การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๑๑ ทดสอบเตาแบบถังครึ่ง ครั้งที่ ๙ (ความแตกต่างระหว่างการเรียงฟืนแบบตั้งและแบบนอน)


ในการทดลองเผาครั้งที่ ๘ อ.กิตติ เลิศล้ำ เฉลยสิ่งสำคัญ ทั้งที่ความจริงท่านก็ไม่ได้ปิดบังอะไร หากใครติดตามดูคลิปที่เผยแพร่ในยูทูปทั่วไป อาจารย์ก็บอกไว้แล้ว อธิบายไว้แล้ว และลิงค์องค์ความรู้ของชาวญี่ปุ่นที่อาจารย์ส่งให้ เขาก็เรียงแบบตั้งฟืนกันทั้งนั้น... แต่ถ้าจะรอให้ผมเอะใจเองคงต้องรออีกหลายเตา เมื่อสบโอกาสผมเห็นปัญหา จึงค่อยเฉลยเป็นปัญญาให้เห็นความต่างของการวางฟืนเรียงนอนกับเรียงตั้ง ว่าต่างกันอย่างไร  

แม้ว่าไม้จะไม่ใช่ตัวนำความร้อน (เป็นฉนวนความร้อน) ดังจะสังเกตได้ว่า เมื่อเราก่อไฟฟืน จะสามารถจับถือไม้นั้นได้สบายในขณะที่ปลายข้างหนึ่งติดไฟ แต่การจัดเรียงฟืนในแนวตั้ง ทำให้ช่องว่างระหว่างไม้ (ซึ่งควรจะเหลืออยู่น้อยที่สุด) วางตัวอยู่แนวตั้งด้วย ทำให้อุณหภูมิร้อนจากด้านบนถังถ่ายเทลงมาด้านล่างได้ง่ายกว่า โปรดสังเกตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ในการทดลองเผาครั้งที่ ๙ ต่อไปนี้ 

ข้อสังเกตจากกราฟ

  • สังเกตว่า อุณหภูมิจุดที่ ๓ (เหนือจากพื้นเตาประมาณ ๑๕ เซนติเมตร) มีอุณหภูมิสูงกว่าเส้นสีเหลือง (อุณหภูมิควัน)ตลอดแนว เมื่อเทียบกับการทดลองเผาทุกครั้งที่ผ่านมาที่สองจุดนี้เส้นกราฟทับกันตลอดในช่วง ๓ ชั่วโมงแรก 
  • อุณหภูมิช่วง ๓ ชั่วโมงแรก ไม่แกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกับการวางฟืนแบบนอน และเมื่อเตาติด (ประมาณชั่วโมงที่ ๓ เป็นต้นไป) กราฟอุณหภูมิจะสูงขึ้นต่อไป ไม่มีถอยหลัง (ติดคือติด) 
  • ระยะชั่วโมงที่ ๒.๔๐ อุณหภูฒิเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระบวนการกระตุ้นให้ความร้อนเพื่อส่งเตาให้เข้าสู่กระบวนการเผาด้วยตนเอง ก่อนจะเอาฟืนหน้าเตาและถ่านทั้งหมดออกจากห้องเผา แล้วเริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ 
  • มีการเปลี่ยนปล่อง ๒ ครั้ง ที่ชั่วโมงที่ ๙.๒๑  และ ๑๐.๑๗ จะเห็นว่า การเปลี่ยนปล่องครั้งแรกทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไปจนได้เปลวสีฟ้า แต่การเปลี่ยนครั้งที่สอง แม้ว่าอุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้นมาก อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดที่ ๙๙๖ องศาเซลเซียส แต่ก็สามารถรักษาอุณหภูมิให้สูงกว่า ๙๘๐ นานประมาณ ๒ ชั่วโมง ... ผมสรุปว่า นี่คือจุดสูงสุดของเตานี้ เหตุที่ไม่สามารถเพิ่มไปถึง ๑,๐๐๐ องศา ตามที่อิวาซากิทำได้ เนื่องจาก ขนาดของปล่องควันเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า เตานี้ใช้ปล่องเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓ นิ้ว (ไม่ใช่ ๓.๕ นิ้วนะครับ ผมเคยบอกผิดไปในคลิปยูทูป) ส่วนเตาของอิวาซากิ ใช้ปล่องเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร (หรือ ๔ นิ้ว) 

คุณภาพถ่าน

หากสนใจโปรดดูคลิปด้านล่างนี้ ความต้านทานเฉลี่ยต่ำกว่าการทดลองเผาทุกครั้งที่ผ่านมา ความต้านทานต่ำกว่า ๕ โอห์ม แม้จะไม่ได้กดปลายโอห์มมิเตอร์ให้เข้าไปในเนื้อถ่านที่หนาแน่นนัก และต่ำกว่า ๒ โอห์มเมื่อกดจิ้มเข้าไปเนื้อถ่าน (ดังรูป)  เมื่อเปรียบเทียบกับการเผาครั้งที่ ๘ ที่อุณหภูมิสูงเช่นกันแต่อุณหภูมิเตาคงไว้เหนือ ๙๐๐ เพียง ๒๐ นาที (ครั้งนี้นานา ๒ ชั่วโมง) แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาของการคงค้างอุณหภูมิไว้ มีผลต่อคุณภาพถ่าน 

ขอจบด้วยความภูมิใจเล็ก ๆ กับการสร้างถ่่านดูดกลิ่นของผมนะครับ ผมได้ถ่านดูดกลิ่นชุดแรก ๔ ท่อน ตั้งใจจะเอาไปฝากเพื่อนพี่น้องให้ทดลองใช้ดูครับ 

บันทึกต่อไปมาศึกษาเกี่ยวกับน้ำส้มควันไม้ที่ได้เรียนรู้จาก อ.กิตติ เลิศล้ำ กับครับ 

หมายเลขบันทึก: 683146เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2020 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2020 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท