วิธีปรองดองท้องถิ่นโดยการประกาศเลือกตั้ง


วิธีปรองดองท้องถิ่นโดยการประกาศเลือกตั้ง

1 สิงหาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

สังคมท่ามกลางความขัดแย้ง

      (1) มีคำถามว่าจะปรองดองท้องถิ่นได้อย่างไร ถึงเวลาที่จะปรองดองท้องถิ่นหรือยัง เพราะดูแล้วท้องถิ่นมีปัญหาความขัดแย้งกันไปหมด ด้วยรูปแบบโครงสร้างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกออกแบบไว้ให้มีความขัดแย้งกันไปหมด และ ด้วยจำนวนของกลุ่มส่วนได้เสีย (Stakeholders) [2] ที่มีมากมายหลายกลุ่ม หมายความว่า ท้องถิ่น หรือ อปท. มีคู่ขัดแย้งเต็มไปหมด ยิ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ถูกแช่แข็ง “การเลือกตั้ง” (Freeze) [3] ที่หมายความถึงการยุติการเมืองแบบการเลือกตั้งไว้เนิ่นนานถึง 7 ปี ถือเป็นภาวะวิกฤติยิ่งของท้องถิ่น โดยความหมายคำว่า “ปรองดอง” [4] หมายถึง ออมชอม ประนีประนอม ยอมกัน ไม่แก่งแย่งกัน ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย ตกลงกันด้วยไมตรีจิต ในที่นี้ผู้เขียนจงใจให้ฝ่ายอำนาจรัฐ หรือ ที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็น “ฝ่ายอำนาจนิยม” (Authoritarianism) [5] ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของท้องถิ่นด้วย

(2) มีการเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่าพ่อที่มีลูก 2 คนชอบทะเลาะตบตีกันมาตลอด ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อปล่อยให้ลูกทะเลาะกันโดยไม่ห้ามไม่ปรามให้หยุดหรือทำให้มีข้อยุติ จะบอกว่าคนไทยสบายมานาน ไม่เคยรู้จักรสชาดของการเป็นเมืองขึ้นเหมือนประเทศเพื่อนบ้านก็คงไม่ใช่ คงต้องช่วยกันหาเหตุผลว่า เหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่คิดไม่บริหารจัดการความขัดแย้งเพื่อให้มีข้อยุติ แนวคิดคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติก็มีมาแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่มีการแบ่งแยกเลือกพวกเลือกข้าง และต้องยอมรับในความเห็นต่าง (Open-Mindedness) [6] ไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) [7] ในทุกฝ่าย แต่ “ความยุติธรรม” (Justice, Equity) [8] ของประชาชนทุกกลุ่มยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ ยิ่งปัจจุบันคำว่าความยุติธรรมนั้น มีแนวโน้มสูงว่าหมายรวมคำว่า “ความเป็นธรรม” (Fairness) [9] เข้าไปด้วย ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว

วาทกรรมแห่งความร้าวฉานร้าวลึก

(1) การเกลียดชังกัน ดื้อรั้นไม่ยอมกันและกัน เช่น การสร้างวาทกรรมให้คนในประเทศเกลียดชังกันในหลายกลุ่มทั้ง Elite, นายทุน, ขั้วอำนาจการเมืองเก่า, กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใหม่หัวก้าวหน้า, กลุ่มอนุรักษ์นิยม ฯลฯ บวกสถานการณ์ผสมโรง ยุยง ปลุกปั่น โดยอาศัยวาทกรรมแห่งความร้าวฉาน (Hate speech) [10] เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำสังคมไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง เกิดคู่ขัดแย้ง [11] มากยิ่งขึ้น

(2) ด้วยสถานการณ์แห่งความรู้สึกว่า “อยุติธรรม” หรือ “ไม่เป็นธรรม” เหล่านี้จะนำประชาชนเดินลงสู่ถนนที่ยากแก่การควบคุมได้

(3) “Hate speech” คำนี้มีคำอธิบายไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 [12] ด้วยสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเสื้อแดง นปช. กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม กปปส. กลุ่มเสื้อเหลือง เป็น “วาทกรรมชังชาติ” ที่มีแนวโน้มพัฒนาเป็น “Hate crime” [13] หรือ “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” ได้

เลือกตั้งท้องถิ่นคือการปรองดอง

(1) มาปรองดองกันเถอะ ท้องถิ่นต้องมีการเลือกตั้ง ด้วยการเรียกร้องของแนวร่วมหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่เรียกร้องสอดรับกัน เสนอบันไดขั้นใหม่แห่ง “เลือกตั้งท้องถิ่น” [14] ว่าท้องถิ่นแห่งใดจะจัดเลือกตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก ก่อน กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด [15] ให้ท้องถิ่นเตรียมการจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ในปี 2564

(2) “การแช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” [16] ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการปกครองตนเอง ให้คนท้องถิ่นกำหนดนโยบายสนองความต้องการด้วยตัวเอง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พอกันทีกับการแช่แข็ง อปท. ไม่มีข้ออ้างเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีกแล้ว อย่าใช้ยุทธศาสตร์ “แช่แข็ง แกล้งถ่วง หวงอำนาจ” การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่จุดเดียวหมดสมัยแล้ว

            (3) กระแสข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะหลังแรงมากขึ้น “พรบ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562” มีผลบังคับใช้ 16 เมษายน 2562 ในมาตรา 11 [17] และบทเฉพาะกาล มาตรา 142 [18] ได้ระบุเงื่อนไขและขั้นตอนในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นอำนาจของ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง

(4) นักวิชาการมีข้อเสนอกระจายอำนาจ เร่งรัดรัฐบาลจัด 'เลือกตั้งท้องถิ่น' ภายในปี 2563 นี้ [19] มันถึงเวลากระจายอำนาจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง ต้องสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส ท่ามกลางความสูญเสียต้องทำให้กำไรให้ได้ดี

(5) มันรอเวลามานานแล้ว กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมา 15 ปีนานพอแล้ว [20] กระแสรูปแบบการปกครองท้องถิ่น “จังหวัดจัดการตนเอง” [21] ถูกปลุกกระแสเข้ามาอีกหลังจากหายไปนานกว่า 7 ปี

ตีเหล็กต้องตีตอนเหล็กร้อน

สำคัญว่า การจุดติด “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ตอนนี้จุดติดแล้ว การตีเหล็ก ต้องตีตอนเหล็กร้อน ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ของสังคม การลดหย่อนผ่อนปรนอะไรลงสักอย่าง จะทำให้วิกฤติต่างๆ ที่มีมากมายลดลงได้ เชื่อว่าคนที่อดรนทนอะไรไม่ได้ เมื่อได้ปลดปล่อยอะไรลงไปสักอย่าง ย่อมทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่เก็บกด ฝ่ายรัฐไม่ควรมองข้ามจุดนี้ไป ไม่เชื่อก็ลงทำดูสิ การประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นโดยเร็ว ย่อมสร้างความยินดีปรีดาแก่คนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนรากหญ้าอย่างถ้วนหน้า จนลืมปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปากท้องลงก็ได้

[1]Phachern Thammasarangkoon & Ong-art Saibutra & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 46 วันเสาร์ที่ 1  - วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 1 สิงหาคม 2563,

[2]การบริหารผู้มีส่วนใดส่วนเสีย (Stakeholders Management) โดยศศิมา สุขสว่าง, วิทยากร ที่ปรึกษา โค้ช ด้านการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนาองค์กร, https://www.sasimasuk.com/16883363/การบริหารผู้มีส่วนใดส่วนเสีย-stakeholders-management

เทียบในทางธุรกิจแบ่ง “ผู้มีส่วนใดส่วนเสีย” (Stakeholders) 3 กลุ่ม คือ

(1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (key stakeholders) คือ ผู้ซึ่งสามารถมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการโดยตรง และมีอิทธิพลโดยตรงต่อโครงการ  เช่น  Project Sponsor, Project team member, ผู้บริหาร หัวหน้าโดยตรง ผู้ใช้งานโดยตรง  ลูกค้า ผู้ส่งมอบ มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อดำเนินโครงการ หรือผลลัพธ์ของโครงการโดยตรง

(2) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขั้นพื้นฐาน (primary stakeholders) คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบทางบวก หรือทางลบ จากกิจกรรมโครงการ หรือผลลัพธ์ของโครงการ  เช่น ผู้บริโภค (consumer) ตัวแทนทางการค้า (dealer) ผู้ผลิตในขั้นต้น (primary production) จะได้รับผลกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงราคาขาย การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้าทั้งการจัดซื้อและการขาย เป็นต้น

(3) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขั้นรอง (secondary stakeholders) คือ ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากการดำเนินงานโครงการซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อโครงการโดยตรง

[3]การแช่แข็งทางการเมืองเกิดได้ยาก, โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช mgronline, 4 พฤศจิกายน 2555, https://mgronline.com/daily/detail/9550000134798& แช่แข็งประเทศไทย: ใครเอาบ้าง ยกมือขึ้น, อภิชาต สถิตนิรามัย, ThaiPublica, 27 พฤศจิกายน 2555, https://thaipublica.org/2012/11/thailand-frozen/

แนวคิด “แช่แข็งประเทศไทย” ที่เสธ.อ้าย หรือ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์กรพิทักษ์สยาม ใช้เป็นธงนำในการเคลื่อนไหว โดยมี กำลังหลักของผู้ชุมนุมในกลุ่มเสธ.อ้ายเป็นคนเสื้อเหลืองแล้ว คนกลุ่มนี้เป็นเสื้อเหลืองประเภทสุดขั้ว (extreme) แบบสุดๆ ที่ปฏิเสธการเมืองในระบบเลือกตั้งแบบไม่เหลือเยื่อใย

[4]พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ดู การปรองดอง : การคิดเห็นตรงข้าม, สามารถ มังสัง, ผู้จัดการ  mgronline, 21 กรกฎาคม 2557, https://mgronline.com/daily/detail/9570000082152

ดู จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปรองดอง (reconciliation) หมายจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ (peace talk) ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และทำการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดองและต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในที่นี้อาจจะรวมถึงการใช้มาตรการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ดู รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ, เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร จัดทำโดย สถาบันพระปกเกล้า, มีนาคม 2555, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รายงานวิจัย_การสร้างความปรองดองแห่งชาติ

...ประเด็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย พบว่าปัญหาใจกลางคือมุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้งซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศอยู่ที่ ‘เสียงข้างมาก’ ของประชาชน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อ ‘คุณธรรมจริยธรรม’ ของผู้บริหารประเทศมากกว่าความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่...

[5]อำนาจนิยม (Authoritarianism)เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ตามปกติมักตรงข้ามกับปัจเจกนิยมและอิสรนิยม ในทางการเมือง รัฐบาลอำนาจเป็นรัฐบาลซึ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมืองกระจุกตัวอยู่กับนักการเมืองกลุ่มเล็ก : วิกิพีเดีย

[6]Open-Mindedness การเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้างเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะทำให้เราพัฒนาตนเองไปได้ไกลมากขึ้น ความแตกต่างระหว่าง Open-Mindedness กับ Closed-Mindedness จากหนังสือ Principles by Ray Dalio หนึ่งในหลักการใช้ชีวิตที่สำคัญของ Ray Dalio คือการเปิดใจให้กว้าง ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง (Open-Mindedness) แล้วตอนนี้เราเป็นคนแบบนั้นกันรึยัง ? หรือว่ายังเป็นคนใจแคบไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น(Closed-Mindedness)

: Blockdit เล่า, 29 พฤศจิกายน 2562

[7]หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (Non-Discrimination), จุฬารัตน์ ยะปะนัน, กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย, วารสารจุลนิติ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (ก.ย.-ต.ค.2547), สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/3journal/b16%20jun_1_4.pdf

& หลักความเสมอภาค, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, 3 มกราคม 2548, http://www.public-law.net/publaw/view.aspx?id=657

[8]ความยุติธรรม เป็นแนวคิดเกี่ยวกับความถูกต้องตามศีลธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรม ความสมเหตุสมผล กฎหมาย กฎหมายธรรมชาติ ศาสนา ความเที่ยงธรรม (equity) และความเป็นธรรม (fairness) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้และสิทธิโดยกำเนิดของมนุษยชาติและพลเมืองทั้งหลาย กับสิทธิของปวงชนและเอกชนที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมายซึ่งว่าด้วยสิทธิพลเมืองของพวกเขาเหล่านั้น โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เหล่ากำเนิด สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา ความพิการ อายุ ความยากดีมีจน และลักษณะประการอื่น ทั้งยังถือด้วยว่า รวมถึงความยุติธรรมทางสังคม : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดู สุรัชดา รีคี. เอควิตี้ : หลักแห่งความยุติธรรมในกฎหมายอังกฤษ, EQUITY: PRINCIPLES OF JUSTICE IN ENGLISH LAW. วิญญูชน, 2562, https://www.law.chula.ac.th/publishing/3458/

[9]ทฤษฎีความยุติธรรมของจอห์น รอลว์ส (John Rawls’ A Theory of Justice) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ใน KRITAYA SOONGKAENG, 26 มิถุนายน 2561,

https://www.facebook.com/notes/kritaya-soongkaeng/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B8%99-%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%AA-john-rawls-a-theory-of-justice/2014402055237962/

ในทฤษฎีความยุติธรรม จอห์น รอลว์ส พยายามแสดงการประนีประนอมอย่างมีหลักการระหว่างเสรีภาพ (liberty) กับความเสมอภาค (equality) โดยนำเสนอให้เห็นชุดของแนวคิดที่มองความยุติธรรมเสมือนการปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรม (justice as fairness) รอลว์สใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นชุดแนวคิดหลักในการถ่ายทอดเนื้อหาของความยุติธรรมในฐานะที่เป็นการปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นธรรม เขาพยายามที่จะแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ “การกระจายความยุติธรรม” (Distributive Justice)

[10]ประทุษวาจา (Hate Speech) คือ ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ เป็นต้น : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[11]ประเด็นความขัดแย้งกันในระบบการคิดของบุคคลทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง (Conflict) ขึ้น เพราะ ต่างมี “ความรู้สึกเห็นร่วม” (perception) หรือ mindset ที่แตกต่างกัน 

ดู จับตาม็อบชนม็อบ!! เยาวชนปลดแอก-อาชีวะช่วยชาติ ต่างอุดมการณ์ นัดชุมนุมวันเดียวกัน, ch3thailandnews, 29 กรกฎาคม 2563, https://ch3thailandnews.bectero.com/news/200567  

& การเมือง - 'อาชีวะช่วยชาติ'ฮึ่ม!ไม่รับประกัน'ม็อบชนม็อบ' ฝาก2คำตอบ-เตือนคนชักใยเยาวชนระวังตัว, naewna, 30 กรกฎาคม 2563,  https://www.naewna.com/politic/508562

& จับตา 'เยาวชนปลดแอก-อาชีวะช่วยชาติ' ชุมนุมแสดงจุดยืนวันนี้  - นายกฯ ห่วงม็อบชนม็อบ, ch3plus, 31 กรกฎาคม 2563, https://ch3plus.com/news/program/200681

[12]Hate Speech คืออะไร ปรากฏการณ์ใหม่ใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง,  ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, ใน kapook กระปุกดอทคอม 20 กุมภาพันธ์ 2557, https://hilight.kapook.com/view/98194

& Hate Speech วาจาสร้างความเกลียดชัง ?, ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำคลิปวีดีโอ “Hate Speech” เบื้องต้นสำหรับคนไทย, 20 กุมภาพันธ์ 2557, https://www.voicetv.co.th/read/97895

[13]Hate Crimes: อาชญากรรมแห่งอคติในสังคมพลวัต โดย นางสาวลดาวัลย์ ใยมณี ใน วารสารอาชญาวิทยาและสังคมวิทยาฯ Vol.3 No.2 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ.2563)

https://www.crimjournalthai.com/hate-crimes-อาชญากรรมแห่งอคติในสังคมพลวัต.html#:~:text=Hate%20Crimes%20นั้นเป็นอาชญากรรม,เกลียด%20แต่คือ%20“อคติ”%20บาง

Hate Crimes นั้นเป็นอาชญากรรมที่แตกต่างจากอาชญากรรมปกติเนื่องจากอาชญากรรมทั่วไป ผู้กระทำหรืออาชญากรมักมีแรงจูงใจอยู่ที่เหยื่อ หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ Hate Crimes แม้จะแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” แต่ในความเป็นจริงมูลเหตุจูงใจของอาชญากรรมประเภทนี้กลับไม่ใช่ความเกลียด  แต่คือ “อคติ” บางครั้งจึงเรียกอาชญากรรมประเภทนี้ว่า Bias-motivated Crimes ซึ่งอคตินี้ไม่ได้มีต่อเหยื่อคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มุ่งเน้นไปที่เอกลักษณ์บางประการของกลุ่มคน หรือ Stereotypes เช่น ความแตกต่างของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ ความเป็นชนกลุ่มน้อย ความโน้มเอียงทางเพศ ความพิการ ความเชื่อทางการเมือง ชนชั้น หรือสถานะทางสังคม เป็นต้น

[14]บันไดขั้นใหม่ “เลือกตั้งท้องถิ่น”,  nationweekend, 26 กรกฎาคม 2563, https://www.nationweekend.com/content/special_article/13857?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=special_article&fbclid=IwAR2ktVwpm3O8HMKK5qceBib1jxpom28ETSi8gTPR-21IIm3QZs3kUyKUFHw

[15]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0818.2/ว 4289 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

[16]จากเฟซบุ๊ก ประสิทธิ์ สาระชาติ 9 กรกฎาคม 2563 ดู อนาคตการกระจายอำนาจ หลังประกาศ คสช.แช่แข็งการเมืองท้องถิ่น, prachatai, 12 สิงหาคม 2557, https://prachatai.com/journal/2014/08/55022

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 85/2557 และ 86/2557 เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ขึ้นทดแทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระลง โดยกำหนดให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา และกำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นใดที่เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดให้สิ้นสุดสภาพลง ทำให้งดเลือกตั้งสภาท้องถิ่น-ให้ใช้วิธีสรรหา-ผู้บริหารให้ปลัดทำแทน

[17]มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ หรือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระเว้นแต่ในกรณีของสมาชิกสภาท้องถิ่น ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้

[18]มาตรา 142 ระบุเงื่อนไขและขั้นตอนไว้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับให้เป็นอำนาจของ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง

[19]'สมคิด เลิศไพฑูรย์' ผุดข้อเสนอกระจายอำนาจ เร่งรัดรัฐบาลจัด 'เลือกตั้งท้องถิ่น' ภายในปีนี้, 25 กรกฎาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/172228

[20]ช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา สังคมไทยเริ่มมีความขัดแย้งกัน และ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ การพัฒนาความก้าวหน้าทันสมัยในหลาย ๆ สิ่งถูกชะลอตัวหมดจนถึงปัจจุบัน มีการสนับสนุนให้ฝ่ายทหารยึดอำนาจและเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

ดู คำนูณ สิทธิสมาน : (เรียนท่านนายกฯ) ถึงเวลาประเทศไทย ต้องมีนิรโทษกรรมการเมือง, มติชนออนไลน์, 19 กรกฎาคม 2563, https://today.line.me/th/article/คำนูณ+สิทธิสมาน+เรียนท่านนายกฯ+ถึงเวลาประเทศไทย+ต้องมีนิรโทษกรรมการเมือง-z2Xm2J

[21]จังหวัดจัดการตนเอง : แนวคิดในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น, ศรันยา สีมา นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-042.pdf

หมายเลขบันทึก: 679833เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2020 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2020 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท