ชีวิตที่พอเพียง 3781. การออมของคนไทย



เช้าวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ผมไปร่วมประชุมสามพรานฟอรั่ม  หรือชื่อเป็นทางการว่า การประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายเรื่อง “การออมของคนไทย ทิศทาง นโยบาย และความท้าทาย”

วันนี้ ศ. นพ. ประเวศ วะสี มาเป็นประธานการประชุมไม่ได้ เพราะติดนัดหมอตา

 ได้เรียนรู้เรื่องระบบความมั่นคงทางการเงินของคนไทย ฉบับนักวิชาการ (ศ. ดร. วรเวศม์ สุวรรณระดา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย),  ฉบับประชาชน (นายสมชาย กระจ่างแสง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ),  และความเห็นของนักวิชาการอาวุโส (ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง)

ทั้งสามท่านนำเสนอเก่งมาก ศ. ดร. วรเวศม์ สุวรรณระดา นำเสนอเรื่อง ทิศทางและนโยบายการปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย   ซึ่งสรุปว่า มี ๙ ระบบ แยกกัน ตามรูป

ท่านนำเสนออย่างผู้รู้จริง    มีตัวเลขมากมาย    เพราะจับงานนี้มาราวๆ ๑๕ ปี ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ที่มี พญ. ลัดดา ดำริการเลิศ เป็นเลขาธิการ

  คุณสมชาย กระจ่างแสง เสนอเรื่อง พรบ. บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน    โดยมีหลักการดังรูป

คุณสมชายมากับร่าง พรบ. เลยทีเดียว    โดยทำงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑   หลักการง่ายๆ ๓ ข้อ แต่ในทางปฏิบัติมันซับซ้อนและยากอย่างยิ่งทั้ง ๓ ข้อ อธิบายโดย ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เสนอเรื่อง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนสนับสนุนการออมรองรับสังคมไทยอายุยืน   โดยท่านบอกว่าหลักการคือ ให้คนไทยพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ยาวที่สุด    โดยขณะนี้มีคนไทย ๒๐ ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีระบบคุ้มครองยามชรา     ในวิทยากร ๓ คน ท่านพูดครอบคลุมที่สุด    และข้อถกเถียงของผมข้างล่าง หลายส่วน ดร. เจิมศักดิ์ ได้เอ่ยถึงแล้ว    

เมื่อฟังทั้งสามท่านแล้วก็เห็นว่า สามท่านไม่ได้พูดเรื่องเดียวกัน    และผมก็คิดเตลิดไปอีกเรื่องหนึ่ง คือ ความมั่นคงในชีวิตของคนไทย   ที่การออมเป็นเพียงมิติทางเศรษฐกิจ หรือการเงิน    ยังมีมิติทางครอบครัว  มิติทางสังคม  และมิติทางการศึกษาหรือสมรรถนะของบุคคล

ผมเถียงในใจว่า ที่ทั้งสามท่านเสนอนั้น ดีมาก    เป็นเรื่องที่ควรทำให้สำเร็จ    แต่แม้จะทำตามที่ทั้ง ๓ ท่านเสนอได้ดี ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก    เช่นเงินงบประมาณแผ่นดินไม่พอ    ความช่วยเหลือจากภาครัฐไปไม่ตรงจุดที่ต้องการความช่วยเหลือ    และมาตรการต่างๆ ที่เสนอนั้น เน้นกลไกภาครัฐเป็นหลัก    ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ    และอาจมีผลลบ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ เอาแต่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ    ควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกลไกภาคประชาชน ที่ภาคประชาชน หรือชุมชนรวมตัวกันเอง    สร้างระบบการออมและระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน    ที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่พลเมืองไปพร้อมๆ กัน  

ผมสนใจมิติทางการศึกษา    ว่าน่าจะสำคัญที่สุดต่อความมั่นคงในชีวิต    เพราะการศึกษาที่ดีช่วยให้คนพัฒนาตัวเอง เป็นคนที่แข็งแรง ที่สมัยนี้เรียกว่ามีสมรรถนะหลัก    ซึ่งในยุคนี้ต้องมีสมรรถนะด้านการเงินด้วย    คือรู้ค่าของเงิน และรู้จักหาและใช้เงิน รวมทั้งรู้จักออมเอาไว้ใช้จ่ายยามยากและยามชรา    ในที่ประชุมเล่ากันว่า คนสมัยนี้ใช้วิธีออมโดยการก่อหนี้     ได้ของใช้มาใช้แต่คิดว่าเป็นการออม    จากหนี้ก็ตามมาด้วยดอกเบี้ยที่คิดไม่เป็นว่าถูกเอาเปรียบเพียงใด    เป็นสภาพสังคมที่ผมโทษการศึกษา

แต่คิดอย่างนี้ออกจะไม่เป็นธรรมต่อระบบการศึกษานัก    เพราะวงการสื่อสารมวลชนประโคมการโฆษณากึ่งจริงกึ่งเท็จ ล่อหลอกให้บริโภคและอยากได้ของทันสมัยที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตกันโครมๆ    โดยขาดกลไกตรวจสอบ    คนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอก็ถูกชักจูงได้ง่าย

แต่สภาพจิตใจที่เข้มแข็งรู้เท่าทันความลวง หรือความจริงครึ่งๆ กลางๆ  เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องเอื้อให้เด็กและเยาวชนพัฒนาตัวเอง      ผมจึงยังโทษระบบการศึกษาไทยอยู่ดี ว่าทำหน้าที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนพัฒนา critical thinking ได้ไม่ดี

ในที่ประชุมพูดกันว่า การออมไม่ได้จำกัดแค่ออมเงิน   ยังมีการออมต้นไม้  การออมเวลา   ออมที่ดิน   ออมโดยการลงทุน   และผมคิดต่ออย่างโรแมนติกว่า ยังมี “ออมความรัก” อีกด้วย

เริ่มต้นชื่อเรื่องที่การออม แต่ลงท้ายที่ความมั่นคงในชีวิต    ที่ชีวิตยามชราของสาวน้อยที่เป็นโรคสมองเสื่อม ช่วยสอนผมว่า การมีคู่ครองที่ถูกคน    ได้คนที่มีความรักมั่นคงไม่ทอดทิ้งกันแม้ยามเจ็บป่วยและชรา  เป็นยอดความมั่นคงในชีวิต    นี่ก็เป็นอีกมิติหนึ่งของความมั่นคงในชีวิต … ออมความรัก

แต่ความมั่นคงในชีวิตเป็นเรื่องซับซ้อน    หลายคนไม่มีคู่ครอง  หรือมีอยู่ช่วงหนึ่งแล้วแยกกันไป    ก็ต้องหากลไกความมั่นคงอย่างอื่น    ผมเห็นลูก ๔ คนที่ไม่มีใครรับราชการของผมแล้ว ก็คิดว่า    คนมีการศึกษาแท้จริง จะคิดออกตั้งแต่อายุไม่มาก    ว่าจะต้องเตรียมความมั่นคงยามชราของเขาอย่างไร    เมื่อไม่มีระบบการออมที่รัฐจัดให้ ก็ต้องคิดระบบการออมของตนเอง    รวมทั้งระบบความมั่นคงด้านอื่นๆ ของตนเอง

ฟังดูแล้ว ระบบที่วิทยากรทั้งสามท่านเอาใจใส่ เป็นการช่วยคนที่ช่วยตัวเองได้ยากหรือไม่ได้    ซึ่งผมเถียง (ในใจ) ว่า     นั่นมันมาตรการปลายทาง    ที่คิดทำนั้นดี  แต่ไม่พอ    ที่ดีกว่าคือทำที่ต้นทาง ให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นคนแข็งแรง    เมื่อโตขึ้นก็สร้างความมั่นคงในชีวิตของตนเองได้  แถมยังช่วยเหลือคนอื่นได้    หากเราทำที่ต้นทางได้ผลสัก 80%    ก็จะมีภาระที่พลเมืองเพียงร้อยละ ๒๐   ลดภาระเงินภาษีที่คิดเอาไปจุนเจือลงไปได้มาก    รวมทั้งเมื่อขนาดของปัญหาลดลงมาก    การที่ระบบของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือได้ทั่วถึง และเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการจริงๆ ก็จะมากขึ้น 

คิดใหม่  วิธีการภาครัฐที่ทำแบบครอบคลุม และพุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบนั้นดีแล้ว    แต่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนก็ต้องมีระบบความมั่นคงส่วนของตนเองด้วย    และยิ่งหากเข้าไปจุนเจือสังคม หรือคนอ่อนแอกว่าได้ด้วย ก็จะยิ่งเป็นกุศล  

คนเราต้องไม่เอาแต่มุ่งรอรับความช่วยเหลือ       

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ส.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 682215เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2020 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2020 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท