ชีวิตที่พอเพียง 3747a. เคล็ดลับของสาธารณสุขไทย ป้องกันโควิด ๑๙ ด้วยความรู้ และส่งสัญญาณ การ์ดตก


ความสำเร็จในอดีต ไม่ประกันอนาคต

ชีวิตที่พอเพียง  3747a. เคล็ดลับของสาธารณสุขไทย  ป้องกันโควิด ๑๙ ด้วยความรู้    และส่งสัญญาณ การ์ดตก

เช้าวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ผมทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ผ่านทาง Zoom     ได้รับรู้เรื่องที่มูลนิธิวิชาการแห่งนี้ได้เข้าไปหนุน หรือทำงานรับใช้ กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการทำงานวิชาการเพื่อใช้ในกิจกรรมป้องกันโควิด ๑๙    ด้วยความชุ่มชื่นหัวใจ  

จึงขอนำมาสื่อสารต่อคนไทยว่า ที่ ศบค. ทำงานป้องกันการระบาดของโควิด ๑๙ ได้ดีนั้น    ก็ด้วยการทำงานหนักหลากหลายด้าน    และงานบางด้านเป็นงานปิดทองหลังพระ ไม่มีคนเห็น    ดังกรณีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการของ IHPP

งานที่ยากและซับซ้อน  ต้องเอาชนะด้วยความฉลาดรวมหมู่ (collective intelligence) (๑) นะครับ    ไม่ใช่ทำแบบทื่อๆ 

ความฉลาดในระนาบเดียวหรือแกนเดียวก็ไม่พอ    ต้องใช้ความฉลาดในหลากหลายมิติ ของคนหลายกลุ่ม หลายทักษะ หลายปัญญา มาเชื่อมประสานกัน   

นอกจากใช้ความฉลาดที่มีอยู่ของตนเอง  และของประเทศอื่น ที่เขาเผชิญภัยก่อนเรา และพร้อมๆ เรา ก็ต้องสร้างความฉลาดของตนเองเพิ่มเติม ขึ้นมาใช้ด้วย   

ความฉลาดของทีมวิชาการ และทีมบริหารจัดการเท่านั้น ไม่เพียงพอในการเอาชนะโควิด ต้องการความฉลาดของคนไทยทั้งประเทศด้วย    โดยนักวิชาการก็สามารถร่วมสร้างได้ด้วย    ไม่เฉพาะฝ่ายบริหารที่มีอำนาจและกระบอกเสียงเท่านั้น     แต่นักวิชาการทำงานแบบเงียบๆ  ไม่มีคนเห็น   

สังคมต้องมีคนแบบนี้ด้วย  โลกจึงจะเจริญ      

ทีมงานของมูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เข้าไปทำงานวิจัยเรื่องโควิด ๓ เรื่อง เพื่อป้อนข้อมูลความรู้ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และทีมงานของ ศบค.    คือ

  1. 1. โครงการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อสนับสนุนโครงการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ (๒)    ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้,   สวรส.,    กระทรวงสาธารณสุข (กรมสนับสนุนบริการฯ),   กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,  สำนักงานสถิติแห่งชาติ,   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,  และ IHPP     ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของคนไทยทั้งประเทศ โดยใช้เครื่องมือ ไอที ช่วย    ดำเนินการใน ๓ ช่องทางคือ ผ่าน อสม.   ผ่านการให้เข้ามาตอบ ออนไลน์    และให้นักศึกษาแพทย์โทรศัพท์ไปถาม     ทำระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน    ได้ข้อมูลนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์เสนอแนะเชิงนโยบาย  และใช้สื่อสารกับสังคม     นี่คืองานวิจัยเชิงสังคมที่มีคุณค่าสูงยิ่ง    
  2. 2. โครงการประเมินความฉลาดรู้ด้านสื่อในเรื่อง โควิด ๑๙ ในประชากรไทย    และสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องให้แก่สาธารณะ   ภายใต้หลักการต่อต้าน infodemic (ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวเท็จ) ขององค์การอนามัยโลก (๓)    โดยต้องทำงานแบบว่องไวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อจับทางถูกก็ต้องหาทางป้องกัน    เพราะข่าวเท็จ (disinformation) มีแพร่หลายมาก    มีเว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิตัลที่ (๔)      ท่านผู้อ่านคงจะทราบนะครับ ว่านักปล่อย disinformation หมายเลขหนึ่งของโลกเป็นใคร    และอิทธิฤทธิ์ด้านการปล่อยข่าวลวงของเขาช่วยการแพร่กระจายโควิด ๑๙ ในประเทศที่เขาปกครองอย่างไร  
  3. 3. โครงการวิจัยร่วมกับกรมควบคุมโรค ศึกษาระบาดวิทยาของปัจจัยเสี่ยง (เช่น การไม่สวมกน้ากากอนามัย)    และวิจัยเชิง modeling ทำนายโอกาสระบาดที่แตกต่างกันตามมาตรการที่แตกต่างกัน    ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป            

เอามาเล่า เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ความสำเร็จในการป้องกันการระบาดของโควิด ๑๙ ในประเทศไทย ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ    แต่ได้มาจากการทำงานเชื่อมประสานกันหลายด้าน    ที่เล่าเป็นด้านวิชาการ    ที่โชคดีที่ระบบสุขภาพไทยมีหน่วยงานวิชาการที่เข้มแข็ง มีนักวิชาการที่เก่งและมีจิตวิญญาณทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  

ที่เล่านี้ เป็นงานวิชาการเสี้ยวเดียว ที่นำมาใช้รับมือโควิด ๑๙   ผมเชื่อว่ายังมีงานวิชาการที่ทำโดยหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุขเอง    และโดยหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุขอีกมากมาย    ที่ช่วยให้เราปลอดภัยมาถึงวันนี้ 

เพิ่มเติมความห่วงใย ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓  

ตั้งใจว่าจะลงบันทึกนี้ที่ชุมพรในวันที่ ๒๖    แต่ด้วยความเหนื่อยจากการขับรถคนเดียว ทำให้ลืมสนิท    มานึกขึ้นได้เมื่อกลับมาบ้านที่ปากเกร็ดแล้ว    และทราบข่าวการระบาดระลอกสองที่เมืองดานัง เวียดนาม   เป็นการติดต่อ ภายในประเทศ    พบผู้ติดเชื้อใหม่แล้ว ๑๕ คน     ต้องอพยพนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามเอง ๘ หมื่นคนออกจากเมืองดานัง     รวมทั้งที่ประเทศจีนก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น    ทำให้คิดว่า ประเทศไทยคงจะเลี่ยงการระบาดระลอกสองได้ยาก    โดยเฉพาะในท่ามกลางสถานการณ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ   

 จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทย “การ์ดตก” อย่างชัดเจน    ในเรื่องการลงทะเบียนสถานที่สาธารณะที่คนไป    เช่นโรงแรม  ร้านอาหาร  และอื่นๆ    ที่น่าจะใช้พลังไอทีมากกว่านี้    โดยเฉพาะการลงทะเบียนด้วย QR Code    ที่น่าจะพัฒนาให้ใช้ง่ายขึ้นมาก    ระหว่างเวลาสามวันที่ผมเดินทางไปกลับชุมพร และเข้าโรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ไม่มีการวัดอุณหภูมิเลย    และไม่มีการยิง QR Code เอาไว้ติดตามบอกข่าวกรณีพบคนติดเชื้อไปสถานที่เดียวกันในเวลาใกล้ๆ กัน     ขอบอกกล่าวมาด้วยความห่วงใย

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๖๓   ปรับปรุง ๒๘ ก.ค. ๖๓   

หมายเลขบันทึก: 679544เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2020 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2020 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท