อ่านทำนองเสนาะ ประเภทบทกลอน หนังสือบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของ ร.2


     หลังสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 เบาบางลง  ผมได้รับเชิญจากศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด  ปากเกร็ด  นนทบุรี  ให้มาเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือบันทึกเสียงเพื่อคนตาบอดต่อเนื่องอีก  (หลังจากที่อ่านจบไปแล้วหลายเล่ม)คราวนี้เขามุ่งเน้นให้อ่านหนังสือวรรณคดี ประเภทบทกลอน เพื่อนำไปเปิดให้นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศฟัง  โดยต้องอ่านเป็นทำนองเสนาะด้วย ซึ่งเขาบอกว่าหาคนอ่านแนวนี้ยาก  ผมก็ไม่ได้อ่านแบบนี้มานาน  เลยลองฝึกซ้อมดู และทดลองอ่านให้เจ้าหน้าที่บันทึกเสียงฟัง  เขาว่า OK  ก็เลยเริ่มงานกัน
      ที่ศูนย์ฯตอนนี้เขามีหนังสือแนวนี้ให้อ่านอยู่ 3 เล่ม คือ รามเกียรติ์  อิเหนา และพระอภัยมณี  ผมเลยเลือกอ่านหนังสือบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของ ร.2 ก่อน  ซึ่งเป็นบทกลอนล้วนๆ รวม 1,013 หน้า ตอนนี้อ่านไปได้ 500 หน้าแล้ว(ครึ่งเล่มพอดี) ถือเป็นการรื้อฟื้นความจำที่เคยอ่านตอนเป็นเด็กอีกครั้ง  สนุกดี  อ่านไปก็จินตนาการไป  ในใจลึกๆก็อดหมั่นไส้อิเหนาไม่ได้   แม้ชื่อตัวละครและสถานที่จะเป็นของชาวชวา  แต่รู้ทันทีว่าเนื้อหาสาระล้วนเป็นประเพณีและราชพิธีของไทยแต่โบราณล้วนๆ   เช่น พิธีสมโภชลูกหลวง    พิธีการพระเมรุ  พิธีรับแขกเมือง   พิธีแห่สนามใหญ่  พิธีโสกัณฑ์ พิธีลงสรง เป็นต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมพยายามเทียบเคียง เหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ หลายตอน เช่น ตัวละครจินตะหรา  กับบุษบา น่าจะเทียบเคียงได้กับใครในพระราชประวัติของพระองค์                 กระบวนกลอนในพระราชนิพนธ์อ่านแล้วมีความเกลี้ยงเกลา ไพเราะ มีรสวรรณคดีครบทุกรส   ซึ่งล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  ในเมื่อพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เอง จึงทรงใช้ศัพท์ถูกต้องสมฐานะ  ทำให้บทละครเรื่องอิเหนา  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่า “เป็นยอดของกลอนบทละคร”  
  มีบทกลอนหลายบทที่ผมคุ้นเคย ว่าเคยได้อ่านและท่องมาแล้ว  เช่น

   "เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก
       แต่น้ำต้มผักขมก็ชมหวาน                                   ถึงยามยืดจืดกร่อยทั้งอ้อยตาล            
       เคยโปรดปรานเปรี้ยวเค็มรู้เต็มใจ"       
      
     "อันความติฉินยินร้าย   
     มีทุกหญิงชายนะโฉมศรี      ที่รักก็เห็นว่าเป็นดี     ที่ไม่ชอบทีก็นอนทา                                  

     " น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา  
        ว่ายแหวกปทุมมาอยู่ไหวไหว
        นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร
        ตูมตั้งบังใบอรชร"


      "แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย
       อย่ามีคู่เลยจะดีกว่า"  

                ฯลฯ

เหลือเวลาอีกไม่นานสำหรับการเป็นครูที่มีชีวิตของเรา  จึงหวังว่าแม้เราจากไป เสียงของเราที่บันทึกไว้น่าจะเป็นครูได้ต่อไปอีกนานเท่านาน  ที่จะเพิ่มแสงสว่างเติมความรู้ด้านการศึกษาให้แก่คนพิการทางสายตา  "เพราะเสียงของเราคือดวงตาของเขา"

คำสำคัญ (Tags): #อิเหนา#บทละคร
หมายเลขบันทึก: 681310เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2020 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เสียงของเราคือดวงตาของเขาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท