ชีวิตที่พอเพียง 3754. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑๕. การขยายตัวของปัญญาส่วนกลาง



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๑๕ นี้ ตีความจากบทที่ 17  The rise of knowledge commons : It’s for everyone  ซึ่งเป็นบทที่ ๗ และบทสุดท้าย ของตอนที่ III  Collective Intelligence in Everyday Life    

สาระสำคัญคือ ในยุคนี้ปัญญาส่วนกลางได้ขยายตัวออกไปมาก    และเพิ่มความซับซ้อนขึ้นมากมาย    ปัจจัยสำคัญมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ    เกิดปัญญาส่วนกลางหลากหลายแบบ    ปัญญาส่วนกลางที่เป็นธรรมชาติอ่อนแอจากการถูกใช้มากเกินไป    แต่ปัญญาส่วนกลางในยุคไอที อ่อนแอเพราะมีการสร้างใหม่น้อยเกินไป    นอกจากนั้นยังอ่อนแอเพราะมีผู้พยายามผูกขาดด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

อินเทอร์เน็ต ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อการแบ่งปัน    เพื่อทำให้ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ เป็นสิ่งไม่ต้องซื้อ    เป็น “ปัญญาส่วนกลาง” (commons) ในอุดมคติ    คือเป็นสิ่งที่ทุกคนมีสิทธิใช้และแบ่งปัน    ไม่มีอำนาจใดๆ มาควบคุมได้    ภายใต้อุดมการณ์ ผลประโยชน์ส่วนรวม

แต่แล้วก็เกิดองค์กรที่เข้ามายึดครอง อินเทอร์เน็ต ด้วยหลักการตรงกันข้าม  คือดำเนินการโดยบริษัทเอกชน  ขายบริการการเข้าถึง  เน้นการโฆษณา   และขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้า     ภายใต้อุดมการณ์ กำไรส่วนตน   

นี่คือความเป็นจริงของโลก  และสังคมของคนฉลาด    ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ จากความฉลาดของส่วนกลาง    มีการสร้าง ขั้นตอนวิธี (algorithm) เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือเข้าไปตั้งกฎกติกา เพื่อเบี่ยงเบนการตัดสินใจ  หรือบางครั้ง เบี่ยงเบนความจริง  

ยิ่งมีความฉลาดส่วนกลางมาก และความฉลาดเหล่านั้นเชื่อมโยง (networking) กันมากเพียงใด  โลกก็ยิ่งต้องมีพหุภาพ (pluralism) มากเพียงนั้น  ต้องเปิดให้มีการแข่งขัน  และมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายอยู่ด้วยกัน     ปัญญาส่วนกลางจึงต้องมีการจัดรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย    ดังจะกล่าวถึงต่อไป    

สมบัติส่วนกลาง (commons) คืออะไร

สมบัติส่วนกลาง (commons) คือทรัพยากรที่ทุกคนใช้ได้ฟรี    ตัวอย่างเช่น อากาศ น้ำ ป่า หอสมุด   

ในช่วงยี่สิบสามสิบปีมานี้ได้เกิดสมบัติส่วนกลางรูปแบบใหม่ๆ    ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ให้บริการได้ในต้นทุนเกือบเป็นศูนย์    ตัวอย่างคือ อินเทอร์เน็ต,  เวิร์ลไวด์เว็บ (www),   open-source software,   Wikipedia,   Google,   FaceBook,   Khan Academy,   Brain Talk  เป็นต้น

สมบัติส่วนกลางคือสิ่งที่มีการแบ่งปันคุณค่าต่อคนทั่วไป    รวมทั้งคนทั่วไปมีส่วนเป็นเจ้าของ  กำกับ  และจ่ายเงินสนับสนุน    โดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาดำเนินการ 

สมบัติส่วนกลาง (commons)  จึงต่างจากสมบัติสาธารณะ (public properties) ตรงบทบาทของรัฐ    ในวงการเศรษฐศาสตร์เรียกสมบัติส่วนกลางที่ใช้แล้วไม่ร่อยหรอ ว่า public good (เช่น อากาศหายใจ)   อาจสร้างความสับสนระหว่างสมบัติส่วนกลางกับสมบัติสาธารณะ   

แต่สมบัติส่วนกลางบางแบบ เมื่อใช้แล้วร่อยหรอไประยะหนึ่ง  เช่นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะ  เมื่อฝูงวัวของนาย ก เข้าไปกิน    หญ้าก็อาจไม่เหลือให้ฝูงของนาย ข ไปหลายวัน  

นิยามความเป็นสมบัติส่วนกลางแท้ๆ กับ public good แยกกันไม่ออกในเรื่องของโลกดิจิทัล     นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความซับซ้อนของสมบัติส่วนกลาง    ซึ่งนับวันจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ    โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลที่เดิมออกแบบมาให้เป็นสมบัติส่วนกลาง    แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปิดช่องให้มีการสร้าง “กำแพงเงิน” (paywalls) ขึ้นมาใช้สมบัติส่วนกลางดิจิทัลทำธุรกิจ     อย่างที่ Google และ FaceBook ทำ    และได้กำไรมหาศาล  จากการให้บริการโฆษณา และขายข้อมูลส่วนบุคคล    

องค์ประกอบของนิยาม “สมบัติส่วนกลาง” ประกอบด้วย  (๑) ธรรมชาติของสิ่งนั้น  (๒) การจัดระบบ  คือความเป็นเจ้าของ และการกำกับดูแลโดยกลุ่มคนที่รวมตัวกัน    เช่น ป่าชุมชน มีคนในตำบลเป็นเจ้าของ และดูแล   

หนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  จำแนกสมบัติสาธารณะออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ  (๑) ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของส่วนกลาง เช่น อากาศ น้ำ ป่า  (๒) ระบบดิจิทัล ที่เป็นของส่วนกลางแท้ เช่น วิกิพีเดีย  (๓) value commons ตัวอย่างเช่น Google, FaceBook คือให้บริการฟรี แต่ผู้ให้บริการมีวิธีหากำไร   (๔) public goods ให้บริการฟรี ค่าใช้จ่ายมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชน  เช่นสถานีวิทยุ สถานีทีวี     จะเห็นว่า สองกลุ่มหลัง ไม่เป็นสมบัติสาธารณะอย่างแท้จริง ตามนิยามในย่อหน้าบน     

ปัญญาส่วนกลางใหม่ที่เกิดจากระบบดิจิทัล

 ปัญญาส่วนกลางที่เป็นสารสนเทศหรือความรู้เกิดจากการมี อินเทอร์เน็ตซึ่งเริ่มก่อตัวเมื่อหกสิบปีมาแล้ว  และให้บริการทั่วไปเมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว    เป็นเครือข่ายของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มี TCP/IP protocol ที่กระจายทรัพยากร และป้องกันการใช้มากเกินโดยผู้ใช้คนใดคนหนึ่ง   

อินเทอร์เน็ต เป็นเพียงช่องทางผ่านของความรู้ ที่มีอยู่ในที่ต่างๆ    เพื่อให้เข้าถึงความรู้ได้ต้องมี search engine    ซึ่งตัวเด่นที่สุดในปัจจุบันคือ Google    ที่ให้บริการฟรี แลกเปลี่ยนกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้    และไม่เป็น “สมบัติส่วนกลาง” แท้  

ทั้งหมดนั้น อาศัยสัญญาณจากดาวเทียมที่ให้บริการคลื่นสัญญาณ        

ความอ่อนแอของปัญญาส่วนกลาง

สมบัติส่วนกลางแบบที่เป็นธรรมชาติ มีความเสี่ยงที่จะถูกใช้มากจนร่อยหรอ    แต่ความเสี่ยงนี้จัดการได้    ดังกรณีป่าชายเลนของไทยฟื้นตัวขึ้นมากในช่วงสิบกว่าปีมานี้    และทรัพยากรประมงชายฝั่งก็ฟื้นตัวขึ้นมากจากการฟื้นป่าชายเลน  การมีกฎหมายห้ามทำประมงในฤดูวางไข่    และการที่ชาวประมงเองดำเนินการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ธนาคารปูม้า  

ในกรณีของสมบัติส่วนกลางที่เป็นดิจิทัล ความอ่อนแออยู่ที่ผู้ใช้เพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย  หรือเพื่อทำร้ายสังคม    เช่นเพื่อปล่อยข่าวลวง  การขโมยข้อมูล  การลอบเข้าไปป่วนระบบของหน่วยงาน เช่นธนาคาร มหาวิทยาลัย รัฐบาล     ดังนั้นระบบของหน่วยงานจึงต้องมีระบบ “กำแพงป้องกัน” (firewall) ที่มีค่าใช้จ่ายสูง    และต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา    เพราะกลุ่มนักล้วงข้อมูล (hacker) ก็พัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลา     

ความอ่อนแอของสมบัติส่วนกลางที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เกิดจากการใช้มากเกินไป    ส่วนความอ่อนแอของสมบัติส่วนกลางที่เป็นความรู้ เกิดจากมีการสร้างใหม่น้อยเกินไป    เนื่องจากเมื่อสร้างใหม่แล้ว ตนเองไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มกับการลงทุนลงแรง  

ที่จริงมนุษย์ได้สร้างระบบที่ส่งเสริมการสร้างความรู้ใหม่ และเปิดเผยต่อสาธารณะ    เพื่อให้เป็นความรู้ส่วนรวม ได้แก่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา  สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์   แต่ในสภาพปัจจุบันการปกป้องสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น ทำยากมาก  

สรุปว่า อุดมการณ์ของปัญญาส่วนกลางคือการแบ่งปัน และเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน    จุดอ่อนของระบบปัญญาส่วนกลางก็คือมีบางคนหรือบางกลุ่ม ต้องการแสวงประโยชน์ส่วนตนอย่างไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม    ซึ่งก็คืออุดมการณ์ของความเอื้อเฟื้อ ถูกทำให้อ่อนแอโดยความโลภนั่นเอง     

ธุรกิจปัญญาส่วนกลางดิจิทัล

ธุรกิจที่เข้าไปใช้ปัญญาส่วนกลางดิจิทัล ทำได้โดยสร้าง “ชาลาธุรกรรม” (business platform) ที่มี “กำแพง” (artificial barrier) ล้อมชาลานั้น    ใครจะเข้าไปใช้ต้องลงทะเบียนและจ่ายค่าบริการ    ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิต  Netflix

ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เก็บเงินผู้ใช้  แต่มีรายได้จากการให้บริการโฆษณาและขายข้อมูล เช่น Google, FaceBook    และอีกแบบหนึ่ง เป็นเสมือนตลาดขายสินค้า เช่น Amazon, Lazada

เวลานี้ธุรกิจธนาคารก็เข้าไปใช้ปัญญาส่วนกลางดิจิทัลในการให้บริการลูกค้าถึงบ้าน ดังตัวอย่างเราโอนเงินให้กันโดยไม่ต้องไปที่ธนาคาร    รวมทั้งเกิดบริการใหม่ๆ ที่ใช้การเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต เป็นฐาน

เหตุใดนวัตกรรมด้านโมเดลเศรษฐศาสตร์จึงมีน้อย

ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตามหลังความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเสมอ    และธุรกิจเหล่านั้นก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอยู่ตลอดเวลา     ธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยก็ล้มหายตายจากไป เป็นวัฏจักร    ดังตัวอย่างการเกิดวิทยุ  ทีวี    แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากในการใช้สมบัติส่วนกลาง เกิดที่ภาคธุรกิจ    ในยุคดิจิทัล ส่วนที่เป็นสมบัติส่วนกลางแท้ ยังมีการพัฒนาน้อย    โดยเฉพาะวิธีการให้ทรัพยากรสนับสนุนสมบัติส่วนกลาง    โดย ศ. มัลแกนเสนอว่า การสนับสนุนทรัพยากรแก่สมบัติส่วนกลางต้องแตกต่างจากการสนับสนุนแก่ธุรกิจ   

ในปัจจุบัน “ชาลาดิจิทัล” (digital platform) จึงมักได้รับการสนับสนุนการเงินจากบริษัทเงินทุน (venture capital)    ซึ่งต้องการกำไรเร็ว    ทำให้มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว   ไม่ร่วมมือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  

สรุปว่าโมเดลด้านเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเน้นผลประโยชน์ที่กำไรเป็นตัวเงิน    ไม่สนใจผลประโยชน์ด้านชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกัน     การคิดโมเดลใหม่ๆ ของสมบัติหรือความฉลาดรวมหมู่จึงไม่อยู่ในความสนใจ    

ส่วนที่ขาดหายไป

ส่วนที่ขาดหายไปคือ หน่วยงานที่เป็นสมบัติส่วนกลาง (commons)  ที่ทำหน้าที่ยกระดับระบบความฉลาดรวมหมู่    หรือทำหน้าที่รวบรวมความฉลาดที่ต้องการเข้ามาเป็นสมบัติส่วนกลาง หรือความฉลาดส่วนกลาง    และทำให้ยกระดับยิ่งๆ ขึ้นไป   

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น สิ่งที่ขาดคือ commons ที่ทำหน้าที่สร้างระบบความฉลาดส่วนกลาง    เช่น commons ที่ทำหน้าที่สร้างระบบความฉลาดส่วนกลางของเกษตรกร    commons ที่ทำหน้าที่สร้างระบบความฉลาดส่วนกลางของเกษตรกรสวนทุเรียน    commons ที่ทำหน้าที่สร้างระบบความฉลาดส่วนกลางของตำบลหนองปลาไหล  เป็นต้น   

ตัวอย่างของระบบที่สร้างความฉลาดส่วนกลางด้านสุขภาพ คือ Cochrane Collaboration    กิจกรรมด้านการศึกษาเช่น Effect Size ที่นำโดย John Hattie เพื่อบอกว่ามาตรการด้านการเรียนรู้ หรือการศึกษา แบบใดที่ใช้ได้ผลดี  แบบใดที่ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย    และกิจกรรมของ What Works Center

ศ. มัลแกน บอกว่า กฎหมาย เป็นตัวอย่างของความฉลาดส่วนกลาง    ส่วนที่มีการตัดสินใจร่วมกันคือตอนออกกฎหมาย    แต่ตอนตีความและตัดสินไม่เป็นกิจกรรมที่ใช้ความฉลาดส่วนกลาง     ท่านบอกว่า หากประยุกต์ใช้ AI กิจกรรมด้านกฎหมายจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  

ส่วนที่จัดเพิ่มได้และจะก่อผลเชิงความฉลาดรวมหมู่อย่างมากมายคือ การรวมข้อมูล (aggregation of data) ผ่านระบบดิจิทัล    เช่นข้อมูลการจราจร จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจราจรได้มาก ซึ่งเวลานี้ Google Map ก็ใช้อยู่   

ระบบความฉลาดรวมหมู่พัฒนาได้ในหลายระดับชั้น  มีช่องทางพัฒนาเพิ่มขึ้นได้มากมาย     

จากปัญญาส่วนกลาง สู่การผูกขาด

หนังสือบอกว่า ศตวรรษที่ ๒๐ ก้าวหน้าโดยพลังของการผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด    ผ่านกลไกธุรกิจเอกชน หรือการผูกขาดโดยรัฐ (รัฐวิสาหกิจ)    โดยมีกลไกกำกับว่า บริการเหล่านั้นมีความเป็นธรรม   

กลไกร่วมกันจัดการสมบัติส่วนกลางเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มคน ที่เรียกว่า consumers-owned mutual    ในประเทศตะวันตกทำกันมาช้านาน    ดังเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ผมไปเดินออกกำลังในสวนสาธารณะเล็กๆ ที่ St. James Square ในกรุงลอนดอน    ป้ายบอกว่าสวนนั้นเป็นสวนของเอกชน ดูแลโดย St. James Trust แต่เปิดให้สาธารณชนเข้าไปใช้ได้ตอนกลางวัน (๑)    

แต่ในยุคดิจิทัล การใช้สมบัติส่วนกลาง Internet และ WWW มีแนวโน้มจะสร้าง ชาลาธุรกิจเพื่อการผูกขาดอย่างแยบยล อย่างกรณี Google ก็จะเกิดเพิ่มขึ้น

พหุวัฒนธรรม (pluralism) กับ วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว (monoculture)

มนุษยชาติก้าวสู่ระบบนิเวศน์ทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ     ระบบสมบัติส่วนกลาง หรือปัญญาส่วนกลางก็มีความซับซ้อนขึ้น    พัฒนาการของ commons ต้องการการสานเสวนา  การต่อรอง  และระบบกำกับดูแล    การมีกฎกติกาแข็งแรงเกิน  หรือตายตัวเกินไป ใช้ไม่ได้ผล 

ศตวรรษที่ ๒๑  เป็นยุคที่น่าจะเกิดกลไกความฉลาดส่วนกลางใหม่ๆ     ซึ่งหมายความว่า มนุษยชาติต้องการจินตนาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านสังคมและการจัดระบบเพื่อการนี้   ตีคู่กับโมเดลใหม่ๆ ทางธุรกิจ        

ผมตีความสาระในหนังสือตอนนี้อย่างยากลำบาก และไม่แน่ใจว่าตนเองตีความถูก    จึงขอเรียนท่านผู้อ่านว่าข้อตีความของผมอาจผิดหรือคลาดเคลื่อนในบางส่วน    และทั้งหมดนี้มีแนวโน้มจะตีความได้ไม่ลึกซึ้ง  

วิจารณ์ พานิช    

๓๐ พ.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 680070เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2020 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2020 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท