนที่โดยทั่วไปแล้วไม่มีความหวังอะไรอีกด้วย

โจเซฟ เพียร์ซ

เป้าหมายหลักของการศึกษา คือการสร้างมนุษย์ให้สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ    มิใช่เดินตามรอยสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมาแล้ว    นั่นคือต้องเป็นนักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ และนักค้นพบ

ฌอง ปีอาเช่ต์


บุคคลผู้ได้รับการศึกษาอย่างเสรีมักค้นพบความคิดใหม่ๆ จากความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจใคร่รู้   ขณะที่บุคคลผู้ถูกบังคับจะได้ความคิดใหม่ๆ จากความกลัว

เจมส์ บี. สต็อกเดล

มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความอ่อนแอ เราต้องการความเข้มแข็ง    ในยามที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เราต้องการความช่วยเหลือ    ในความโง่ เราต้องการเหตุผล    ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ขาดมาตั้งแต่กำเนิด    สิ่งที่เราต้องการในขณะที่เข้าสู่สังคมมนุษย์ คือ ของขวัญจากการศึกษา

ฌอง ฌาค รุสโซ

ความอยากรู้ในความรู้หลายอย่างเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเยาวชน    แต่โดยทั่วไปแล้วความไฝ่รู้นี้ถูกทำลายลงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ ถูกยัดเยียดข้อมูลความรู้มากเกินกว่าที่เด็กต้องการ

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์



คำคมเหล่านี้ลุ่มลึก    ต้องอ่านแบบใคร่ครวญ จึงจะได้สาระลุ่มลึกที่ซ่อนอยู่

อ่านคำคมทางการศึกษาเหล่านี้แล้ว    ผมเกิดความรู้สึกว่า     ในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยไม่ได้เอามาใช้เลย หรือเอามาใช้น้อยมาก  

กลับมาที่บันทึกของผมเอง    ย้ำว่าเป็นบันทึกเมื่อปี ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓ นะครับ 

เป็นบันทึกประเด็นที่ควรทำวิจัย หรือกำลังสนับสนุนให้ทำวิจัย    เช่นวิจัยด้านวัฒนธรรมและศิลปะในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้น ecotour    ได้บันทึกการเดินทางไปสุรินทร์ร่วมกับคุณภราดร พยัฆวิเชียร ผู้ว่าการ ททท. ในสมัยนั้น    เพื่อหาทางใช้วัฒนธรรมช้างเพื่อการท่องเที่ยว   ได้รู้จักคนกูย  วงกันตรึม  พิธีปลุกเสกหนังประกำ    ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่างด้านสังคมสมัยโบราณ    ที่สำคัญคือเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชน   แต่ปัจจุบันหนังประกำเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเอามาเป็นสินค้าโฆษณาขายในอินเทอร์เน็ตกันเกร่อ  

ผมยังจำเหตุการณ์ที่ไปร่วมพิธีปลุกเสกหนังประกำได้ติดตา     รวมทั้งได้จับเชือกหนังประกำสำหรับคล้องช้างนี้ด้วย    เป็นหนังควายทั้งตัว ๓ เส้น ฟั่นกัน ใช้ไข่ไก่ช่วยหล่อลื่นและจับยึด    ความยาว ๓๐ - ๔๐ เมตร    ปลายข้างหนึ่งเป็นบ่วงสำหรับคล้องช้าง    อีกปลายหนึ่งเอาไปพันต้นไม้   

ผมรู้สึกว่า ชาวบ้านอีสานใต้ที่สุรินทร์ มีวิถีชีวิตผูกพันกับคาถา ความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับ มากกว่าชาวบ้านภาคใต้ที่ผมคุ้นเคยอย่างเทียบกันไม่ได้เลย   

อีกเกือบ ๑ ปี ต่อมาจึงเป็นบันทึกที่ ๒ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓    บันทึกการบรรยายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี    ผมไม่ได้จดหัวข้อไว้    แต่เดาว่าน่าจะเป็นการกล่าวเปิดการประชุมเรื่อง ระบบประกันคุณภาพโรงพยาบาล    เป็นช่วงเริ่มต้นการก่อเกิด พรพ. ซึ่งปัจจุบันคือ สรพ.    โดยท่านพูดกว้างมาก  ว่าด้วยเรื่องคน  ระบบ  การปฏิรูประบบ  การจัดองค์กรที่เกี่ยวกับการให้บริการสังคม    โยงสู่การดูแลสุขภาพ    ท่านบอกว่า บริการภาครัฐมีข้อจำกัด   จึงต้องระดมทรัพยากรจากหลายฝ่ายเข้ามาดูแลสุขภาพ  โดย  (๑) ประกันสุขภาพ  (๒) สงเคราะห์ สวัสดิการ  (๓) รัฐซื้อบริการให้แก่ประชาชน  

เรื่องรัฐซื้อบริการให้แก่ประชาชนคือ พื้นฐานของการเกิด สปสช.    แต่แปลกที่เมื่อนักวิชาการเอาผลการวิจัยเรื่องหลักประกันสุขภาพไปเสนอแก่รัฐบาลในขณะนั้นในเชิงนโยบาย    รัฐบาลไม่รับ    แต่อีกปีเดียวหลังจากนั้นคุณทักษิณเอาไปใช้หาเสียงให้แก่พรรคไทยรักไทย    และได้เป็นรัฐบาล เกิดโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค   และพัฒนาหน่วยงานเป็น สปสช. ในปัจจุบัน          

 นพ. ปัญญา สอนคม ถามท่านว่า องค์กร HA (Hospital Accreditation) ควรเป็นอย่างไร     ท่านตอบว่า ต้องเป็นอิสระ  เป็นหน่วยราชการไม่ได้    พรพ. จึงเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ สวรส. อยู่หลายปี     เพิ่งมาเป็นองค์การมหาชนในปี ๒๕๕๒  

สมุดบันทึกการประชุม HA ไว้ละเอียดมาก    อาจมีส่วนทำให้ผมโดน อ. หมอสงคราม ทรัพย์เจริญ จับไปทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สรพ. อยู่ ๒ ปีเริ่มจากปลายปี ๒๕๕๒  ก่อนจะอายุครบ ๗๐ ปีในปี ๒๕๕๕ และเป็นต่อไม่ได้    

บันทึกลงท้ายด้วยคำบรรยายของ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เรื่อง ความรู้เพื่อพัฒนาสังคมไทย    ท่านให้โมเดล การตัดสินใจที่เหมาะสม เป็นเป้าหมายในสามเหลี่ยม    ที่มุมบนคือ สติ ปัญญา วิจารณญาณ การใช้เหตุผล     มุมซ้ายเป็น องค์ความรู้สากล   มุมขวาเป็น ข้อมูลเฉพาะกรณี ที่ผมตีความว่า ความรู้เชิงบริบท

อ่านแล้วคิดว่าตัวเองเป็นคนมีบุญ ที่ได้อยู่กับเรื่องสร้างสรรค์ตลอดชีวิต    ที่สำคัญคือ มีการเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นชีวิตที่มีการเรียนรู้สูงมาก   ชีวิตที่เกิดมาเป็นนักเรียน   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๖๓



      

หมายเลขบันทึก: 687007เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2020 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2020 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท