Developmental Evaluation : 12. อยู่กับเป้าหมายการนำไปใช้ประโยชน์



สาระในตอนที่ ๑๒ นี้    ผมตีความจากบทที่ 3  The Overarching Principle of Evaluation Facilitation : Be Utilization-Focused    ของหนังสือ Facilitating Evaluation : Principles in Practice(2018) เขียนโดย Michael Quinn Patton    

สาระสำคัญคือ การทำหน้าที่กระบวนกรของ DE ต้องยึดมั่นในหลักการ (principle)    ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดคือ DE เป็นการประเมินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์   

กระบวนการ DE และกระบวนการ Evaluation Facilitation เป็นเรื่องละเอียดอ่อน    ความละเอียดอ่อนนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินการ DE  และ Evaluation Facilitation    โดยผู้ดำเนินการกระบวนการทั้งสองต้องยึดมั่นในหลักการประสิทธิผลของการนำไปใช้ประโยชน์

เพื่อให้เกิดผลต่อการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง การประเมิน DE และการทำหน้าที่กระบวนกร ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง (relevant),  มีความหมาย (meaningful),  น่าเชื่อถือ (credible),  และในที่สุดมีการนำไปใช้    การทำหน้าที่กระบวนกรต้องเน้นที่ การเอื้อให้เกิดทางเลือก (choice) และในที่สุด มีการตัดสินใจ (decision)    โดยต้องเอื้อให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญ  สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้มีส่วนร่วม  ส่งเสริมให้มีการปรับตัวตลอดช่วงของการทำหน้าที่กระบวนกร    และสำคัญที่สุด ช่วยให้เกิดการประเมิน   

ทำไมต้องใช้หลักการเน้นการใช้ประโยชน์

ย้ำที่คำว่า “หลักการ”

หลักการ (principle) เป็นแนวทางกว้างๆ ให้ยึดถืออย่างยืดหยุ่น    ไม่ใช่ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดตายตัว อย่างในกรณีของมาตรฐาน (standards)  หรือกฎ (rules)  

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการนำไปใช้ประโยชน์    การเอื้ออำนวยต่อการประเมิน (evaluation facilitation) ต้องยึดมั่นในหลักการ แต่ยืดหยุ่นในกระบวนการ    สุดขั้วหนึ่งของกระบวนการคือ ยึดมั่นในขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด (ที่ DE ไม่ใช้)   ในขณะที่อีกขั้วหนึ่ง (ซึ่งเป็นแนวทางของ DE) คือปรับกระบวนการได้ตามสถานการณ์ที่คลี่คลายไป    ที่เลือกดำเนินการในแนวทางนั้นๆ ก็เพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำให้การประเมินนำไปสู่การใช้ประโยชน์   

ความเป็นจริงของการประเมินแบบ DE คือ ต้องสนองความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความหลากหลายมาก    ความหลากหลายนั้นต้องการการตอบสนอง    การตอบสนองนั้นต้องมีการปรับตัวอย่างเป็นพลวัต    การเอื้ออำนวยความสะดวกต่อกระบวนการ DE จึงต้องมีที่ยึดเหนี่ยวที่ยืดหยุ่น ซึ่งก็คือ หลักการ (principles)  ไม่ใช่กฎ (rules)    ต้องไม่ดำเนินการแบบ one size fits all     

      เพื่อให้ DE และกระบวนกรของการประเมิน (evaluation facilitator) ยึดหลักการการใช้ประโยชน์    Patton  คิดคำอธิบายขึ้นมาช่วยให้เข้าใจชัดเจนว่า “หลักการ” ที่ดีเป็นอย่างไร  เรียกคำอธิบายนี้ว่า GUIDE   ซึ่งเป็นตัวย่อ ที่สะท้อนความเป็นแนวทาง  หรือหลักการ   หลีกเลี่ยงการใช้เป็นกฎเกณฑ์กติกา   

G.U.I.D.E.คือคุณลักษณะที่ดีของ หลักการ 

GUIDE ช่วยให้การดำเนินการ DE และ evaluation facilitation โฟกัสที่การใช้ประโยชน์ ที่ปรับได้ตามสถานการณ์ หรือบริบท   

หัวใจสำคัญคือ มั่นหมาย (โฟกัส) อยู่กับ “การใช้ประโยชน์ที่กำหนด” (intended use)    โดย “ผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มที่กำหนด” (intended users)    ซึ่งหมายความว่า ต้องระบุให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่า “การใช้ประโยชน์ที่กำหนด” คืออะไร    “ผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มที่กำหนด” คือใครบ้าง    และในระหว่างทางของการดำเนินการ DE    หากจะต้องเปลี่ยนแปลงจุดมั่นหมายทั้งสองนี้    ก็ต้องตกลงกันใหม่ระหว่าง ผู้ว่าจ้างให้ดำเนินกา DE  กับทีม DE  

คำอธิบาย GUIDE ประกอบด้วย

  • Guiding Wisdom
  • Useful Knowledge
  • Inspiring Values
  • Developmental Adaptation
  • Evaluable Facilitation

จะได้ขยายความคำอธิบายทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้

Guiding Wisdom (ปัญญานำทาง)

ปัญญาที่เข้าใจว่า หลักการเป็นข้อกำหนด ที่แนะนำหรือชี้แนะว่า ให้ทำอะไร  คิดอย่างไร  ให้คุณค่าต่ออะไร  และจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลดี    หลักการช่วยบอกทิศทาง    และใช้คำที่ชัดเจน  จงทำสิ่งนี้    ข้อชี้แนะนี้ต้องชัดเจน จนแยกความแตกต่างจากข้อแนะนำตรงกันข้ามหรือแนวทางอื่น ได้อย่างง่ายดาย

นั่นหมายความว่า ผู้ทำหน้าที่กระบวนกร DE (evaluation facilitation) ต้องเข้าใจเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของการทำหน้าที่กระบวนกรนั้น    โดยการตั้งคำถาม (๑) ต้องการผลิตผลอะไร  เพื่อใคร  (๒) ผลลัพธ์ของการทำหน้าที่กระบวนกรคืออะไร  ใครเป็นคนตัดสินว่าบรรลุหรือไม่   (๓) องค์ประกอบของการทำหน้าที่เอื้ออำนวยการประเมินที่ประสบความสำเร็จคืออะไรบ้าง  ใครเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ขององค์ประกอบเหล่านั้น  

สรุปสั้นที่สุดคือ เป้าต้องชัด    ชัดร่วมกันในกลุ่มผู้ต้องการใช้ประโยชน์ของ DE นั้น      วิธีทำให้ชัดคือ ยกเป้าที่ตรงกันข้าม  หรือแตกต่าง เอามาพิจารณาร่วมกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง     เป็นการทบทวนตอกย้ำความเข้าใจที่ตรงกัน

ปัญญาว่าด้วยเป้าหมายสำคัญที่สุด    ช่วยชี้ให้ทำงานถูกทาง

Useful Knowledge(ความรู้ที่มีประโยชน์)

เพื่อผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง หลักการ ช่วยบอกทางเลือก และแนวทางตัดสินใจ    หลักการนี้จะมีผลต่อการนำไปใช้งาน ต่อเมื่อเป็นหลักการที่นำไปปฏิบัติได้  แปลผลได้  เป็นไปได้  และชี้ทางสู่ผลที่ต้องการในสถานการณ์จริง

ความรู้ที่มีประโยชน์คือความรู้ว่าด้วยการประเมินเพื่อใช้ประโยชน์    ว่าต้องมุ่งนำไปใช้ประโยชน์ตลอดเส้นทางการดำเนินการ    ไม่ใช่ใช้เมื่อประเมินเสร็จเท่านั้น    ความรู้นี้จะนำทางให้กระบวนกรของการประเมิน (evaluation facilitator) ดำเนินการอำนวยความสะดวกสู่การนำผลในขั้นตอนนั้นไปใช้ประโยชน์   

เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตลอดเส้นทาง ในทุกขั้นตอนของ DE  

Inspiring Values(คุณค่าด้านแรงบันดาลใจ)  

แรงจูงใจต่อการประเมิน ต้องอยู่บนฐานของคุณค่า คุณธรรมจริยธรรม (ซึ่งทำให้หลักการนั้นมีความหมาย)  และ สิ่งที่ก่อให้เกิดผล (ทั้งวิธีการและเป้าหมาย)

ให้คุณค่าต่อการใช้งาน   มองทั้งคุณค่าด้านคุณธรรม และคุณค่าด้านอรรถประโยชน์    ไม่จัดการประเมินเพียงเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดว่าต้องมีการประเมิน หรือประเมินเพื่อให้ดูดี    แต่ประเมินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง    

หลักการของ DE คือ นักประเมินมองคุณค่าของการประเมินที่สามารถดำเนินการให้มีความหมาย คุ้มกับการลงทุนลงแรง ก่อประโยชน์ต่อสังคม และทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น

การนำไปใช้ประโยชน์ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย    หลักการที่ใช้ต้องเลยจากการนำไปใช้ประโยชน์  ไปสู่การส่งมอบวิสัยทัศน์ที่ก่อแรงบันดาลใจ  และความมั่นใจว่าเป้าหมายนั้น บรรลุได้    

Developmental Adaptation(ปรับตามพัฒนาการ)

หลักการใช้ประโยชน์อย่างมีผลกระทบสูง เน้นที่การปรับตัว และประยุกต์ใช้ ในทุกบริบทที่เปลี่ยนไปตามเวลาของโครงการ    หลักการสำคัญของ DE  และ evaluation facilitation จึงเป็นการตอบสนองต่อสภาพจริงของโลกที่ผันแปร ตามสภาพความซับซ้อน (complexity)  และความไม่แน่นอน (uncertainty)  

กระบวนกรของ DE ต้องยึดมั่นที่หลักการการจัดกระบวนการ ให้เน้นการนำผลประเมินไปใช้งาน โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลัก ตลอดเวลาของโครงการ  ในทุกบริบทที่กระบวนกรทำงาน    ทุกขั้นตอนของการประเมิน  

Evaluable Facilitation(ทำหน้าที่กระบวนกรอย่างยอมรับการประเมิน)

หลักการใช้ประโยชน์อย่างมีผลกระทบสูงต้องทนต่อการประเมิน    ซึ่งหมายความว่าการประเมินนั้นต้องมีการจัดทำเอกสาร และมีการตัดสินว่ามีการดำเนินการตามเอกสารนั้นหรือไม่    และบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

โปรดสังเกตว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องการประเมินสองชั้น    คือการประเมินโครงการด้วย DE  ที่นักประเมินทำหน้าที่กระบวนกรสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ของผลการประเมิน    อีกชั้นหนึ่งคือการจัดให้กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ได้มีโอกาสประเมินและให้ความเห็นป้อนกลับแก่กระบวนกรด้วย ในลักษณะของการให้ความเห็นป้อนกลับกลุ่ม (group feedback)     DE ที่ดี ต้องมีการประเมินทั้งสองชั้นนี้   

การประเมินชั้นใน เป็นการประเมินทั้งกระบวนการของ facilitation    และประเมินกระบวนการประเมิน ว่ามีความก้าวหน้าไปแค่ไหน   ขั้นตอนต่อไปคืออะไร    จะเห็นว่า การประเมินนี้ทำให้ผู้ใช้ผลการประเมินและผู้ประเมินมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน    ในบางขั้นตอนผู้ใช้ผลการประเมินกลายเป็นผู้ประเมิน    คือประเมินความก้าวหน้าของการประเมิน  และร่วมออกความเห็นต่อขั้นตอนต่อไปของการประเมิน    กระบวนกรต้องมีทักษะในการอำนวยให้กระบวนการนี้ลื่นไหลไปตามธรรมชาติ    จึงจะเกิดผลการประเมินแบบ DE ที่ทรงพลัง

บทเรียนสำหรับนักประเมิน

หนังสือให้คำแนะนำเชิงบทเรียนแก่นักประเมินแนว DE ๕ ข้อคือ

  1. 1. ให้คุณค่าและส่งเสริมการมีมุมมองที่หลากหลาย    หาทางชี้นำกลุ่มให้ให้คุณค่าต่อการมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
  2. 2. การใช้ประโยชน์เป็นพลังดึงดูดผู้ใช้ประโยชน์ผลการประเมินเข้าหากัน    กระบวนกรพึงฝึกทักษะในการกระตุ้นให้เกิดพลังนี้
  3. 3. ต้องทำให้ความเอาใจใส่การใช้ประโยชน์ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา    เป็นพลังของการประเมิน
  4. 4. ทำให้กระบวนการ facilitation เชื่อมโยงกับเดิมพัน (stake) ของการประเมิน    ซึ่งเดิมพันก็คือการตัดสินว่าโครงการนั้นจะดำเนินการต่อ หรือจะสิ้นสุด    จะมีทรัพยากรสนับสนุนโครงการต่อไปหรือไม่    ซึ่งหมายความว่า กระบวนกรต้องอยู่กับความท้าทายหรือความตึงเครียดระหว่างสองขั้วตรงกันข้าม    คือเดิมพันของผลการประเมิน กับความซื่อสัตย์ (integrity) ต่อความเป็นจริงของโครงการ
  5. 5. กระบวนกรต้องมีความรู้และทักษะเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่ม (group process)   ซึ่งมี ๕ ขั้นตอนของการร่วมกันทำงานคือ forming, norming, storming, performing, adjourning (๑)  

เปรียบเทียบเดิมพัน (stake) ของการประเมินต่างเป้าหมาย

เดิมพันของการประเมินที่มีเป้าหมายแต่ละอย่างแสดงในตารางข้างล่าง

เป้าหมายของการประเมิน ผู้ใช้ผลการประเมินหลัก (Primary intended users) เดิมพัน
การตัดสินใจต่อโครงการ (summative judgement) ผู้ให้ทุน   กลุ่มผู้ได้รับมอบหมายให้ตัดสินใจเรื่องอนาคตของโครงการ    ผู้กำหนดนโยบาย    ผู้ต้องการนำโมเดลของโครงการไปใช้ต่อ เดิมพันสูงมาก   อาจมีผลต่ออนาคตของโครงการ   แม้ว่าผลการประเมินอาจไม่ใช่เป็นปัจจัยตัดสินปัจจัยเดียว และอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก
เพื่อการปรับปรุง และการเรียนรู้ ผู้บริหารโปรแกรม   เจ้าหน้าที่  และผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมประจำวันของโครงการ   เดิมพันปานกลาง    นำไปสู่การปรับงาน   ดำเนินการตามคำแนะนำป้อนกลับของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการดำเนินงานและผลลัพธ์   หากมีการเปลี่ยนแปลงน้อย เดิมพันน้อย   หากมีการเปลี่ยนแปลงมาก เดิมพันก็สูงขึ้น  
ความรับผิดรับชอบ (accountability) ผู้บริหาร  ผู้ออกกฎหมาย  และผู้ดูแลทุนหรือทรัพยากรที่ต้องรับผิดรับชอบว่ามีการจัดการทรัพยากรอย่างดี เดิมพันสูง   ยิ่งโปรแกรมเป็นที่รับรู้กว้างขวางเพียงใด  บรรยากาศแวดล้อมก็ยิ่งเป็นการเมืองมากเพียงนั้น    ยิ่งการดำเนินการมีข้อโต้แย้งสูง เดิมพันยิ่งสูง
การติดตามผล ผู้จัดการโปรแกรม ใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบข้อมูลในการจัดการโปรแกรม    เป้าหมายหลักเพื่อความรับผิดรับชอบภายใน

เดิมพันต่ำ    เป็นเรื่องของการจัดการตามปกติ    เพื่อหาคอขวด และจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข   

กลายเป็นเดิมพันสูง เมื่อใช้เพื่อเป็นกลไกรับผิดรับชอบภายนอก
การพัฒนา นวัตกรสังคม : กลุ่มคนที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงระบบในสภาพบรรยากาศที่เป็นพลวัต

เดิมพันต่ำ    หากเพื่อการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย

เดิมพันสูง   หากเน้นเป้าหมายระยะยาว และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีผลกระทบสูง
การสร้างความรู้ ผู้ออกแบบโปรแกรม  นักวางแผน  นักสร้างโมเดล  นักทฤษฎี นักวิชาการ  และผู้กำหนดนโยบาย เดิมพันปานกลางถึงต่ำ    เพราะความรู้มีการสั่งสมทีละเล็กละน้อย และตามกาลเวลา     ไม่มีโครงการใดโครงการเดียวที่สร้างความรู้ใหม่เข้มข้น    ได้บทเรียน (lessons learned) สำหรับใช้ยกระดับการปฏิบัติ    มากกว่าที่จะได้ความรู้ใหม่   

สรุป

              หลักการสำหรับใช้ทำหน้าที่กระบวนกรต่อการประเมินแบบ DE มีหลักเกณฑ์ ๕ ประการตามตัวย่อ GUIDE คือ ต้องชี้นำจำเพาะเป้า  สู่การใช้ประโยชน์  สร้างแรงบันดาลใจ  นำสู่การพัฒนาปรับตัว  และประเมินได้  

วิจารณ์ พานิช

๑๙  ก.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 686128เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2020 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2020 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท