กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “อาจถูกจับ” ถ้าไม่ปรับองค์กร (ตอนที่ 1)


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ น.บ. (จุฬาฯ) Ph.D. อาชญาวิทยา และการยุติรรม (จุฬาฯ)
 

นักกฎหมายเทคโนโลยี และวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร

อาจารย์พิเศษ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

 

 

      พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ประกาศบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นับเป็นจุดเปลี่ยนพัฒนาการที่สำคัญของ “สิทธิและหน้าที่” ใหม่ของพลเมืองที่เกิดจากยุค Digital disruption การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ต้องปรับตัวให้ทัน

          พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มุ่งปกป้องข้อมูลของบุคคลหรือประชาชนทั่วไปในการรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ แต่แท้จริงแล้วบทบาทหน้าที่สำคัญในกฎหมายฉบับนี้ คือ “องค์กร” ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการนำไปใช้ตามบทบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และหากองค์กรปรับตัวไม่ทัน ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์กร และถูกปรับจำนวนมหาศาลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องรีบปรับตัว

          มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายไทยนั้น ก็ย่อมต้องมีความสอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอดคล้องกับ GDPR ( General Data Protection Regulation) เป็นมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของ สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ประกาศ บังคับใช้เมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ซึ่งนอกจากเป็นมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีผลบังคับใช้กับการสื่อสารข้อมูลภายในระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีกด้วย และยังรวมถึงองค์กรหรือผู้ประกอบการในไทยที่ต้องติดต่อสื่อสารรับส่งข้อมูลส่วนบุคคลกับประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Cross-Border Data Transfer Issues)  ในการทำการค้าการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ที่สอดคล้องกับมาตรการ GDPR เช่นกัน

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อให้เกิดสิทธิใหม่กับประชาชนที่จะต้องได้รับการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตนจากการใช้เทคโนโลยี (Data protection) และเกิดหน้าที่ต่อองค์กรที่ต้องคุ้มครองข้อมูลของประชาชนที่อาจจะผลกระทบต่อสิทธิจนเกิดการละเมิดเป็นความเสียหายในภายหลัง องค์กรต้องตะหนักรู้ถึงการบริหารจัดการข้อมูลของประชาชนอย่างเหมาะสมทั้ง การรักษาความลับ (Confidentiality)  ความถูกต้องสมบูรณ์ (Integrity) และความพร้อมใช้งาน (Availability) ของข้อมูลส่วนบุคคล และหากจะกล่าวโดยย่อถึงสาระสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของกฎหมายฉบับนี้ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 มี 3 ประการ คือ

1. หลักการให้ความยินยอม (Consent) ในการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนไว้ตั้งแต่แรกแล้วเท่านั้น (Right to be informed) เป็นหนังสือหรือทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมก่อน จึงจะนำข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไปใช้ได้

2. หลักการรักษาความปลอดภัย (Security) ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลไม่ให้รั่วไหลหรือถูกเข้าถึงโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือเกี่ยวข้องกับองค์กร และรักษาข้อมูลไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

3. หลักสิทธิ์ถอนความยินยอม (Right to withdraw consent) เมื่อเจ้าของข้อมูลให้การยินยอมตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ตั้งแรกแล้วนั้น เกิดเปลี่ยนใจต้องการขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลเมื่อใดก็ได้ โดยการยกเลิกจะต้องไม่ขัดต่อข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอมทางกฎหมาย หรือสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ความยินยอมไปก่อนหน้านี้

นอกจากหลักสำคัญ 3 ประการดังกล่าว พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังได้ให้ “สิทธิ” เจ้าของข้อมูล (Data Subject Right) อีกหลายประการ อันที่ องค์กร บุคคลหรือนิติบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องเคารพ และปฏิบัติตาม อาทิเช่น

สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access) ตามมาตรา 30 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือขอให้เปิดเผยถึงการได้มา ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม

สิทธิในการขอรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน (Right to data portability) ตามมาตรา 31 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อต้องการขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอื่น โดยการใช้สิทธินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน (Right to object) ตามมาตรา 32 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อใดก็ได้

สิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการลบหรือทำลาย(Right to erasure / Right to be forgotten) ตามมาตรา 33 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการลบหรือทำลายหรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้

สิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ (Right to restrict processing) ตามมาตรา 34 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูล (Right of rectification) ตามมาตรา 35 โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการแก้ไขให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ความรับผิด และบทลงโทษ

ในกฎหมายฉบับนี้ มีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงทั้ง โทษทางอาญา โทษทางปกครอง และโทษทางแพ่ง มีทั้งค่าปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท ความรับผิดทางแพ่งนั้นศาลสามารถสั่งให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนชดใช้แก่เจ้าของข้อมูลได้ถึง 2 เท่าจากความเสียหายจริง และยังมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องขยับปรับตัวให้ทัน

หมายเลขบันทึก: 682753เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2020 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท