การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๐๗ ทดสอบเตาแบบถังครึ่ง ครั้งที่ ๕ เรียนรู้กระบวนการเผาถ่านจาก อ.กิตติ เลิศล้ำ


ปัญหาสำคัญของการทดลองเผาครั้งที่ ๔ คือ ความแตกต่างของอุณหภูมิที่จุดต่าง ๆ ในเตาอบ ทำให้ได้ถ่านที่คุณภาพแตกต่างกันมาก และไม้บางส่วนด้านล่างยังเป็นส้นถ่าน ก่อนการทดลองครั้งนี้จึงปรับให้ตะแกรงเหล็กแบบกระดูกงูวางสูงจากพื้นเตาขึ้นมาประมาณ ๕ เซนติเมตร และติดตั้งหัววัดอุณหภูมิเพิ่มอีก ๒ จุด รวมเป็น ๔ จุด ดังภาพ 

การทดลองเผาครั้งที่ ๕ นี้ อ.กิตติ ได้เข้ามาสอนความรู้และวิธีการหลายอย่าง และได้แนะนำเอกสารภูมิปัญญาการเผาถ่านของชาวญี่ปุ่นดี ๆ และวาดรูปอธิบาย ทำให้เข้าใจได้ง่ายมาก ต่อไปนี้เป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ของ "เฒ่าเผาถ่าน พิทักษ์โลก" ครับ 

น่าเสียดายมาก ที่อุปกรณ์บันทึกข้อมูลเกิดผิดพลาดนิดหน่อย (ผมไปขยับโดนปลั๊ก ทำให้เครื่องถูกตัดไฟ ไม่บันทึกข้อมูลตลอดการเผา) จึงไม่มีกราฟการเปลี่ยนแปลงมาแสดงให้วิเคราะห์กัน อย่างไรก็ดี มีข้อมูลบางส่วนที่หน้าสนใจดังนี้ครับ 

  • จุดที่ต้องพัฒนามี ๓ จุดสำคัญ ได้แก่ การเรียงฟืน ผมเข้าใจว่า นี่คือจุดที่ อ.กิตติท่านเรียกว่า กระดุมเม็ดแรก (ซึ่งผมติดผิดตั้งแต่เตาที่ ๑ - ๘ เลยครับ)
  • ในการเก็บน้ำส้มควันไม้  ควรจะเอาฟืนและถ่านจากหน้าเตาออกก่อนเริ่ม (หลังจากเตาติดเต็มที่แล้ว) เพื่อให้มั่นใจว่า ได้น้ำส้มควันไม้จากไม้ในเตาเท่านั้น... ในขั้นตอนนี้ อิวาซากิ แนะนำให้เปลี่ยนฟืนไม้ในเตาเผาเป็นไม้ไผ่ทั้งหมด 
  • กระโจมหรือกรวยรับควัน ควรมีฐานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๐ เซนติเมตร ความสูงจากก้นถึงปลายกรวยประมาณ ๕๐ เซนติเมตร  และวางกระโจมให้ขอบกรวยสูงจากปากปล่องประมาณ ๒๐ เซนติเมตร 
  • อุณหภูมิสูงสุดของการทดลองเผาครั้งที่ ๕ อยู่ที่ ๗๒๑ องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงก่อนจะปิดเตาอยู่ในช่วงดังภาพนี้  (อุณหภูมิจุดที่ ๑ ๒ ๓ และ ๔ เรียงจากซ้ายไปขวา ตามลำดับ)

คุณภาพถ่าน

ถ่านที่ได้จากการทดลองเผาครั้งที่ ๕ ไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างถ่านชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง  ความต้านทานของถ่านอยู่ในช่วง ต่ำกว่า ๑๐๐ โอห์ม (ใช้ปลายโอห์มมิเตอร์จิกลงไปในเนื้อถ่าน)


กระบวนการเผาถ่าน ๗ ขั้นตอน

อ.กิตติ บอกชัดเจนถึง ๗ ขั้นตอนพื้นฐานของการเผาถ่าน เป็นภาพรวมของกระบวนการเปลี่ยนไม้ให้กลายเป็นถ่านคุณภาพ ดังนี้ 

ขั้นที่ ๑ คัดแยกไม้

แยกไม้เล็กออกจากไม้ใหญ่ แยกไม้ใหญ่ออกจากไม้เล็ก ไม้ที่ขนาดต่างกัน พื้นผิวสัมผัสต่ออุณหภูมิในเตาแตกต่างกัน ทำให้การสะสมความร้อนในไม้ต่างกัน ควรผ่าไม้ให้มีขนาดใกล้เคียงกัน 

คัดแยกไม้ดิบออกจากไม้แห้ง ปริมาณน้ำในไม้ทำให้ไม้แห้งและไม้เปียกแตกต่างกันมาก การคายน้ำจากเนื้อไม้ (๑๐๐ - ๑๑๐ องศาเซลเซียส) จะทำให้อุณหภูมิของไม้ลดลง  

คัดแยกชนิดของไม้  ไม้แต่ละชนิดสะสมคาร์บอนไว้ในปริมาณที่ต่างกัน ในรูปแบบที่ต่างกัน ถ่านที่ดีมีคุณภาพจะได้จากไม้เนื้อแข็ง โตช้า หรือได้จากไม้ที่เป็นเส้นใยเช่น ไผ่ ซึ่งสะสมคาร์บอนไว้มาก มีลิกนินสูง 

 ขั้นที่ ๒ การเรียงไม้ในเตา

การเรียงไม้ในเตาจะมีผลต่อการไหลเวียนของลมร้อนในเตา ห้ามเรียงไม้ปิดกั้นการทางออกของควัน จะต้องเรียงไม้ให้การไหลเวียนได้สะดวก แต่ต้องเรียงให้ไม้ชิดแน่นกันมากที่สุด เพื่อให้ลมร้อนกระจายไปทั่วเตาอย่างสม่ำเสมอ 

ภาพแชร์จาก อ.กิตติ เลิศล้ำ

ขั้นที่ ๓ การจุดไฟ้ในห้องให้ความร้อน

ขณะที่จุดเตาต้องเปิดห้องใส่ฟืนไว้ตลอดเวลา และต้องไม่มีอะไรกีดกวางช่องอากาศเด็ดขาด 

ขั้นที่ ๔ อบไล่ความชื้น

อบไล่ความชื้นของไม้ โดยปกติจะใช้เวลา ๔-๖ ชั่วโมง อุณหภูมิปากปล่องไม่เกิน ๓๔ องศาเซลเซียส 

ขั้นตอนที่ ๕ กระตุ้นความร้อน

เร่งกระตุ้นการเพิ่มความร้อน เป็นรอยต่ระหว่างการอบและการเผา อุณหภูมิของควันจะเพิ่มจาก ๓๔ องศาเซลเซียส ขึ้นไปถึง ๗๐ องศาเซลเซียส และเตาจะติดอย่างเต็มที่ ๆ ๘๕ องศาเซลเซียส 

ขั้นตอนที่ ๖ เริ่มการเผาถ่านและเก็บน้ำส้มควันไม้

เมื่อเตาจุดติดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเติมฟืนในห้องให้ความร้อนอีก และเมื่ออุณหภูมิควันเป็น ๘๕ องศาเซลเซียส ให้เอาฟืนและถ่านที่ห้องให้ความร้อนออกทั้งหมด แล้วจึงเริ่มกระบวนการเก็บน้ำส้มควันไม้จนกระทั่งอุณหภูมิควันไปถึง ๑๕๐ องศาเซลเซียส จึงหยุด 

ขั้นตอนที่ ๗ เผาถ่านคุณภาพตามต้องการ (ผมตั้งชื่อขั้นตอนนี้เองครับ อ.กิตติ บอกว่า ขั้นที่ ๗ คือเผาต่อไปให้ได้ถ่านตามต้องการ)

เมื่อหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้ มีทางเลือกหลายทาง สำหรับผู้เผาถ่าน ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการถ่านคุณภาพแบบใด  ที่ผมจับประเด็นเห็นแนวทางให้เลือกดังนี้ 

  • เผาเอาถ่านปิ้งย่าง (อุณหภูมิไม่เกิน ๕๕๐-๖๕๐ องศาเซลเซียส) ให้เผาต่อไปจนกระทั่งควันใส หรืออุณหภูมิที่จุดเอาถ่าน (จุดที่ ๓ ดูรูปข้างบน) อยู่ที่ ๕๐๐ องศาเซลเซียส จึงปิดเตา
  • เผาเอาถ่านดูดซับกลิ่น (อุณหภูมิไม่เกิน ๗๐๐ - ๘๐๐ องศาเซลเซียส) เผาต่อไปจนอุณหภูมิที่จุดเอาถ่านมากกว่า ๗๐๐ องศา จึงปิดเตา 
  • เผาเอาถ่านคุณภาพสูง ถ่านเพื่อสุขภาพ (อุณหภูมิมากกว่า ๘๐๐ องศาเซลเซียส) เผาต่อไปจนอุณหภูมิที่จุดเอาถ่านมากกว่า ๘๐๐ องศาเซลเซียส จึงปิดเตา 
  • ฯลฯ

..... 

อ.กิตติ บอกว่า อย่าเพิ่งสรุปตอนนี้  เผาถ่านไปอีก ๖-๑๐ ปี ค่อยสรุปอีกที ...ดังนั้น ท่านก็อย่าเชื่อผมนะครับ ผมเพียงจับประเด็นที่ตนได้เรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเท่านั้นเอง .... ผิดถูกอย่างไร แจ้งให้ผมแก้ไขได้ครับ 

บันทึกต่อไป มาดูผลการเผาครั้งที่ ๖ ครับ

หมายเลขบันทึก: 682751เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2020 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2020 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท