เขมรที่ มข. : โครงงานอนุรักษ์สืบสานภาษาเขมรถิ่นไทย วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น


นักศึกษากลุ่มหนึ่ง ติดต่อมาจะขอสัมภาษณ์ ผู้ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสามารถพูดภาษาเขมร (ถิ่นไทย)ได้ นักศึกษาไม่ได้แนะนำตัวอะไรมากนัก จนแม้แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบเลยว่านักศึกษาเรียนคณะอะไร สาขาไหน วันที่มาสัมภาษณ์จึงสงสัยใคร่รู้ จึงเอ่ยถามว่าทำงานวิชาอะไร เรียนอยู่ชั้นปีไหน จึงได้คำตอบว่าวิชาศึกษาทั่วไป “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” พวกหนูเรียนอยู่ปี 1 ค่ะ” จึงต้องซักไซ้ไล่เรียงว่าทำรางานเรื่องอะไร จึงได้รู้ว่าทำ “โครงงานอนุรักษ์สืบสานภาษาเขมรถิ่นไทย” แล้วแบ่งจากกลุ่มใหญ่เป้นกลุ่มย่อยเพื่อแบ่งกันเก็บข้อมูล กลุ่มที่มาสัมภาษณ์ผมน่าจะได้หัวเรื่องของการใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน

แต่ก็เต็มใจให้สัมภาษณ์ เพราะคิดว่า เรื่องของการศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญเสมอ เพราะวิทยาทานนี้แหละจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ... คำถามที่นักศึกษากลุ่มนี้มีเพียง 3 คำถาม ตั้งใจ “ถาม” เพื่อนำทางไปสู่การเรียน “รู้” คำถามจึงเปรียบเสมือนเส้นทางว่าสุดท้ายหรือเป้าหมายจะเป็นอย่างไร ก็สุดแต่จะเกิดมี แต่ถ้าเส้นทางชัดเจนดี ย่อมมีคำตอบที่ปลายทาง

“ในครอบครัวใช้หรือพูดเขมรในชีวิตประจำวันหรือไม่ ตอนเป็นเด็กใช้ภาษาเขมรเพื่อการสื่อสารหรือเปล่า?”

ครอบครัวเป็นคนเขมร อยู่ในชุมชนเขมร พ่อ แม่และครอบครัวก็ใช้ภาษาเขมรเพื่อสื่อสารกัน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะไม่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารกับลูกหลาน จะพูดคุยกันเองในหมู่ผู้ใหญ่ แต่เมื่อพูดคุยกับลูกหลานก็จะใช้ภาษาไทยกลาง คงคิดว่าควรจะต้องสอนภาษากลางให้ดีให้ได้ เพราะภาษากลางจะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือได้ดีมีทักษะภาษาไทยที่พร้อมต่อการเรียน (หรือเปล่า?) ตอนเด็ก ๆ จึงพูดภาษาไทย แต่ฟังภาษาเขมรเข้าใจ จนเมื่อเรียนชั้นมัธยม เพื่อน ๆ มักสื่อสารกันด้วยภาษาเขมรเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงได้พูดและใช้บ่อยกว่าที่บ้าน จนหลายครั้งก็พูดคุยกับที่บ้าน คุณป้าเคยท้วงอยู่หลายหนว่า ส่งไปเรียนทำไมได้ภาษาเขมรกลับมาบ้าน”

“ปัจจุบันยังใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวันหรือไม่?”

จึงตอบแบบฉับพลันไปว่า มาอยู่ขอนแกนเกือบยี่สิบปี ก็มีใช้บ้างตามโอกาส ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม เพราะคนที่ใช้ภาษาเขมรมีไม่มากนักที่ขอนแก่น จึงใช้สื่อสารบ้าง และก็ใช้สื่อสารกับเพื่อนทางโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง เพราะถือเป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกัน คุยกับที่บ้านบ้าง เดิมทีที่ มข. ก็มีชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้ ก็ทำให้ได้พบปะพูดคุยและมีกิจกรรมร่วมกัน ในช่วงนั้นจึงใช้ภาษาเขมรบ่อยที่ขอนแก่น แต่ให้หลังก็ใช้น้อยลง  เพราะไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ให้ใช้ เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อยที่มาอาศัยอยู่ที่ขอนแก่น

“คิดอย่างไรกับสังคมที่มองว่าเยาวชนทุกวันนี้อายที่จะใช้หรือพูดภาษาถิ่น”

ก็อย่างที่บอกแต่ต้นว่าคงไม่ใช่เพราะความเขินอาย แต่โอกาสไม่เอื้อให้เขาใช้สื่อสาร หรือหากจะสื่อสารก็พูดหรือใช้ได้ไม่ดี เหมือนเด็กในเมืองขอนแก่นก็พูดภาษาลาวอีสานได้แบบพอกะเทิน พวกเขมรก็คงเช่นกัน เพราะว่าที่บ้านหรือชุมชนหลายชุมชนก็ลดทอนความสำคัญของภาษาถิ่นลง สื่อสารกับเด็กและเยาวชนด้วยภาษาไทยกลางมากกว่า คนรุ่นใหม่จึงขาดทักษะภาษาถิ่น ครั้นจะใช้สื่อสารหรือพูดคุยก็ได้ไม่เต็มที่ ไม่ใช่เขาไม่อยากพูด แต่เขาพูดได้ไม่ดี ขาดการฝึกฝนนำใช้และยิ่งมาอยู่ในต่างถิ่นก็ยิ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไปอีก เพื่อน ๆ ก็พูดภาษาถิ่นอีสานมากกว่า จึงไม่ได้มีโอกาสใช้ภาษาถิ่นเขมรในพื้นที่ขอนแก่น แต่เชื่อว่าหลายคนก็คงภูมิใจในถิ่นเกิด เพียงแต่โอกาสไม่อำนวยให้พูดหรือใช้ภาษาเขมรเพื่อการสื่อสาร

สามคำถามก็จบลงแบบสั้น ๆ ห้วน ๆ แล้วก็ร่ำลากัน ก็ได้แต่หวังเล็ก ๆ ว่า มุมมองนี้พอจะช่วยให้นักศึกษาได้ประโยชนืจากการนำไปประมวลเพื่อสรุปในโครงงาน... แต่สิ่งที่คิดว่าอาจารย์ประจำวิชาอาจจะต้องแนะนำนักศึกษาเพื่อที่จะไปสัมภาษณ์และเกิดประโยชน์มากขึ้นก็เห็นว่าควรต้องแนะนำว่า จะไปสัมภาษณ์ใครก็ตาม น่าจะต้องแนะนำตัวเองหรือเท้าความความเป็นไปเป็นมาก่อน เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจได้ว่า จะมาทำอะไร เอาไปทำอย่างไร เป็นใครที่ไหน ถัดมาก็เรื่องของการตรงต่อเวลา ผู้วิจัยหรือผู้ทำโครงงานจะต้องตรงต่อเวลา เพราได้นัดหมายกับผู้ถูกทาบทามแล้ว แต่นักศึกษาก็แชทมาเลื่อนนัดเวลาแบบกระชั้นชิดถึงสองสามครั้ง และคิดว่านักศึกษาปี 1 อาจจะยังไม่ได้มีทักษะการตั้งคำถามที่ดี ที่ชัดเจน แต่เริ่มเรียนรู้ด้วยการ งม ๆ ซาว ๆ ไปตามที่อยากรู้ จึงดูยังไม่มืออาชีพสำหรับการ “ถาม” เพื่อค้นหาคำตอบ ยิ่งการทำลักษณะนี้ คล้ายการทำวิจัยเชิงสำรวจหรือเชิงคุณภาพ... หลังเสร็จโครงการแล้ว “นักศึกษาจะได้อะไร?” ก็ยังค้างคาใจผู้ถูกสัมภาษณ์ในทุก ๆ ปีที่มีนักศึกษามาสอบถาม แต่ถ้ามองในแง่ดี เขาคงได้ความรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ และเขากำลังเริ่มต้นเรียนรู้วิธีวิจัย....ก่อนจากจึงย้ำบอกว่า หากมีอะไรยังไม่ครบถ้วน ก็แชทมาถามได้ตลอดนะครับ

ลุงภารโรง

22 ตุลาคม 2563

ปล. นักศึกษาบอกว่าจะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลที่จังหวัดสุรินทร์ด้วย

หมายเลขบันทึก: 684635เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2020 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2020 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท