การนับเวลาแบบไทย


การนับเวลาแบบไทย "โมง-ทุ่ม-ตี-ยาม"

      ประเทศไทยเรานอกจากจะใช้วิธีการบอกเวลาแบบสากลแล้ว ก็ยังมีการบอกเวลาที่มีลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะประเทศเราไทยเราเฉพาะอย่างการนับเวลาด้วยการใช้ โมง-ทุ่ม-ตี-ยาม 

          คนไทยสมัยก่อนใช้การตีฆ้องและตีกลองเพื่อเป็นสัญญาณบอกเวลา คำ โมง จึงเป็นคำที่เลียนเสียงฆ้อง   

          ส่วนคำ ทุ่ม เลียนมาจากเสียงกลองนั่นเอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับเวลาของไทยไว้ดังนี้

โมง หมายถึง

        วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๗ นาฬิกา ถึง ๑๑ นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า

ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน

ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยมเรียกว่า ๖ โมงเย็น หรือ ยํ่าคํ่า

ทุ่ม หมายถึง

      วิธีนับเวลาตามประเพณีสําหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม

ตี หมายถึง

      วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา เรียกว่า ตี ๑ ถึง ตี ๖ แต่ตี ๖ นิยมเรียกว่า ยํ่ารุ่ง

การบอกเวลาด้วยคำว่ายาม

     คำที่เกี่ยวกับ “ยาม” ที่คนไทยเรารู้จักและเข้าใจดีคำหนึ่งก็คือ “แขกยาม” ซึ่งได้แก่แขกที่เป็นชาวอินเดีย มักจะเป็นแขกปาทาน นุ่งผ้าขาวโจงกระเบน ที่เรามักว่าจ้างให้มาอยู่ยามตามตลาด หรือโรงเลื่อยโรงสี ตลอดจนโรงแรมใหญ่ ๆ บางคนก็มีเตียงนอนถักด้วยเชือก เขามักจ้างเฝ้ายามเฉพาะในเวลากลางคืน แขกพวกนี้มักจะถือกระบองอันโต ๆ น่าเกรงขาม และมักจะตีเหล็กแผ่นเป็นสัญญาณบอกเวลาทุกชั่วโมง

คำว่า “ยาม” ที่เรานับกันตามแบบไทย ๆ กับ “ยาม” ของแขกตามที่ปรากฏในบาลีนั้นแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะคืนหนึ่งเราแบ่งเป็น ๔ ยาม ยามละ ๓ ชั่วโมง

ตั้งแต่ย่ำค่ำ คือ ๑๘ นาฬิกา ถึง ๓ ทุ่ม (๒๑ นาฬิกา) เป็นยามที่ ๑

หลังจาก ๒๑ นาฬิกา หรือ ๓ ทุ่ม ไปถึง ๒๔ นาฬิกา หรือ เที่ยงคืน เราเรียกว่า ยาม ๒ หรือ ๒ ยาม

หลัง ๒๔ นาฬิกา ไปถึงตี ๓ (๓ นาฬิกา) เราเรียกว่า ยาม ๓

และหลังจากตี ๓ ไปจนย่ำรุ่ง หรือ ๖ นาฬิกา เราเรียกว่า ยาม ๔ ซึ่งเป็นยามสุดท้ายของคืน

ยามตามคติบาลี

ในวรรณคดีไทยถือตามคติสันสกฤตว่า คืนหนึ่งมี ๔ ยาม ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง แต่คติที่ปรากฏในวรรณคดีบาลีรวมถึงวรรณคดีบาลีที่แปลแต่งเป็นภาษาไทยว่าไว้ต่างกัน คือ

กำหนดว่า คืนหนึ่งมี ๓ ยาม

ยามหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง เรียกยามทั้ง ๓ ช่วงนี้ตามลำดับว่า

ปฐมยาม (อ่านว่า ปะ -ถม-มะ -ยาม)

ทุติยยาม (อ่านว่า ทุ -ติ-ยะ -ยาม)

ปัจฉิมยาม (อ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ -ยาม) ตามลำดับ

ปฐมยาม หรือ ยามแรก ได้แก่ช่วงเวลา ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น.

ทุติยยาม หรือ ยามที่ 2 ได้แก่ช่วงเวลา ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น. และ

ปัจฉิมยาม หรือ ยามสุดท้าย ได้แก่ช่วงเวลา ๐๒.๐๐-๐๖.๐๐ น.

หมายเลขบันทึก: 681985เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2020 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2020 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท