การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๑๒) : "โมเมนตัมทางการศึกษา"


เดือนนี้ (สิงหาคม ๒๕๖๓)  นักเรียนและนักศึกษาจำนวนมาก กำลังออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในข้อเรียกร้องของน้องเยาวชนคือ การเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ ... คำถามไม่ใช่ทำไมต้องเปลี่ยน เพราะผู้ใหญ่ผู้รู้เองก็พูดเรื่องเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว  แต่คำถามคือ จะเปลี่ยนตรงไหนก่อน เริ่มยังไง ภายใต้ "โมเมนตัม" ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ 

"โมเมนตัมการศึกษา" คือปัญหาหนักที่สุด

"โมเมนตัม" เป็นศัพท์เฉพาะทางฟิสิกส์ หมายถึง มวลคูณกับความเร็ว คำนี้มีขึ้นเพื่ออธิบายพลังงานสะสมในทุกสิ่งอย่างที่กำลังเคลื่อนที่ ถ้ามีโมเมนตัมมากก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น ๆ 

ถ้าเปรียบกับการศึกษาไทย "มวล" น่าจะเปรียบได้กับขนาดของคนในวงการศึกษาที่มีมากกว่า ๖ แสนคน ประชากรกว่า ๗๐ ล้านค้น ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นจึงไม่อาจที่จะเปลี่ยนไปเป็นเหมือนฟินแลนด์ที่มีประชากรทั้งประเทศเพียง ๘ ล้านคนเท่านั้น ... นักวิชาการหรือนักการเมืองที่จะทำแบบนั้นโปรดพิจารณา... 

ส่วน "ความเร็ว" เป็นปริมาณเวกเตอร์ที่มีทั้งขนาดและทิศทาง โดยเฉพาะ "ทิศทาง" เพราะการศึกษาไทยมีตัวกำหนดทิศทางไว้หลายประการที่ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนได้โดยง่ายเลย เช่น 

  • การคัดเลือกคนเข้ารับราชการ (ซึ่งมีสวัสดิการขั้นเทพ) ด้วยการสอบ 
  • การคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการสอบ 
  • อาจารย์ผู้สอนจบสิ่งใดมา ก็คิดว่าสิ่งนั้นสำคัญ เรียนวิธีการใดมา ก็สำคัญว่า วิธีการนั้นสำคัญนัก จึงสอนให้ลูกศิษย์คิดและทำแบบนั้น  .... โมเมนตัมการศึกษา จึงมุ่งพัฒนาตามประเทศอเมริกายุโรป ตามกันไป  ดูถูกและทอดทิ้งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ 
  • ผู้ปกครองกับค่านิยม "เป็นเจ้าคนนายคน" (แม้จะเป็นลูกจ้างเขา) ไปให้พ้นความลำบากจากการเป็นเกษตรกร ทั้งที่รากเหง้าสินทรัพย์และทุนปัญญาของบรรพบุรุษ
  • ค่านิยมดูถูกคนอยู่บ้านของสังคมชนบท คนหนุ่มสาวที่คิดทำมาหากินอยู่ที่หมู่บ้านเกิด จะถูกเหมารวมว่า ไปไหนไม่ได้ ไม่มีปัญญา ผลักคนให้หนีไปตายเอาดาบหน้า แม้จะไปเป็นขี้ข้าในเมือง 
  • ฯลฯ 

สิ่งที่กำหนด "ความเร็วทางการศึกษา" น่าจะเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของทั้งระบบ ทั้งกระบวนทัศน์ บุคลากรด้านการศึกษา และการจัดการงบประมาณด้านนี้  เอาแค่เรื่องกระบวนทัศน์ทางการศึกษา ก็พบว่า เป็นการศึกษาที่ฝึกมาให้คนส่วนใหญ่เป็นทาสในระบบทุนนิยมแล้ว  ในระบบทุนนิยม ความรู้และทักษะ ๕ ประการต่อไปนี้ คือสิ่งที่ต้องมี ได้แก่  การผลิต->การแปรรูป->การขาย->การทำธุรกิจ->และการลงทุน แต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แทบจะไม่ได้ปลูกฝังทักษะเหล่านี้อย่างจริงจังเลยแม้แต่อย่างเดียว ... แต่ก่อนเคยมีการสอนทักษะการผลิตและการแปรรูปในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและคหกรรมบ้าง ตอนนี้เอาไปซ่อนไว้และไม่มีการสอนอย่างจริงจัง 

 การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มที่ตรงไหน เริ่มยังไงก่อน 

การปฏิรูปการศึกษาครานี้ ยุคที่โควิด-พิสูจน์แล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือหนทางที่ถูกต้อง เป็นหนทางแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มที่การสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานภูมิปัญญาและอาชีพของตน 

  • ทุกโรงเรียนที่ผู้ปกครองเกษตรกร ต้องมี "แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่" มีแลปหรือห้องปฏิบัติการตามทฤษฎีใหม่ ให้เรียนรู้ทักษะบูรณาการโดยครูวิทยาศาสตร์+ครูเกษตร+ครูเทคโนโลยี+ครูคณิต มารวมกัน สร้างความรู้เและทักษะรับมือกับระบบทุนนิยมทั้ง ๕ ประการ คือ การผลิต->การแปรรูป->การขาย->การทำธุรกิจ->และการลงทุน

ผมจะค่อย ๆ คุยกับครูและผู้อำนวยการที่มีความคิดความเห็นคล้าย ๆ กันนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในโรงเรียนในชนบท .... 

ผมประเมินว่า ในจำนวนนักเรียน ๑๐ คน ในโรงเรียนชนบท มีเพียง ๒ คนเท่านั้นที่เหมาะกับหลักสูตรที่กำลังสอนกันอยู่ อีก ๘ คนที่เหลือคือลูกชาวนา ชาวบ้าน ที่ไม่มีทางได้รับความเท่าเทียม พวกเขาเหล่านั้น จะยังคงเป็นทาสทุนนิยมต่อไป ไม่มีอะไรสามารถปลดแอกได้ ... 

    หมายเลขบันทึก: 681027เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2020 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2020 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท