ผ้าย้อมดิน กลิ่นชาไทย ชุมชนพรชนก ชุมชนวิกฤติ หลังโควิด-19


ผ้าหอมพรชนก ผ้าย้อมดิน กลิ่นชาไทย

ข่าวการเปิดบ้านชุมชนพรชนกตามศาสตร์พระราชา ในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว รองประธานสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้จัดโครงการ “เปิดบ้านชุมชนพรชนก” ชุมชนวิกฤติหน้าหาดทะเลทองของไทยในจังหวัดภูเก็ต จากการรวมกลุ่มของสมาชิกจำนวน 5 ชุมชน รวม 50 คน ประกอบด้วย ชุมชนคอกช้าง ชุมชนกะรน ชุมชนกะตะ ชุมชนบางลา ชุมชนโคกโตนด เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา โดยมี ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกลุ่ม เป็นประธานในการเปิดโครงการในครั้งนี้ หลังจากเปิดโครงการบ้านพรชนกแล้ว ท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ได้บรรยาย เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และชุมชนวิกฤติ โดยใช้ศาสตร์พระราชา จากนั้นท่าน รศ.ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านอุตสาหกรรมวิจัย และอวกาศ ได้บรรยายผ่านระบบออนไลน์ เรื่องการพัฒนานวัตกรรมชุมชนภายใต้ศาสตร์พระราชา ตามหลัก 5 ไทย คือ ไทยคิด ไทยผลิต ไทยขาย ไทยใช้ และไทยสบาย เมื่อบรรยายเสร็จสิ้น ที่ปรึกษาทั้ง 2 ท่านได้กล่าวให้กำลังใจ ปราชญ์ชุมชน ครูภูมิปัญญา แกนนำชุมชน และสมาชิกที่จะปฏิบัติงาน ให้ทำงานเป็นทีม ทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อที่จะข้ามผ่านวิกฤติไปด้วยกัน โดยยึดหลักการทรงงานของในหลวง ร. 9 คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้การนำความรู้ นำภูมิปัญญาที่มีมาพัฒนาท้องถิ่นชุมชน และต้องมีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน จากนั้นท่านที่ปรึกษาได้มอบเงินตั้งตัวเพื่อการระดมทุนเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 สมาชิกทั้ง 5 ชุมชนได้ช่วยกันระดุมทุนร่วมกัน คิดเป็นจำนวนเงิน ทั้งหมด 101,000 บาท และมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติของชุมชนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนมีขวัญกำลังใจ และพลังใจที่ดี ที่จะต่อสู้กับวิกฤติในครั้งนี้ สำหรับก่อกำเนิดโครงการ เกิดจากผู้นำชุมชน นางพรศิริ อินหอม และนายอนันต์ อินหอม ได้ไปศึกษาเรียนรู้โครงการพัฒนาของอำเภอเมืองภูเก็ต และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จากนั้นได้เชิญอาจารย์อารีย์ ขุนทน จากชุมชนคีรีวงศ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มาสอนการมัดย้อมสีธรรมชาติ มีการปรับเปลี่ยนร้านกาแฟที่ประสบสภาวะวิกฤติ มาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาหัตถกรรมสร้างสรรค์ นำองค์ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาผสมผสานสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ของชุมชนสู่ผ้าย้อมประเภทแร่จากดิน ซึ่งเป็นชุดดินกะรน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชน งานวิจัยนวัตกรรมผ้าหอม ในชื่อ “ผ้าย้อมดิน กลิ่นชาไทย” เป็นผ้ามัดย้อมที่มีสีสวย และมีกลิ่นหอม โดยการวิจัยร่วมกับ ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว จากนั้นชุมชนมีแนวคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์ผ้าหอม ไอดิน กลิ่นชา ไปจัดแสดงในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันดินโลก เพื่อเทิดพระเกียรติ ในหลวง ร. 9 และชุมชนได้อาสาเป็นหมู่บ้านเข้มแข็งตามศาสตร์พระราชาภายใต้ชื่อ “ชุมชนพรชนก” ชุมชนของพ่อหลวง ร.9 ภายใต้แบรนด์ “ภูษาเล” ผ้าย้อมสีธรรมชาติภูษาเลเป็นผลงานหัตถกรรมสีธรรมชาติของชุมชน ที่มีสีจากชุดดินกะรนเป็นสีเอกลักษณ์ “ภูษาเล” ภู มาจากคำว่า “ภูเก็ต” + ภูษา แปลว่า ผ้า + เล มาจากคำว่าทะเล ภูษาเล จึงหมายความว่า งานหัตถกรรมผ้าของดีจากทะเลภูเก็ต
โดยมีคณะทำงานชุดแรกที่ขับเคลื่อนทำงานในพื้นที่ ได้ลงปฏิบัติงานแบบจิตอาสาเร่งด่วนประกอบด้วย อ.สุเทพ มุงคุณ และ ดร.สุพัฒนชัย โพธิ์แก้ว เป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ศาสตร์พระราชาในการพัฒนาท้องถิ่น ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว เป็นที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ การต่อยอดภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมใหม่ และดร.จารุณี คงกุล เป็นที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการสร้างเรื่องราว การออกแบบ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน ในสภาวะวิกฤติที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ชุมชนมีอุดมการณ์ยึดมั่นในการพัฒนาตนเองด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อต่อสู้กับปัญหา โดยการนำหลักการทรงงานของในหลวงมาเป็นแสงสว่างในการนำทางกลุ่มสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด

หมายเลขบันทึก: 683916เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2020 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2020 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท