การกระจายอำนาจที่สะเทือนการคลังท้องถิ่นปัจจุบัน


การกระจายอำนาจที่สะเทือนการคลังท้องถิ่นปัจจุบัน

8 สิงหาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

วิกฤติโควิดครั้งนี้สะเทือนไปทั่วโลกนักวิเคราะห์ว่าหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งหลายเท่า [2]สำหรับประเทศไทยก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นวิกฤติที่ไทยจะดีกว่าประเทศอื่นใด เพราะต่างแย่พอกัน ยิ่งไทยเจอกับกระแสประชาธิปไตยที่ฝ่ายอำนาจรัฐเก็บดองไว้นานเกิน ยิ่งตอกย้ำสร้างกระแสความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีก และมีคู่ขัดแย้งใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนคู่ขัดแย้งเก่าอ่อนล้าจางลงไปมาก วิกฤติที่คู่ไปกับกระแสประชาธิปไตยในที่นี้ขอกล่าวถึง “การกระจายอำนาจท้องถิ่น” ที่ในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเบ่งบานมาก [3] ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือเรื่อง “การกระจายอำนาจทางการคลัง” หรือ “สถานะการคลัง” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ “การคลังท้องถิ่น” ที่มีปัจจัยภายในภายนอกหลายประการที่ทำให้รายได้ของท้องถิ่นไม่โต ซึ่งผูกโยงไปถึงเรื่อง “รายได้ของท้องถิ่น” และ “เงินอุดหนุน” จากรัฐบาล ที่สำคัญและมีปัญหามาตลอดคือ “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” [4] อันเป็นที่มาว่า ความอยู่รอดประการสำคัญของท้องถิ่นก็คือ ปัญหาด้านการคลังนั่นเอง อาทิ เช่น ในเรื่องรายได้รายรับ การจัดเก็บรายได้ ภาษีท้องถิ่น และเงินอุดหนุน

สาระสำคัญการคลังท้องถิ่นไทย [5]

(1) “การคลังท้องถิ่น” (Local Finance) หมายรวมถึง การหารายได้ การใช้จ่าย การงบประมาณ การก่อหนี้ การพัสดุ(การจัดซื้อการจัดจ้าง) การเงินการบัญชี และการตรวจสอบบัญชีของ อปท.

(2) รายได้ของท้องถิ่นไทย ประกอบด้วย (1) ภาษีอากรท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บเอง (2) ภาษีอากรท้องถิ่นร่วมเก็บกับรัฐบาล (3) ภาษีที่ได้จากการแบ่งหรือได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลกลาง (4) เงินอุดหนุน

(3) รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง รวม 6 หมวด 49 ประเภทตามแหล่งที่มาของรายได้ ได้แก่ (1) หมวดภาษีอากร 7 ประเภท คือ (1.1) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.) (1.2) ภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.) (1.3) ภาษีป้าย (ภ.ป.) (1.4) ภาษีเพื่อการศึกษา (1.4) ภาษีบำรุง อบจ. จากน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และ ก๊าซสำหรับรถยนต์ (1.6) อากรการฆ่าสัตว์ (1.7) ภาษีบำรุง อบจ. จากยาสูบ (2) หมวดค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต (3) หมวดรายได้จากทรัพย์สิน (4) หมวดรายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ (5) หมวดรายได้เบ็ดเตล็ด (6) หมวดรายได้จากทุน

(4) ปัญหาสำคัญของการคลังท้องถิ่นในปัจจัยภายนอก คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ (1) ความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (2) รายได้ของประชากร (3) ความเป็นเมืองหรือชนบท (4) การค้าหรือพาณิชย์ (5) การจ้างงาน (6) ความรับผิดชอบของประชาชนในการเสียภาษี (7) การหารายได้ของท้องถิ่น

(5) ปัญหาสำคัญของการคลังท้องถิ่นในปัจจัยทางการเมือง ได้แก่ (1) ท้องถิ่นยังถูกอำนาจทางการเมืองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นแทรกแซง เนื่องจากมีผลประโยชน์ในกลุ่มผู้นำท้องถิ่น (2) มีนโยบายเน้นการกระจายอำนาจให้แก่หน่วยการปกครองท้องถิ่น แต่อำนาจส่วนใหญ่ยังอยู่กับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (3) ขาดผู้รับผิดชอบที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นปัจจัยภายใน เช่น (3.1) ขาดความรับผิดชอบ ความรู้ ความเข้าใจปัญหา (3.2) ท้องถิ่นขาดรายได้เลี้ยงตัวเอง (3.3) การบริหารเงินงบประมาณของท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ

(6) ยกตัวอย่างในสัดส่วนรายได้ญี่ปุ่น (ท้องถิ่น : รัฐบาล) คือ 60 : 40 แต่ท้องถิ่นไทยถูกออกแบบบนความไม่ไว้วางใจประชาชน สัดส่วนรายได้จึงกลับกัน นอกจากนี้ยังมีหน่วย อปท. ที่มากมายถึง 7852 แห่ง ในขณะที่ญี่ปุ่นสามามารถลดจำนวน อปท. จาก 4000 หน่วยเหลือเพียง 1000 หน่วยเท่านั้น [6]

การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานของ อปท.

(1) ตาม พรบ.สภาตำบลและ อบต. พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546) มาตรา 41 จัตวา วรรคหนึ่ง [7] “ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบรวมสภาตำบลทั้งหมดและองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว”  

(2) ข้อเท็จมีปรากฏว่า อบต.หลายแห่งมีประชากรไม่ถึง 2000 คน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเหตุผลยกเว้นหรือไม่ แต่สงสัยว่าเหตุใดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงปล่อยไว้ไม่ยุบรวม อบต. ที่ประชากรไม่ถึง 2,000 คน ที่หนักเข้าไปอีกคือ อบต.หลายแห่งมีรายได้รวมเงินอุดหนุนไม่ถึง 20 ล้านบาท ยกเว้นกรณีเป็นเกาะ อบต. เหล่านี้ไม่สามารถบริหารงานเพื่อประชาชนได้ เพราะติดขัดงบประมาณ และเป็นช่องทางในการอ้างเหตุผลเพื่อขอใช้งบอุดหนุนเฉพาะกิจ เป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่แก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองไม่จำเป็นพึ่งงบเงินอุดหนุน โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่ภาคการเกษตร กลับไม่ค่อยได้รับเงินอุดหนุน

(3) แม้ อบต. ขนาดเล็กแต่ก็ใช้งบบุคคลไม่น้อยเช่นกัน เพราะภาระหน้าที่บังคับให้มีกรอบอัตรากำลัง งานเล็กใหญ่ก็ทำเหมือนกันหมด จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใด สพฐ.จึงยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อมองความคุ้มค่าของงบการบริหารงาน

(4) หรือว่า การยุบ อบต. ขนาดเล็กดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดมีแรงกระเพื่อมจากฝ่ายการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งชมรมสมาคม อปท.ที่สูญเสียประโยชน์ต่างๆ ไป

(5) ประเด็นรายได้ อปท.นี้จากโครงสร้างของ อปท. จะกระทบไปหมด ไปถึงโครงสร้างการบริหารงานบุคคลของ อปท. [8] ด้วย คือ การเปิดกรอบอัตรากำลัง คือ (1) สายวิชาการฯ ดู ปริมาณงาน [9] และดูงบบุคคล 40% [10] เท่านั้น (2) สายงานผู้บริหาร (แท่งบริหารและอำนวยการ) ดู ปริมาณงาน ดูงบบุคคล 40% และ ดูรายได้ อปท. [11] ที่ต้องเข้าใจบริบทของท้องถิ่นว่าไม่ใช่ One size fit all (สูตรสำเร็จแบบเสื้อโหล) หากแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละท้องที่

ปัญหาเบื้องแรกในกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่

(1) เนื่องจากความไม่พร้อมและปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในหลายประการ ทำให้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.) พ.ศ. 2562 ชะลอการบังคับใช้ [12] ยกเว้นที่ดินทำการเกษตรราคาประเมินไม่ถึง 50 ล้าน [13] ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้ไปทั้งหมด หากยกเว้นให้จ่ายเพียง 100 บาท ที่ประชาชนไม่เดือดร้อนก็จะเก็บรายได้เข้า อปท.ได้มาก นอกจากนี้ พรฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 [14] ลง 90% ให้จัดเก็บแค่ 10 % (ของฐาน) ก็เป็นเหตุให้รายได้ท้องถิ่นหายไปเยอะ [15] เฉลี่ย อปท. ขนาดเล็กเคยเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.) ได้ 3-4 ล้าน ภาษีใหม่ประเมินแล้วได้ 4-5 แสน หรือเช่น อปท.ขนาดกลางแห่งหนึ่งเคยเก็บ ภ.ร.ด. 175 ล้าน ภาษีใหม่ได้ 10 ล้าน ต้องขออนุมัติ ผวจ.ใช้เงินสะสมในส่วนที่งบติดลบ 7 ล้าน เป็นต้น

(2) การแก้ปัญหาง่ายๆ เพียง อปท.ใดจัดเก็บรายได้มากอุดหนุนฯ น้อย และ อปท.ใดรายได้จากการจัดเก็บฯน้อย อุดหนุนให้มากตามสัดส่วน เพื่อให้มีสัดส่วนเพดานการจัดสรรสัดส่วนงบสุทธิระหว่างรัฐกับท้องถิ่นให้ได้รับไม่น้อยกว่า 35% [16] ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 เมื่อรายรับหายไปรัฐก็ต้องหางบประมาณมาชดเชยให้ อปท. แต่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นนี้ยังนึกไม่ออกว่ารัฐจะมีงบส่วนใดมาชดเชยให้ท้องถิ่น [17] แม้ว่า ปัญหารายได้ อปท. รัฐบาลมีโครงการอุดหนุนเงินกู้ 4 แสนล้าน [18] อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากก็มีเม็ดเงินจำนวนน้อยและไม่ใช่การชดเชยรายได้แก่ อปท. โดยตรง แต่เป็นเพราะการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดต่างหาก มีข้อเสนอว่า ให้รัฐบาลอุดหนุนวงเงินกู้นี้เฉลี่ยเท่ากับรายได้จริงของท้องถิ่นที่มีรายได้ในปีงบประมาณปี 2562 [19] เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้

(3) มีผู้ประเมินว่า ลดการเก็บภาษีที่ดินฯ ก็เพื่อคะแนนนิยมของรัฐที่ไม่ต้องควักกระเป๋าตนเองแต่อย่างใด อปท.อยู่ในภาวะจำยอมในแผนการ​ลดอำนาจท้องถิ่นอย่างชาญฉลาด ลอยแพท้องถิ่นกระมัง

ยุทธศาสตร์ชาติลดความเหลื่อมล้ำในด้านการพัฒนาพื้นที่ได้จริงหรือ  

(1) มีความพยายามใน กมธ.วุฒิสภา เรื่องการกระจายอำนาจและการจัดการปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่น ในการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ 2 ประการ [20] ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ (1) สัดส่วนงบประจำปีของท้องถิ่น จำนวน 7,852 แห่ง ปี 2563 คือ 29.5% (2) สัดส่วนงบจังหวัด กลุ่มจังหวัดและภาค รวม 18 กลุ่มจังหวัด 6 ภาค คือ 0.8% รวมกันได้ 30.3%

(2) พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 29 ระบุว่า [21] “การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงินอุดหนุน สำหรับการดำเนินการโดยทั่วไปหรือสำหรับการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อ รมว.มท.เพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด” หมายความว่า อปท.ต้องเป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องยื่นผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ตั้งงบผ่านโครงสร้างท้องถิ่นจังหวัดอีกต่อไป โดยงบประมาณดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น เทศบาลเมืองและเทศบาลนครรวม 209 แห่ง คาดว่าจะเริ่มในปี 2564 ตามมาด้วยเทศบาลตำบล 2,233 เริ่มในปี 2565 และสุดท้ายคือ อบต. 5,332 แห่ง เริ่มในปี 2566 [22]

(3) นักวิชาการบางท่านเห็นว่า แนวทางยุทธศาสตร์ชาติเป็นการจำกัดอำนาจของ อปท. เพราะ อปท. มิใช่สาขาราชการส่วนภูมิภาค [23] เป็นการทำลายระบบราชการส่วนท้องถิ่น ตามหลักการกระจายอำนาจที่แท้จริงและการยึดหลักนิติรัฐ นอกจากนี้ มท.ได้มีการตราระเบียบต่างๆ เกินกรอบอำนาจตามที่ พรบ.ที่เป็นกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นบัญญัติไว้ เพื่อบังคับทั้งระเบียบทั่วไปที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น และ ระเบียบที่ใช้แก่ท้องถิ่นโดยตรง เป็นการตีกรอบจำกัดขอบหน้าที่และอำนาจของ อปท. ลง แทนที่จะช่วยให้ อปท.ทำงานได้คล่องตัวขึ้น แต่กลับทำให้ อปท.เป็นเป็ดง่อยได้ เช่น ระเบียบ มท. ว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับ อำเภอและตำบล พ.ศ. 2562 [24]หรือ ออกระเบียบท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน [25] ในนิยาม ระเบียบ มท. ข้อ 3 “ค่าใช้จ่าย” ... และหมายความรวมถึงรายจ่ายที่เกิดจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยด้วย ตามระเบียบ มท. ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562

กระแสคนท้องถิ่นอยากให้ยกเลิกระเบียบ มท. ที่จำกัดหน้าที่และอำนาจท้องถิ่นจึงเริ่มอุบัติขึ้นมาได้ 1-2 ปีแล้ว เชื่อว่าคน อปท. คงไม่มีใครอยากให้ท้องถิ่นไม่โต เพราะนั่นหมายถึงชีวิตคนท้องถิ่นทั้งมวลต้องหยุดชะงักไปหมด

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 47 วันเสาร์ที่ 8  - วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 8 สิงหาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/175280

[2]“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เชื่อโควิดครั้งนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งหลายเท่า ย้ำ “ฆ่าตัวตาย” ไม่ใช่ทางออก, 3 สิงหาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/174020

[3]รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 15) “ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาพื้นที่ ปี 2562”, ประสิทธิผลการลดความเหลื่อมล้ำในด้านการพัฒนาพื้นที่, ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน (2562) การกระจายอำนาจและการจัดการปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่น, ใน Facebook นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, 27 กรกฎาคม 2563, https://www.facebook.com/2322771864607754/posts/2698185557066381/?d=n

ในช่วงระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น พัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านแนวทางในการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางไปสู่ความเป็นอิสระในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย ได้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมมาก เช่น (1)  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงจากประชาชนในระดับตำบล (2)  การถ่ายโอนบทบาทหน้าที่จากรัฐส่วนกลางลงมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น (3)  การเพิ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากกว่าเดิม (4)  กระบวนการในการออกข้อบัญญัติในระดับท้องถิ่น (5)  การวางแผนพัฒนาท้องถิ่นและ (6)  การเข้าถึงงบประมาณขององค์กรปกครองสวนท้องถิ่นในการรองรับกิจกรรมขององค์กรชาวบ้าน

[4]รายงานการวิจัย เรื่อง ระบบการคลังของการปกครองท้องถิ่นไทย ศึกษาเฉพาะกรณีเงินอุดหนุน โดย ดร.วรพิทย์ มีมาก, กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (รายงานวิจัยในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540), https://library2.parliament.go.th/ebook/content-er/worapit.pdf

[5]การคลังท้องถิ่น, อาจารย์ ดร.ธิดารัตน์ สืบญาติ, http://pws.npru.ac.th/chanokchone/data/files/การคลังท้องถิ่น.pdf & ความเป็นอิสระทางการคลังท้องถิ่น : การทบทวนที่มาและความสำคัญ, อาทิตย์ ผดุงเดช (arthit phadungdech) นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 22 ธันวาคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts...

[6]อ้างจาก ชำนาญ  จันทร์เรือง, นักวิชาการอิสระ ดู การปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น, สุมิทธิ์ เกศวพิทักษ์, โพสต์ทูเดย์ คมคิด,  8 พฤษภาคม 2562, https://www.posttoday.com/social/think/588310

ยุคสมัย Meiji ลดจำนวนเทศบาลจากปี ค.ศ. 1888 จำนวน 71,314 เทศบาล เหลือเพียง 15,859 เทศบาล ในปี ค.ศ. 1889 ยุคสมัย Showa ช่วงปี ค.ศ. 1953 – 1956 ลดจำนวนเทศบาลจากจำนวน 9,868 เทศบาล เหลือเพียง 3,472 เทศบาล หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเทศบาลทั้งหมด

ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด (Prefecture)และระดับเทศบาล (Municipality) ซึ่งปัจจุบันมี 47 จังหวัด (รวมทั้งมหานครโตเกียวที่มีขอบเขตและอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานที่มากกว่าจังหวัดปกติ) ในขณะที่เทศบาลมีจำนวน 1,718 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ เมืองใหญ่ (City) 792 แห่ง เมือง (Town) 743 แห่ง และหมู่บ้าน (Village) 183 แห่ง ซึ่งเมืองกับหมู่บ้านจะมีภารกิจหน้าที่ที่เหมือนกัน ส่วนเมืองใหญ่จะมีภารกิจหน้าที่ที่มากกว่าซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ในระดับเดียวกับเขตปกครองพิเศษ (Special wards) ที่มีอยู่ 23 แห่งภายใต้การบริหารของมหานครโตเกียวเท่านั้น

การจัดสรรงบประมาณงบประมาณรายจ่ายระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นมีสัดส่วนอยู่ที่ 42:57 โดยประเภทรายจ่ายที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ด้านสวัสดิการสังคม (22%) แบ่งเป็นรายจ่ายของท้องถิ่นสูงถึง 71% ส่วนกลางเพียง 29% ขณะที่งบชำระหนี้ (20%) แบ่งเป็นรายจ่ายของส่วนกลาง 64% และท้องถิ่น 76%

การบริหารงานบุคคลบุคลากรท้องถิ่นของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2017 มีจำนวน 2,742,596 คน แบ่งออกเป็นระดับจังหวัด (Prefecture) 1,387,060 คน ระดับเทศบาล (Municipality) 1,354,893 คน โดยมีสัดส่วนบุคลากรทางการศึกษามากที่สุดจำนวน 1,019,060 คน หรือประมาณ 40%

[7]พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546)

มาตรา 41 จัตวา ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบรวมสภาตำบลทั้งหมดและองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว

การรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใดตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น

การสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

องค์การบริหารส่วนส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคนแต่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะหรือโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่จะไปรวมได้โดยสะดวก กระทรวงมหาดไทยจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นก็ได้

ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับการยุบและรวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

[8]โครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล), http://www.local.moi.go.th/2009/home/pachbury59_03.pptx

& การกำหนด/การปรับปรุงตำแหน่ง สายงานผู้บริหารของเทศบาล ตามหนังสือสำนักงาน  ก.จ. ที่ มท 0809.2/ว 77  ลงวันที่ 22  กรกฎาคม 2559

& หนังสือสำนักงาน ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว 110 ลงวันที่ 21 กันยายน 2559 เรื่อง แนวทางการกำหนดตำแหน่งหรือปรับปรุงตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นและประเภทอำนวยการท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2016/10/17276_1_1475739403243.pdf

& ประกาศ ก.อบต.เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2558

& หนังสือสำนักงาน ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว 21 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง ประกาศ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2562), http://www.dla.go.th/upload/regulation/type5/2020/3/1871_1.pdf?time=1596630220644

[9]เกณฑ์ปริมาณงาน

1.  ตัวชี้วัดตามที่ สำนักงาน ก.ท. กำหนด เกณฑ์ผ่านร้อยละ  60

2. คะแนน CORE TEAM (LPA) เกณฑ์ผ่านร้อยละ 60

เทศบาลตั้งคณะกรรมการประเมิน

กรรมการมีหน้าที่ประเมิน 1. แล้ว ประมวลผลคะแนนตามข้อ 1 และ ผลคะแนนมาตรฐานขั้นต่ำในการให้บริการสาธารณะครั้งล่าสุดที่ได้ประกาศก่อนเทศบาลยื่นขอประเมิน เกณฑ์ผ่านรวมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70

[10]พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

มาตรา 35  ในการจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และเงินค่าจ้างของข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้าง ที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้

& ประกาศ ก.ถ. เรื่อง การกำหนดรายการค่าใช้จ่ายเงินเดือนประโยชน์ตอบแทนอื่นฯ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

[11]ข้อบัญญัติเพื่อการลงทุนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณฯ  ในปีงบประมาณที่ผ่านมาและในปีงบประมาณที่ขอ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20  ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและฉบับเพิ่มเติม (ถ้ามี)

ปลัดระดับกลาง (ระดับ 8) : ต้องมีรายได้ 20 ล้านบาทขึ้นไป

ผอ.กองระดับกลาง (ระดับ 8) : ต้องมีรายได้รวมเงินอุดหนุน 40 ล้านบาทขึ้นไป จะมีรองปลัดระดับกลางได้ เมื่อมีส่วนราชการระดับกลาง

เทศบาลต้องผ่านเกณฑ์พื้นฐาน จึงมีสิทธิประเมินเกณฑ์ปริมาณงาน และเกณฑ์ประสิทธิภาพ ตัวชี้วัดที่กำหนด(ร้อยละ 60) + CORE TEAM (ร้อยละ 60) เกณฑ์ผ่านเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

เกณฑ์พื้นฐาน

(1)  ฐานะเทศบาล

เทศบาลมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งเทศบาล

(2)  ความพร้อมด้านโครงสร้างอัตรากำลัง

ตำแหน่งสายงานผู้บริหารของเทศบาลนั้น ไม่เป็นอัตราว่าง และมีตำแหน่งสายงานผู้ปฏิบัติว่างไม่เกินร้อยละ 20 ของกรอบอัตรากำลัง 3 ปี ในปีที่ขอประเมิน

(3)  งบเพื่อการลงทุน

เทศบาลตรารายจ่ายเพื่อการลงทุนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการงบประมาณ ในปีงบประมาณที่ผ่านมาในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและฉบับเพิ่มเติม (ถ้ามี)

(4)  ภาระค่าใช้จ่ายด้านบริหารงานบุคคล

การตรางบประมาณรายจ่าย

เทศบาลตรางบประมาณรายจ่ายประจำปีและฉบับเพิ่มเติม (ถ้ามี) ในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยไม่รวมเงินกู้ เงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เงินเพิ่มที่เกี่ยวกับเงินเดือนหรือเงินค่าจ้าง

ภาระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 35 ในปีงบประมาณที่ผ่านมา และในปีที่ขอมีค่าเฉลี่ย   ไม่เกินร้อยละ 35 โดยในปีงบประมาณที่ขอนั้นให้คำนวณตามกรอบแผนอัตรากำลัง 3 ปี รวมกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงตำแหน่ง และภาระค่าใช้จ่าย ที่รองรับผู้ดำรงตำแหน่งเดิม 

[12]เปิดผลศึกษาปัญหา-ผลกระทบ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562, tcijthai ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง, 5 กรกฎาคม 2563, https://www.tcijthai.com/news/2020/7/scoop/10630

&  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดินหน้าสลบ-ถอยหลังพินาศ,  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3546 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.thansettakij.com/content/columnist/420793

&  สภามีมติชะลอพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน,  MCOT อสมท., 23 มกราคม 2563, https://www.mcot.net/viewtna/5e297b1ce3f8e40af4415819

& ชำแหละกฎหมายภาษีที่ดิน เอื้อรายใหญ่-ทำลายรายย่อย, เนชั่นสุดสัปดาห์, 19 มกราคม 2563, https://www.nationweekend.com/content/specail_article/5320#:~:text=1.ความเป็นมาและ,มีหนังสือขยายเวลาการ 

& ไม่แก้เหลื่อมล้ำ! อนุกมธ.เสนอปรับปรุงกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, โพสต์ทูเดย์, 5 มกราคม 2563, https://www.posttoday.com/politic/news/610836

& ปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, รุจิระ บุนนาค, ในคอลัมน์โลกธุรกิจ แนวหน้า, 3 มกราคม 2563, https://www.naewna.com/business/columnist/42569#:~:text=พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่ง,ทรัพย์สิน%20โดยทั่วไปทั้งประเทศ&text=นอกจากนี้%20คนรวยมักจะ,ให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ 

& เลื่อนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, 16 ธันวาคม 2562, https://www.reic.or.th/News/RealEstate/441086กระทรวงมหาดไทย ประกาศ ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จากวันที่ 1 มกราคม 2563 ไปเริ่มจัดเก็บในเดือนสิงหาคม 2563

& ข้อกังวลในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...(Concerns over the taxation of land and buildings of the land and buildings tax draft bill B.E … of Thailand), ดวงพร บุญเลี้ยง และ อรรถกร ทองโคตร อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย, 2561, https://so05.tci-thaijo.org/index.php/researchjournal-lru/article/download/141335/123682/

& ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ใน ประชาชาติธุรกิจ, 2 พฤศจิกายน 2560, https://www.prachachat.net/columns/news-64832

[13]สำหรับ “ที่อยู่อาศัย” หลังแรก  (ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน) มีบ้านแค่ 1 หลัง พร้อมที่ดิน โดยบ้านและที่ดินมีมูลค่ารวมกัน ไม่เกิน 50 ล้านบาท กฎหมายยกเว้นภาษีให้ ไม่ต้องเสียภาษี

ที่ดินทำการเกษตร กรณี “บุคคลธรรมดา”  (ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว) สำหรับเกษตรกรทั่วๆ ไป ที่มีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นให้ ไม่ต้องเสียภาษี

ดู ภาษีที่ดิน รีดทุกเม็ด ‘นส.3 -ส.ป.ก.’ ไม่ได้รับยกเว้น มูลค่า 50 ล้าน, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563, 4 มีนาคม 2563, https://www.thansettakij.com/content/property/423025

& สรุป ภาษีที่ดิน บ้านหลังแรกยกเว้นภาษี 50 ล้านบาท หลังที่สองขึ้นไป เสียภาษีล้านละ 200-1,000 บาท ช่วง 2 ปีแรก, workpointTODAY, 24 ธันวาคม 2562, https://workpointtoday.com/property-tax/

& ปีหน้ามาแล้ว… ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราต้องจ่ายเท่าไร ? ใครได้รับยกเว้นบ้าง?, บทความ โดย Passarin.t, 12 ธันวาคม 2562, https://thinkofliving.com/article/ปีหน้ามาแล้ว-ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-เราต้องจ่ายเท่าไร-ใครได้รับยกเว้นบ้าง-608279-อื่นๆ/

& ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 126 ง วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 หน้า 18-19, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/6/23672_3_1591339778741.pdf?time=1591342162359

[14]พรฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 5 ก วันที่ 20 มกราคม 2563 หน้า 5-9, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/005/T_0005.PDF 

& ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง 2563 ลด 90% เสียเท่าไหร่ คำนวณที่นี่, thansettakij, 2 มิถุนายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/money_market/436913

& ลดอัตราการจัดเก็บ "ภาษีที่ดิน" เฉพาะปี 2563 ลดลง 90%, thansettakij, 2 มิถุนายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/business/436872 

& ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90 % มหาดไทยแจ้งด่วน แนวปฏิบัติทั่วประเทศ, ประชาชาติ, 2 กรกฎาคม 2563, https://www.prachachat.net/property/news-485936

[15]ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวว่า พรฎ. ลดภาษีลงร้อยละ 90 แต่จะทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงที่ลดลงจาก ภ.ร.ด. ในปี 2562 มากกว่าร้อยละ 90

ดู เปิดไส้ในภาษีที่ดินอุ้มเจ้าสัว ชาวบ้านอ่วมจ่ายเพิ่ม10เท่า, ประชาชาติ, 1 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.prachachat.net/property/news-415841

&  ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์, 2 พฤศจิกายน 2560, อ้างแล้ว  

ปัจจุบัน อปท.ที่มีรายได้จากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ รวมปีละประมาณ 26,000 ล้านบาท แต่ด้วยระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยกระทรวงการคลังอ้างว่าประชาชนกว่าร้อยละ 99.9% ได้รับการยกเว้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยมีรายได้จากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ต้องสูญเสียรายได้ส่วนนี้โดยสิ้นเชิง    

[16]ภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลตามมาตรา 35 แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ไม่เกิน 40%)

[17]ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะชดเชยเงินรายได้ให้ อปท.หรือไม่ กรณีการ(บังคับ)ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90,  อ่านมติที่ประชุม คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

ดู "อดีตรมว.คลัง” แปลกใจ รบ.กู้เงิน “เอดีบี” เยียวยาโควิด-19 ถาม ไทยมีเงินตราต่างประเทศมากมาย ไปกู้มาทำไม, สยามรัฐ, 5 สิงหาคม 2563,  https://siamrath.co.th/n/174675

[18]ครม.อนุมัติ 157 โครงการ ครอบคลุม 57 จังหวัด งบเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 884.62 ล้านบาท, 5 สิงหาคม 2563, https://www.brighttv.co.th/news/politics/province-loan-economy 

[19]อ้างจาก เฟซบุ๊ก ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล

[20]รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 15) “ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาพื้นที่ ปี 2562”, พลเดช ปิ่นประทีป, 27 กรกฎาคม 2563, อ้างแล้ว

[21]มาตรา 29 การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินการโดยทั่วไปหรือสำหรับการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด

การจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินการโดยทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดู พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 92 ก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 หน้า 1-18, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/092/1.PDF

[22]รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 15) “ลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาพื้นที่ ปี 2562”, พลเดช ปิ่นประทีป, 27 กรกฎาคม 2563, อ้างแล้ว

[23]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิใช่สาขาราชการส่วนภูมิภาค, ชำนาญ จันทร์เรือง, ใน Bangkokbiznews, 26 มิถุนายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647573

[24]ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 149 ง วันที่ 11 มิถุนายน 2562 หน้า 1-10, http://www.samutsongkhram.go.th/V2013/attachments/article/8892/1-8.PDF& http://www.dla.go.th/upload/regulation/type2/2019/7/1777_1.pdf?time=1596635202443

[25]ตามระเบียบ มท. ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 287 ง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 หน้า 2- 7, http://www.dla.go.th/upload/regulation/type2/2019/2/1713_1.pdf?time=1596635576090   

หมายเลขบันทึก: 680231เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2020 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2020 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

@phuketvilla ; thank for your comment. I show some data on the field of local government.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท