บทบาทผู้แทนปลัดในคณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคล


บทบาทผู้แทนปลัดในคณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคล

23 ตุลาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1]

ปัญหาหมักหมมเฉพาะหน้าและอิทธิฤทธิ์ของมาตรา 44 ต่อท้องถิ่น

        (1) ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผ่านมาประสบปัญหามากมาย นับตั้งแต่ฝ่ายการเมืองผู้บริหารท้องถิ่นหลายรายถูกคำสั่ง คสช. มาตรา 44 [2] ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ ปลัด อปท.ก็ถูกสั่งให้ไปช่วยราชการ (มิใช่การสั่งให้ประจำ) ที่ศาลากลางจังหวัด ณ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่จากสังกัด อปท. แม้ไม่ถึงขนาดต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ผลพวงทำให้เขาเหล่านั้นไม่อาจใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งได้ และเข้ารับการคัดเลือกหรือลงคะแนนเพื่อคัดเลือกผู้แทนพนักงานส่วนตำบล/พนักงานเทศบาลได้

(2) ยังไม่รวมว่า หลังจากที่เขามาช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดนั้นๆ พบว่าไม่มีงานในหน้าที่อันใดตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของเขาให้ช่วยปฏิบัติราชการได้ เพราะเป็นบุคคลภายนอกหน่วยงานที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ลึกลับซับซ้อนเสมือนแดนสนธยาที่มีความลับ หลายเรื่องเป็นการเสนอความเห็น เป็นดุลพินิจของหน่วยงาน จากความซับซ้อนบางอย่างอันไม่อาจให้บุคลากรภายนอกหน่วยงานรับรู้ได้ กลับกลายเป็นว่า ผู้มาช่วยราชการทำได้เพียงมาเซ็นชื่อปฏิบัติราชการเพื่อรับเงินเดือน โดยไม่มีงานใดให้ช่วยหรือรับผิดชอบ ในขณะที่ อปท. ต้นสังกัดบางแห่งนอกจากถูกเคราะห์กรรมนายก อปท.ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ยังถูกกรรมซัดด้วยการขาดที่พึ่งที่ปรึกษาจากปลัด อปท.ที่ถูกสั่งไปช่วยราชการอีกด้วย

(3) ยังพบปัญหาการบริหารงานที่บิดเบี้ยวแปลกๆ เช่น พบว่าผู้ถูกสั่งให้มาช่วยราชการจังหวัดที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ใน อปท.ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติราชการเลื่อนขั้นเงินเดือนในระดับที่สูงกว่าหรือเทียบเท่าเจ้าหน้าที่ อปท.ที่ได้ปฏิบัติงานอยู่ ณ หน่วยงานต้นสังกัดอย่างขันแข็ง ทำให้ข้าราชการ อปท.ที่ไปช่วยราชการได้รับการพิจารณาเงินเดือนเลื่อนขั้นสองขั้น ปัญหาการยึดอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลของ อปท. ไปไว้ที่ส่วนกลาง ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาสายงานผู้บริหารอย่างกว้างขวาง สร้างความเดือดร้อนและกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเกือบทุกตำแหน่ง

(4) คำสั่ง คสช. บางคำสั่งจะหมดความจำเป็นด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 279 [3] บัญญัติให้ บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงมีคำสั่ง คสช. อีกมากมายที่ยังไม่ถูกยกเลิก [4] ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ราชการท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

การเลือกผู้แทนปลัด อปท.ในคณะกรรมการกลาง

          (1) เพื่อเข้าร่วมเป็นปากเป็นเสียงในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด/ คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด [5] เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่เพิ่งผ่านไปด้วยความคึกคัก ไม่ต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่นย่อมๆ เริ่มตั้งแต่ความวุ่นวายบนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ไปจนถึงในสังคม อปท.ในจังหวัดนั้นๆ เพราะหลายจังหวัดเมื่อเปิดประชุมก็แทบจะไม่ต้องลงคะแนนเสียง ด้วยที่ประชุมมีมตินอกที่เลือกตั้งแล้ว ว่าจะเสนอใคร และใครควรได้รับการเลือกเป็นผู้แทนของตน กระบวนการเลือกตั้งก็เป็นเพียงแค่การทำให้ครบขั้นตอนตามกฎหมายเท่านั้น

(2) การเลือกตั้งผู้แทนในครั้งนี้มีความสำคัญ มิใช่เพียงการปาหี่เล่นขายของกัน เนื่องจากผู้แทนจะเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงของคนท้องถิ่นเอง ที่ผ่านมาปัญหาของท้องถิ่นมากมาย ยังมิได้เห็นว่าผู้แทนของท้องถิ่นจะมีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาแต่อย่างใด หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง ในการร่วมประชุมคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล/พนักงานเทศบาลที่ผ่านมา เสียงของผู้แทนท้องถิ่นไม่ดังนัก ด้วยระบบศักดินาของข้าราชการส่วนภูมิภาค และคณะกรรมการฯ ที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดสรรจากข้าราชการฝ่ายปกครองที่เกษียณอายุราชการช่างกลมกลืนกันกับเสียงของคณะกรรมการส่วนใหญ่ จนผู้แทนของท้องถิ่นเองรู้สึกว่าที่ประชุมคณะกรรมการแห่งนี้มิใช่ที่ของตนแต่อย่างใด ทำให้ผู้แทนท้องถิ่นรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและไม่กล้าแสดงบทบาทนัก

(3) อปท.จึงมิได้มีอิสระด้านการบริหารงานบุคคลแต่อย่างใด แต่การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นอยู่ในกำมือของข้าราชการส่วนภูมิภาค จึงไม่แปลกใจที่ระบบอุปถัมภ์ ระบบศักดินาอำนาจนิยมต่างๆ ยังคงเข้มแข็งและเบ่งบานในการบริหารงานส่วนจังหวัด การแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ในจังหวัดแท้จริงแล้วอาจไม่ยาก เพียงทำลายระบบศักดินาชนชั้นแบ่งแยกพวกให้ อปท.ได้มีอิสระและมีคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นของตนเอง มิต้องพึ่งพาอาศัยข้าราชการส่วนภูมิภาค และเป็นคณะกรรมการที่สามารถแสดงศักยภาพความเข้มแข็งในบริบทของท้องถิ่นให้ราชการส่วนภูมิภาคได้เห็นประจักษ์ว่า ราชการส่วนท้องถิ่นและราชการส่วนภูมิภาคมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยอำนาจหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติ จะส่งผลให้เกิดตัดตอน “การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของท้องถิ่น” และสามารถลด “วิกฤติปัญหาการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ในสังคมท้องถิ่นลงได้ และทำให้ท้องถิ่นพร้อมสามารถขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคม อันจะยังประโยชน์สุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันในที่สุด

ผู้แทน หมายถึง ตัวแทนที่อาสามาทำงานเพื่อประโยชน์ของสมาชิก

(1) ผู้แทนของสมาชิกในที่นี้คือ พนักงานส่วนท้องถิ่นทุกตำแหน่ง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนคนอื่นๆ ทั้งหมดที่เป็นพนักงานท้องถิ่นในประเภทนั้น แม้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกคนจะไม่มีสิทธิได้ไปเลือกก็ตาม แต่ได้ชื่อว่าท่านคือตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว ท่านต้องเปิดกว้าง และไม่ยึดว่าตำแหน่งนี้คือของตนเอง ต้องเข้าใจบริบทก่อน ว่าผู้แทนปลัด หรือ ผู้แทนคนท้องถิ่น ถ้าผู้แทนไม่เข้าใจ ผลสุดท้าย สายงานอื่น ตายกันหมด ความเป็นบุคลสาธารณะ (Public Person) [6] จะเกิดขึ้นทันทีที่ประกาศผล “เป็นผู้แทน”​ เป็นผู้ที่เสียสละที่ยิ่งใหญ่ อันดับแรกเริ่มจากการเสียสละในเวลาส่วนตัว และอดทนต่อการต่อล้อต่อเถียง และอดทนอดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา รวมทั้งการยอมรับฟังข้อเสนอแนะทั้งด้านบวกและด้านลบ

(2) มีปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดบรรเจิดเกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ ว่ากันว่าแต่ก่อนทำไมไม่คิดพอจะมีการเลือกผู้แทนคนใหม่กลับได้คิด เห็นมีแต่แนวความคิดในการพัฒนาปรับปรุงเยอะแยะที่ดีๆ ทั้งนั้น ทั้งผู้อาสาสมัครรายใหม่หรือที่เป็นผู้แทนมาหลายปีหลายสมัย มีการประชดประชันจากคน อปท. ด้วยผลงานว่า ที่ผ่านมาคิดได้แต่ซี 8 พิเศษ กับค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง 7,000×2 แถมแท่งทาส แท่งอัปยศ ซึ่งเป็นคำตอบที่พอจะสะท้อนภาพอะไรของท้องถิ่นได้หลายอย่าง

(3) ต้องยอมรับว่า อปท.นั้นยังคงมีระบบการเมืองอยู่ ตามที่โครงสร้างของ อปท. ได้ออกแบบไว้ ฉะนั้นในระบบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นจะแบบใดก็ตาม จึงอยู่ที่นายก อปท.และบรรยากาศการเมืองทั้งสิ้น อปท. มักจะไปคำนึงถึง “ภารกิจหน้าที่” มากกว่าเรื่อง “สิทธิในระบบราชการของข้าราชการ” ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “Career Path” [7] หรือ “เส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าราชการ” ที่ต้องมีควบคู่ไปกับพัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นของ อปท.

การเลือกผู้แทนปลัด อปท.รวดเร็วปานสายฟ้าแลบ

          (1) หนังสือจากกระทรวงมหาดไทยให้มีการคัดเลือกผู้แทนในระดับจังหวัดวันที่ 9-14 ตุลาคม 2563 และระดับส่วนกลาง (ก.กลาง) ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 [8] น่าสังเกตว่าระยะเวลาที่หาเสียงนั้นค่อนข้างจะน้อย เพราะผู้สมัครหาเสียงในระดับจังหวัดได้วันที่ 6-9 ตุลาคม เพียง 3 วัน และ หาเสียงในระดับส่วนกลางวันที่ 15-19 ตุลาคม 2563 เพียง 5 วันเท่านั้น ก็เพราะ ต้องรอให้มีหนังสือแจ้งเสียก่อน และ ต้องผ่านการเลือกในสองระดับ คือ ในระดับจังหวัด (ก.จังหวัด) เสียก่อน แล้วจึงมาคัดเลือกกันเองที่ส่วนกลาง

(2) หลังจากที่มีการหาเสียงเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกมาอย่างหนักตั้งแต่ประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2563 เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 3 ตุลาคม 2563 เหล่าบรรดาข้าราชการส่วนท้องถิ่นคือ พนักงานเทศบาลและพนักงานส่วนตำบล (อบต.) ต่างลุ้นผลการเลือกผู้แทนปลัด เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนปลัดของจังหวัดประเภทละ 3 คน ในคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น คือ ก.ท. และ ก.อบต. รวมประเภทละ 228 คน จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ

  (3) หน้าที่ของผู้แทนปลัดเหล่านี้คือการออกหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อปท.แต่ละประเภท [9] ทำให้ผลการเลือกผู้แทนอาจสมหวังเป็นไปตามคาดที่หลายๆ คนคิดหรือ ไม่สมหวังดังคิดก็ได้ แต่เนื่องจาก ระบบบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นมันคือรากเหง้าของปัญหาที่เรื้อรัง อาทิ ปัญหาระบบอุปถัมภ์ ปัญหาระบบต่างตอบแทน ปัญหาระบบอำนาจนิยมที่ฝังรากในระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น ผู้แทนของปลัดที่เข้าไปใน ก.กลางต้องมีกรอบความคิดทำงานเพื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะ การปกป้องระบบคุณธรรมใน พรบ.บุคคลฯ เป็นต้น ล้างระบบราชการ อปท.ไส้ในที่มีแต่ระบบพรรคพวก

(4) ในเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการกลาง มีเสียงข้าราชการส่วนท้องถิ่นเรียกร้องในสัดส่วนของ ข้าราชการแท่งอำนวยการ แท่งวิชาการ แท่งทั่วไป ให้ได้เข้าไปมีส่วนในการคัดเลือกด้วยตามสัดส่วน เพราะตามกฎหมายกำหนดให้เฉพาะปลัดเท่านั้นที่เป็น “ฝ่ายผู้แทน” (หรือตัวแทน) ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำให้ไม่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของเหล่าบรรดาข้าราชการทั้งหมด เรียกร้องให้มีการแก้ไขใน ร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลฉบับใหม่ ซึ่ง ชมรมวิเคราะห์ฯท้องถิ่น ได้ยื่นข้อเรียกร้องและ ร่าง พรบ.ใหม่ ต่อ ก.กลาง และ ต่อ ผู้แทนปลัดที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทน ก.กลางใหม่แล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 [10]

(5) แม้ว่าการเลือกผู้แทนปลัดอาจไม่มีการซื้อเสียง แต่กลยุทธล็อบบี้จูงใจสารพัดวิธี เพื่อให้ได้ชัยชนะยังคงมีอยู่อย่างเหนียวแน่น ตามระบบพวกพ้อง กลุ่มก๊วนเดียวกัน หรือพวกที่ได้รับผลประโยชน์ หรือ มีผลประโยชน์ทับซ้อนร่วมกัน ฯลฯ เป็นต้น สุดท้ายระบบจูงจมูก ระบบตรายางประทับรับรองความถูกต้องของ ก.กลาง ก็ยังหนีไม่พ้น เป็นแบบเดิมๆ น่าเป็นห่วงว่า ระบบการลอบบี้​ได้เป็นแล้วอยากได้อะไรก็ลอบบี้เอา​ จึงไม่ได้นำเสนอความจริง​ดังเจตนารมณ์ที่กฎหมาย​บัญญัติ ปัญหาต่างๆ จึงถูกสะสมเอาไว้​ไม่ได้รับการแก้ไข

(6) มีการเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นไว้นานแล้ว เพราะงาน อปท. เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด และเป็นการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขและคุณภาพชีวิตของประชาชนขอยกตัวอย่างสำคัญ 3 เรื่อง [11] คือ (1) การปฏิรูปโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ อปท.และระบบการกำกับดูแลทั้งระบบ (2) การกำหนดโครงสร้างและรูปแบบของ อปท. (3) การบริหารงานบุคคลของ อปท. สาเหตุที่ต้องปฏิรูปข้อ (1) ในโครงสร้างการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ อปท.และการกำกับดูแลนั้น เพราะราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้อำนาจไปในทางควบคุมบังคับบัญชามากกว่าในฐานะ “การกำกับดู” (Tutelle Administrative) [12] ตามที่ควรจะเป็น การมีคณะกรรมการต่างกระจัดกระจายในกระทรวงและกรมต่างๆ เช่น คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (กกถ.) อยู่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น (กถ.) อยู่สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคลท้องถิ่น (ก.กลาง) อยู่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การกำกับดูแล อปท.ของรัฐบาลขาดการประสานให้สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ เกิดความสับสนในทางปฏิบัติตามมาอย่างมากมาย ส่งผลให้ อปท.เองขาดความมั่นใจและความเชื่อมั่นในทิศทางแนวนโยบายในการบริหารจัดการ ไม่สอดคล้องกับบริบทของความเป็น อปท. ขาดการเปิดโอกาสให้ อปท.ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

                นี่คือ การเมืองเล็กๆ อย่างหนึ่งใน อปท. ไหนใครบอกว่า อปท. ไม่มีการเมือง นี่ไงข้าราชการ อปท. เองก็มีการเมืองเช่นกัน เพราะ ตามโครงสร้างของคณะกรรมการบุคคลฯที่ปิดโอกาสของผู้เลือกอย่างจำกัดและเปิดให้มีการแทรกแซงหรือต่อสู้กันเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนอย่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 23 ตุลาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/191869

[2]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 หน้า 1-17, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

ดู ทำความรู้จักกับ มาตรา 44 ใช้แทนกฎอัยการศึก, 2 เมษายน 2558, https://www.sanook.com/news/1773902/

& ชมรมคนรักคดีปกครอง, 13 พฤษภาคม 2562, https://www.facebook.com/175037009310924/posts/1323795734435040/  

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจ ในประเด็นที่เกี่ยวกับ ความแตกต่างของ คำสั่ง คสช. ที่เป็น กฎ กับ กรณี ม. 44 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 363/2561

& เรื่องเสร็จที่ 953/2557 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง สถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ (กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้บังคับ : ตุลาคม 2557), http://210.246.148.76/thaiquest/getFileProxy/comment.aspx?url=%2Fdata%2Fcomment%2Fcomment2%2F2557%2Fc2_0953_2557.pdf

ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มิใช่เป็นเรื่องภายในของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นการเฉพาะ จำนวน 48 ฉบับ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ (1) ประเภทที่เป็นกฎหมาย 3 กรณี (1.1) กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่ จำนวน 3 ฉบับ (1.2) กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิม จำนวน 5 ฉบับ (1.3) กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีประสงค์จะใช้เป็นการชั่วคราว จำนวน 9 ฉบับ (2) ประเภทที่เป็นประกาศหรือคำสั่งทางบริหาร จำนวน 31 ฉบับ

[3]มาตรา 279 บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

[4]ประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ยกไม่ยกเลิก เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยขอให้มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ดู

ประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ต่างกันอย่างไร?, โดย iLaw, 3 ธันวาคม 2560, https://ilaw.or.th/node/4690

& sittikorn saksang, สถานะทางกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติ : ประกาศ คำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช., 15 มกราคม 2562, https://www.facebook.com/473834066044430/posts/2146353268792493/

& “วิษณุ” แจง คำสั่งคสช.ที่มีสถานะทางกม.ยังยกเลิกไม่ได้, สยามรัฐ, 10 กรกฎาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/89892

[5]คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล และ คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล ดู มาตรา 24 และมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116/ตอนที่ 120 ก/หน้า 1/29 พฤศจิกายน 2542, http://www.local.moi.go.th/2009/pdf/lawupdate.pdf

มาตรา 24 เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาลแต่ละแห่งเป็นไปโดยมีมาตรฐานที่สอดคล้องกัน ให้มีคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลคณะหนึ่งประกอบด้วย

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับมอบหมาย เป็นประธาน

(2) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น*

(3) ผู้แทนเทศบาลจำนวนหกคน ซึ่งคัดเลือกจากนายกเทศมนตรีจำนวนสามคนและปลัดเทศบาลจำนวนสามคน

(4) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งคัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ หรือด้านอื่นที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริหารงานบุคคลของเทศบาล

การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (4) ให้กรรมการตาม (1) และ (2) เสนอรายชื่อบุคคลจำนวนเก้าคน และกรรมการตาม (3) เสนอรายชื่อบุคคลจำนวนเก้าคนและให้บุคคลทั้งสิบแปดคนดังกล่าวประชุมเพื่อคัดเลือกกันเองให้เหลือหกคน

วิธีการคัดเลือกผู้แทนเทศบาลและผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกำหนด

ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกนายกเทศมนตรีหรือปลัดเทศบาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้แทนเทศบาล

ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น*แต่งตั้งข้าราชการในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีเป็นเลขานุการคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล

กรรมการผู้แทนเทศบาลซึ่งคัดเลือกจากปลัดเทศบาลและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและอาจได้รับคัดเลือกอีกได้และให้นำความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 7 และมาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นำความในมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 22 มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลด้วยโดยอนุโลม ทั้งนี้โดยให้การใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล หรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาล แล้วแต่กรณี

* พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545

มาตรา 90 ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ให้แก้ไขคำว่า “อธิบดีกรมการปกครอง” เป็น “อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น”

[6]ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, บุคคลสาธารณะ, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บทความทางวิชาการ จุลนิติ พ.ค.- มิ.ย. 2552 หน้า 51-53, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/3journal/b107%20jul_6_3.pdf

บุคคลสาธารณะ (public figure) แยกเป็นลักษณะได้ดังนี้

(1) บุคคลสาธารณะที่มีลักษณะหรือแสดงออกซึ่งความเป็นบุคคลสาธารณะอย่างชัดเจน (Obvious public figure) บุคคลสาธารณะประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์มหาชนโดยตรง ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ได้อีก ดังนี้

(1.1) บุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะในระดับต่างๆได้แก่ นักการเมือง หรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีวุฒิสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนนักการเมืองระดับท้องถิ่นต่างๆ

(1.2) บุคคลที่ให้บริการสาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครองข้าราชการทหารข้าราชการตำรวจข้าราชการตุลาการ ข้าราชการครู หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดส่วนราชการต่างๆ เพราะนโยบายหรือการปฏิบัติงานของเขากระทำต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป

(2) บุคคลสาธารณะที่จำกัดตามวัตถุประสงค์ของการแสดงออกซึ่งความเป็นบุคคลสาธารณะนั้นๆ (Limited-purpose public figure) บุคคลประเภทนี้จะถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะเฉพาะในเรื่องที่ได้แสดงออกตามที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือการดำเนินการนั้นๆ หรือในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

(3) บุคคลสาธารณะที่ไม่ได้เข้ามาโดยสมัครใจหรือบุคคลสาธารณะโดยบังเอิญ (Involuntary limited-purpose public figure or By change public figure) บุคคลประเภทนี้ก็คือคนธรรมดาทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะในแง่ของความเป็นอยู่ของประชาชนแต่อย่างใด แต่สถานะความเป็นบุคคลสาธารณะของเขาได้ปรากฏเมื่อเรื่องราวของเขาได้ถูกเสนอเป็นข่าวทางสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งสถานะความเป็นบุคคลสาธารณะของบุคคลประเภทนี้จะมีระยะเวลาไม่คงทนถาวร

[7]Career Path หมายถึง เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ อธิบายง่ายๆ คือ เราเริ่มต้นทำงานใน ตำแหน่งใด จากตำแหน่งนี้เราจะเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง สูงสุดแล้วเราอยากเป็นอะไร อยากไปถึงไหน ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราควรมีการวางแผนเส้นทางเดินว่าเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไรด้วย : jobsDB.com

[8]ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0809.2/ว 15919 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 เรื่อง การคัดเลือกกรรมการผู้แทนเทศบาลในคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และ กรรมการผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลในคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/10/24279_1_1601977238393.pdf

[9]ดู มาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, อ้างแล้ว

มาตรา 17 คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกผู้แทนข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 วรรคสาม

(2) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(3) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราตำแหน่งและมาตรฐานของตำแหน่ง

(4) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและวิธีการจ่ายเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่น

(5) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอน การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน

(6) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย

(7) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ

(8) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์

(9) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหาร และการปฏิบัติงานของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(10) ให้ข้อคิดเห็นหรือให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(11) กำกับดูแล แนะนำและชี้แจง ส่งเสริมและพัฒนาความรู้แก่ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(12) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นส่วนรวม การกำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการโอนหรือการรับโอนตามวรรคหนึ่ง (5) คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งมีโอกาสโอนไปปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วยกันได้  

[10]เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ชมรมวิเคราะห์นโยบายและแผนท้องถิ่น ร่วมกับเครือข่ายข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย (1) สมาพันธ์รองปลัดท้องถิ่นไทย (2) ชมรมรองปลัดกลาง (3) สมาคมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ (4) สมาพันธ์นิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (5) เครือข่ายนักบริหารทั่วไป(อำนวยการต้น) รุ่นที่ 83 ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ผลักดันความต้องการของคนท้องถิ่น ต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ผู้แทนปลัดในคณะกรรมการกลางฯ

ดู https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3415531728562194&id=150169675098432

[11]อ้างจาก สุรเชษฐ มโนมัยกิจ, หนังสือพิมพ์สยามโพลล์ ประจำเดือนตุลาคม 2557, ชื่อคอลัมน์ : “มุมมองท้องถิ่นไทย”, 10 ตุลาคม 2557

[12]“การกำกับดูแล”ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสว่า “La Tutelle administrative” แปลได้ว่า “การกำกับดูแลทางปกครอง" เป็น “การควบคุมอย่างบางเบา” ของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค ต่อราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมิใช่การควบคุมแบบ “การปกครองบังคับบัญชา” (Hierarchy Control) ซึ่งแปลว่า "การควบคุมตามสายการบังคับบัญชา"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท