บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน


บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน



ดูออนไลน์ได้ที่ https://issuu.com/passakorntuaprakhon/docs/________________

การทำบุญเดือนเก้าดับบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อว่า ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วอาจยังมีบางคนที่ยังไม่ได้ไปเกิดและต้องเสวยชาติเป็นผีเป็นเปรตทุกข์ทรมาน เขาจะปล่อยให้ออกมารับส่วนกุศลในวันนี้ ปล่อยมาตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้ว คนทั้งหลายก็จะนำเอาห่อข้าวน้อยไปยายไว้ตามสามแยกตามต้ายวัดเพื่อให้เหล่าเปรตได้มารับเอาไป เพราะเปรตเหล่านี้ทุกข์ทรมานมาก ไม่สามารถเข้ามาในเขตวัดเพื่อรับส่วนกุศลได้ จึงต้องเอาไปวางไว้นอกเขตวัด

อันนี้ได้ข้อธรรมหลายอย่าง ยามมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำบุญให้ทานวัดวาไม่เคยเข้า จึงไม่มีส่วนบุญที่ทำเอาไว้ ตายไปจึงไม่มีอะไรเลย เข้าวัดไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะเข้าวัดยังไงเข้าไปทำอะไร ตายไปก็เลยเข้ามาไม่ได้ คนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ขอให้ทำเอาเองไม่ต้องรอให้เขาเอาห่อข้าวน้อยมายายให้ เฮ็ดเอา ทาน ศิล ภาวนา เฮ็ดเอาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้

หลวงพ่อเจริญ ปภัสสโร

วัดป่าโนนม่วง (วัดป่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น)

บันทึกธรรมโดย รศ.ดร.วิทยา  เงินแท้ 18 สิงหาคม 2563

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนเก้าเป็นการทําบุญให้ญาติผู้ล่วงลับ โดยการนําข้าวปลาอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่อย่างละเล็กละน้อย ห่อด้วยใบตองเป็นสองห่อกลัดติดกันเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ ครั้นถึงเวลาตีสาม ตีสี่ของวันรุ่งขึ้นจะนําห่ออาหารและหมากพลูไปวางไว้ตามโคนต้นไม้รอบๆ วัด เพื่อให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ รวมทั้งผีไร้ญาติอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าจะมาเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลานี้มารับไปเพื่อจะได้ไม่อดอยากหิวโหย นอกจากจะเป็น การทําบุญและทําทานแล้วยังแสดงถึงความกตัญญูอีกส่วนด้วย

มูลเหตุของพิธีกรรม

คนลาวและไทยอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต้โบราณกาลว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิดในรอบปี ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงพากันจัดห่อข้าวไว้ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วถือว่าเป็น งานบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วพิธีกรรม ตอนเย็นของวันแรม 13 ค่ำเดือนเก้า แม่บ้านแม่เรือนทุกครัวเรือนจะ "ห่อข้าวน้อย" ซึ่งมีวิธีห่อดังนี้ ฉีกใบตองออกให้มีขนาดกว้างเท่ากับหนึ่งฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซี่ของใบกล้วย นําเอาข้าวเหนียวนึ่งสุก แล้วป่นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ วางบนใบตองที่จะห่อ จากนั้นแกะเนื้อปลา ไก่ หมู ใส่ลงไปอย่างละเล็กน้อย (ถือว่าเป็นอาหารคาว) แล้วใส่น้ำอ้อยกล้วยสุก มะละกอสุกหรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไปอีกนิด (ถือว่าเป็นของหวาน) จากนั้นใส่หมากหนึ่งคํา บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคํา แล้วจึงห่อใบตอบเข้าหากัน โดยใช้ไม้กลัดหัวท้ายและตรงกลางก็จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาวๆ (คล้ายห่อ ข้าวเหนียวปิ้ง) สําหรับจํานวนของ ห่อข้าวน้อยนี้ก็ควรจะให้มีมากกว่าจํานวนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้เพราะจะต้องมีจํานวนหนึ่งเผื่อผีไม่มีญาติด้วย ครั้งถึงเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. ของวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าพวกผู้ใหญ่ในแต่ละครัวเรือนจะนําเอาห่อข้าวน้อยไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในวัด ตามดินริมกําแพงวัดบ้าง ริมโบสถ์ริมเจดีย์ในวัดบ้าง การนําเอาห่อข้าวน้อยไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ ในวัดนี้เรียกว่า "การยายห่อข้าวน้อย" ซึ่งจะพากันทําเงียบ ๆ ไม่มีฆ้องกลอง แห่แต่อย่างใด หลังจากยายห่อข้าวน้อยเสร็จแล้ว จะกลับบ้านเตรียมหุงหาอาหารในตอนรุ่งเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ซึ่งญาติโยมทุกครัวเรือน จะนําข้าวปลาอาหารไปทําบุญตักบาตรเลี้ยงพระ จากนั้นพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงฆ์ของบุญข้าวประดิบดินให้ฟังญาติโยม ถวายจตุปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์ให้พรญาติโยมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับ

ข้อมูลจาก : ศูนย์วัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

https://cac.kku.ac.th/heet12_kong14/kaopradabdin.html

บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

ภาสกร  เตือประโคน

      ฮีตสิบสอง คองสิบสี่  เคยได้เรียนเมื่อครั้งอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ในวิชาสังคม น่าจะในหมวดเรื่องท้องถิ่นของเรา แต่ไม่ครั้นจะเข้าใจหรือเอาใจใส่นัก ก็เพียงท่องจำให้พอผ่าน และทุกครั้งที่เรียนเรื่องบุญประเพณี แต่ผู้สอนไม่สามารถทำให้เห็นภาพที่ชัด ให้ผู้เรียนใช้เพียงมโนทัศน์(ที่แคบ) ก็ทำให้เข้าใจได้ยาก ด้วยพื้นเพท้องถิ่นเป็นคนเขมรถิ่นไทย ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเขมร แต่เมื่อเรียนข้ามวัฒนธรรม กลับไม่กระจ่างใจ จนถึงขัดใจเสมอ เทียบได้กับการแข่งขันทักษะนักเรียน ทุกครั้งที่มีโอกาสไปแข่งขันในระดับจังหวัด จะมีเสียงดนตรีอึกทึกเรียกผู้ชมที่หอประชุม แข่งขันทักษะตอบปัญหาทางสังคมศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะต้องปรี่เข้าไปยืนด้อม ๆ มอง ๆ ที่หอประชุม มีการแข่งขัน “วงโปงลาง” โดยส่วนตัวจึงไม่ใคร่จะเข้าใจนักกับวงโปงลางพิณแคน ด้วยเกิดมาในวัฒนธรรม “กันตรึม”จึงเพียงยืนมองแล้วปล่อยให้หัวใจได้เสพเสียงดนตรีและทำนองที่ลอยมา

          ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ที่ท่องจำเพื่อสอบเก็บคะแนน จึงกระท่อนกระแท่นไม่มีรูปเค้าของวัฒนธรรมประเพณีในหัวเท่าที่ควร แต่เริ่มมาปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมการซึมซับเอาคติ ความเชื่อ ความศรัทธา วิถี และคติธรรม ก็เมื่อได้มีโอกาสมาทำงานที่ขอนแก่น พร้อม ๆ กับบางช่วงบางตอนของชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงความสนใจใฝ่เรียนรู้เรื่องของชุมชนและประเพณี จึงทำให้ภาพของฮีตสิบสอง คองสิบสี่ มีมนต์ขลังและชวนให้เรียนรู้คติของชุมชนที่เปรียบเสมือนภูมิปัญญาอันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีค่ามหาศาล นอกเหนือจากเป็นเพียงแค่พิธีกรรมและความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ

          คืนแรม ๑๓ ค่ำ เดือนเก้า ปีระกา (พ.ศ. 2562) นักศึกษากลุ่มคณะเหยาเข้าถึงธรรม มข. (คณะเหยาเว้าพื้น) ชวนทำห่อข้าวน้อยห่อข้าวใหญ่ไปยาย (ญาย) ที่วัดในกลางดึกก่อนฟ้าสาง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มเรียนรู้ บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน และบุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก โดยการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเรียนรู้บุญประเพณีว่ามีคติ ความเชื่อ และวิถีอย่างไร ผนวกกับเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปทำบุญเนื่องในวันพระ จึงได้เห็นวิถีในภาคเช้า ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร ฟังธรรม กรวดน้ำ แล้วก็ไปยายห่อข้าวน้อย (ข้าวประดับดิน)

          การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษและเจ้ากรรมนายเวร ก็มีหลายคติและมุมคิด ส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแห่งตน ส่วนหนึ่งก็เพื่อเสียสละให้ทานแก่เจ้ากรรมนายเวรซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นใครตนใด ส่วนหนึ่งก็คือการสละความตระหนี่ด้วยการถวายทานแด่พระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ แต่สุดท้ายที่ได้คืนตนผู้ได้รับสุขจากการให้ทาน บำเพ็ญบารมีแห่งตน สำคัญคือการน้อมนำพุทธธรรมเข้ามาใส่ตัวใส่ตนแล้วยึดถือปฏิบัติ การถวายทานและการฟังธรรมตามกาลจึงช่วยเรื่องการดำเนินชีวิต

          การทำบุญตามประเพณีตาม “ฮีต” ในบุญเดือนเก้าข้าวประดับดิน ก็คงได้คติคิดที่หลวงพ่อเจริญ ปภัสสโร วัดป่าโนนม่วง ได้ให้ไว้แก่ศาสนชนที่ไปทำบุญในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า ปีชวด ได้น้อมนำมาคิดตริตรองหาเหตุและผลของบุญประเพณีในเดือนเก้า ข้าวประดับดิน

          ข้าวประดับดิน ที่สุดแล้วก็คงประดับใจผู้กระทำ ว่าการเสียสละนี้นั้นมีมากมายหลายผล แต่คงได้ยลสุขจากการให้

หมายเลขบันทึก: 680694เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2020 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2020 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท