ชีวิตที่พอเพียง 3789. คิดกระบวนระบบ



หนังสือเรื่อง Thinking in Systems A Primer (2008) โดย Donella H. Meadows   พิมพ์เผยแพร่หลังผู้เขียนถึงแก่กรรมในปี 2001   เป็นหนังสือที่อธิบาย Systems Thinking ให้เข้าใจง่าย

ผมมีความเห็นว่า systems thinking นี้ คู่กับกระบวนทัศน์ที่มองสรรพสิ่งว่าอยู่ในสภาพซับซ้อนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา (complexity / complex-adaptive systems)    สิ่งต่างๆ ไม่ได้สัมพันธ์กันแบบเส้นตรง และเรื่องต่างๆ ไม่ได้มีมิติเดียว    แต่มีหลากหลายมิติที่บางมิติก็ไม่ชัดเจน     เพราะมันอยู่ระหว่างก่อตัว หรืออยู่ระหว่างล้มหายตายจาก    และที่สำคัญ แต่ละมิติขึ้นกับผู้มองด้วย    “ความจริง” จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับผู้มองหรือผู้สัมผัส    “ความจริง” จึงมีหลาย “ความจริง”    หากรู้จักเอาความจริงจากหลากหลายมุมมองมาทำความเข้าใจร่วมกัน    คนกลุ่มนั้นจะฉลาดกว้างขึ้นมาก  

แต่วิธีคิดของผมเป็นเพียงกระบวนทัศน์หนึ่งของ “ระบบ”    ยังมีอีกกระบวนทัศน์หนึ่งที่เป็นขั้วตรงกันข้าม   คือระบบที่เสถียร คงที่

หนังสือบอกว่า สิ่งต่างๆ รอบตัว และภายในตัวเรา เป็น “ระบบ” ทั้งสิ้น    คือประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยมามีปฏิสัมพันธ์ (relationship) กันอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน    องค์ประกอบเหล่านี้เรียกว่า element    และเป้าหมายเรียกว่า shared purpose  

ตัวระบบจะแสดงพฤติกรรม ๒ อย่างคือ stock กับ flow    โดยที่ การไหล (flow) จะมีทั้ง ไหลเข้า (inflow)  และไหลออก (outflow)    การไหลเข้าจะมีผลให้ stock เพิ่มขึ้น    ส่วนการไหลออกจะมีผลให้ stock ลดลง    จึงต้องมีกลไกในระบบเพื่อควบคุมให้ระดับของ stock อยู่ในสภาพที่ต้องการ   กลไกนี้เรียกว่า “การป้อนกลับ” (feedback)

การป้อนกลับมี ๒ แบบ   คือ negative feedback กับ positive feedback   

negative feedback ช่วยให้ระบบเสถียร   เช่นระบบปรับอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิห้องให้คงที่ที่ ๒๕ องศาเซลเซียส    เมื่อระบบทำความเย็นทำงานจนอุณหภูมิลดลงมาถึง ๒๕ องศา ระบบ negative feedback จะทำงานตัดการทำงานของระบบทำความเย็น    ระบบ negative feedback ในกรณีนี้เรียกว่า thermostat    เรียก feedback แบบนี้อีกชื่อหนึ่งว่า balancing feedback    

positive feedback ช่วยให้ระบบเปลี่ยนแปลงไปทางใดทางหนึ่ง    เช่นระบบเศรษฐกิจ เราต้องการระบบ feedback ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง    ที่เรียกว่าตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ    เรียก feedback แบบนี้อีกชื่อหนึ่งว่า reinforcing feedback

ระบบที่แข็งแรง หรือเป็นระบบที่ดี จะมีลักษณะที่ดี ๓ ประการคือ  ยืดหยุ่น (resilient)  จัดการตนเอง (self-organized)  และ มีลำดับขั้น (hierarchical)

ข้อดีของความยืดหยุ่น และการจัดการตนเอง เข้าใจง่าย    แต่ข้อดีของการมีลำดับขั้นเข้าใจยาก    อธิบายว่าเพื่อประหยัด หรือเพื่อประสิทธิภาพของระบบ    เพราะระบบที่ดีนั้นต้องมีกลไกด้านการไหลของข้อมูลข่าวสารระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบเป็นอย่างดี    ซึ่งต้องใช้พลังงานมาก   จึงต้องมีกลไกประหยัดพลังงาน โดยจัดระบบการไหลของข้อมูลเป็นลำดับชั้น    ช่วยให้ข้อมูลไหลไปตามเส้นทางที่จำเป็นเท่านั้น  ไม่ต้องไหลไปทั่วทั้งระบบ   นี่คือระบบที่มีลำดับชั้น    ไม่ใช่ระบบ complexity / complex-adaptive systems  

ดังนั้น ระบบที่มีลำดับชั้นจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย    โดยที่ข้อเสียคือ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการจัดการตนเอง จะน้อยลง    ดังเห็นได้ชัดเจนในระบบราชการไทย  

ผมตีความว่า ระบบมี ๒ แบบ คือระบบเถรตรง  กับระบบสังคม    ระบบเถรตรงพบในโรงงานอุตสาหกรรม    ระบบผลิตโดยเครื่องจักร ที่เป็นระบบ input – process – output    มีปฏิสัมพันธ์กันแบบเส้นตรง    เมื่อใส่ input ก เข้าไป ๑๐ หน่วย   ผ่าน process ที่มีการควบคุมให้คงที่   ก็จะได้ output ข ๕ หน่วย ที่มีคุณภาพเหมือนกันหมด และตรงตาม spec ที่กำหนดไว้     ความสัมพันธ์ระหว่าง input กับ output มีความแน่นอนทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ    โดยคำนวณปริมาณได้ด้วยบัญญัติไตรยางศ์   

แต่ระบบสังคมไม่เป็นเช่นนั้น    เพราะมันมีปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง    ปัจจัยหลายตัวเปลี่ยนแปลงเร็วมาก    รวมทั้งมีอนุระบบจำนวนมากมาย และหลายชั้น อยู่ภายในระบบใหญ่    กลไกป้อนกลับ (feedback) ก็ทำงานดีบ้าง ไม่ดีบ้าง หรือบิดเบี้ยวก็มี    

และที่สำคัญที่สุด  ทรัพยากรมีจำกัด    ทำให้ระบบมีความไม่ยั่งยืน    อย่างที่ระบบสภาพแวดล้อมของโลกทั้งใบกำลังเผชิญ

ข่าวดีคือ เราสามารถเปลี่ยนแปลงระบบและผลต่อระบบได้ โดยการเปลี่ยนกติกาภายในระบบ    เพื่อกำกับพฤติกรรมขององค์ประกอบให้ไปในทางที่ทำให้ระบบพัฒนาไปในทางที่ต้องการ    ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการดำเนินการ ณ จุด tipping point    และมีแนวความคิดใหม่ว่า    จริงแล้วแต่ละระบบมีอนาคตหลายแบบรออยู่     เราสามารถดึงพลังอนาคตมาเปลี่ยนระบบได้ ตามในหนังสือ Theory U : Leading from the Future as It Emerges     

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 682784เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2020 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2020 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Would that not be wonderful if we could have a political system like that (flexible and reactive to people’s needs) but aim to achieve excellent social outcomes (not mere economic returns – for self interests).

Sigh. One can grow old and tired of waiting.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท