ครูกับทักษะในการตั้งคำถาม



การตั้งคำถามเริ่มจากการคิด    การตั้งคำถามจึงเป็นการฝึกคิด    การเรียนรู้ที่ดีจึงมาจากการตั้งคำถาม มากกว่าการตอบคำถาม    ครูที่ดีจึงต้องฝึกให้ศิษย์เป็นนักตั้งคำถาม   

เมื่อค้นโดย Google ด้วยคำค้น “teachers and questioning skills” ได้แหล่งความรู้มากมาย เช่น (๑)   บอกว่าการตั้งคำถามช่วยให้ครูตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน    ช่วยให้นักเรียนมีสมาธิกับการเรียน    และพุ่งความสนใจไปที่หลักการหรือความคิดที่สำคัญ   

ครูต้องรู้จักตั้งคำถามปลายเปิด เพื่อหนุนให้นักเรียนได้ฝึกคิดในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง    โดยครูต้องตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบระดับการเรียนรู้ตาม Bloom’s Taxonomy   

เว็บไซต์ Illinois Center for Innovation in Teaching & Learning มีสาระลึกซึ้งกว่ามาก (๒) บอกว่าครูต้องเตรียมคำถามสำหรับนำไปใช้ในชั้นเรียน    เพื่อให้ใช้ถ้อยคำในการตั้งคำถามอย่างชัดเจน    รวมทั้งเพื่อตั้งคำถามเป็นชุด  เรียงลำดับก่อนหลัง    เพื่อช่วยให้มีการเรียนรู้จากง่ายไปหายาก     

เขาแนะนำ ๒ ขั้นตอนสำหรับครู คือ

  • การวางแผนตั้งคำถาม

ระดับและชนิดของคำถาม   เขาอ้างถึง Bloom’s Taxonomy เช่นเดียวกัน    และบอกว่า คำถามระดับล่างของ Bloom’s Taxonomy (จำ เข้าใจ ประยุกต์) ใช้สำหรับ  (๑) ประเมินการเตรียมตัว และความเข้าใจของนักเรียน  (๒) วินิจฉัยจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียน  (๓) ประมวลหรือสรุปสาระ    ส่วนคำถามระดับบนของ Bloom’s Taxonomy (วิเคราะห์ ประเมิน สร้าง) ใช้ (๑) ส่งเสริมให้นักเรียนคิดลึกขึ้น และอย่างใคร่ครวญรอบคอบ  (๒) แก้ปัญหา  (๓) ส่งเสริมการอภิปรายแลกเปลี่ยน  (๔) กระตุ้นให้นักเรียนหาข้อมูลหลักฐานด้วยตนเอง   

ชนิดของคำถามมี ๒ แบบ คือคำถามปลายปิด (มีคำตอบถูกผิดชัดเจน)    กับคำถามปลายเปิด (คำตอบมีได้หลากหลาย  มีข้อมูลหลักฐานหรือเหตุผลประกอบคำตอบ)  

ขั้นตอนการวางแผน   ประกอบด้วย ๗ ขั้นตอนคือ (๑) กำหนดเป้าหมายของการถาม  ซึ่งจะนำไปสู่ระดับของคำถาม  (๒) เลือกสาระที่จะถาม    อย่าถามเรื่องไม่สำคัญ   เพราะคำถามจะช่วยบอกทิศทางแก่นักเรียน ว่าเรื่องใดสำคัญ เรื่องใดไม่สำคัญ  (๓) อย่าตั้งคำถามที่ตอบด้วยคำตอบ ใช่/ไม่ใช่    ยกเว้นมีคำถามต่อเนื่องตามมา  (๔) เตรียมเขียนคำถามไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นถ้อยคำที่สละสลวยมีขั้นตอนต่อเนื่องเข้าใจง่าย  (๕) ใช้ถ้อยคำที่นักเรียนเข้าใจชัดเจน ไม่ใช้ภาษาที่คลุมเครือ  (๖) อย่าตั้งคำถามแบบใบ้คำตอบอยู่ในคำถามนั้น  (๗) ให้เดาคำตอบที่นักเรียนจะตอบไว้ล่วงหน้า สำหรับใช้ปรับปรุงคำถามให้เหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้น   และเป็นคำถามที่ส่งเสริมให้นักเรียนตอบด้วยถ้อยคำของตนเอง    แล้วครูนำมาตั้งคำถามต่อตนเอง ดังนี้  (ก) มีข้อความที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจผิด และตอบไม่ตรงคำถามหรือไม่  (ข) เป็นคำถามประหลาดเปิด หรือคำถามปลายปิด  (ค) คาดหวังคำตอบแบบไหนจากนักเรียน  นิยาม?  ตัวอย่าง?  วิธีแก้ปัญหา?  (ง) คาดหวังคำตอบในถ้อยคำของนักเรียนเอง  ด้วยศัพท์จากตำรา  หรือด้วยถ้อยคำตามที่ครูสอน  (จ) หากนักเรียนตอบผิด ครูจะทำอย่างไร  (ง) หากนักเรียนไม่ตอบ ครูจะทำอย่างไร

เรื่องการวางแผนนี้ ผมมีข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งคือ เมื่อนักเรียนคนหนึ่งตอบ  ครูถามเหตุผลที่ตอบเช่นนั้น   แล้วถามนักเรียนในชั้นว่า ใครมีคำตอบที่แตกต่างบ้าง โดยขอคำอธิบายเหตุผลของแต่ละคำตอบเสมอ   เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีคิด    ไม่ใช่แค่เรียนรู้สาระ

  • การตอบสนองหลังการตอบของนักเรียน  

เมื่อครูถามคำถาม  นักเรียนตอบสนองได้ ๓ แบบ คือ ตอบ  ตั้งคำถามต่อ หรือเงียบ    ครูต้องเตรียมคิดไว้ล่วงหน้าว่า  จะตอบสนองการสนองของนักเรียนอย่างไร    โดยมีแนวทางสนองคำตอบของนักเรียนได้ ๓ แนวทางดังนี้

  1. 1. กล่าวถ้อยคำสนับสนุน (reinforcement)
  2. 2. ตั้งคำถามต่อ เพื่อให้ได้คำตอบที่ลึกยิ่งขึ้น (probing) เมื่อคำตอบของนักเรียนตื้นเกินไป 
  3. 3. ปรับทิศทางหรือปรับประเด็น (adjust/refocus) เมื่อคำตอบของนักเรียนพลาดเป้า  

ในกรณีที่นักเรียนถาม   ครูพึงฟังอย่างตั้งใจ  และหาทางให้มั่นใจได้ว่านักเรียนคนอื่นๆ เข้าใจคำถาม    แล้วครูมีทางเลือกทางใดทางหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. 1. ครูเป็นผู้ตอบคำถาม    ทางเลือกนี้ควรใช้อย่างจำกัด เช่นในกรณีไม่มีเวลา เพราะใกล้หมดเวลาของคาบเรียน    ข้อด้อยของวิธีนี้คือ อดใช้เป็นโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน  และให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  2. 2. ป้อนคำถามกลับไปยังชั้นเรียน   ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน   และเป็นการลดการพึ่งพาครูในเรื่องเนื้อหาสาระความรู้
  3. 3. ช่วยให้นักเรียนผู้ถามค้นพบคำตอบเอง    โดยเอ่ยถึงบทเรียนครั้งก่อนๆ  หรือตั้งคำถามง่ายๆ ที่ค่อยๆ นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องในคำถามนั้น    วิธีนี้ต้องการศิลปะขั้นสูงมาก    ที่จะไม่ให้นักเรียนรู้สึกอับอาย และไม่กล้าถามอีกในโอกาสต่อไป  
  4. 4. บอกนักเรียนว่า เมื่อจบคาบแล้วให้มาคุยกับครู    เพราะเรื่องนั้นมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาคุยยาว    ใช้ในกรณีครูแน่ใจว่าคำถามนั้นมีนักเรียนคนนั้นคนเดียวที่ไม่เข้าใจ  
  5. 5. แนะนำนักเรียนว่า จะหาคำตอบเองได้ที่ไหน
  6. 6. หากคำถามไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังเรียน    ตอบนักเรียนว่า จะกลับมาหาคำตอบต่อคำถามนี้ในโอกาสหน้า    โดยครูต้องจดคำถามไว้ให้ดี  ต้องไม่ลืมกลับมาจัดการเมื่อถึงเวลา
  7. 7. ไม่ว่าครูใช้แนวทางใดข้างบน ครูต้องถามนักเรียนเสมอว่า ได้รับคำตอบที่พอใจหรือไม่
  8. 8. ในกรณีที่ครูไม่รู้คำตอบ    อย่าแสร้งทำเป็นรู้    ให้บอกตรงๆ ว่าครูก็ไม่รู้    และเลือกใช้แนวทางต่อไปนี้  (ก) ถามนักเรียนในชั้นว่าใครมีคำตอบบ้าง    และครูต้องค้นหาคำตอบหลังจบคาบเรียน  (ข) ครูให้นักเรียนช่วยกันคิดหาทางค้นหาคำตอบ  หรือครูเสนอแนะวิธีการ  (ค) แนะนำแหล่งคำตอบ ซึ่งอาจเป็นตำรา  ครูท่านอื่น  นักเรียน  หรือผู้รู้ในชุมชน  (ง) ครูอาสาไปหาคำตอบให้  และนำมาแจ้งแก่ชั้นเรียนภายหลัง  โดยครูต้องไม่ลืม  

ในกรณีที่นักเรียนเงียบ ไม่ตอบ  ครูมีทางเลือกดำเนินการได้ ๓ แบบคือ

  1. 1. ในกรณีที่นักเรียนคนหนึ่งตอบ ที่เหลือเงียบหมด    ครูอาจใช้วิธีโยนคำถาม (redirect) ไปให้นักเรียนคนอื่น “สมชาย เห็นด้วยกับความเห็นของปรีชาไหม”   “สมหญิง จากประสบการณ์ของเธอ คิดว่าคำตอบของสมชายสมเหตุสมผลไหม”
  2. 2. ปรับคำถาม  ใช้เมื่อนักเรียนตอบผิด หรือเงียบหมดทั้งชั้น    ปรับคำถามใหม่ให้ชัดขึ้น   หรือแตกเป็นหลายคำถาม ที่ค่อยๆ เพิ่มความยาก    หรือช่วยตั้งคำถามนำ ที่ช่วยนำทางไปสู่คำตอบ
  3. 3. ให้เวลาคิด   โดยเมื่อตั้งคำถาม ให้เวลา ๓ - ๕ วินาที ก่อนจะขอคำตอบ    มีผลงานวิจัยบอกว่า เทคนิคง่ายๆ นี้จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนได้มาก  

นี่คือทักษะที่คนเป็นครูต้องหมั่นฝึกให้แก่ตัวเอง     เป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองในการประกอบวิชาชีพ (professional development)    และเป็นทักษะ ที่สถาบันผลิตครูต้องฝึกให้แก่นักศึกษาครู   

จะเห็นว่า เมื่อตั้งคำถามที่มีความหมาย    สมัยนี้หาคำตอบสำหรับเอามาทดลองใช้ได้ไม่ยาก    ดังที่ผมทำให้ดูในบันทึกนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679223เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท