๘๓๘. Growth Mindset ของฉัน


Growth Mindset ของฉัน

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเสมอ และเมื่อเรียนรู้แล้วจะชอบนำมาเปรียบกับตนเองว่า ตนได้กระทำสิ่งใดอยู่ในปัจจุบันนี้ และที่ผ่านมาทำอย่างไร...เมื่อได้ทราบและเรียนรู้แล้ว หากสิ่งใดดีจะนำมาปรับประยุกต์ใช้กับตนเองในเรื่องของชีวิตประจำวัน ชีวิตของการทำงานทันที...เพราะทั้งผู้เขียนและพ่อบ้านก็จะเป็นคนลักษณะนี้เช่นกัน เป็นบุคคลที่ชอบพัฒนาตนเองกันอยู่เสมอ และเรียนรู้ไปกับสิ่งใหม่ ๆ และสามารถทำตนเองให้อยู่รอดกับสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา...อาจเป็นกระบวนการทางความคิดที่เราสองคนเหมือนกัน จึงเสมือนกับเป็นบุญของผู้เขียน เพราะหากคนเรามีความคิดและการกระทำเหมือน ๆ กัน นั่นย่อมทำให้เกิดความสุขกับครอบครัวในเรื่องการดำรงชีวิตในแต่ละวันได้...เพราะความคิดไม่ขัดแย้งกัน อาจมาจากพื้นฐาน ครอบครัว ความเป็นอยู่เราจะคล้าย ๆ กัน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ที่พวกเราเป็นอยู่จะสืบทอดไปถึงลูก-หลาน...ในความคิดของผู้เขียนคิดว่าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ นี่คือ Growth Mindset ของพวกเราเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ทุกคนมีกระบวนการทางความคิดกันทุกคน เป็นบ้างที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันทางความคิด ซึ่งทำให้เห็นอยู่มากมายในสังคมมนุษย์...และวันนี้ก็ได้เข้าไปอ่านบทความด้านล่างและนำมาคิดเปรียบกับตัวเองจึงได้ข้อสรุปทางด้านล่างดังนี้ค่ะ

๑๐ วิธีพัฒนา Growth Mindset กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

July ๒๘, ๒๐๑๙

พิชาวีร์ เมฆขยาย, นักจิตวิทยาองค์กร

คุณเชื่อแบบไหนโลกของคุณก็จะเป็นแบบนั้น คุณมีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองแบบไหนคุณก็จะเป็นแบบนั้น ความคิดและวิธีคิดของคุณมีผลต่อชะตาชีวิตของคุณอย่างมากมายมหาศาล ชีวิตคุณจะเดินไปทางไหนต่อขึ้นอยู่กับว่าคุณมองและตีความสิ่งต่าง ๆ อย่างไร กรอบความคิด วิธีคิด หรือ Mindset หลัก ๆ ของคนเราออกเป็น ๒ ประเภท คือ Fixed mindset และ Growth mindset ตามการศึกษาของ Carol Dweck นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
คนที่มักมี Fixed mindset นั้น จะเชื่อว่าความสามารถต่าง ๆ ความเก่ง และความฉลาดของพวกเขาถูกกำหนดมาไว้แล้ว ดังนั้นแม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเกิดมาเป็นคนฉลาด ยังไงก็จะฉลาด แต่ถ้าเกิดมาโง่ พัฒนาแค่ไหนก็สู้คนฉลาดไม่ได้อยู่ดี คนเหล่านี้เชื่อในความฉลาด แต่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความพยายามและการทำงานหนัก คนเหล่านี้ต้องการแสดงออกว่าเป็นคนเก่งและฉลาดเสมอ พวกเขากลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่าโง่
ในทางตรงกันข้าม คนที่มี Growth mindset จะเชื่อในการพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจะทำให้พวกเขากลายเป็นคนเก่งและมีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาเชื่อว่าความพยายาม การทำงานหนักคือพาหนะที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นคุณจึงมักจะเห็นคนเหล่านี้ใช้เวลาไปกับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ การพัฒนาตัวเอง เพื่อผลักดันให้ตัวเองก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขามองว่าแต่ละคนแตกต่างกัน เกิดมาพร้อมกับคุณสมบัติตั้งต้นไม่เหมือนกัน พวกเขาจึงมักเคารพในจุดแข็งที่แตกต่างกันของผู้คน และเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งได้

เมื่อวันก่อน แวนเพิ่งได้ดูสารคดีเรื่อง Memory Games ทาง Netflix ว่าด้วยเรื่องราวของนักกีฬาแข่งความจำระดับโลก รวมเอาบรรดาอัจฉริยะที่สามารถจำตัวเลขได้เป็น ๑๐๐-๒๐๐ หลัก หรือจำลำดับไพ่ทั้งสำรับได้อย่างแม่นยำ ทุกอย่างดูมหัศจรรย์มาก และผู้คนเหล่านั้นดูเป็นยอดมนุษย์ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ คงไม่มีทางทำได้ แต่แล้วเมื่อรายการตามติดชีวิตและไปสัมภาษณ์แชมป์บางคน กลับพบว่าพวกเขาไม่ได้เกิดมาพร้อมกับยีนหรือเซลส์ที่จำแม่นตั้งแต่เกิด แต่พรสวรรค์ของพวกเขากลับเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาตัดสินใจว่าต้องการจะเอาดีด้านนี้ให้ได้ กลับกลายเป็นว่า แม้แต่อัจฉริยะด้านความจำ มันคือการฝึกฝนและการเรียนรู้เทคนิคต่างหาก

ตั้งแต่นั้นมา แวนจึงเชื่อว่า ทุกทักษะและความสามารถ เราฝึกฝนและพัฒนาขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นความเชื่อของ Growth mindset นั่นเอง
ทำไม Mindset ถึงสำคัญ?
หากคุณเชื่อไปซะแล้วว่าคุณสมบัติหรือความสามารถบางอย่างพัฒนาไม่ได้ คุณก็จะไม่ขวนขวายหาทางเรียนรู้เพื่อให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณไปนำเสนองานต่อหน้าผู้บริหารหรือลูกค้าคนสำคัญ แต่ปรากฏว่าครั้งนั้นผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร คุณถูกตำหนิและสูญเสียโอกาสสำคัญไป หากคุณมี Fixed mindset คุณจะท้อแท้อย่างหนัก และตัดสินตัวเองทันทีว่าคุณไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ รวมทั้งเชื่อว่า ต่อให้ทำแบบนี้อีกกี่ครั้งก็จะจบเหมือนเดิม โดยที่ไม่ได้คิดจะเตรียมตัวให้ดีมากขึ้น ทำงานให้หนักขึ้นสำหรับการนำเสนอครั้งถัดไป ดังนั้นคุณจึงไม่พยายามต่อ แถมยังคอยหลีกเลี่ยง ไม่รับโอกาสที่จะนำเสนองานอีก
แต่ข้อเท็จจริงคือ คนยิ่งใหญ่เปลี่ยนโลกทั้งหลายที่คุณเห็นผ่านตามามากมาย พวกเขาก็เกิดมาพร้อมสารตั้งต้นที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา แต่ด้วยพวกเขาเชื่อในความพยายามอย่างไม่ลดละของตัวเอง ทำ ๑๐ ครั้งแรกแล้วพลาด พวกเขาก็ยังไม่เลิกพยายาม ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว คนที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยคนทั่วไป จะมีอัตราความพยายาม และความอดทนต่อความล้มเหลวสูงกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ พ่อแม่ Mindset อย่างไร ก็จะส่งต่อถ่ายทอดไปให้ลูกด้วยเช่นกัน หากพ่อแม่มี Fixed mindset พวกเขาจะชื่นชมในความเก่งความฉลาด แต่ไม่เคยให้รางวัลกับความพยายามของลูก พวกเขาจะเอาแต่เปรียบเทียบความฉลาดของลูกกับเด็กบ้านอื่น และตำหนิหากลูกไม่สามารถแสดงความฉลาดออกมาให้เห็นได้ดังใจ และในที่สุด ลูกๆ ของพวกเขาก็จะเชื่อแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งหากตัวเองไม่สามารถแสดงว่าตัวเองฉลาด พวกเขาจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ นำไปสู่การมี self-esteem ที่ต่ำลงไปอีก
พ่อแม่ที่มี Growth mindset จะให้กำลังใจมากกว่าตำหนิ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความพยายาม ทำให้ลูกเห็นพัฒนาการของตัวเองที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ลูก ๆ บ้านนี้จึงมีความมุมานะและความเพียรมากกว่าลูกบ้าน Fixed mindset

วิธีพัฒนา Growth Mindset
การพัฒนามีหลากหลายวิธี ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้วิธีที่ถูกจริตและได้ผลสำหรับคุณ
๑. เปิดใจยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง
เมื่อคุณเปิดใจมองดูตัวเองอย่างเป็นกลาง คุณจะมองเห็นบางด้านที่เป็นจุดอ่อน เช่น หากคุณรู้ตัวว่าตัวเองชอบผัดวันประกันพรุ่ง และมักทำให้ทำงานล่าช้าเกินกำหนด ทุกครั้งผลงานออกมาก็ไม่ดีเท่าที่ควร ต่อไปคุณก็จะสามารถวางแผนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ทำงานโดยมีแผนล่วงหน้ามากขึ้น
๒. มองว่างานยากและปัญหาคือโอกาส
งานยากจะดึงศักยภาพของคุณออกมา โดยธรรมชาติคนเรามักจะมีความกลัวล้มเหลวเมื่อต้องรับโอกาสท้าทายใหม่ ๆ ที่คุณยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่หากคุณเอาแต่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและงานง่ายของตัวเอง คุณจะไม่ได้พัฒนาและเติบโตไปไหน ดังนั้น ปัญหาและงานยากคือพาหนะที่จะพาคุณให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ
๓. ใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ที่ถูกจริตกับตัวเอง
คนเรามีวิธีการเรียนรู้ที่ได้ผลไม่เหมือนกัน คุณเลียนแบบวิธีการคนสำเร็จได้ แต่ผลลัพธ์ตอนท้ายอาจไม่เหมือนกัน บางคนแค่เพียงอ่านหนังสือและจับประเด็นได้บางเรื่อง ก็สามารถต่อยอดได้ บางคนเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากห้องเรียนที่มีคนมาสอนแบบละเอียด บางคนเรียนรู้ได้จากการลงมือทดลองทำด้วยตัวเอง แต่จากการวิจัยพบว่า คนที่มี Growth mindset จะสามารถใช้ได้หลากหลายวิธี เพราะทัศนคติที่ไม่ปิดกั้นสิ่งใหม่ ๆ นั่นเอง
๔. จำไว้ว่าสมองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
ตลอดชีวิตสมองของมนุษย์เรามีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ อยู่ตลอด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Neuroplasticity ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างในสมองของเราจัดระเบียบใหม่ได้เอง แสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถปรับแต่งตัวเองไปทางไหนก็ได้ จากต้นทางที่เราเกิดมาเริ่มแรก ซึ่งสนับสนุนแนวคิดแบบ Growth mindset ที่ความคิดของคุณเองต้องไม่ปิดกั้นศักยภาพการเรียนรู้ของสมองด้วยการไม่ยอมพัฒนา
๕. ให้คุณค่ากับการเรียนรู้มากกว่าคำชม
ในระหว่างทางที่คุณกำลังพัฒนาตัวเอง ผลลัพธ์อาจจะยังไม่ได้ออกมาดีจนคนอื่นจะชื่นชม ดังนั้นหากคุณมัวแต่ให้คุณค่ากับคำชม ใจคุณจะฝ่อและหมดกำลังใจตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา บางคนที่ประสบความสำเร็จต้องพยายามเป็นร้อยครั้ง ถูกปฏิเสธหลายสิบที่ แต่พวกเขาก็ยังไม่ละความพยายาม แต่ตั้งคำถามกับตัวเองแทนว่า ครั้งนี้ได้เรียนรู้เรื่องอะไร และครั้งต่อไปจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้พลาดเหมือนเดิมอีก
๖. สนใจที่กระบวนการระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง
การสนุกกับระหว่างทางของการพัฒนาจะช่วยให้คุณเดินต่อไปได้เรื่อย ๆ หากคุณจดจ่อแต่ปลายทางว่าเมื่อไหร่จะถึง ๆ คุณอาจหมดสนุก ท้อ และเลิกทำไปก่อนในที่สุด คนที่มี Growth mindset มักจะสนุกกับกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง รู้สึกดีที่เห็นตัวเองเชี่ยวชาญขึ้นเรื่อย ๆ คล่องขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีติดขัดบ้าง มากกว่าจะกดดันตัวเองให้ต้องสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
๗. เน้นเรียนรู้อย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ
การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะสามารถเร่ง ๆ หรือเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด แต่คือกระบวนการที่คุณต้องเน้นความเข้าใจ ตกผลึก และทดลองใช้จริง บางครั้งคุณจำเป็นต้องผ่านความผิดพลาดหรือล้มเหลว เพื่อก่อร่างเป็นองค์ความรู้เฉพาะตัว ดังนั้นอย่าใจร้อนเกินไป
๘. เปิดใจรับคำวิพากษ์และ Feedback
การเปิดใจรับคำวิพากษ์วิจารณ์หรือ Feedback นั้นค่อนข้างยาก แต่สิ่งเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ส่วนใหญ่ผู้คนรอบตัวมักจะหวังดีและปรารถนาที่จะช่วยชี้จุดที่คุณอาจมองไม่เห็นตัวเอง ขอเพียงอย่าเก็บเอามาคิดเล็กคิดน้อยหรือน้อยใจ เพราะนั่นคือทางที่คุณจะพัฒนาขึ้น
๙. ชื่นชมคนที่ความพยายามมากกว่าคุณสมบัติส่วนตัว
ข้อนี้จะเป็นการฝึกตัวคุณเองเพื่อให้ความสำคัญกับความพยายาม การกระทำ มากกว่าคุณสมบัติที่ติดตัวมา เช่น ความสวย ความหล่อ หรือความฉลาด ซึ่งจะทำให้คุณชื่นชมตัวเองในแง่ของความพยายามและความมุ่งมั่นเช่นกัน
๑๐. ปรับทัศนคติต่อคำว่า “ต้องปรับปรุง”
เพียงแค่คุณได้รับ feedback ว่าต้องปรับปรุงบางด้าน ไม่ได้แปลว่าทุกด้านของคุณจะเลวร้าย เป็นคนไร้ความสามารถ หรือชีวิตล้มเหลว ปรับมุมมองต่อคำว่าต้องปรับปรุงให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอทั้งนั้น และหยิบสิ่งเหล่านั้นมาเรียนรู้และพัฒนา
สำหรับแวนเองได้มีโอกาสพัฒนา Growth mindset ตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือหนังสือพัฒนาตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจ ที่มักมีเรื่องราวของคนที่ชีวิตเริ่มจากศูนย์หรือติดลบ แล้วสามารถพาตัวเองให้มาอยู่แนวหน้าหรือสร้างอิทธิพลในระดับประเทศหรือระดับโลกได้ ทัศนคติและความเชื่อของแวนจึงค่อย ๆ ถูกพัฒนาให้เชื่อในเรื่องของการเรียนรู้
ในการพัฒนา Growth mindset ของตัวเอง คุณจำเป็นต้องมีใจ “อยาก” ที่จะพัฒนา รวมทั้งจริงจังกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่าเพิ่งท้อใจกับการพยายามไปเพียงหนึ่งหรือสองครั้งแต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ การที่คุณเห็นใครซักคนประสบความสำเร็จหรือก้าวหน้า เบื้องหลังพวกเขาอาจพยายามมาเป็นร้อยครั้ง ผ่านความล้มเหลวมานับสิบครั้ง หรือฝึกฝนตัวเองมาหลายปี ที่สำคัญคือคุณต้องมีความเพียรและอดทนควบคู่ไปด้วย
จำไว้เสมอว่า โครงสร้างสมองเปลี่ยนแปลงได้ เซลส์ในร่างกายเปลี่ยนแปลงได้ คุณเองก็เปลี่ยนแปลงตัวเองได้เช่นกัน ขอเพียงเปิดใจเรียนรู้จากทุกเรื่องรอบตัว มีเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองที่มีทิศทาง รับประกันได้เลยว่าคุณจะเห็นความก้าวหน้าของตัวเองแน่นอน

หากคุณต้องการพัฒนา Growth Mindset อย่างมีทิศทางและมีพี่เลี้ยงที่คอยดูแลตลอดทาง ดูโปรแกรมการพัฒนาตัวเองแบบมีโค้ช/พี่เลี้ย

ที่มา : https://www.bypichawee.co/single-post/10-howto-growthmindset

สรุป : เมื่อได้อ่านเสร็จ ผู้เขียนได้นำมาเปรียบเทียบกับตนเองว่าได้เป็นบุคคลประเภท Growth Mindset...เพราะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อยู่เสมอ เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ จนมาถึงทุกวันนี้ก็มิวายที่จะหยุดการเรียนรู้...เรื่องบางเรื่องเรียนรู้แล้วก็เรียนรู้อีก ไม่แปลกหากเราได้เรียนรู้แบบเรื่องซ้ำ ๆ ทำให้เราเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น...จากที่อ่านทั้ง ๑๐ ข้างต้น ทำให้ทราบว่าตนเองเป็นคนแบบนั้น คือ 

๑. การเปิดใจรับจุดอ่อนของตนเอง เมื่อทราบว่าตนเองมีจุดอ่อนด้านใด ก็จะพยายามปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นด้วยการยอมรับและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น...

๒. สำหรับการทำงาน งานใดที่คนอื่นว่ายาก...สำหรับผู้เขียนจะไม่มีคำว่ายากอยู่ในหัว จะเป็นคนที่พยายามค้นหาปัญหา การแก้ไขปัญหา หากไม่ทราบจะพยายามเรียนรู้ด้วยการอ่าน หาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยสติ ปัญญาของตนเอง เพื่อให้งานต่าง ๆ สำเร็จไปได้...มิเคยย่อท้อต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้น

๓. ใช้กลยุทธ์และวิธีที่ถูกจริตกับตนเอง เพราะจากงานวิจัยพบว่า คนที่มี Growth Mindset นั้น คือ คนที่ชอบเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอนั้น มีทัศนคติที่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้จากสิ่งใหม่ ๆ...จะสามารถค้นหาวิธีที่ทำให้งานสำเร็จได้จากการเรียนรู้ และผู้เขียนก็เป็นคนแบบนั้น...มิมีที่จะมองว่าการทำงานนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ...เพราะเชื่อว่าโลกนี้มีวิธีอื่นมากมายที่ทำให้ตัวเราทำงานได้สำเร็จหากเราเองเป็นคนขยัน ไม่ย่อท้อ ไม่ละความพยายาม นี่เป็นความเชื่อที่ตัวเราเองตั้งมั่น และตั้งใจอย่างจริงจัง

๔. สมองสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้...คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ และสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของเราเอง หากเรามีความเชื่อแบบนี้ เราสามารถจะปรับและพัฒนาไปในทิศทางไหนก็ได้ หากใจเรายอมรับกับการปรับเปลี่ยน เพราะความเชื่อแบบแนวคิด Growth Mindset ทำให้เราทราบว่า เมื่อเราปรับเปลี่ยนได้แล้วเราจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดในทางที่ดีขึ้นได้ด้วยตัวของเราเอง ซึ่งผู้เขียนก็เป็นคนแบบนี้

๕. ให้คุณค่าของการเรียนรู้มากกว่าคำชม...เป็นหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้เขียนมาตลอด ๕๘ ปี ที่มีชีวิตผ่านมา...คำชมอื่นใดจากใคร ๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ตัวของเราได้เรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง เพราะตัวเราย่อมรู้ตัวเราเองว่า "การเรียนรู้ต่างหากที่ตัวเราได้เรียนรู้ มีความรู้ จึงทำให้เกิดคำชมจากผู้อื่นที่ได้ชื่นชมตัวเราเอง"...แต่ในทางกลับกันหากได้รับคำตำหนิ ติเตียน บางคนเกิดอาการใจฝ่อ เหมือนรับไม่ได้กับคำตำหนินั้น...สำหรับผู้เขียนกลับคิดว่า ไม่ว่าคำตำหนิ คำชม ไม่ได้มีผลต่อตัวผู้เขียนหากจะนำมา สำหรับคำตำหนิ ก็จะนำมาคิด วิเคราะห์ด้วยตนเองว่าใช่หรือไม่ หากใช่ ก็จะปรับปรุงตัวเอง แก้ไขให้ดีขึ้น สำหรับคำชม ก็เพียงได้แค่รู้ว่า นั่นคือ การเรียนรู้ของตัวเราเองซึ่งทำให้ผู้อื่นเกิดการชื่นชมตัวของเราเอง

๖. เป็นผู้ที่สนใจกระบวนการระหว่างทางมากกว่าปลายทาง...ในการกระทำเรื่องใด ๆ จะเป็นผู้ที่ในใจเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราในระหว่างทางมากกว่าผลที่จะเกิด เพราะรายทางหากพิจารณาดี ๆ จะเห็นถึง "ใจ" ระหว่างกันและกันที่ทุกคนมีให้กันมากกว่าไปถึงสุดท้ายแล้วมาแสดงต่อกัน...รายละเอียดระหว่างทางจึงสำคัญสำหรับผู้เขียนมากกว่า

๗. เป็นคนที่เน้นการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ...เมื่อรักที่จะเรียนรู้ในสิ่งใดแล้วก็ลงมือที่จะได้ศึกษา เรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างจริงจัง และเมื่อเกิดเป็นองค์ความรู้นั้นแล้ว ก็จะสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับตนเองและกับการทำงานได้อย่างดี ทำให้งานมีคุณภาพและดีต่อผู้อื่น

๘. เปิดใจรับคำวิพากษ์ หรือ Feedback...ข้อนี้เป็นไปได้ยาก แต่ได้พยายามทำ แต่จะเลือกสำหรับคนว่าคน ๆ นั้น มีเจตนาต่อเราเช่นไร หากเป็นคนที่มีอคติมาตลอด ไม่เคยหวังดี หรือคิดดีต่อเรา ก็จะขอเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง...แต่สำหรับคนที่ไม่มีอคติ เรียกว่า ตัวเราเองรู้ใจมาก่อนว่า เขาพูดเพื่อให้เราเกิดการพัฒนาและทำให้ดีขึ้น ผู้เขียนก็จะยอมรับคำวิจารณ์นั้น เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

๙. เป็นคนที่ชื่นชมคนที่มีความมุมานะ พยายาม และมีความอดทนต่อการกระทำมากกว่า รูปร่าง หน้าตา หรือความฉลาด...จะเป็นผู้ที่ให้สิทธิการเทียมกันของมนุษย์ทุกคนเสมอ เพราะเชื่อว่า ทุกคนมีความสามารถแตกต่างกัน มีบางสิ่งที่เหมือนและบางสิ่งที่แตกต่างกัน...ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความพยายามมากน้อยเพียงใด

๑๐. ยอมรับคำว่า "ต้องปรับปรุง"...มีความเชื่อว่า การปรับปรุงนั้น คือ การทำให้สิ่งนั้นดีขึ้น พัฒนาขึ้น ในเมื่อตอนนี้ยังไม่ดี ตัวเราเองก็ควรที่จะต้องปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น...นี่คือ การยอมรับคำว่า "ต้องปรับปรุง"...แต่ในความเชื่อนั้น รายทางของการกระทำ หากตัวเราตั้งใจทำมาตั้งแต่ต้นว่าดีที่สุดแล้ว สำหรับคำว่า "ต้องปรับปรุง" นั้นจะเกิดขึ้นกับตัวของเราเองน้อยมาก หรือแทบจะไม่ค่อยได้ยิน หรือรับฟังคำนี้เลย

ทั้ง ๑๐ ข้อ คือ การกระทำที่ผู้เขียนได้กระทำตรงกับบทความข้างต้นได้นำมาให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ จึงทราบว่า Growth Mindset คือ กระบวนการทางความคิด ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวของเราเอง...และจะเป็นคนที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเปิดใจยอมรับกับการที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ...สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้เขียนได้เป็น โค้ช/พี่เลี้ยงส่งต่อให้กับลูก ๆ และหลาน ๆ ได้ฝึก Mindset ของพวกเขาได้พัฒนาให้เป็น Growth Mindset ในทิศทางที่เกิดการพัฒนาขึ้น

********************************************

ขอขอบคุณทุกที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓

หมายเลขบันทึก: 679690เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2021 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท