โปรแกรมรักษาคนดีในฐานวิถีชีวิต Virtue New Normal, VNN


คลิกอ่านฉบับจริงได้ที่ http://thaigovscholars.org/addon/PAPERS/88-95.pdf 

บทคัดย่อ

      ท่ามกลางทุกขภาวะจากโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ วิตกกังวลทางการเงิน และปัญหาความขัดแย้ง ล้วนมีผลจากทัศนคติและความคาดหวังของคนต่างวัยที่ควรประเมินสมรรถนะแห่งตนเพื่อการฝึกทักษะการคิดสื่อสารทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการเรียนรู้อารมณ์สังคมจากประสบการณ์ทางคลินิกกิจกรรมบำบัดใน 30 ครอบครัว พบว่า Gen BB (55 ปีขึ้นไป) ต้องการเรียนรู้วิธีการพึ่งพิงด้วยความสามารถช่วยเหลือตนเอง (lean self-help); Gen X (40-55 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง (learn self-esteem); Gen Y (24-39 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตด้วยคุณค่าแห่งตน (live self-value); Gen Z (8-23 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการเป็นผู้นำด้วยความมั่นใจในตนเอง (lead self-confident); Gen Alpha (ต่ำกว่า 8 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการให้ความรักด้วยสติแห่งตน (love self-conscious) และทุก Gen ต้องการเรียนรู้วิธีการละวางจากความเห็นแก่ตัว (leave selfish) ดังนั้นบทความวิชาการนี้มีเป้าประสงค์เพื่อทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องการปรับตัวในชีวิตวิถีใหม่และโปรแกรมการรักษาคนดีมีความเป็นผู้นำสุขภาวะ อ้างอิงแบบจำลองของสุขภาพชีวจิตสังคม (bio-psycho-social model of health) รวม 13 ฉบับ แบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) มิติชีววิทยา 2) มิติจิตวิทยา 3) มิติสังคมวิทยา และ 4) มิติการเรียนรู้สุขภาพ ทำให้เกิดการสะท้อนแนวทางการพัฒนาพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมได้อย่างประจักษ์นิยมทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม 

คำสำคัญ: ทักษะการคิดสื่อสาร, ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง, การเรียนรู้อารมณ์สังคม

         

มิติชีววิทยา

มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (1) เรื่องกลไกการควบคุมระบบประสาทภายในทางเดินอาหาร (enteric nervous system, ENS) ที่มีแกนเชื่อมโยงกับสมอง (brain-gut-axis, BGA) จากจุลินทรีย์ที่รวมอยู่ภายในร่างกายทั้งหมด (microbiota) ส่งผลให้เกิดการสื่อสารสู่แกนหลักของระบบประสาทต่อมไร้ท่อ (hypothalamic-pituitary-adrenal axis, HPA) เพื่อตอบสนองต่อการจัดการความเครียดลบภายในร่างกายอย่างหลากหลาย เช่น ภาวะอ้วน ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ภาวะสมาธิสั้น ความจำบกพร่อง การบริหารจัดการบกพร่อง ฯลฯ ซึ่งบางครั้งได้รับการกระตุ้นความคิดบวกด้วยความสนใจของตนเองต่อการตัดสินใจใน “คุณค่าของการให้ความเห็นอกเห็นใจ” แก่ตัวเองและผู้อื่น ซึ่งพบว่า มีการทำงานของสมองส่วนหน้าซีกซ้ายด้านบนและด้านนอก เชื่อมโยงกับกลีบสมองอินซูลาด้านหน้าและสมองส่วนหน้าซีกขวาด้านใน และส่วนเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับและสมองกลีบข้างที่สมองซีกขวา (2) เสมือนว่า “ถ้าคุณมีอารมณ์โมโหหิว ก็จะกระหายน้ำตาล และมีภาวะตึงเครียดสะสมจนอ่อนล้าทางร่างกายมากกว่าคนที่มีอารมณ์มั่นคงคิดยืดหยุ่น” อย่างไรก็ตาม เมื่อปีพ.ศ. 2554 การสะท้อนแผนที่ความคิดความเข้าใจในตัวเองผ่านการวัดคลื่นสมองในตำแหน่งที่สัมพันธ์กันกับมิติจิตวิทยา เช่น ทักษะการประกอบอาชีพที่ถนัด รูปแบบของบุคลิกภาพต่อชุดความคิดเพื่อสื่อสารความต้องการกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการรับความรู้สึกบวกลบผ่านภาพ เสียง สัมผัส เคลื่อนไหว ตลอดจนการรับรู้แรงจูงใจสูงต่ำตามศักยภาพของแต่ละรายบุคคล (3)

มิติจิตวิทยา

เมื่อทบทวนจริยศาสตร์เชิงคุณธรรม (virtue ethics) จากทัศนคติของอริสโตเติลเมื่อปีพ.ศ. 2521 กล่าวคือ ยูไดโมเนีย (eudaimonia) หรือ ความสุขที่แท้จริง เป็นเรื่องการมีระเบียบวินัยและความเพียรพยายามแห่งตนในการฝึกฝนปัญญาเพื่อแก้ปัญหาจากเงื่อนไขในการใช้ชีวิตให้อยู่เย็นเป็นสุขตามวิถีทางที่เหมาะสม มีความสำเร็จรุ่งเรืองด้วยความพอดี ใช้เหตุผลในการกำหนดเลือกว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างกล้าหาญได้อย่างไร และการมีชีวิตของคนดีเพราะชีวิตดีสำหรับแต่ละคน (4) ประกอบด้วยความจริง ความยุติธรรม ความให้เกียรติ ความมั่งคั่งด้วยหน้าที่มีคุณธรรมทั้งบรรทัดฐานและกรณียธรรมตามมิติสังคมวิทยา (5)

มิติสังคมวิทยา

ทางองค์การสหประชาชาติชี้นำว่า การลดอคติ อันเป็นตัวกระตุ้นความคิดขัดแย้งภายในตนเอง (conflict escalation) สามารถสร้างสันติสุขภายในชุมชนข้ามกลุ่มกิจกรรมสุนทรียสนทนาได้ (6) ทำให้เกิดการสื่อสารความรู้คู่คุณธรรมประกอบกับการสร้างสรรค์พลังแห่งสัมพันธภาพของชุมชนนักปฏิบัติสุขภาวะ (communities of well-being practice) โดยเฉพาะกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาท ความรับผิดชอบ และความสามารถในสหวิชาชีพทางสุขภาพจิตเพื่อสร้างสมรรถนะในการทำงานดูแลสุขภาพร่วมกัน (interprofessional collaborative competency) บนพื้นฐานการประเมินความต้องการที่แท้จริงของผู้รับบริการแต่ละรายบุคคล (7) ต่อด้วยการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในความจริงเพื่อวิเคราะห์ความรู้และตัดสินว่ามีคุณค่าจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความชอบธรรมทางสังคม (retaining social legitimacy) ก่อให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ที่นำมาปฏิบัติได้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและปรับเปลี่ยนได้ตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relationship) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงอำนาจ (power transformation) (8) ยกตัวอย่าง โปรแกรมรักษาคนดีมีการเรียนรู้สุขภาพ

มิติการเรียนรู้สุขภาพ

คณาจารย์นักกิจกรรมบำบัดได้ทำการวิจัยทางการศึกษาจากรายวิชาเลือกเสรีชื่อ “สุนทรียการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” (9)  ประจำปีการศึกษา 2560 ด้วยกรอบคิดสติปัฏฐานสี่ การปรับตัวในกิจกรรมการดำเนินชีวิต การใช้ละครเพื่อการพัฒนา และจิตวิทยาเชิงบวกหมวดชีวิตที่มีความหมาย รวม 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งได้เปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าเรียน (15 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา) ด้วยการวิเคราะห์บุคลิกภาพผ่านแบบประเมิน

บุคลิกภาพไมเยอร์ บริกก์ ในผู้เรียน Gen Z (ภาคการศึกษาที่ 1-2; n = 107 จาก 12 สาขาวิชาปี 1-4 ม.มหิดล) พบว่า ผู้เรียนมีรหัสบุคลิกภาพการกล้าแสดงออกและการใช้เหตุผลมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อถอดบทเรียนผ่านไดอารี่ที่สะท้อนประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองในแต่ละสัปดาห์

พบว่า แต่ละรายบุคคลกำลังเรียนรู้ในวิชาบังคับด้วยจิตไม่ว่าง (ครุ่นคิดมากและหมกมุ่นกังวลเกินไป) มักใช้สมองรับข้อมูลแบบป้อนเนื้อหาจนเกิดภาวะความล้าทางอารมณ์และความเครียดเชิงลบ หลังจากได้เรียนวิชาเลือกเสรี“สุนทรียการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ก็ได้ฝึกทักษะการรับรู้จิตที่อยู่ว่างหรือมีสติสงบสุขมากขึ้น (ไม่คิดมาก ไม่กังวล) และค่อย ๆ สร้างความภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งตนด้วยการรับฟังและช่วยเหลือผู้อื่นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ถือเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแห่งความรักความเข้าใจ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจของระบบการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรของ 12 สาขาวิชา เมื่อคณาจารย์นักกิจกรรมบำบัดได้สุ่มสัมภาษณ์เชิงลึกใน 30 ครอบครัวของผู้เรียนข้างต้น สามารถสรุปประเด็นความต้องการวิธีการเรียนรู้ (learn how to learn) แตกต่างกันตามช่วงวัย ได้แก่ Gen BB (55 ปีขึ้นไป) ต้องการเรียนรู้วิธีการพึ่งพิงด้วยความสามารถช่วยเหลือตนเอง; Gen X (40-55 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง; Gen Y (24-39 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตด้วยคุณค่าแห่งตน; Gen Z (8-23 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการเป็นผู้นำด้วยความมั่นใจในตนเอง; Gen Alpha (ต่ำกว่า 8 ปี) ต้องการเรียนรู้วิธีการให้ความรักด้วยสติแห่งตน และทุก Gen ต้องการเรียนรู้วิธีการละวางจากความเห็นแก่ตัว ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (collaborative learning) เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ ตามหลักการมนุษยสัมพันธ์ของ Dale Carnegie เมื่อปี พ.ศ. 2524 รวม 30 ข้อ โดยข้อ 1-9 เพิ่มทักษะการสร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจในผู้อื่น ข้อ 10-21 เพิ่มทักษะการสร้างเจตจำนงแห่งความร่วมมือ และข้อ 22-30 เพิ่มทักษะการเป็นผู้นำ (10) ได้แก่:-

1. ไม่วิจารณ์ความผิด ไม่กล่าวโทษ ไม่ร้องเรียน

2. ซื่อสัตย์ ชื่นชมผู้อื่นด้วยความจริงใจ

3. ตื่นตัวทำให้ได้รับในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการอย่างมาก

4. มีความใส่ใจรับฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง

5. มีรอยยิ้มเสมอ

6. จดจำเรียกชื่อผู้อื่นด้วยสำเนียงถูกต้องและน้ำเสียงอ่อนโยน

7. เป็นผู้ฟังที่ดี กล้าชวนให้ผู้อื่นพูดเกี่ยวกับเรื่องของพวกเขา

8. พูดในสิ่งที่ผู้อื่นให้ความสนใจ

9. ทำให้ผู้อื่นรู้สึกมีความสำคัญและทำด้วยความจริงใจ

10. ทางที่ดีสุดคือหลีกเลี่ยงการโต้เถียง

11. ให้ความเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่เคยพูดว่า “คุณผิด”

12. ถ้าคุณผิด จงยอมรับผิดอย่างรวดเร็วและชัดเจน

13. จงเริ่มต้นด้วยความเป็นมิตรเสมอ

14. จงตอบรับคำทักทายของผู้อื่นทันที

15. ปล่อยให้ผู้อื่นได้พูดอย่างเต็มที่จนจบ

16. ปล่อยให้ผู้อื่นได้รับรู้สึกแสดงความคิด

17. พยายามซื่อสัตย์ต่อการมองสิ่งต่าง ๆ ตามที่ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็น

18. แสดงความเห็นอกเห็นใจในความคิดและความปรารถนาของผู้อื่น

19. ขอร้องให้พวกเขาคิดถึงผู้อื่นบ้าง

20. เสนอไอเดียของคุณให้น่าทึ่ง

21. จงทำสิ่งใหม่และเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริงจัง

22. จงเริ่มสรรเสริญและชื่นชมด้วยความซื่อสัตย์

23. ให้ความสนใจแนะนำข้อผิดพลาดของผู้อื่นโดยทางอ้อม

24. บอกข้อผิดพลาดของคุณเองก่อนที่จะวิจารณ์ผู้อื่น

25. ตั้งคำถามแทนที่จะออกคำสั่งโดยตรง

26. ไม่ปล่อยให้ผู้อื่นอับอายเสียหน้า

27. สรรเสริญการพัฒนาเพียงเล็กน้อยในทุก ๆ การพัฒนา แนะนำอย่างจริงใจและไม่สรรเสริญเกินจริง

28. จงให้ผู้อื่นได้มีชื่อเสียงที่จะมีความพยายามต่อไป

29. จงใช้ความเชื่อมั่นสนับสนุนผู้อื่นให้มองการแก้ไขข้อผิดพลาดเป็นเรื่องง่าย

30. สร้างความสุขให้ผู้อื่นได้ทำตามที่คุณแนะนำ  

บทวิจารณ์และสรุป

จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องการปรับตัวในชีวิตวิถีใหม่และโปรแกรมการรักษาคนดีมีความเป็นผู้นำสุขภาวะ อ้างอิงแบบจำลองของสุขภาพชีวจิตสังคม ทำให้เกิดการสะท้อนแนวทางการพัฒนาพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมได้อย่างประจักษ์นิยมทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม กล่าวคือ การสอนทักษะอ่อนโยน (soft skills) ที่เน้นการบริหารจัดการในนักศึกษาหลักสูตรธุรกิจพบว่า ควรเพิ่มเวลาเพื่อการฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในความจริงควบคู่กับทักษะการสื่อสารด้วยวาจา (11) นอกจากนี้การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (transformative sustainability education, TSE) ควรเพิ่มความเข้าใจในการจัดการศึกษาด้วยสิ่งแวดล้อม (environmental education, EE) เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกแห่งการเป็นพลเมืองดี (active citizenship) ระหว่างสหวิชาชีพ ให้มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม และใส่ใจแก้ปัญหาสังคม เช่น ระบบนิเวศสังคม (social ecological system, SES) ได้ระดมสหวิชาชีพจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การจัดการอารมณ์ การคิดเชิงระบบแผนงาน และการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น (10) หรือ ระบบการพัฒนาคุณภาพด้านความรู้ความปลอดภัยในผู้ป่วย (quality improvement & patient safety education, QIPS) ได้จัดการเรียนรู้ระหว่างวิชาชีพแบบโครงงาน (interprofessional project based learning) ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบสนับสนุนกำลังใจกัน พร้อมออกแบบกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญให้ผู้เรียนเกิดทักษะความรู้ในระยะยาว (ทักษะการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีขึ้นทางสถิติเชิงคุณภาพและปริมาณ) นำมาบูรณาการกับทักษะอ่อนโยนของการทำงานระหว่างวิชาชีพร่วมกันอย่างมีความหมายเพื่อเพิ่มการสะท้อนโครงงานที่ขับเคลื่อนด้วยสุขภาวะแห่งผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก (12) ซึ่งมีหลักคิดให้จิตมุ่งมั่นทบทวนศักยภาพแห่งตนในโดยทบทวนความรู้ความสามารถในการจัดการทางการเงิน การสื่อสาร และการบริหารงานแบบเข้าร่วมสะท้อนคิดจนสำเร็จตามเป้าหมาย (13)

เอกสารอ้างอิง

[1]: Agusti, A., Garcia-Pardo, M. P., Lopez-Almela, I., Campillo, I., Maes, M., Romani-Perez, M., et al. (2018). “Interplay between the gut-brain axis, obesity and cognitive function”.  Frontiers in Neuroscience, 12(155), doi: 10.3389/fnins.2018.00155

[2]: Fukuda, H., Ma, N., Suzuki, S., Harasawa, N., Veno, K., Gardner, J. L., et al. (2019). “Computing social value conversion in the human brain”. The Journal of Neuroscience, 39(26), 5153-5172.

[3]: Nardi, D. (2011). Neuroscience of Personality. Los Angeles, CA: Radiance House.

[4]: Wilkes, K. V. (1978). “The good man and the good for man in Aristotle’s ethics”. Mind, 87(348), 553-571.

[5]: Gamez, P., Shank, D. B., Arnold, C., & North, M. (2019). “Artificial virtue: the machine question and perceptions of moral character in artificial moral agents”. AI & Society, https://doi.org/10.1007/s00146-020-00977-1

[6]: Smidt, H. M. (2020). “United Nations peace keeping locally: enabling conflict resolution reducing communal violence”. Journal of Conflict Resolution, 62(2-3), 344-372, doi: 10.1177/0022002719859631

[7]: Lasher, M. P., & Stinson, J. D. (2020). “Built on respect and good honest communication: a study of partnerships between mental health providers and community corrections”. Administration and Policy in Mental Health and Mental Health Series Research, 47, 617-631, https://doi.org/10.1007/s10488-020-01030-5

[8]: Stern, M., & Carey, K. (2020). “Good students & bad activities: the moral economy of campus unrest”. Journal of Curriculum and Pedagogy, 17(1), 62-81, doi:10.1080/15505170:2019.1649768

[9]: ศุภลักษณ์ เข็มทอง, มะลิวัลย์ เรือนคำ, วินัย ฉัตรทอง. (2562). ผลการพัฒนาตนเองด้านบุคลิกภาพและการรับรู้ของผู้เรียนในรายวิชาสุนทรียการเปลี่ยนแปลง. หนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการครั้งที่ 14 ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2562, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย.

[10]: England, T. K., Nagel, G. L., & Salter, S. P. (2020). Using collaborative learning to develop students’ soft skills. Journal of Education for Business, 95(2), 106-114, doi: 10.1080/08832323.2019.1599797

[11]: Varela, O. E. (2019). Teaching care staff skills into business curriculum: can we teach longitudinally? Journal of Education for Business, 95(3), 180-192, doi: 10.1080/08832323.2019.1627992

[12]: Goldman, J., & Wong, B. M. (2020). Nothing soft about ‘soft skills’: care competencies in quality improvement and patient safety education and practice. BMJ Quality & Safety, 29, 619-622, doi: 10.1136/bmjqs-2019-010512

[13]: Gal, A., & Gan, D. (2020). “Transformative sustainability education in higher education: activating environmental understanding and active citizenship among professional studies learners”. Journal of Transformative Education, doi: 10.1177/1541344620932310

หมายเลขบันทึก: 682545เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2020 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2022 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท