ชีวิตที่พอเพียง 3769. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑๘. สรุป (จบ)



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๑๘ ซึ่งเป็นตอนจบ ตีความจาก Summary of the Argument      

สาระสำคัญทั้งหมดของหนังสือ อยู่ในบทสรุปนี้   

ความฉลาดรวมหมู่ เป็นขีดความสามารถของกลุ่ม ในการตัดสินใจที่ดี    คือตัดสินใจว่าจะทำอะไร   และทำอย่างไร    โดยอาศัยความฉลาดของมนุษย์ผสมกับความฉลาดของเครื่องกล  

ความฉลาดนี้จัดระบบเป็นหน่วยที่มีลักษณะซ้ำๆ (fractal)   มี pattern คล้ายคลึงกัน ในหลายขนาดและหลายระดับ    ตั้งแต่กลุ่มเพื่อนใกล้ชิด  ไปถึงองค์กร  และสังคมภาพใหญ่  

ในแต่ละขนาด คุณลักษณะสำคัญของความฉลาดรวมหมู่ได้แก่

  • ขีดความสามารถในการทำหน้าที่ (functional capabilities) : ความสามารถในการสังเกตและเก็บข้อมูล  วิเคราะห์  จดจำ  สร้าง  รู้ใจ  และตัดสินใจ    แต่ละขั้นตอนใช้ ไอทีช่วยได้    และแต่ละขั้นตอนต้องลงทุน
  • มีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ความฉลาดรวมหมู่ทำได้ง่าย   ได้แก่ มีมาตรฐานและกติกาที่ยึดถือร่วมกัน   มีวัตถุสิ่งของที่เก็บความฉลาด   มีสถาบันทำหน้าที่รวบรวมสั่งสมทรัพยากรสำหรับใช้ในการคิดยากๆ    และมีเครือข่ายหลวมๆ สำหรับให้มีการแลกเปลี่ยนความคิด    รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความฉลาดลูกผสมระหว่างมนุษย์กับเครื่องกล   
  • โมเดลการจัดระบบขีดความสามารถและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง         โมเดลที่ประสบความสำเร็จสูงเยี่ยมมีลักษณะเฉพาะ ๕ ประการคือ  (๑) มีการสร้างแหล่งรวมความรู้และสารสนเทศที่ดำเนินการเองอย่างเป็นอัตโนมัติ (autonomous knowledge and informational commons)  (๒) บรรลุสมดุลระหว่างขีดความสามารถในการทำหน้าที่หลากหลายด้าน  (๓) มีโฟกัส  (๔) มีการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ  และ (๕) มีการบูรณาการสู่การปฏิบัติ  

ความเป็นจริงในองค์กร และในสังคมคือ มีผลประโยชน์ขัดกัน   มีแรงผลักไปคนละทิศละทาง    ทำให้ความฉลาดรวมหมู่มีน้อย 

  • กระบวนการใช้ความฉลาดในการทำหน้าที่ตามปกติ   ดำเนินในหลายระดับ และเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เป็นลำดับขั้น   คือวงจรที่ ๑ ใช้โมเดลที่มีอยู่ในการประมวลข้อมูล    วงจรที่ ๒ เกิดการเรียนรู้และสร้างรูปแบบและปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ   และวงจรที่ ๓  เกิดการสร้างวิธีคิดใหม่      

กลุ่มและองค์กร มีความฉลาดรวมหมู่ที่ดีเมื่อมีองค์ประกอบทั้ง ๕ ครบ และทำหน้าที่อย่างสมดุล    รวมทั้งมีการอุทิศทรัพยากรเพื่อการคิดอย่างเป็นระบบ    และมีความสามารถใช้ความฉลาดที่อยู่นอกปริมณฑลของตน    โดยมีสติอยู่กับเป้าหมายและวิธีการ

แต่ในความเป็นจริง กลุ่มและองค์กรต่างๆ มีองค์ประกอบสำคัญไม่ครบ    จึงมักลงเอยด้วยความเขลารวมหมู่  แทนที่จะมีความฉลาดรวมหมู่    

ในยุคที่มี อินเทอร์เน็ต และเครื่องมือ ไอที ช่วยการค้น วิเคราะห์ และจำ  ช่วยเพิ่มศักยภาพของโลกอย่างมากมายในการพัฒนาความฉลาดรวมหมู่    แต่เครื่องมือเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน  แทนที่จะใช้เพื่อความร่วมมือ    รวมทั้งความฉลาดทั้งของมนุษย์และของเครื่องกล ถูกจัดสรรออกไปอย่างผิดๆ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สู่การทำลายล้าง มากกว่าสู่การสร้างสรรค์  

“สมัชชา” (assembly – การชุมนุม) ขององค์ประกอบต่างๆ ของความฉลาดรวมหมู่ เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการประกอบชิ้นส่วนของความฉลาดรวมหมู่    แต่ธรรมชาติของความฉลาดรวมหมู่นี้ไม่ได้คงที่    มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม หรือสภาพแวดล้อม    จึงควรมีการทดลองเปลี่ยนชิ้นส่วนเพื่อค้นหาสมัชชาที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด    แต่ในความเป็นจริง ระบบที่สำคัญยิ่งต่อสังคมและต่อโลก เช่น การเมือง  มหาวิทยาลัย  การเงิน  ขาดความสามารถในการทดลองเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้    ทำให้กลายเป็นระบบที่แข็งตัว และล้าหลัง  

ยิ่งในระดับโลก เรายิ่งต้องการสมัชชา ความฉลาดรวมหมู่ในรูปแบบใหม่ๆ     ดังจะเห็นว่า ยุควิกฤติโควิด ๑๙ ได้สะท้อนภาพความอ่อนแอดังกล่าว   

แต่หนังสือบอกว่า สมัชชาความฉลาดรวมหมู่ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างที่ดี    มีการริเริ่มสร้างเครื่องมือใหม่ที่ทรงพลัง โดยการสังเกตหรือเก็บข้อมูล  สร้างโมเดล  ทำนาย  และดำเนินการ    โลกในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องการการสร้างเครื่องมือในทำนองนั้นต่อความท้าทายใหญ่ๆ     และต้องการการสร้างนักวิชาการที่มีทักษะด้าน “การออกแบบความฉลาด” (intelligence design)   

วิจารณ์ พานิช    

๓ มิ.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 681230เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2020 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2020 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท