พัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21


สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จัดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “พัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21” ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2563  โจทย์ของการเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิทยากร คณาจารย์ และน้องนักศึกษาที่ อาจารย์ภัทราวัลย์ คำปลิว (อ.มาร์ช) หัวหน้าสาขาวิชา กำหนดไว้เป็นโจทย์ที่ "ไม่ยากแต่ท้าทาย" โดย อ.มาร์ช ผู้อำนวยการโครงการตั้งโจทย์ 3 ข้อว่า "ทะลายกำแพงของชั้นปี" คือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักศึกษาทุกชั้นปีให้แนบแน่น "การทำให้นักศึกษามีภาวะผู้นำ" กล้าแสดงออก ทั้งทางกาย ความคิด จิตวิญญาณ และ "ทีม" สามารถเกิดความร่วมมือระหว่างชั้นปี แต่มีดีที่สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มีนักศึกษาที่พร้อมในการคิด พูด ทำ แก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบและทันท่วงทีในศตวรรษที่ 21 ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง ศตวรรษแห่งความท้าทาย ศตวรรษที่ต้อง "ปรับตัว" ให้พร้อม ทั้งความรู้ ปัญญา และความดีงาม

อ.มาร์ช ส่งสัญญาณความต้องการผ่านมากับ อ.ดร.แจ้ กฤษฎางค์  เสนาวงษ์ / ดร.ยางนา จึงได้ปรารภที่จะ "ชวน" ให้ผมและกาลพฤกษ์ทีม ไปช่วยขับเคลื่อนภารกิจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ภารกิจที่มีโจทย์ไม่ยากแต่ท้ายทายด้วยข้อจำกัดของเวลา ...

ผมจึงชวนครูชินกร พิมพิลา "ครูที่ 1"   ครูประวิทย์ วงษ์เก่า  "เม่นแคระแคคตัส" อภิสิทธิ์ บุญเรือง  "เลขา จจ." ไปพิชิตภารกิจนี้ด้วยกัน แล้วทุกคนก็ตกปากรับคำชวนโดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ

ครูที่ 1 จึงเสนอว่าจะขอชวนกัลยาณมิตรอีกจำนวนหนึ่งร่วมเดินทางไปเรียนรู้ร่วมกัน "ครูปั๊ม" พขร.และเทคนิคแสงเสียง "ครูวุฒิ" แอวลั่นปั๊ดและกระต่ายเด้า "ครูบู๊" แอวหวานตำนานว๊าย และ "ครูก็อต" มหาวัดชนะสงคราม เปรียญ 3 ประโยค มาร่วมด้วยช่วยทำ

ดร.ยางนา จึงต้องไปร่วมกิจกรรมด้วยทั้งสองวัน ในฐานะอะไรก็ได้ เพราะถือเป็นผู้เชื่อมประสาน "งานและคน"

วันแรก ครูที่ 1 และทีมงานก็จัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม "ฐานกาย" เพื่อละลายความแข็งกระด้างให้อ่อนลงบ้างด้วยกิจกรรมเพื่อ "เปิดใจ" ใคร่เรียนรู้

วันที่ 2 วิทยากรจึงกระบวนการปรับ "ฐานใจ" ทะลายความคิด เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดให้ใจกว้าง ใจดี ใจสว่าง ใจสะอาด ใจสงบ เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น ฟังตนเอง ฟังผู้อื่น ยอมรับตนเอง ยอมรับผู้อื่น อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21 ตามกรอบการพัฒนาที่นั่งยืนของสหประชาชาติ : SDG

การเดินทางเรียนรู้เสร็จสิ้นตามเงื่อนไขของเวลา นักศึกษาสะท้อนผลเล็กน้อยผ่านกิจกรรม ก่อนแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ วิทยากรแอบทิ้งโจทย์สำคัญกลับไว้ให้อาจารย์ในสาขา เพื่อติดตาม สังเกตการณ์ เพื่อประเมินผลวางกิจกรรมเพียงสองวันตามกรอบเวลาที่มี สามารถ "ตอบโจทย์" 3 ข้อได้มากน้อยเพียงใด

วิทยากรทำหน้าที่เสร็จสิ้นเพื่อร่วมถางทางที่รกด้วยหญ้าและป่าให้โล่ง สว่าง สะอาด เพื่อชี้เป้าว่า เส้นทางน่าจะเป็นแบบไหน แต่คณาจารย์และนักศึกษาต่างหากเล่าที่จะเป็นผู้ร่วมเดินทางครั้งสำคัญ...หาใช่วิทยากร ที่จรมาแล้วก็จากไป

ขอบคุณการเดินทางอันแสนพิเศษที่สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้มอบให้ในครั้งนี้ ขอบคุณทีมวิทยากรที่ทรงพลังที่ร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สะอาดงาม ขอบคุณนักศึกษาที่ร่วมเป็นกำลังสำคัญในกิจกรรม ขอบคุณเรื่องราวอันงดงามที่ร้อยเรียงให้การเรียนรู้มีความจริง ความดี ความงาม แก่ใจลุงภารโรง

เหตุการณ์  ณ มหาสารคาม
ข้อความ  ณ มอดินแดง
30 สิงหา 63

หมายเลขบันทึก: 681458เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท