ความขัดแย้งทางการเมือง มุมมองของ ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์


ความขัดแย้งทางการเมือง   มุมมองของ ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์

ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ส่งข้อเขียนนี้มาตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๓  พร้อมกับบอกว่า “ไม่ต้องเกรงใจผมลงให้ทุกเรื่องที่ผมส่งมานะครับ”    ผมใคร่ครวญอยู่หลายวัน    และคิดว่าเป็นข้อเขียนที่มีประโยชน์    จึงนำมาลงไว้ 

ครั้งนี้ผมพยายามกดข่มอารมณ์ตนเองไม่เขียนโพสต์เกี่ยวกับความแตกต่างทางความคิดมาตลอด เพราะ ผมกลัวผลกระทบต่อตนเอง จนกระทั่งถึงเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ทำให้ผมตัดสินใจเขียนขึ้นมา



ผมเคยมีความคิดว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารอีกแล้วก่อนการเกิดการรัฐประหารปี 2549 แต่ผมคิดผิด หลังจากนั้นผมเชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่ในวังวนรัฐประหารเป็นทางออกในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองทุกครั้งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด หากไม่มีการแก้ไขเรื่องความแตกต่างทางชนชั้น



ตั้งแต่เรียนประวัติศาสตร์ หากอันที่เรียนมีความจริง ประเทศไทยหรือจะเรียกให้ถูกคือสมัยอโยธยา มีการแบ่งแยกทางชนชั้นโดยอาศัยระบบศักดินา ไม่ใช่เฉพาะกษัตริย์ แต่ยังมีระบบขุนนางต่างๆ และไพร่ ใครๆ ต่างอยากไต่ไเต้าขึ้นไปเป็นขุนนางเพื่อมีที่ดินและไพร่ในสังกัด มีการกดขี่ทางชนชั้นทั้งโจ่งแจ้งและแอบแฝง ไม่ใช่เฉพาะความพยายามจะขึ้นเป็นขุนนาง แม้แต่กษัตริย์ก็มีการแก่งแย่งทำร้ายกันเพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์



เรื่องที่ผมพยายามเลี่ยงคือระบบกษัตริย์ สิ่งที่คอยกำกับกษัตริย์ให้เป็นที่รักของประชาชนในแผ่นดินที่สำคัญ คือ ทศพิธราชธรรม ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี จะเห็นจากประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมสามารถครองใจประชาชนได้ ตามความเชื่อแต่โบราณกษัตริย์เป็นสมมติเทพ ซึ่งตามหลักแล้วคือเทพที่จุติมาเพื่อทำคุณงามความดีเพื่อกลับขึ้นไปเป็นเทพอีก ดังนั้นทศพิธราชธรรมเป็นวิถีแห่งการสั่งสมความดี



มาทางฝั่งไพร่ฟ้าประชาชน ตั้งแต่สมัยก่อนต้องอยู่ใต้สังกัดของมูลนาย จ่ายภาษีและถูกเกณฑ์ไปทำงานให้กับกิจการงานของรัฐ หากกษัตริย์ปกครองได้ดี มูลนายไม่กดขี่ไพร่เกินไป ไพร่ก็อยู่ดีมีสุข



มาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ผมจำความได้ ร.9 ท่านได้ทรงทศพิธราชธรรม มีราชกรณียกิจเพื่อประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ท่านได้สอนให้ลูกๆ ของท่านได้ทำคุณความดี ช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เสมอมา เมื่อสิ้นยุค ร.9 ภาพต่างๆ สมัย ร.9 ไม่เห็นชัดเจน แต่ผมได้ทราบมาว่า ร.10 ได้พยายามที่จะทำให้เกิดธรรมาภิบาลในสถาบันกษัตริย์ เห็นได้จากมีพระราชโองการปลดคนต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในองค์กร แต่ไม่มีการสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้



ม. 112 ตาม กม อาญา ที่เป็นประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน ผมไปนั่งอ่านกฎหมายดูพบว่าบทลงโทษการหมิ่นประมาทกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สูงกว่าการหมิ่นประมาทคนทั่วไป และประเด้นที่น่าสนใจคือมีหลายต่อหลายครั้งที่มีการอ้าง ม. 112 เพื่อจับกุมบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่กษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์อาจไม่ได้ต้องการเช่นนั้น แต่เป็นการกระทำของขุนนางเอง



สำหรับความแตกต่างทางการเมืองอีกมุมหนึ่ง ผมคาดเดาว่าเป็นการต้อสู้กันระหว่างระบบขุนนางกับระบบนายทุน หากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง ผมสงสัยว่าจะเป็นการแก้ไขความแตกต่างทางชนชั้นจริงหรือไม่ จะเป็นการย้ายจากกษัตริย์และขุนนางไปเป็นนายทุนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และก็ยังมีปัญหาความแตกต่างทางชนชั้นโดยเฉพาะช่องว่างคนจนคนรวยอยู่เหมือนเดิม



มามองถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตค ที่ผ่านมา ผมเห็นว่ามีความพยายามจากทั้ง 2 ฝ่ายที่จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ผมเชื่อว่าความแตกต่างทางการเมืองครั้งนี้จะจบลงด้วยการทำรัฐประหารและมีประชาชนต้องสูญเสียเลือดเนื้อ ที่สำคัญประชาชนที่ต้องสูญเสียในรอบนี้ก็จะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เขาต้องการความเป็นอิสระและอนาคตอันสดใสตามความคิดของเขา โดยเหมือนทุกครั้งพวกที่อยู่เบื้องหลังไม่เคยโผล่หัวออกมา รอรับผลประโยชน์หากเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง



ทางออกในเรื่องนี้ จะว่าผมเป็นคนโลกสวยก็ตามที อยู่ที่การสื่อสารกันด้วยสันติวิธี เพราะ ผมเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีชุดความคิดของตนเองที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลามา หากไม่มีการสื่อสารกันจะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละฝ่ายมีความต้องการเบื้องลึกคืออะไร ทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีความต้องการเบื้องลึกเหมือนกัน เพียงแต่รายละเอียดต่างกัน ผมนึกถึงตอนก่อนเกิดโควิดที่ตอนนั้นรัฐบาลกำลังจะจัดให้มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาแต่แล้วก็เงียบหายไปเพราะโควิด



สำหรับกษัตริย์ผมเชื่อว่าท่านก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ และหากเป็นไปได้หากท่านออกมาให้รัฐบาลเลิกใช้ความรุนแรงกับประชาชน และให้ยกเลิก ม. 112 ก็จะทำให้เหตุการณ์คลี่คลายลงได้



ความฝันที่เป็นจริงได้หากแต่ละฝ่ายรับฟังและเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 684729เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2020 06:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2020 06:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท